การจัดการความรู้(อย่าง)วิถีไทย


เมื่อ วันที่ ๒๓ – ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ผู้เขียนได้ร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการความรู้อีกงาน คือ งานสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนา ผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางวิชาการสามารถพัฒนานวัตกรรมการบริหารการศึกษาสงเคราะห์ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านปลาทับทิมรีสอร์ท อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ผู้เขียนได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ผ่านการบรรยายในหัวข้อ การจัดการความรู้(อย่าง)วิถีไทย ซึ่งผู้เขียนอยากชวนให้คนไทยโดยเฉพาะนักวิชาการที่ทำเรื่องส่งเสริมการจัดการความรู้ในหน่วยงาน และ ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมการจัดการความรู้ตามนโยบายและกฎเกณฑ์ แม้ว่าจะต้องทำกันไปตามระเบียบ ซึ่งมักทำตามตามแนวคิด ทฤษฎีตะวันตก และต้องเครียดกับเรื่องของตัวชี้วัด หรือ KPI ที่หลายคนเรียกว่า กะปิ-น้ำปลา แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายอย่างการใช้กะปิ-น้ำปลาเสียเมื่อไหร่

ผู้เขียนกล่าวถึง การจัดการความรู้ที่ครบองค์รวม หรือ Total KM ตามแนวทางของ ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด แห่ง สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม ที่จัดการทั้งความรู้แจ้งชัด Explicit Knowledge, Tacit Knowledge ความรู้ในตัวคนอันเป็นความรู้ที่แนบแน่นอยู่กับความชำนาญและความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ที่ความรู้นั้นมีต่อตนเองและผู้อื่น และ ความรู้สึกตัว (Consciousness) อยู่กับปัจจุบันขณะ

จากนั้นก็เชื่อมโยง Total KMเข้ากับ ความรู้-ปัญญาที่พาชาติไทยรุ่งเรืองได้มาตราบเท่าทุกวันนี้ นั่นคือ ภูมิปัญญาไทย-ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นความรู้ที่ผู้คนใช้ในการดำรงชีวิต สร้างบ้านเมือง บ่มเพาะวิถีชีวิต จารีต ประเพณี ซึ่งมีความสัมพันธ์ในหลายมิติทั้งทางกว้างและทางลึก

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาติไทยเรามีการใช้การจัดการความรู้อยู่ตลอดเวลา และเป็นการใช้อย่างครบมิติ ไม่ว่าจะมองในประเด็นไหน ไม่ใช่การคลั่งชาติและโหยหาอดีต กล่าวคือ

  • หากมองที่ ความรู้ ภูมิปัญญาไทย-ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีทั้ง มิติเทคนิค ในการทำสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยสี่ และสุนทรียศาสตร์ในการดำรงชีวิตที่เป็น ความดี ความงาม เป็นความรู้ที่มี มิติจิตวิญญาณ หรือ ความศรัทธา ความเชื่อ คุณธรรม จริยธรรม นำพาการใช้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างศานติสุข ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาดีคนเดียว

 

  • ความรู้อย่างวิถีไทยนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่าง

มนุษย์ – มนุษย์

มนุษย์ – ธรรมชาติ

มนุษย์ – สิ่งเหนือธรรมชาติ

การตระหนักถึงความสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งทั้งมวลเช่นนี้เองที่ได้ทำให้มนุษย์อยู่อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนและอยู่อย่างรู้สึกขอบคุณที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินนี้และโลกใบนี้

 

  • การจะมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์อันเป็นความกลมกลืนกับสรรพสิ่งดังกล่าวต้องอยู่อย่างมีความเข้าใจตนเองในการดำรงอยู่ตาม
    • ภูมิวัฒนธรรม หรือ ภูมิศาสตร์ที่เป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิตในแบบต่างๆ ตั้งแต่ภูเขา ที่ราบลุ่มไปจนจรดทะเล
    • นิเวศวัฒนธรรม หรือการตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นชุมชนปรับทั้งตนเองรวมถึงจัดการทรัพยากรได้สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ที่ตนอยู่ เช่นการทำนาในที่สูง ทำนาในที่ราบ คนอยู่ริมน้ำ ริมทะเลทำการประมง
    • ชีวิตวัฒนธรรม หรือการดำรงชีวิต มีวิถีชีวิต แสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี ที่สอดคล้องตามระบบนิเวศนั้นๆ เช่นประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว การละเล่นพื้นบ้าน หัตถกรรมต่างๆ

(ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยวแนวคิดนี้มาจากการบรรยายของ อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม)

ผู้เขียนได้ยกเรื่องเล่า ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา มาเล่าสั้นๆสะท้อนแนวคิดข้างต้น

จากพัฒนาการของประเทศและชาติไทยจึงเห็นได้ว่าตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษมีการใช้ความรู้ เป็นความรู้ที่มีการพัฒนาปรับปรุงตลอดเวลา ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย จนกระทั่งการเข้ามาแทนที่ของความรู้สมัยใหม่ของ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราแทบหมดไปหรือหยุดนิ่งในกาลเวลา

 

เมื่อถึงเวลาที่เราลำบากเราก็ไปเปิดกรุมหาสมบัติ(ภูมิปัญญาท้องถิ่น)นี้ออกมาใช้แบบไม่เข้าใจ ไปสนใจแต่ มิติเทคนิค เพื่อสามารถผลิตได้มากๆ เร็วๆ ทั้งๆที่หัวใจอยู่ที่ มิติจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวกำกับว่าจะใช้ความรู้ ต่อยอดความรู้อย่างไรจึงจะเกิดสันติสุข เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสรรพสิ่ง

 การจัดการความรู้ในยุคปัจจุบัน จึงน่าจะให้ความสำคัญของ การสร้างความรู้ เป็นการร่วมสร้างความรู้ของผู้คน ที่จะหมุน เกลียวความรู้ ไปได้ไม่รู้จบในแบบที่เป็นการสร้างปัญญาและเมตตาควบคู่กันไปอย่างวิถีไทยเรา

ศาสตราจารย์ อิคุจิโร่ โนนากะได้เขียนหนังสือเล่มล่าสุด คือ Managing Flow นำแนวคิด Phronesis โดย อริสโตเติล เทียบเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า  Practical Wisdom แปลคร่าวๆได้ว่า ปัญญาปฏิบัติ มาอธิบายความสำเร็จของบริษัทดังๆในญี่ปุ่นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ ผู้เขียนอ่านแล้วคิดว่า แนวคิดของ ปัญญาปฏิบัติ นี้กับแนวคิด ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ Local Wisdom ของเรานั้นช่างละม้ายกันที่สุด เพราะ ความรู้นั้นไม่ได้มาโดดๆ เป็น สิ่ง เป็น ก้อน แต่ผ่านการให้คุณค่าและความสัมพันธ์ต่างๆโดยผู้สร้างและผู้ใช้ความรู้ เน้น here-now สามารถตอบโจทย์อย่างทันการณ์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือ Common Good เกิดเป็น ความรู้/ความจริง – ความดี – ความงาม

ดังนั้นการทำ KM ขององค์กร สามารถเรียนรู้จากตัวอย่าง กระบวนการคิด วิธีการสร้างความรู้ ของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ที่แต่ละถิ่นก็มีแตกต่างกันไป และสามารถนำความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาการใหม่ๆ เข้ามาสนธิพลังกัน ในแนวทางนี้การพัฒนาโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศจึงจะสามารถบรรลุความเป็นเลิศอย่างมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตนเอง ทำงานอย่างมีความสุข แบบ คนสำราญ งานสำเร็จ  

บรรยายเสร็จ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านหนึ่งเดินมาหาและมอบกระดาษแผ่นหนึ่งให้ ผู้เขียนอ่านแล้วรู้สึกปลื้มใจที่ได้รับกำลังใจเช่นนี้ค่ะ ท่านผู้นี้ลงชื่อว่า ผอ.สวัสดิ์ บรรจงพาศ  รร.ราชประชานุเคราะห์ ๓๖ ภูเก็ต ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

 

 ขอบคุณคุณเอก-จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูรอีกครั้งค่ะ ที่ชอบมาชวนไปทำสิ่งดีๆและยังเป็นโอกาสให้ได้ลับความคิดของตัวเองอยู่เนืองๆ

หมายเลขบันทึก: 432914เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2011 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณครับอาจารย์

วันที่สอง เราให้ท่านผู้บริหารทำ workshop ทุกท่านตั้งใจมากๆครับ เป็นภาพหนึ่งที่ผมประทับใจ

ขอบคุณน้องๆ ทั้งคุณเอก อาจารย์พนัส คุณศิลาและคุณเก๋ ยินดีมากที่ได้ทำงาน ทำสิ่งดีๆและเบิกบานกับอาหารเย็นริมคลองด้วยกัน

พี่มีภาพนี้อีกค่ะ ดีใจที่ได้รู้จักคุณเก๋ น้องเขาน่ารักอัธยาศัยน่าชื่นชมนะคะ

 

  สวัสดีครับคุณนายนุช ความรู้บ้านๆ ภูมิปัญญาพ่อเฒ่า เป็นเรื่องเล่าเป็นปัญญา เป็นประสบการณ์ เป็นการถอดบทเรียน เป็นการสรุปรวบยอด ที่พัทลุง มีโรงหนึ่ง เขาถอดบทเรียน สรุปรวบยอด ให้เห็นเป็นภาพ อัตลักษณ์ ของคนไว้ ว่า

" โย่งโย่ง   ครูเดชา 

เดินช้า ครูวัชรนี 

ปากแดง ครูพา 

ขี้ด่า  ครูพร

แขนอ่อน  ครูไล 

ใจใหญ่  ครูชอบ 

แบกจอบ  หลวงเพื่อม  "กว่าจะร่วมกันถอดออกมา ครูพร ขี้ด่า นักเรียนเขาถอดกันมาหลายรุ่น  โยเฉพาะ  หลวงเพื่อม ภารโรง  เกษียณแล้ว ไปกินน้ำชายังแบกจอบ กว่าจะได้มาซึ่ง ฉายาเหล่านี้ล้วนไม่ ธรรมดาแน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  • สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์
  • อ่านและได้เรียนรู้วิธีการ จัดการความรู้เพิ่มเติมค่ะ
  • ขอนำไปใช้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีค่ะ  Ico48

 

 ภูมิปัญญาไทยมาฝากอีกอย่างค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์
  • มาเพิ่มพูนความรู้ที่บ้านคุณนุชด้วย
  • ชื่นชมกับวิทยากรคนเก่งทั้งสามท่านค่ะ
  • ระลึกถึงกันเสมอนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร บรรยากาศการทำworkshopดูทุกท่านตั้งใจมากเลยนะคะ

 

ขอบคุณค่ะท่านผู้เฒ่าวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ความรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านการตกผลึก ไม่ธรรมดาแน่นอน มีชีวิตชีวาเสมอเวลาพูดถึงนะคะ

คุณครูและบุคคลเหล่านั้นที่ได้รับฉายาคงได้ย้อนมองตนเองแบบขำๆ

ขอบคุณอาจารย์ลำดวนค่ะที่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ ติดค้างอาจารย์ไว้ก่อนนะคะเรื่องหนังสือ ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น

สวัสดีค่ะคุณดากานดา น้ำมันมะพร้าวขอบคุณที่นำสูตรน้ำสมุนไพรสุขภาพมาให้ถึงที่นะคะ ตอนนี้ที่บ้านไม่มีต้นกล้วยเหลือเลย น้ำท่วมต้นเน่าตายหมด รอปลูกรอบใหม่คงได้ต้มดื่มบ้างค่ะ

เมื่อวานได้คุยกับน้องแป๊ด มช. น้องเขาได้ทดลองต้มดื่มแล้ว ดีมากเลยนะคะช่วยกันเผยแพร่วิธีการที่เราจะบำรุง ดูแลร่างกายของเราและคนในครอบครัวด้วยสิ่งที่หาง่ายและทำได้ง่ายๆด้วย

ขอบคุณค่ะอาจารย์เอื้องแซะคนสวยคิดถึงกันอยู่เสมอจริงๆค่ะคงมีโอกาสได้พบกันอีกแบบสบายๆไม่มีฝน ไม่มีงานเป็นกรอบ

นานๆได้ทำงานที่ร่วมกับคนที่มีจริตไปทางเดียวกันเบิกบานดีค่ะ ได้ลับความรู้ตัวเองไปด้วย และเปลี่ยนบรรยากาศด้วยค่ะ

หวัดดีคับ ผม ผอ.สวัสดิ์ คับ กลับมาโรงเรียนก็ยุ่งอยูกับงานเพิ่งเข้ามาเจอ วันก่อนไปเยี่ยมหลานที่เชียงใหม่คือนายสุชาติ ทินลักษณ์ ลูกชายพี่ยุพิน ซึ่งเป็นพี่สาวของผมคุยกันถึงรู้ว่าเป็นญาติกับอาจารย์

ก็ขอให้อาจารย์ได้เผยแพร่สิ่งดีๆ ให้กับคนดีๆ ต่อไปเรื่อยๆคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท