ความหมายของลูกประคำ ๑๐๘


ความหมายของลูกประคำ ๑๐๘

 

     ช่วงนี้เราจะเห็นตามป้ายโฆษณางานบุญต่าง ๆ   ตามสี่แยกไฟแดง  ไม่ว่าจะเป็นงานวัด   หรืองานประจำปีของเจ้าสำนักวิชาอาคมต่าง ๆ   ซึ่งท่านเจ้าสำนักเหล่านั้น   หรือแม้พระภิกษุเราเองบางรูปบางองค์เราจะเห็นภาพท่านส่วนหนึ่งที่สวมประคำที่คอ   ลูกประคำมีประโยชน์อย่างไรกับท่านเหล่านั้น    มิใคร่ชัดเจนนัก   แต่สำหรับพระกรรมฐานบางรูปท่านใช้เพื่อเป็นอุบายสำหรับนับเป็นการฝึกสติ   หาใช่เป็นสิ่งที่ถือว่าขลังไม่ เพราะจริตนิสัยของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน การฝึกกรรมฐานก็ต้องให้เหมาะกับจริตของตนเอง

 

     พูดถึงเรื่องประคำ   ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณใช้ให้ข้าพเจ้าไปเทศน์แทนที่วัดนกกระจาบ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเทศน์กับท่านพระมหาพาว   เปรียญธรรม  ๙  ประโยค   วัดวิเศษการ   (วัดหมื่นรักษ์)   ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช   ท่านเจ้าภาพขอให้เทศน์เรื่องตายแล้วไปไหน   จึงปรึกษากัน   ตกลงเทศน์เรื่องช่างแก้วมณี

 

     ในระหว่างที่เทศน์อยู่นั้น    มีแม่ชีคนหนึ่งอายุประมาณ  ๖๐ ปี  ถอดลูกประคำที่คอชูขึ้นแล้วบอกกับท่านพระมหาพาวว่า    “ท่านมหาคะ”   ช่วยอธิบายที่มาที่ไปของลูกประคำนี้ว่าเป็นมาอย่างไร    มีคนเคยถามดิฉัน   ดิฉันเองก็แก้ไม่ได้    ทั้ง  ๆ    ที่สวมอยู่ที่คอ

 

     ท่านพระมหาพาวหันมาทางข้าพเจ้าแล้วพูดว่า   “เอ้า”   ท่านมหาช่วยอธิบายให้โยมฟังที

 

      ข้าพเจ้านึกในใจว่าหวาน   ๆ   เพราะเรื่องนี้เคยบันทึกไว้ในสมุดเล่มใหญ่และจำได้ขึ้นใจ    ทั้งเคยบรรยายไว้ในที่หลายแห่ง   จึงได้อธิบายให้โยมฟังว่า   “จำนวน   ๑๐๘   ในลูกประคำนั้น    เป็นจำนวนที่นำมาจากคุณพระรัตนตรัย ๑๐๘

 

     ความจริงคุณพระรัตนตรัยมีมากมายสุดที่จะประมาณ    ดังมีบาลีปรากฏในบทสวดมนต์ขันธปริตตคาถาตอนท้ายว่า   อปฺปมาโณ  พุทฺโธ  พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณไม่ได้  อปฺปมาโณ  ธมฺโม พระธรรมมีพระคุณหาประมาณไม่ได้  อปฺปมาโณ  สงฺโฆ พระสงฆ์มีคุณหาประมาณไม่ได้

 

     แต่ท่านบัณฑิตแต่เก่าก่อน    ท่านได้ย่อพระคุณของพระรัตนตรัยไว้    เพื่อสะดวกแก่การสวดสาธยาย    โดยจัดพุทธคุณไว้   ๕๖   พระธรรมคุณ  ๓๘   และพระสังฆคุณ   ๑๔   รวมเป็น  ๑๐๘

 

     วิธีนับนั้นท่านกำหนดให้นับตามอักษร    พุทธคุณ  ๕๖   เริ่มตั้งแต่  อิ  ติ  ปิ  โส  ภะ  คะ  วา  อะ  ระ  หัง  สัม  มา  สัม  พุท   โธ  วิช  ชา  จะ ระ  สัม  ปัน  โน  สุ  คะ  โต  โล  กะ  วิ  ทู  อะ  นุต  ตะ  โร  ปุ  ริ  สัท  ธัม  มะ  สา  ระ  ถิ  สัต  ถา  เท  วะ  มะ  นุส  สา  นัง  พุท  โธ  ภะ  คะ  วา   ติ  นับรวมได้  ๕๖  คำ  นี่คือ  พุทธคุณ  ๕๖

 

     พระธรรมคุณ  ๓๘   นับเริ่มตั้งแต่  สฺวาก  ขา  โต  ภะ  คะ  วะ  ตา  ธัม  โม  สัน  ทิฏ  ฐิ  โก  อะ  กา  ลิ  โก  เอ  หิ  ปัส  สิ  โก  โอ  ปะ  นะ  ยิ โก  ปัจ  จัต  ตัง  เว  ทิ  ตัพ  โพ  วิญ  ญู  หี  ติ  นับรวมได้  ๓๘  คำ  นี่คือ   พระธรรมคุณ  ๓๘

 

ส่วนพระสังฆคุณ  ๑๔  นั้น  ท่านกำหนดให้ท่องนับท่อนเดียว  คือ  สุ ปะ  ฏิ  ปัน  โน  ภะ  คะ  วะ  โต  สา  วะ  กะ  สัง  โฆ   นับรวมได้  ๑๔  คำ นี่คือพระสังฆคุณ  ๑๔

 

      รวมพุทธคุณ   ๕๖   พระธรรมคุณ   ๓๘   พระสังฆคุณ   ๑๔   นี่แหละคือ  ที่มาของลูกประคำ   ๑๐๘   ในความของหมายนี้น่าจะเป็นสิ่งที่น้อมใจให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย  หาใช่มีความหมายเป็นไปในเรื่องราวของเครื่องรางของขลัง   

 

 

  • ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก

  • เก็บเล็กผสมน้อย พระพุทธวรญาณ วัดประยุรวงศาวาส  พระนคร

หมายเลขบันทึก: 431692เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2011 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 นมัสการ ท่านมหาวินัย

      เกล้ากระผม เป็นเด็กวัด(เชียงใหม่เรียกว่า ขะโยม) อาศัยข้าวก้นบาตรในสถานภาพเด็กวัดเพื่อเข้าเรียนหนังสือระดับมัธยมและอุดมศึกษา เพราะครอบครัวยากจน เห็นประคำอย่างว่าก็ไม่รู้เรื่องราว และไม่เข้าใจ  วันนี้เข้ามาหาความรู้ที่นี่แล้ว ..ทราบแล้ว..น้อมใส่เกล้า  ..คุณพระพุทธ มี ๕๖  คุณพระธรรม มี ๓๘  คุณพระสงฆ์ มี ๑๔ รวม ๑๐๘ (ประคำ ๑ พวง มี ๑๐๘) สาธุ..

ขอขอบคุณคุณโยมที่มาเยี่ยมชมเรื่องราวของลูกประคำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท