ภูมิปัญญาชาวบก คือ.มรดกไทย


ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานี โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ต้น แต่บางแห่ง เช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ ๑ ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง ๑๑๐ ต้น และเมื่อปี ๒๕๒๕ นายสมพงศ์ กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน(๒๕๕๔) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑ ล้านต้น

ตาลโตนด คือ ภูมิปัญญาชาวบก..และมรดกไทย   

 

 

 

 

   

ดงตาลโตนดในทุ่งนาของอำเภอสทิงพระ

   ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานี  โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ต้น แต่บางแห่ง เช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ ๑ ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง ๑๑๐ ต้น  และเมื่อปี ๒๕๒๕ นายสมพงศ์  กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน(๒๕๕๔) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑ ล้านต้น และหากนับรวมๆทั้งจังหวัดสงขลา มีต้นตาลโตนดประมาณ ๓ ล้านต้น ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลโตนดเช่นนี้ ซึ่งปรากฏในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆได้ใช้ตาลโตนดให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

 

วิถีการทำตาลโตนดของชาวสทิงพระ

        การปลูกตาลโตนดมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี จากการค้นพบจารึก ตาลังตูโวที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงการปลูกตาลโตนดในการสร้างสวนเกษตรหรือสวนสาธารณะของพระราชา ศรีชัยนาศ หรือ ศรีชยนาถ เมื่อปี พ.ศ.๑๒๒๗ ดังคำอุทิศความว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงปลูกลงที่นี่คือ มะพร้าว หมาก ตาล สาคู และต้นไม้อื่นอีกหลายชนิดที่มีผลรับประทานได้ รวมทั้งต้นไผ่ เพื่อเป็นหนทางอันดีที่สุดแก่พวกเขาในอันที่จะได้ความสมบูรณ์พูนสุข หากเมื่อใดเขาหิวในขณะหยุดหรือระหว่างทางก็สามารถจะหาอาหารและน้ำดื่มได้ (ตามรอยศรีวิชัย,นงคราญ ศรีชาย,๒๕๔๔ : ๒๓)

     อำเภอสทิงพระ หรืออำเภอจะทิ้งพระเดิม หรืออำเภอปละท่าในอดีต เป็น ๑ ในกลุ่มอำเภอยากจนของจังหวัดสงขลา อยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ เป็นชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวบก หรือชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ(สทิงพระ ระโนด กระแสสินธ์ และสิงหนคร)ปัจจุบันนี้

 

 

 

ที่ตั้งอำเภอปละท่า ในอดีต คือบรเวณที่ตั้ง อบต.ท่าหินปัจจุบัน จากนั้นย้ายที่ว่าการอำเภอมาที่ตำบลจะทิ้งพระ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ เสียดายอาคารที่ว่าการอำเภอหลังเก่าไม่ได้ถูกอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากที่ดินมีจำกัดในการก่อสร้างอาคารหน่วยงานราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ สมัยนายพจน์ อินทรวิเชียร เป็นนายอำเภอจะทิ้งพระ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอจะทิ้งพระ เป็นอำเภอสทิงพระ จนถึงปัจจุบัน

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบต่ำ มีทะเลขนาบทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก เป็นอ่าวไทย ทิศตะวันตกเป็นทะเลสาบ ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว เหมาะแก่การทำนา เป็นอำเภอที่มีทุนทธรรมชาติ อันเป็นมรดกของชุมชน ได้แก่ ภูมิปัญญาการแปรรูจากต้นตาลโตนด อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบต่อตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นหนึ่งในหลายๆมรดกทางวัฒนธรรมของผู้คน "ชาวบก" บนคาบสมุทรสทิงพระ

โหนด กับ นา นา กับ โหนด เป็นวิถีที่อยู่คู่กับชาวชุมชนมาครั้งแต้งแต่สร้างบ้านแปลงเมือง "ทิ้ง" ปัจจุบ้น หรือ "เมืองสทิง" ในอดีต ทุกวันนี้ก็ยังเป็นมรดกตกทอดของชาวชุมชนมาโดยตลอด

    จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา(ประกอบด้วย ๔ อำเภอ คือ สิงหนคร,สทิงพระ,ระโนด และกระแสสินธุ์) ถึงการปลูกตาลโตนดเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันยังไม่มีใครคิดที่จะปลูกตาลโตนดเป็นแปลงใหญ่ๆเหมือนพืชสวนอื่นๆ จากการบอกเล่าของชาวบ้านว่า “ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการปลูกโหนดเพื่อบอกอาณาเขตที่นา ที่ทำกินว่ามีความกว้างยาวเท่าใด ต่อมาปลูกตามคันนาเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตคันนาเมื่อมีการขุดถากชายหัวนาในฤดูกาลทำนา” ต่อมาจึงมีการปลูกเพื่อเอาผลผลิตและอาศัยร่มเงาในการทำนา ส่วนใหญ่การขยายพันธุ์เพิ่มของตาลโตนดเป็นการงอกของลูกตาลที่สุกหล่นโดยธรรมชาติ

ส่วนการปลูกตาลโตนดครั้งสำคัญอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่มีการบันทึก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กรมป่าไม้ ขณะนั้น มี  พันเอก เพียร สฤษฏ์ยุทธศิลป์ พิริยะโยธิน เป็นอธิบดี ได้ริเริ่มให้มีการปลูกต้นไม้ประจำปีขึ้นทำนองเดียวกันกับ Arbor Dayของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากระยะเวลานั้นเป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และแผ่กระทบมาถึงเมืองไทยในรูปสงครามมหาเอเชียบูรพา ป่าไม้เมืองไทยได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วยหลายประการ กรมป่าไม้จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตามส่วนภูมิภาคร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการอำเภอ(สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการอำเภอในยุคต่อมา) จัดปลูกต้นไม้ตามสถานที่ราชการ และโรงเรียนต่างๆ (วารสารบางกอก,คอลัมน์ : ณ บางกอก,ศรี  ชัยพฤกษ์.๒๕๔๕) และเท่าที่ได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระ อาทิ นายฉิ้น  สุวรรณลอยล่อง อายุ ๖๙ ปี หมู่ที่ ๓ ต.คูขุด อ.สทิงพระ, พระมหาวรรณ ธมฺมสิริ,อายุ ๗๒ ปี เจ้าคณะอำเภอสทิงพระ, นายแหลม โชติธรรมโม.ข้าราชการบำนาญ(เสียชีวิตแล้ว),นางเพ็ญศิริ  ลั่นคีรี,บุตรสาวนายอรุณ ปลื้มใจ บอกว่า “ ทางอำเภอจะทิ้งพระสมัยนั้น ได้ให้ ครู – นักเรียนโรงเรียนต่างๆ และชาวบ้าน ซึ่งนำโดยนายอรุณ ปลื้มใจ เป็นผู้นำในการปลูกต้นตาลโตนดคนละ ๕ ต้น (สัมภาษณ์โดย ไพฑูรย์  ศิริรักษ์ ,พฤศจิกายน ๒๕๔๔ )

     การใช้ประโยชน์จากตาลโตนด ตาลโตนด เป็นพืชที่มีคุณค่ายิ่ง ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน กล่าวคือ

   ลำต้น ใช้ก่อสร้างทำเครื่องเรือน เช่น ทำรอด ตง แป เคร่าฝา ฟาก เสา วงกบ ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรางอาหารสัตว์ และใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ปัจจุบันในเขตอำเภอสทิงพระ ลำต้นของตาลโตนดซึ่งมีความยาวประมาณ ๒๐ เมตร จำหน่ายต้นละ ๕๐๐ - ๖๐๐ บาท

 

    ราก ใช้ต้มเป็นยาสมุนไพรแก้โรคตานขโมย

    ก้านใบหรือทางตาล ใช้ทำรั้วบ้าน ทำคอกสัตว์ ทำเชื้อเพลิง เฟอร์นิเจอร์

 

 

    ใบตาล ใช้มุงหลังคา กั้นเป็นฝาในสิ่งก่อสร้างชั่วคราว  เย็บเป็นกระแชงกันฝน จักใช้ทำแว่นน้ำตาล ใช้เย็บทำหมวก ทำลิ้นปี่ และใช้ทำเชื้อเพลิง

 

 

 

     ช่อดอกตัวผู้  ตากแห้ง ใช้ทำเชื้อเพลิง ใช้กินต่างหมาก ใช้เป็นส่วนผสมต้มเป็นยาบำรุงกำลัง ตากแห้งต้มเป็นชาแก้เบาหวาน

     ผลตาล ใช้ส่วนหัวของผลอ่อนโดยเฉพาะพันธุ์ข้าว ปรุงเป็นอาหารจำพวก ยำ แกง คั่ว และแกงเลียง คั้นเอาเนื้อและน้ำของผลสุก ใช้ปรุงแต่งกลิ่นขนม ผลตาลอ่อนและสุก ยังใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น หมู วัว  เปลือกหุ้มผลหรือเมล็ดตาล ตากแห้งใช้เผาถ่าน และทำเป็นเชื้อเพลิง

  

ตาลโตนดพันธุ์ข้าวชาวสทิงพระนิยมเอา หัวลูกโหนดอ่อนมาสับซอยเพื่อประกอบเป็นอาหาร ประเภท ยำ แกงคั่ว ต้มกะทิ แกงเลียง ฯลฯ

  

  

     

ได้มีการศึกษา คิดค้นพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของ "ชาวบก" ในการแปรรูปใช้ประโยชน์จากยุม(ยวง)ตาลอ่อน และพวม( จาว)โหนดเป็นขนมหวาน - อาหารคาว เป็นจำพวก ยำ-ลาบยุมโหนดอ่อน

 

 

 

ลูกโหนดสุกแต่ก่อนชาวบกเก็บมาเป็นอาหารวัว หมู และทำขนม ปัจจุบันบนคาบสมุทรสทิงพระ ได้มีการทดลอง-ศึกษา-พัฒนา เอาเนื้อลูกตาล มาทำสบู่ ไอศครีม และน้ำสลัด จากลูกตาลสุก นับเป็นอีกหลายก้าวในการพัฒนาลูกโหนดสุก

      เมล็ด ส่วนที่เป็น “พวม” หรือ “จาว” ซึ่งเป็นใบเลี้ยงใช้ทำขนมหวาน “จาวตาลเชื่อม” เปลือกส่วนนอกเมล็ดแก่ใช้เผาถ่าน(โดยขุดหลุม ใส่เมล็ดกลบด้วยแกลบข้าวเผาทิ้งไว้ราว ๒๔ ชั่วโมง) และเนื้อเมล็ดใช้ปักเทียว(ไม้ไผ่เหลากลมเหมือนคันเบ็ด)เป็นเหยื่อล่อกุ้งในการทำประมง

 

 

     ใยตาล ใยตาลอยู่ในก้านใบตาลช่วงโคนก้านใบหรือกาบ กาบที่จะให้ใยที่ดีมีคุณภาพต้องอวบอ้วนสมบูรณ์ โคนก้านใบตาลที่นิยมใช้มาทำเส้นใย เป็นก้านใบตาลหนุ่มที่มีอายุประมาณ ๘ - ๑๒ ปี ลำต้นสูงประมาณ ๒-๕ เมตร ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โหนดกาบ” นำกาบมาทุบให้แตกแล้วสางลอกเอา “เส้นใยตาล” ออกเป็นเส้นๆจะได้เส้นใยขนาดยาวประมาณ ๑.๕ – ๒.๕ ฟุต เส้นใยที่ได้จากสดสดจะมีสีขาว ส่วนเส้นใยที่ได้จากกาบแก่(แห้ง)จะมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สมัยก่อนชาวบ้านใช้เส้นใยที่ได้ ขวั้นทำเชือกล่ามวัว เชือกผูกเรือหรือผูกสิ่งของต่างๆ ใช้ทำเครื่องมือดักปลาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ชุด” ใช้ทำไม้กวาด และใช้ทำเครื่องจักสาน เช่น กล่องบุหรี่  ล่วมหมาก ปัจจุบันประยุกต์ดัดแปลงเป็นงานหัตถกรรมประเภทต่างๆเช่น หมวก กระเป๋าถือใยตาล กล่องใส่กระดาษ  ที่รองจาน เป็นต้น 

 

 

    น้ำตาลสด ได้จากการคาบงวงตาลอ่อนเพศผู้ และทะลายตาลอ่อนเพศเมีย ซึ่งจะมีกรรมวิธีในการคาบซับซ้อนพอประมาณ น้ำหวานหรือน้ำตาลสดที่ได้ใช้เป็นเครื่องดื่ม ถ้านำน้ำตาลสดมาหมักต่อ ๑ - ๓ วัน จะเกิดแอลกอฮอล์และเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลเมา (เมรัย) ที่ชาวบ้านทางใต้เรียกว่า “หวาก” หรือ “กระแช่” และหากหมักต่อไปอีก ๑ - ๓ เดือนจะกลายเป็นน้ำตาลเปรี้ยวที่เรียกว่า “น้ำส้มสายชูหมัก” การนำน้ำตาลสดมาเคี่ยวเป็น “น้ำผึ้งโหนด” หรือ “น้ำตาลเข้มข้น” เพื่อเป็นการถนอมอาหารเก็บไว้ใช้ปรุงอาหาร และทำขนม หรือแปรูปเป็นน้ำตาลแว่น และน้ำตาลผงสำหรับชงกาแฟ

 

 

 

 เกล็ดความรู้ ภูมิปัญญา เรื่องตาลโตนด

       สรรพคุณทางยาสมุนไพรของตาลโตนด ใช้น้ำผึ้งโหนดผสมกับข้าวเหนียวกินเพื่อบรรเทาพิษงู 

ภูมิปัญญา เรื่องตาลโตนด ของชาวบก บนคาบสมุทรสทิงพระ จึงนับว่ามีคุณค่าเชิงวัฒนธรรม และเป็นมรดกทางปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จึงอยากฝากให้ลูก-หลาน ชาวบก รุ่นต่อไปช่วยกันหวงแหน อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน พัฒนา ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเรา ให้เป็นมรดกทางปัญญาอยู่คู่ชุมชนสืบไป

 

หมายเลขบันทึก: 435145เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2011 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2013 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

สวัสดีค่ะครู

ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่เป็นมรดกแห่งความรู้ค่ะ

มี"ขนมตาล"มาฝากค่ะ

ขนมตาล 'เก็บลูกตาลสุกมาทำขนม"

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับหนูรี วันหน้าเปิดอบรมการทำหนมพื้นบ้านต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญอย่างหนูรีเป็นวิทยากรเสียแล้ว เดือนมิถุนา.งานของหรอยบ้านเราที่ไดอาน่าก็..ต้องให้หนูรี..มาแสดงด้วย..โดยเฉพาะขนมลูกตาลที่งานในห้างไดอาน่า.เคยจัดงาน ๑๐๐ ประโยชน์ตาลโตนดไทย เฉพาะหนมลูกโหนดอย่างเดียวขายได้วันละหมื่นกว่าบาท..เหลือเชื่อจริงๆ

น้ำผึ้งโหนด ใหม่ ๆ นำมาต้มกุ้งสด ได้แกงปลาแห้งกับน้ำส้มโหนด กินกับข้าวสวยร้อน ๆ เข้ากันเหมือนปี่กับขลุ่ย

และเอาไปทำขนมปัม ใช้มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น ๆ โรยหน้า กินหรอยจังครูเหอ หาซื้อตามตลาดนัด หรือหลาดหัวเช้า

  • สวัสดีค่ะ
  • แถวบ้านเมื่อก่อนมีการเคี่ยวน้ำตาลโตนด ทำน้ำตาลปึก
  • พวกเราเด็กๆจะวิ่งไปขอกินปากกระทะ ผู้ใหญ่จะใช้ใบตาลแห้งขูดฟองปากกะทะ ที่ใช้เคี่ยวน้ำตาลมอบให้ อร่อยมากหอมหวาน
  • แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วค่ะ เพราะต้นตาลถูกโค่นทิ้ง เหลือน้อยมาก
  • เสียดาย ภูมิปัญญานี้จะศูนย์หายค่ะ

เท่าที่อ่านเรื่องตาลโตนดทราบว่า เมืองสุพรรณ ก็เป็นถิ่นตาล แต่ดังสู้เมืองเพชรไม่ได้ทั้งที่สุพรรณมีตาลมากกว่าเมืองเพชร ๑ ต้น ผมศึกษาเรื่องตาลโตนดมายาวนานเกือบ ๒๐ ปี โดยเฉพาะของสงขลา เคยแลกเปลี่ยนเรื่องตาลกับกำนันถนอม บ้านลาด และเดินทางไปพบลุงประสม สุสุทธิ ที่เพชรบุรี กลับมาเดินค้นหาภูมิปัญญาเกี่ยวกับตาลโตนดของสงขลา ออกแบบส่งเสริมให้ชาวชุมชนใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญา,รวมทั้งพัฒนาต่อยอด ชุมชน ในวิถี โหนด-นา-เล จนกระทั่งรวบรวมผลผลิต เขียนหนังสือ ๑๐๐ ประโยชน์ตาลโตนดไทย เผยแพร่ไปแล้ว ๑ เล่ม ฝากคุณลำดวนเร้าท่านบรรหาร หรือ สจ.เสมียน หงษ์โต ช่วยกันรณรงค์ให้ชาวสุพรรณหันมาสร้างคุณค่าให้กับตาลโตนด น่าจะดีนะครับ

สวัสดีครับครู

อยากได้หนังสือ 100 ประโยชน์ตาลโตนดไทย จะหาซื้อได้ที่ไหนครับ....

เคยฟังเขาร้องบทว่า"บ้านฉานหม้ายไหร ยังแต่ไผกับโหนด โยอำเภอระโนดจังหวัดลงสขา"

และอีกบทหนึ่งที่ว่า" บอโด บอดาน ย่านบอแดง พอนาข้าวแล้งขึ้นกินสิ้นพร้าวเหมง"

นี้ก็บอกวิถีของคน ประออกได้ดี

มีที่เดียวที่ครูฑูรย์ไม่มีขายทำแจกเกือบหมดแล้วกำหมฺลังจะพิมพ์ครั้งที่ ๒ ถ้าหาพบจะเก็บไว้ให้ผู้เฒ่า แต่ว่าถ้าว่างหลาวมาพนางตุงสักเดียวจะได้ทั้งต้นลูกนาง และหนังสือ

สวัสดีค่ะครู

-อ่านเรื่องตาลโตนดแล้ว ทำให้คิดถึงน้ำตาลโตนดที่เคยซื้อกินแถวสทิงพระค่ะ

ขอบคุณทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชม และให้กำลังใจผมคงเดินหน้าทำต่อไปเรื่องตาลโตนด ทั้งการพัฒนาอาชีพชาวชุมชน และเปิดเป็นศูนย์การเรียนรูภูมิปัญญาชาวบก และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตาลโตนด เชิญมาทองเที่ยวเพื่อเรียนรู้ได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก อำเภอสทิงพระ โทร. ๐๗๔-๓๙๗๑๔๙ หรือ ๐๘-๗๓๙๑-๒๓๒๕

Large_100_01
สวัสดีดีครับครู และฝากสวัสดีดีผู้เฒ่าด้วยเอาภาพต้นโหนดนาในพื้นที่่พัทลุงมาฝากนับวันตาลโตนดจะเหลือน้อยเต็มทีถ้าไม่อนุรักษ์เอาไว้ต่อไปคงจะไม่เหลือไว้ให้ลูกหลานเราได้ดู

ไม่รู้ว่าครูเคยกินพวมโหนดหม้าย?  เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ไม่มีขนมกินก็เดินไปหาลูกโหนดที่่หมั้นหล่นใต้โคนแล้วงอกหน่อเอามาเฉียงกับขวานถา (พร้าเฉียงไม่ออกเพราะหมั้นแข็งมาก) อร่อยอย่าบอกใคร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้กินแล้ว เพราะไม่มีต้นโหนด ถูกโค่นหมดแล้ว จึงเหลือแต่เพียงชื่อตำบลหนึ่ง ๆ ใน อ.ควนขนุน คือตำบลโตนดด้วน

พวมโหนดชอบกินมาก ตอนเด็กๆพ่อเฒ่าพ่อแก่ชอบเพาะเอาไว้ให้กินเวลาปิดเทอม นับเป็นของกินที่วิเศษมากๆของเด็กชาวบก ซึ่งกินได้ทั้งพวมสด พวมเชื่อม ตอนหลังที่ผมทำวิจัยเรื่อง การเพาะโหนด ลองเอาพวมโหนดมาชุบแป้งทอด โอ้โฮ....สุดยอดเลย กล้วยแขก ..มันทอด..เม็ดจำดะทอด..ชิดซ้ายไปเลย..ลองแลตะครับ...ที่อำเภอควนหนุน..มีชื่อบ้านที่เกี่ยวกับต้นไม้ เช่น หนุ - โหนด อยู่หลายบ้าน..เช่น โหนดด้วน โคกโหนด บางโหนด ควนหนุน โคกโหนด ฯลฯ อยากเห็นบ้านที่มีชื่อต้นไม้นั้นๆปลูกต้นไม้นั้นกันให้ทุกบ้าน เช่น บ้านควนพร้าวน่าจะปลูกพร้าวกันให้ทุกบ้านทั้งหมู่บ้านหรือตำบล โคกโหนดน่าจะปลูกโหนดกันทั้งหมู่บ้าน ผมไปทำงานที่พนางตุง ปลูกโหนดไว้ ๑,๐๐๐ กว่าต้น หวังเพื่อลูกหลานและชาวบ้านได้ใชประโยชน์ในอนาคต

สวัสดีค่ะ

       ขอร่วมสนทนาด้วยคนนะคะ  ครูอิงต้องขอแนะนำตัวก่อนค่ะ  คือก็เห็นชื่อของครูฑูรย์ และ คุณ คนโตนดด้วน อยู่บ่อย ๆ  แต่ก็ไม่ได้แวะมาทำความรู้จัก  ขอบพระคุณครูฑูรย์จริง ๆ ค่ะที่เข้าไปดึงครูอิงมาที่นี่ ด้วยการไปมอบดอกไม้ที่ บันทึกเกี่ยวกับโนราเติม ทำให้ตามมาทำความรู้จักค่ะ

       ต้องบอกว่าครูอิงเป็น คนบก คนสทิงพระโดยกำเนิดค่ะ วนเวียนอยู่แถวดงโตนดมาแต่เล็กแต่น้อย ชอบกินลูกโหนดที่สุด  แม้แต่ชื่อของตัวเอง ก็ชื่อเล่นว่า "ลูกตาล" ส่วนชื่ออิงจันทร์ เป็นนามแฝง

       ทำไงดีหล่ะคะ อยากได้หนังสือ "หนังสือ ๑๐๐ ประโยชน์ตาลโตนดไทย ของอาจารย์จังเลยค่ะ" พอจะมีอีกมั้ยคะ หรือถ้าพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อไหร่ช่วยแจ้งให้ทราบด้วยนะคะ

       บันทึกของครูฑูรย์บันทึกนี้ เป็นบันทึกที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งค่ะ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ต่อการศึกษาค้นคว้าของเยาวชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

       ขอบพระคุณค่ะ  ครูอิงคงต้องขออนุญาตหาเวลามาเก็บรายละเอียดในบันทึกก่อนของอาจารย์แล้วหล่ะค่ะ

       ฝากถึง คนโตนดด้วน ด้วยค่ะ ว่าครูอิงเองก็ชอบกินพวมโหนด แต่ผ่าไม่ออกเหมือนกัน แข็งมาก กลับบ้านทีไรก็ต้องหามกิน และก็อยากบอกว่า แถวควนขนุน ครูอิงก็ไปเที่ยวบ่อยค่ะ บางครั้งก็ไปค้างคืนที่ทะเลน้อย แล้วจะแวะไปทำความรู้จักนะคะ

  • อ่านแล้ว...น้ำลายไหลเลยครับ
  • แต่เสียดาย "ตาล" เดี๋ยวนี้เด็กแทบไม่รู้จักแล้ว
  • สงสัยเปิดเทอมต้องให้เด็ก ๆ ออกไปวาดต้นตาล ใบตาล ลูกตาล
  • พร้อมกับ "กินตาล"แล้วล่ะครับ 
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

ขอบคุณมากครับที่ให้ความสำคัญกับต้นตาล ต้นโหนดในประเทศหากช่วยกันปลูกคนละต้น ๒ ต้น อนาคตจะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชน และสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะพืชตระกูลปาล์มเป็นพืชที่มนุษย์ชาติใช้ประโยชน์เป็นอันดับ ๒ รองจากพืชตระกูลหญ้า

ต้นโหนด ถ้าเอาไปปลูกทำเขตแดนระหว่างดินสงวนของหลวงกับดินชาวบ้าน เป็นแนวกันบุกรุกที่ดินหลวงน่าดีจังครู

วันทอดผ้าป่าสร้างพุทธมณฑลที่สงขลา เห็นครู นั่งแหลงออกอากาศทางวิทยุพระพุทธฯ รู้สึกชื่นใจ ครูทำประโยชน์มากหลายด้านจริง ๆ

ขอชื่นชมครับ

เป็นความคิดที่ดีมากๆในการใช้ต้นโหนดกั้นแดน ป้องกันการบุกรุก ปู่-ย่า ตาทวด บรรพบุรุษเรากะใช้ปัญญานี้แหละในการแก้ปัญหาชุมชน เพราะต้นโหนด อายุยืน ยืนต้นแข็งแรง ขอบคุณที่ให้กำลังใจ จะได้มีแรงทำชั่วให้น้อยทำดีให้มาก

อ่านแล้วชอบมากค่ะ พวมตาล หรือจาวตาล ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย มหาลัยใกล้เคียงได้สร้างเครื่องผ่าจาวตาล ไปมอบให้ชุมชน บ่อดานค่ะ เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนใช้ผ่าจาวตาล ก่อนส่งขายไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพิ่มราคาให้แก่จาวตาลค่ะ การใช้งานก็สะดวกมากค่ะ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการสืบทอดภูมิปัญญาที่มีมายาวนานเป็นสิ่งที่ดีมาก ยิ่งตาลโตนดในพื้นที่ของคาบสมุทรสทิงพระแล้ว ยังมีจำนวนมาก ประโยชน์ก็มากเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท