ประวัติพระราชสิทธาจารย์(บุญเรือง ปภสฺสโร)


                              

                                 

                                 

                                 

                                 

      ดังได้กล่าวแล้วในประวัติบ้านผักกาดหญ้าว่า ในด้านศาสนาที่บ้านผักกาดหญ้านี้ในอดีตก็เคยมีพระเถระผู้ใหญ่หลายรูป คือ  ๑. พระครูพรหมจริยาภิรมย์  (พรหม สุปญฺโญ)   ๒. พระราชสิทธาจารย์  (บุญเรือง ปภสฺสโร)  ๓.พระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล)  ๔. พระครูคัมภีร์ศีลคุณ (ทองหลั่น คมฺภีโร) ๕. พระครูเมธีวราจารย์  (เมธี ญาณวโร)  ซึ่งพระเถระผู้เป็นบูรพาจารย์แต่ละรูปล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนผักกาดหญ้านี้  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำประวัติของพระคุณท่านเอาไว้  เพื่อเป็นข้อมูลให้พุทธศาสนิกชนผู้ที่มีความรักเคารพนับถือในพระคุณท่านจะได้ศึกษา  ในบันทึกนี้จักใคร่นำเสนอประวัติ หลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ หรือที่คนสมัยก่อนรู้จักกันในนามว่า “หลวงพ่อเมืองเสลฯ” ประวัติของพระคุณท่านมีดังนี้......

                                        

                 พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง   ปภสฺสโร)

 อดีตเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดร้อยเอ็ด อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม -วัดสระทอง บ้านผักกาดหญ้า และอดีตเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง  อ. เสลภูมิ  จ.ร้อยเอ็ด 

 

     

     ท่านเจ้าคุณพระราชสิทธิจารย์ นามเดิมว่า บุญเรือง นามสกุล พรหมชัยนันท์ นามฉายา ปภสฺสโร  รูปร่างสันทัด ผิวเนื้อสีขาว 

     

                                                             ชาติภูมิ

     เกิดที่บ้านดอนแพง ปัจจุบันเรียกว่าบ้านโนนแพง  หมู่ที่ ๔ ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาได้อพยพไปอยู่บ้านผักกาดหญ้า ตำบลกลาง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดาชื่อ นายบุตตะ โยมมารดาชื่อ หลอด   มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน เป็นหญิง ๒ คน เป็นชาย ๕ คน ท่านเจ้าคุณเป็นบุตรคนที่ ๖ มีน้องชายซึ่งตายตั้งแต่ ๒-๓ ขวบ ท่านจึงเป็นลูกคนเล็ก พี่ๆได้เติบใหญ่มาด้วยกันจนมีครอบครัวและบุตรหลานทุกคน เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่เพียง ๒ คน คือผู้หญิงคนหัวปี กับพี่ผู้ชายอันดับติดกับท่านเท่านั้น(ปัจจุบันนี้ ท่านเหล่านี้คงจะเสียชีวิตแล้ว) อาชีพประจำสกุลของท่าน  ก็คือ ทำนา และค้าขายทางร่องเรือขายข้าว

     

     

                                                       ชาติกาล

     ท่านเจ้าคุณฯ เกิดวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ  เดือน ๑๒ ปีมะเมีย เวลาประมาณ ๕.๓๐ น.

 

     

                                                การศึกษาในปฐมวัย

     ได้เข้าเรียนหนังสือไทยครั้งแรกในโรงเรียนรัฐบาลวัดเหนือ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมาติดตามครูพรหมจริยาภิรมย์ (พรหม) และสามเณรทองดี (นายทองดี รัตโน) ซึ่งเป็น   ลูกป้า ไปอยู่วัดสร่างโสก (วัดศรีธรรมาราม) อำเภอยโสธร อยู่ในปกครองของท่านพระครูคุณสารพินิจ  (ลี อสฺสชิ) อดีตเจ้าอาวาส วัดบึงพลาญชัย ขณะนั้นท่านพระครูได้เป็นครูสอนปริยัติธรรมของวัดสร่างโสก ท่านเจ้าคุณฯ ได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนภาษาไทยที่วัดนั้น อยู่ได้ประมาณปีเศษ อาจารย์ได้รับนิมนต์ ให้มาอยู่วัดบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด จึงอพยพกันมาทั้งเณรและเด็ก ท่านเจ้าคุณฯจึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนชั้นประถมวัดสระทอง จังหวัดร้อยเอ็ด  เรียนจบชั้นประถมในโรงเรียนนี้ แล้วย้ายไปเรียนชั้นมัธยมต่อที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เวลานั้นเป็นโรงเรียนประจำมณฑล เรียนมัธยมปีที่ ๑ สอบกลางปีได้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ในปลายปีสอบได้ไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ เรียนอยู่ได้เพียงเทอมกลางก็ลาออก  มาอยู่บ้าน ท่านบอกว่าเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้เข้าเป็นครูน้อยสอนอยู่โรงเรียนวัดบ้านผักกาดหญ้า เวลานั้น นายกัณหา ไชยพิศ เป็นครูใหญ่ ท่านบอกว่าได้เงินเดือนๆละ ๒ บาท

    

     ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๔ นั้น ได้ไปเยี่ยมพี่ชายคนหนึ่ง ซึ่งมีครอบครัวอยู่ที่บ้านท่ามะเดื่อ ท้องที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ประจวบกับเวลานั้น ทางมณฑลอุดร จัดตั้งการศึกษาประชาบาล   ท่านเจ้าคุณฯ จึงลาออกจากโรงเรียนวัดบ้านผักกาดหญ้า สมัครเป็นครูประชาบาลทางอำเภอน้ำพอง ได้บรรจุเป็นครูน้อยโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านหนองแวง (วังไชย) ตำบลวังไชย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น  เริ่มสนใจไสยศาสตร์ เวทย์มนต์ ว่าน เครื่องรางของขลัง แต่นั้นมา  ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านฝาง ตำบลบัวเงิน    อำเภอน้ำพอง (เวลานี้เป็นท้องที่อำเภอกระนวน) ท่านเล่าว่าโรงเรียนบ้านนี้ล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้งหลายครา ส่งครูคนใดไปอยู่ อยู่ได้ไม่เกิน ๓ เดือน ไม่ชิงตายเสียก่อน ก็หนี แต่ท่านอยู่ได้นานร่วม ๒ ปี โรงเรียนเป็นปึกแผ่นมาจนบัดนี้  ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ลาออกจากอาชีพครู กับมาอยู่บ้านผักกาดหญ้า เริ่มจับอาชีพค้าขาย คือ    ซื้อข้าวเปลือกล่องเรือไปขายศรีสะเกษ ท่าช้าง ซึ่งเวลานั้นคนไทยเริ่มสนใจในการค้า แต่ท่านเจ้าคุณฯ    เป็นคนนิสัยใจกว้าง ใช้เงินเติบ จะอยู่หรือไปในกลุ่มใดต้องแสดงตัวเป็นหัวโจก การค้าจึงหากำไรได้ยาก มักจะเสียมากกว่าได้ โยมบิดาปล่อยให้ทำอยู่ ๒ ปี ก็มองเห็นว่าไปไม่รอด ครั้นจะห้ามปรามก็เกรงจะผิดใจและจะเตลิดไปใหญ่ จึงคิดหาอุบายให้พัก โดยให้โยมผู้หญิงขอร้องให้บวช ท่านเล่าว่าสงสารโยมผู้หญิงมาก เพราะเคยทำให้เสียใจร้องไห้มามาก อยากล้างบาปทดแทนบุญคุณเสียบ้าง จึงตกลงรับปากจะบวชให้ และถามโยมผู้หญิงว่าจะให้บวชนานสักเท่าใด โยมบอกว่า จะอยู่ได้นานเท่าไรแม่ไม่ว่า ขอให้บวชก็เป็นพอใจ ท่านพูดล้อเล่นว่า “ถ้าบวชแล้ว อย่าบอกให้สึกเด้อ” โยมผู้หญิงพนมมือยกใส่หัวแล้วว่า “สาธุ ลูกคำของแม่  แม่บ่ว่าดอก” เมื่อโยมผู้ชายรู้ว่าจะบวชก็โล่งใจ แต่ก็ยังไม่เชื่อนัก ก่อนจะบวชประมาณ ๑-๒ เดือนนี้   เที่ยวสนุกหัวซุกหัวซน ชาวบ้านและเพื่อนฝูงได้ทราบข่าวว่าจะบวช ไม่มีใครเชื่อ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  จะอยู่ได้ไม่เกิน ๑๕ วัน แต่ท่านก็อยู่มาจนได้เป็นพระราชาคณะชั้นราช และมรณภาพในสมณภาวะ

                            

                                              อุปสมบทและสมณเพศ

    

 

   ในที่สุดท่านก็ได้รับการอุปสมบท ในพระบวรพุทธศาสนา ณ พัทธสีมา    วัดเหนือ (สุปัญญาราม) บ้านผักกาดหญ้า เมื่อเดือน ๔ ข้างขึ้น ปีเถาะ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๐ เวลาบ่าย  โดยมีพระครูอุตตานุรักษ์ (อินทร์) เจ้าคณะแขวงเสลภูมิ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาพิมพ์    เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์พิมพ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทพร้อมกันคราวนั้น ๘ รูป  ที่ยังดำรงสมณเพศอยู่บัดนี้ มีท่านพระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญพโล) เพียงองค์เดียว

 

ปี พ.ศ. ๒๔๗๑  จำพรรษาที่วัดเหนือ บ้านผักกาดหญ้า

ปี พ.ศ. ๒๔๗๒  จำพรรษาที่วัดหนองแปน ตำบลมูลตุ่น อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ได้นำชาวบ้านสร้างโบสถ์ ๑ หลัง

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓   จำพรรษาที่วัดบ้านมะบ้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

 

     ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ชาวบ้านได้ปรึกษาตกลงกัน เพื่อเปลี่ยนแปลง วัดเหนือ (สุปัญญาราม)   บ้านผักกาดหญ้า ซึ่งขณะนั้นสังกัดในคณะมหานิกาย ให้เข้าสังกัดในคณะธรรมยุติกา ท่านเจ้าคุณฯ    พร้อมด้วยคณะ มีพระครูวินัยรสสุนทร (รส) เมื่อยังเป็นพระอันดับ พระทองดี (นายประจวบ บัวศรีรานนท์) พระศรี (มหาศรีเปรียญ ๔ บ้านน้ำเที่ยง) โดยการนำของท่านพระครูพรหมจริยาภิรมย์ (พรหม) เจ้าอาวาส   วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม ไปทำพิธีทัฬหิกรรม ที่วัดปทุมวนาราม พระนคร โดยมี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูเชฏฐาคุณาจารย์ (บุญมี)                       เป็นพระกรรมวาจาจารย์   พระปลัดบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์                                      พิธีได้ประกอบขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ขึ้น ๖ค่ำ ปีมะแม เสร็จ เวลา ๑๗.๒๖ น.

 

ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง ๒๔๗๖ จำพรรษาที่วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม                    

ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึง  ๒๔๗๙   จำพรรษาที่วัดสุปัญญาราม
บ้านผักกาดหญ้า
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จำพรรษาที่วัดสระทอง (ใต้) บ้านผักกาดหญ้า

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง ๒๕๐๐ จำพรรษา ณ วัดมิ่งเมืองอำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด

ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ไปสร้างสำนักสงฆ์ที่บ้านหนองแวง ห้วยทรายอำเภอโพนทอง และจำพรรษาที่นั้น

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๐๗ จำพรรษาที่วัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

 

 

                                                       ศาสนศึกษา

ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ สอบนักธรรมชั้นตรีได้ ในสำนักเรียนคณะร้อยเอ็ด

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียนบาลีไวยากรณ์กับอาจารย์ตา(นายตา ทินบุตร)  บ้านมะบ้า

ปี พ.ศ. ๒๔๗๔  สอบนักธรรมชั้นโทได้  เรียนบาลี

ไวยากรณ์ และธรรมบทในสำนักเรียน วัดเกตการามจังหวัดสมุทรสงคราม

ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เข้าสอบบาลีประโยค ๓ ปรากฏว่าไม่ได้

ปี พ.ศ. ๒๔๗๖  สอบนักธรรมชั้นเอกได้ ในสำนักเรียนวัดเกตการาม และเข้าสอบประโยค ป.ธ. ๓ ไม่ได้อีก ในปีต่อมาได้พยายามสอบอีก แต่ปรากฏว่าไม่ได้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ในคณะมีภาระมาก จึงหยุดสอบ

                                          

                                                    ตำแหน่งหน้าที่

      ปี พ.ศ. ๒๔๗๗         เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดสุปัญญาราม

    ปี พ.ศ. ๒๔๗๘         เป็นรองเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ

      ปี พ.ศ. ๒๔๘๐          เป็นเจ้าคณะแขวงเสลภูมิ

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๑          เป็นเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง อำเภอเสลภูมิ

      ปี พ.ศ. ๒๔๘๓          เป็นอุปัชฌาย์ ในคณะธรรมยุติกนิกาย

      ปี พ.ศ. ๒๔๘๔          เป็นเจ้าคณะอำเภอเสลภูมิ

      ปี พ.ศ. ๒๔๙๖           เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดร้อยเอ็ด และปฏิบัติการในตำแหน่ง เจ้าคณะธรรมยุต อำเภอเสลภูมิ-ธวัชบุรี-อาจสามารถ

 

                                                    หน้าที่พิเศษ

   ปี พ.ศ. ๒๔๗๗          เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง

   ปี พ.ศ. ๒๔๙๗          เป็นพระธรรมจาริก อบรมประชาชน ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์

   ปี พ.ศ. ๒๕๐๗           เป็นพระธรรมทูตภายในประเทศ

                                            

                                                        สมณศักดิ์

   ปี พ.ศ. ๒๔๘๑     รับสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูวิโรจน์ผดุงศาสน์

   ปี พ.ศ. ๒๔๙๖     รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะที่พระประภัสสรมุนี

   ปี พ.ศ. ๒๕๐๑     รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระราชสิทธาจารย์

                                     

                                             ผลงานด้านการศึกษา

     ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้จัดตั้งสำนักเรียนที่วัดสุปัญญาราม ให้มีการศึกษาทั้งบาลีและนักธรรมได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ปรากฏว่าบางปีมีพระเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนถึงร้อยเศษ ได้ผลิตนักธรรมและเปรียญขึ้นเป็นจำนวนมาก และในฐานะที่เป็นเจ้าคณะปกครอง ท่านได้เอาใจใส่ส่งเสริมการศึกษาตามวัดต่างๆ ในเขตปกครองของท่าน ให้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี

                                   

                                          ผลงานด้านการก่อสร้าง

     ท่านเจ้าคุณฯ เป็นนักก่อสร้าง และมีความขยันเป็นเลิศ เมื่ออยู่วัดสุปัญญาราม ร่วมกับ     พระครูวินัยรสสุนทร ได้สร้างถาวรวัตถุ และปรับปรุงวัด คือ กุฎีไม้มุงสังกะสีฝากระดานทรงมนิลาชั้นเดียวจำนวน ๑๑ หลัง หอกลาง ๑ หลัง กุฎีไม้สองชั้น ๑ หลังเมื่อมาอยู่วัดมิ่งเมืองชั่วระยะเวลา ๒๘ ปี ท่านได้สร้างถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุไว้เป็นจำนวนมาก ปรับปรุงพัฒนาวัดได้เรียบร้อย สง่างาม เช่น อุโบสถ ๑หลัง       สิ้นเงิน ๗๕๗,๕๔๗.๗๕ บาท (เจ็ดแสนห้าหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยสี่สิบเจ็ดบาท เจ็ดสิบห้าสตางค์) โดยทุนทรัพย์ที่ท่านเป็นผู้นำ มีผู้บริจาคร่วมอยู่ทุกจังหวัด ศาลาการเปรียญ (ศาลานาบุญ) ๑ หลัง     สิ้นเงิน ๒๗๐,๕๐๐ บาท (สองแสนเจ็ดหมื่น ห้าร้อยบาท) โดยทุนทางการให้สมทบ ๔๐,๐๐๐ บาท     นอกนั้นเป็นทุนที่ท่านจัดหาจากผู้มีศรัทธาบริจาค กุฎีสมภารเป็นตึกคอนกรีต เสริมเหล็กทรงไทย    สิ้นเงิน ๓๗๕,๒๕๐ บาท โดยคุณหลวง พิสณฑ์พนาธิราช จังหวัดพระนคร บริจาค ๓๐,๐๐๐ บาท นอกนั้นมีผู้บริจาคเป็นรายย่อย และนิตยภัตของท่านเอง กุฎีสมเด็จ ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้  สิ้นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท โดยทุนที่ท่านบอกบุญจากท่านที่มีศรัทธาทั้งหลาย นอกจากนั้นมีกุฎีต่างๆอีก           จำนวน ๘ หลัง สิ้นเงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยทุนของท่านบ้าง มีผู้ศรัทธาช่วยสร้างบ้าง  ส่วนปูชนียวัตถุนั้น มีพระประธานลงรักปิดทอง พร้อมด้วยพระอัครสาวก และอื่นๆอีก ตามวัดต่างๆ         ท่านได้เอาใจใส่ช่วยสร้างอีกเป็นจำนวนมาก ทั่งฝ่ายมหานิกาย ทั้งธรรมยุต เช่นที่วัดเหนือ อำเภอเสลภูมิ       โยมฉั่ว ดอนสกุลให้ทุน ๑๐,๐๐๐ บาท ท่านหาจากผู้อื่นสมทบอีก ๔๐,๐๐๐ บาท สร้างศาลาการเปรียญ         ๑ หลัง และที่วัดอินทรนิวาส บ้านขวาว ตำบลขวาว สร้างศาลาการเปรียญอีก ๑ หลัง สิ้นเงินประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท โดยทุนของชาวบ้าน และของท่านหาสมทบ ก่อนท่านจะอาพาธ ได้จัดสร้างโบสถ์    วัดบ้านตาลม เวลานี้ยังไม่เสร็จ โบสถ์หลังนี้ท่านเป็นห่วงมาก เมื่อหลังผ่าตัดกลับมาอยู่วัดพยายามจะไปดูหลายครั้ง แต่หมอได้ขอร้องไว้เกรงจะกระทบกระเทือน ที่วัดอื่นๆเมื่อท่านได้ทราบว่ามีการก่อสร้าง            เพียงสมภารมาเล่าให้ฟัง ท่านจะต้องเป็นภาระจัดหาอุปกรณ์ให้ไปสมทบมากบ้างน้อยบ้างเสมอ ที่สำนักสงฆ์บ้านหนองแวงห้วยทราย อำเภอโพนทอง ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ ๑ หลังกุฎีไม้ขนาดกลาง ๑ หลัง เวลานี้ได้มอบให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย โดยมีเจ้าคณะตำบลชุมพร เข้าอยู่สืบไปแล้ว
 

                                                    ผลงานด้านการปกครอง

     ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าคณะปกครองคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุตและฝ่ายมหานิกายในอำเภอนี้  ท่านมิได้รังเกียจหรือถือนิกายเป็นเหตุให้แตกร้าวสามัคคี ให้ความเป็นธรรมและความร่มเย็นแก่   ผู้อยู่ใต้ปกครองทั่วกัน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำฝ่ายธรรมยุตทั่วไปทั้งจังหวัด ก็พยายามประสานงานให้เกิดความสามัคคี ไม่ให้เกิดความแตกร้าวในหมู่คณะสงฆ์ จนเป็นที่ปรากฏว่าในจังหวัดร้อยเอ็ดนี้ ไม่มีการ เกี่ยงงอนว่าธรรมยุตหรือมหานิกายเลย ทั้งสองฝ่ายต่างกลมเกลียวกัน ตั้งหน้าบำเพ็ญประโยชน์ศาสนกิจร่วมกันเป็นอันดี ด้านญาติโยมทายกทายิกา ท่านมีจิตเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ด้วยธรรมและวัตถุเสมอเหมือนมา ทุกคนต่างเคารพรักใคร่ในตัวท่าน เรียกท่านว่า หลวงพ่อ เต็มปากเต็มคำและเต็มใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่

                                      

                                                        อาพาธและมรณกาล

      ท่านเจ้าคุณฯ เป็นผู้ที่ร่างกายแข็งแรง นิสัยขยันในด้านก่อสร้าง และการคณะ ท่านไม่ชอบอยู่นิ่ง ระยะเวลาใดที่ไม่มีแขก ท่านจะต้องหางานทำทันที ไม่งานโยธาก่อสร้างก็ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีใครทราบว่าท่านป่วยหรือเป็นอะไร ตัวท่านเองเป็นคนใจแข็ง ไม่ยอมแสดงเป็นคนป่วย เมื่อท่านได้รับหน้าที่เป็น ธรรมทูต ดูท่านเอาใจใส่ในหน้าที่นี้มาก ต้องจาริกไปสั่งสอนประชาชนในเขตของท่านบ้าง ไปอบรมแนะนำพระธรรมทูตในปกครองบ้าง ตอนนี้สังเกตเห็นว่าท่านทรุดโทรมมาก แต่ท่านก็ไม่ยอมหยุด คงปฏิบัติงานตามปกติ ต่อมาเดือนมีนาคม ๒๕๐๘ ท่านได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าคุณพระมุกดาหารโมลี ที่อำเภอมุกดาหาร คุณหมอวิศิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมุกดาหาร เห็นท่านทรุดลงจนผิดสังเกต จึงขออนุญาตตรวจร่างกายดู ปรากฏว่าระดับโลหิตปกติ คุณหมอตกใจและเป็นห่วงมาก เมื่อจัดยาถวายแล้ว ได้ขอร้องให้ท่านพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งโดยด่วน แต่เมื่อมาถึงวัดท่านก็ไม่หยุดทำงาน และยังอุตส่าห์ไปประกอบศาสนกิจ ที่มีผู้มาขอนิมนต์ในต่างจังหวัดอยู่อีก หลังจากนั้น คุณหมอชมนาด คุณนายผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ดมาเยี่ยม เมื่อได้ทราบจากคำบอกเล่าของท่านแล้ว ด้วยความเคารพ และเป็นห่วง จึงให้รถมารับในวันที่ ๒๘ มีนาคม เพื่อไปตรวจให้ถี่ถ้วนอีกครั้งที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด   คุณหมอฉลาด ผู้อำนวยการ ฯ ตรวจพบก้อนเนื้อที่ไหปลาร้าข้างซ้าย จึงได้ผ่าออกและส่งไปวิจัยที่กรุงเทพ ฯ คุณหมอสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง อาการของท่านทรงอยู่ เพื่อความแน่นอน ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๐๘ จึงได้ออกจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ท่านอธิบดีกรมการแพทย์ปัจจุบัน และคุณนายได้กรุณาให้ความอุปการะ ที่สุดหมอได้ทำการผ่าตัดในวันที่ ๒๒ เมษายน เวลา ๘.๓๐ น. หมอผู้ผ่าตัดได้กระซิบกับผู้ปฏิบัติว่า เป็นมะเร็งในตับ ไม่มีทางเยี่ยวยารักษาให้หายขาดได้ ได้พักรักษาตัวอยู่จนถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๘ จึงได้เดินทางกลับวัด  เมื่อทำพิธีวิสาขบูชาเสร็จ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ได้กลับเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดอีก อาการตอนนี้รู้สึกว่าดีขึ้นมาก จนเดินรอบโรงพยาบาลได้

                วันที่ ๒๗ มิถุนายน กลับวัดเพื่อเข้าปุริมพรรษา หมอคงหมั่น

ไปเยี่ยมและให้ยาอยู่ อาการยังพอ ทรงๆอยู่ พอตกถึงเดือนกันยายน อาการเริ่มทรุดลง จนวันที่ ๗ กันยายน จึงเข้าโรงพยาบาลอีก อาการคงทรงและทรุด

                วันที่ ๑๔ กันยายน กลับวัดค้าง ๑ คืน เพราะครบเจ็ดวัน วันพุธกลับเข้าโรงพยาบาล ถึงวันที่ ๑๙ อาการท่านเริ่มหนัก แต่ก็ยังรับแขกได้อยู่ ตอนเย็นบอกว่าเพลียมาก หมอมาให้น้ำเกลือและออกซิเยน  ในตอนกลางคืนบ่นว่าเวทนากล้ามาก และพูดเล่นๆว่า “นี่ละหนอ เขายากคือสิตายเป็นจั่งซี้”  ลูกหลานศิษยานุศิษย์ มาเยี่ยมกันมาก ท่านยังสั่งให้พวกที่ปฏิบัติหาอาหารเลี้ยงกัน ตามนิสัยที่ท่านชอบ  เวลา ๑.๓๐ น. บอกว่า เวทนากล้าเหลือเกิน เห็นจะไม่พ้นคืนนี้ เรียกท่านเจ้าคุณพระศีลวิสุทธาจารย์เข้ามาหา และบอกว่า “เวทนามันกล้านัก เทศน์ให้ฟังที” ท่านเจ้าคุณฯประนมมือไว้ระหว่างอก ท่านเจ้าคุณศีลฯ เรียนว่า”สังขารเท่านั้นที่จะแตกทำลาย จิตไม่แตก ขอให้รักษาจิตให้ดี” ท่านรับสาธุพร้อมกับประคองอัญชลีขึ้นเหนือหัว และพูดว่า “ที่นี้สบายดีแล้ว”แล้วท่านพูดถึงเรื่องของผู้ปฏิบัติสองสามคำ แล้วมือก็ดึงสายออกซิเจนออกจากจมูกโดยบอกว่ามันช้า หมอกราบแล้วขอสวมเข้าคืน ท่านนิ่งแล้ววางมือแนบกาย ไม่พูดอะไร   นอนหายใจเฉยหลับตานิ่ง จนเวลา ๓.๐๐ น. ก็หยุดหายใจโดยอาการสงบ ไม่ดิ้นรนแต่ประการใด สิริรวมอายุได้ ๕๙ ปีเศษ ทิ้งความงามความดี ความอาลัยรักเคารพบูชาไว้เบื้องหลัง ให้เป็นอนุสรณ์แก่ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และทายกทายิกาที่เคารพนับถือ เพื่อยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป  

* อ้างอิงจากหนังสือ งานพระราชเพลิงศพ พระราชสิทธาจารย์* 

 

หมายเลขบันทึก: 425426เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2013 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ไม่ทราบท่านมหามีภาพถ่ายหลวงพ่อบ้างไหม นำมาลงไว้จะได้ชื่นชมทัศนาเจริญศรัทธาปสาทะยิ่งๆขึ้น

    ครับผม จะพยายามนำรูปถ่ายท่านมาให้ได้ ในชีวิตท่านเป็นคนที่มีเรื่องราวที่เป็นอภินิหารมาก แต่ในประวัตินี้กระผมไม่ได้นำมาลงไว้ ตามประวัติท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องไสยศาสตร์  แม้หวยท่านก็บอกถูก จนสมเด็จพระสังฆราช ตอนนั้นสงสัยจะเป็นวัดสระเกศ หรือวัดเบญฯนี่แหละครับ เรียกตัวเข้าไปสอบ ว่าท่านสนับสนุนในเรื่องอบายมุข ซึ่งเรื่องนี้ โยมที่ขับแท๊กซี่ให้ท่านปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ เขาเล่าว่า สมเด็จฯให้ท่านเขียนเลขทิ้งเอาไว้ ว่างวดที่จะถึงก็คือวันพรุ่งนี้หวยจะออกอะไร ท่านก็เลยเขียนตามที่บัญชา ต่อมาปรากฏว่าเลขที่ท่านเขียนให้สมเด็จฯ ตรงตามที่หวยออกทุกตัว ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่ยอมรับของสมเด็จพระสังฆราชรูปนั้น เดี๋ยวกระผมจะลองศึกษาความละเอียดเรื่องนี้ดูอีกครั้ง เรื่องเหล่านี้เกี่ยวเนื่องด้วยศรัทธา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเข้าข่ายอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าเองก็ไม่สรรเสริญเท่าใด กระผมเองจึงไม่กล้าลงไว้ เพราะตามต้นฉบับทในหนังสือเล่มที่กล่าวถึงไม่ได้กล่าวไว้เช่นกัน(หนังสือเล่มนั้นเก่ามากครับ)   อ่านประวัติท่านในตอนท้ายแล้วก็ทำให้เศร้าครับ ตอนที่เวทนากล้า ..ท่านบอกว่ามันช้า ดึงสายออกซิเยนออก หมอเอาใส่ให้ใหม่.

น่ายินดีอย่างมากเลยครับ ที่ท่านมหาเสนอแง่มุมต่างจากอดีต ซึ่งกิตติคุณหลวงพ่อผมคาดว่าน่าจะมีคนกล่าวถึง พูดถึงเขียนไว้มากแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดคงหาได้จากหลายแหล่ง

แต่ผมอยากชวนท่านมหาให้มองมุมใหม่ๆ อย่างที่ท่านมหานำเสนอมานี่แหละครับ ถ้าไม่รีบบันทึกแง่มุมนี้ไว้นานไป ข้อมูลด้านนี้อาจสูญหายไปอย่างน่าเสียดายก็ได้ครับ

อย่างที่บ้านผม(จังหวัดนครสวรรค์)มีพระมหาเถระผู้โด่งดังถ้าเอ่ยชื่อคนรู้จักกันทั้งเมืองไทยเลยแหละครับ ซึ่งคุณูปการด้านอื่นของท่านมีมากมาย แต่ไม่มีคนบันทึกไว้ จึงปัจจุบันนี้ เกือบจะหาร่องรอยไม่ได้เลย

ตัวอย่างที่ท่านมหายกมาเล็กน้อยนั้น ยุคสมัยหนึ่งคนนิยมมาก จะบอกว่าเป็นกระแสสังคมก็พอได้ ไม่อยากกล่าวว่าสังคมอ่อนแอ แต่อาจมองได้ว่าผู้คนชอบพึ่งผู้อื่น พึ่งสิ่งนอกตัว พึ่งเทวบันดาล ชอบให้ผู้อื่นทำให้ มันง่ายดี สบายดี ไม่ต้องทำเอง คอยพึ่งสิ่งภายนอก เข้าลักษณะเป็นคนอ่อนแอ คอยแต่จะบริโภค ไม่ทำเอง สิ่งเหล่านี้หรือเปล่า จึงทำให้สังคมเราอ่อนแอลงเรื่อยๆ ลูกหลานของเราทำอะไรไม่ค่อยเป็น ชอบสิ่งง่ายๆ ให้ทำเอง ไม่ทำ ไม่สู้งาน

อยากชวนท่านมหามองพระเถระในอดีตอีกด้านหนึ่งนะครับ เช่น ท่านสร้างสรรค์อะไรไว้ในชุมชนบ้าง บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่ชุมชนมีอะไรบ้าง คงมีมากมายแต่คนรุ่นนั้น หรือรุ่นต่อมาอาจมองไม่เห็น เห็นก็เห็นมุมเดียว คือมุมอภินิหาร

อีกมุมอีกด้าน เช่น ท่านสร้างวัดสร้างโรงเรียน สร้างคน สร้างศาสนทายาท พัฒนาชุมชน เหล่านี้เป็นต้น 

ผมเห็นท่านมหานำเสนอด้านนี้ ผมจึงดีใจ เลยขอสนับสนุนเต็มที่เลยครับ ลองดึงออกมาให้มากๆ จะเห็นสิ่งดีๆที่คนรุ่นเก่าทำไว้มากมายที่เราคาดไม่ถึงนะครับ ด้านไสยเวทย์คงหาได้ไม่ยากเนาะซึ่งน่าจะมีคนทำไว้อยู่แล้ว(ประเด็นนี้ละไว้ในฐานที่เข้าใจก็ได้ครับ) ลองหาแง่มุมอื่นๆมานำเสนอที่ต่างออกไป ซึ่งน่าจะมีอยู่มาก และคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมชุมชนท้องถิ่นบ้านนาป่าดงอย่างบ้านเรานะครับ เอาโลดๆๆๆ....ลุยเลยครับ

นมัสการหลวงพี่

  • ขอบพระคุณที่ไปให้กำลังใจคุณยายค่ะ

อิสานด้วยกัน ก็ต้องไปมาหาสู่กัน เข้าไปอ่านเรื่องราวชีวิตในอดีต ได้ข้อคิดดีออก

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • เครื่องคอมมีปัญหาไปสองสามวัน เลยมิได้เข้ามาอ่านบันทึกของพระคุณเจ้า
  • วันนี้ ใช้เครื่องคอมลูกชาย ไม่ค่อยถนัดนักค่ะ
  • อ่านบันทึกแล้วคิดถึงคุณพ่อที่จากไปครบหนึ่งร้อยวัน เมื่อวันที่ 10 นี้เองค่ะ
  • ตอนที่อยู่โรงพยาบาล คุณพ่อก็พยายามจะดึงสายอ๊อกซิเจนออก  ลูก ๆ ต้องคอยจับมือท่านไว้ตลอดเวลา
  • ท่านคงคิดเหมือนกันว่า "มันช้า" 
  • พระคุณเจ้าเขียนบันทึกได้รายละเอียดดีมาก ๆ ค่ะ นับว่าเป็นข้อมูลแหล่งเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างสมบูรณ์จริง ๆ
  • หากแต่ขาดเพียงรูปภาพประกอบ ถ้ามีรูปภาพประกอบด้วยก็จะสมบูรณ์มากขึ้นค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

นมัสการค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะที่นำบทกลอนไปโพสที่ "ฤดูแห่งรัก"
  • บทกลอนไพเราะและมีแง่งามในการสอนใจ เตือนใจ วัยหนุ่ม วัยสาว
  • ขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งดีงามที่พระคุณเจ้าได้กระทำ
  • ดลบันดาลให้พระคุณเจ้า มีความสุข ประสบความสำเร็จในการศึกษา
  • เพื่อพัฒนาตนเอง เสริมสร้างพัฒนาบำรุงพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้น
  • มีความสุขกับความรัก  รักที่จะเดินตามรอยบาทพระศาสดา มีความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมตามที่พระคุณเจ้าปรารถนาด้วยเทอญ

Wallpaper : ดอกไม้ที่สวน

นมัสการหลวงพี่

  • ขอบพระคุณที่ไปให้กำลังใจคุณยายเสมอๆนะคะ

แวะมานมัสการพระคุณเจ้า

เนื่องในวันมาฆบูชาค่ะ

 

ผมมาเป็นเด็กวัดมิ่งเมืองใหม่ๆได้ยินแต่เขาเรียกเจ้าคุณฯว่าหลวงตาราชผมเป็นเด็กช่างอยากรู้จึงถามตาแบ่งบ้านอยู่หน้าประตูโขงวัดมิ่งเมืองสมัยนั้นว่าหลวงตาราชคือใครพอตาแบ่งบอกจึงถึงบางอ้อว่าหลวงตาราชก็คือท่านเจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์เจ้าอาวาสองค์ก่อนหลวงตาวินัยของผมนี้เองเมื่อรู้แล้วแทนที่ผมจะหยุดถามแต่ด้วยความอยากรู้จึงถามต่อซึ่งคนที่ถูกถามถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ธรรมดาเป็นคนรู้จริงซะด้วยเพราะสมัยนั้นตาแบ่งท่านคงจะเป็นไวยาฯวัดมิ่งเมือง ของทั้งสองหลวงตาแน่ๆผมจึงถามตาแบ่งแบบสมัยนี้เรียกเจาะลึกจนผมรู้ลึกถึงขนาดรู้ว่าหลวงตาราชและหลวงตาวินัยท่านป็นพระที่บวชมาพร้อมกันเหมือนที่หลวงพี่พระมหาได้เขียนมาให้ผมอ่านครับ จนได้มาครองวัดมิ่งเมืองต่อกันมา ตาแบ่งยังเล่าอีกว่าท่านไปเรียนวิชาไสยเวทย์(มนต์)ด้วยกันและเป็นศิษย์อาจารย์องค์เดียวกันหลวงตาราชได้เรียนมนต์เสือและจระเข้ส่วนหลวงตาวินัยได้เรียนมนต์งู(กล่าวว่าถ้าเรียนจนสำเร็จก็จะสามารถร่ายมนต์ให้กลายร่างเป็นสัตว์ดังกล่าวได้ตามต้องการของผู้เรียน) ตาแบ่งท่านบอกว่าท่านเคยเห็นและและเป็นคนที่หลวงตามอบไม้พร้อมสั่งไว้เป็นคนคอยเอาไม้ตีให้คืนร่างเดิม(เฉพาะหลวงตาราช นะครับส่วนหลวงตาวินัยท่านไม่เห็นว่าอย่าง)ผมตั้งใจฟัง ตาแบ่งจึงเล่าต่ออีกว่าสาเหตุที่ได้คนละมนต์ก็เพราะก่อนเรียนผู้เป็นอาจารย์คงอยากจะทดสอบจิตใจของลูกศิษย์แต่ละองค์ว่าจะเด็จเดี่ยวแค่ใหนมีที่มาว่าเมื่อจะสำเร็จแต่ละมนต์อาจารย์ของหลวงตาทั้งสองจะให้ศิษย์ทั้งสองมองลงไปที่ก้นบ่อ(คนโบราณเรียกส่างฮ้างที่มีความลึกมาก)ซึ่งอาจารย์ได้เอาไม้ไผ่ที่เสี่ยมปลายให้แหลมแล้วลงไปปักไว้ที่ก้นบ่อ(อิสานเรียกไม้คันหลาวแปลเป็นไทยก็อีกทีก็คือไม้ไผ่ที่ชาวนาเสี่ยมปลายให้แหลมทั้งสองข้างจึงจะเสียบมัดข้าวได้ทั้งสองข้างใช้หาบมัดข้าวที่เกี่ยวเเล้วหาบไปไว้ที่ลานนวดข้าว)อาจารย์กำชับว่าถ้าใครมองลงไปที่ก้นบ่อแล้วเห็นไม้ไผ่ปลายแหลมกลายเป็นใบข้าววี(ใบข้าวเอนลู่ตามลม)จึงโดดลงไป ตาแบ่งเล่าว่าหลวงตาราชมองเห็นเป็นใบข้าววีจึงโดดลงไปเลยจึงได้มนต์เสือและจระเข้ส่วนหลวงตาวินัยเห็นยังเป็นปลายไม้ไผ่แหลมๆอยู่จึงไม่กล้าโดดจึงได้เพียงมนต์ที่เยือกเย็นเชื่องช้าและอ่อนโยนเหมือนงูซึ่งจะเห็นว่าหลวงตาวินัยท่านจะไมค่อยจะมีประวัติโลดโผนเหมือนหลวงตาราชเลย ที่ผมอยู่มากับหลวงวินัยนั้นเห็นท่านมีแต่ความเมตตาจริงๆส่วนเรื่องมนต์งูผมอยู่กับหลวงตาวินัยมา6ปีเกือบเต้มจึงได้เห็นงูงูเหลือมใหญ่เสียด้วยครับเกือบเต็มตาถ้าหลวงตาวินัยไม่พูดขึ้นมาก่อนซึ่งเป็นการยืนยันคำบอกเล่าของตาแบ่งได้เป็นอย่างดี ผมเสียดายที่ไม่ได้ถามตาแบ่ง ว่าอาจาร์ของหลวงตาคนนั้นคือใคร หลวงตาราชได้สร้างโบสถ์ได้สร้างศาลาหลวงตาวินัยได้สร้างกำแพงและประตูโขง ตาแบ่งเป็นคนที่มาที่กุฏีหลวงตาวินัย แทบจะทุกวันก็ว่าได้เพราะแกมีหน้าที่เป็นไวยาฯหรือเป็นกรรมการวัดก็ไม่แน่และแกก็จะชอบมากินข้าวก้นบาตรร่วมกับพวกผมที่กุฏีหลวงตาอยู่บ่อยๆส่วนผมก็อยู่ประจำกุฏีหลวงตาวินัยซึ่งจะมีเด็กวัดใกล้ชิดหลวงตาวินัย7คนที่อยู่ด้วยกันที่กุฏีสมัยนั้น และให้มีหน้าที่รับปินโตตอนเช้าทุกวัน ปินโตทุกสายจะถวายหลวงตาฉันจังหันที่กุฏีทุกวัน ซึ่งวันธรรมดาหลวงตาท่านจะฉันจังหันที่กุฏี ส่วนวันพระหรือวันสำคัญทางพุทธศาสนาหลวงตาจึงจะขึ้นไปฉันจังหันที่ศาลานาบุญ ผมไม่เพียงแต่จะสะพายย่ามให้หลวงตาวินัยยามที่ท่านรับกิจนิมนต์ใกล้ไกล(ไกลสุดคือจว.อุบลฯ)อีกหน้าที่หนึ่งก็คือเป็นหมอนวดให้หลวงตาวินัยอยู่เป็นประจำหลวงตาบอกว่าใครนวดให้ก็ไม่เท่าบักขุน(ผม)ถ้าจะจริงแท้เพราะหลวงตาบอกผมว่าคนอื่นนวดเหมือนขั้นส้มผัก(ผักดอง)ผมนวดจนบางครั้งหลวงตาเผอหลับก็มีแต่ก็ไม่นานและบางครั้งท่านเผอผายลมออกมาแถมบอกผมว่า กบฮ้องบ้อบักขุน(แปลกแต่จริงไม่มีกลิ่นที่ว่าแต่ออกจะ หอม เสียด้วยซ้ำผมนวดทุกครั้งหลวงตาก็จะผายลมแทบทุกครั้งและก็เป็นกลิ่นนี้แทบทุกครั้ง)นวดเดี่ยวบ้าง2คนบ้างเมื่อนวดเสร็จก็จะได้รับของดี(เหรียญ)ที่หลวงตามอบให้มากับมือซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเด็กวัดที่ร่วมนวดด้วยกันเขาจะเก็บไว้หรือเปล่าส่วนตัวผมเหลือทุกอย่างที่หลวงตามอบให้มา มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่องานพระราชทานเพลิงหลวงตาเสร็จแล้วรุ่งเช้ามีการเก็บอัฐิโยมฆราวาสมากันเต็มศาลานาบุญ ผมเห็นหลวงปู่มา ญาณวโร วัดสันติวิเวก ท่านนั่งอยู่บนศาลา ผมจึงได้มอบคลาณตรงเข้าไปกราบหลวงปู่ ด้วยความเคารพ หลวงปู่ ทักผมว่าบักขุนลูกศิษย์กกลูกศิษย์เหง่าหลวงตาวินัยตั๋วนี่ และก็พูดต่อเลยว่า โตได่หยั่งของหลวงตาแล้วบ้อบักขุน ผมพนมมือแล้วตอบหลวงปู่ไปว่าผมได้กับหลวงตาวินัยหลายแล้วครับ หลวงปู่พูดต่อว่า หลายแล้วโตกะต้องเอาอีกพู้นกะดูกหลวงตาอยู่พานผ่าขาวพู้นไปเอาเอาไป๋ สายตาแทบจะทุกคู่มองมาที่ผมกับหลวงปู่คุยกันอยู่ผมคะเนว่าน่าจะมีแต่บุคคลสำคัญทั้งนั้นที่มากันและก็ล้วนแต่เป็นศิษย์หลวงตาด้วยกันทั้งสิ้นผมจึงรีบบอกหลวงปู่ไปอีกว่า ผมได้กับหลวงตาหลายแล้วบ่อเอาดอกครับหลวงปู่ หลวงปู่จึงต่อว่าผมว่า โตบ่อเอาบ่อได๋ โตมันศิษย์กกศิษย์เหง่าไปเอาพานมา(หมายถึงพานอัฐิหลวงตาวินัย)ผมเดาใจของหลวงปู่ออก คงเป็นเพราะด้วยความที่หลวงปู่ ก็มีความเมตตาต่อผมมากเหมือนกัน หลวงปู่จึงหยากให้ผมได้ ถ้าผมไม่เอาครั้งนี้ต่อไปข้างหน้าผมคงจะไม่ได้อะไรกับหลวงตาอีกแน่ก็เพราะหลวงตาไม่อยู่แล้ว ผมจึงคลาณไปเอาพานตามที่หลวงปู่ สั่ง พอเอามาถึงยื่นถวายพานให้หลวงปู่ หลวงปู่ไม่พูดว่าอะไรหลวงปู่ เปิดผ้าขาวแล้วก็หยิบแผ่นกระดูกซึ่งผมขอใช้คำว่า อัฐิ ของหลวงตาซึ่งดูใหญ่พอสมควรยื่นใส่มือให้ผมทันทีซึ่งผมก็นำมาใส่โกศทองเหลืองอย่างดีบูชาที่ห้องพระของผมเท่าทุกวันนี้ ผมยังมีหลายเรื่องที่ผมยังเขียนได้ไม่หมด เกี่ยวกับหลวงตา วัดมิ่งเมือง เส.ขอกราบนมัสการหลวงพี่พระมหาที่ให้โอกาสให้ผมมีพื้นที่ได้เขียนเล่าเรื่องความทรงจำที่ดีดีอย่างนี้ ขอกราบนมัสการมาอย่างสูงครับ

ขอบคุณ คุณโยมขุน ฝ่ากระสุน ที่มาเล่าเรื่องราวหลวงปู่พระครูวินัยให้ฟัง โยมมีอะไรจะเพิ่มเติมต่อก็เชิญได้ทุกเมื่อ

 ขอให้มีความสุข

เพิ่งได้ค้นหาแล้วกะเปิดดูครับหลวงพี่ อยากได้รูปถ่ายหรือร็อกเก็ตหลวงปู่มาดูบ้างครับหลวงพี่ เอามาไห้ดูหน่อยครับ

อยากเห็นรูปงานศพท่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท