จันทร์ ตอน ๓


พระอินทร์นั้น เมื่อครั้งที่ท่านเป็นมนุษย์ มีชื่อเรียกว่า มฆวะมานพ ได้สร้างศาลาและที่พักคนเดินทาง เมื่อตายแล้วได้อุบัติเป็นพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๓ คน ที่มีส่วนร่วมในการสร้าง มีเวชยันตรปราสาทเป็นที่ประทับ แม้ช้างเชือกหนึ่งซึ่งใช้แรงงานช่วยสร้างศาลาหลังนั้น ยังได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรด้วย

   

 

 

   และตอนนี้จันทร์ก็สอบเสร็จแล้ว คุณครูอนุญาตให้เธอกลับมาอยู่ที่บ้านได้   รอเวลาที่จะไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ช่วงนี้เธอก็มีเวลาอยู่กับพ่อและน้องเป็นส่วนมาก ในช่วงที่พักอยู่ที่บ้านนี่เอง วันหนึ่งที่วัดมีงานทำบุญฉลองศาลาการเปรียญ เธอและเพื่อนๆตลอดถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ได้ไปช่วยงานวัดตามปกติ  มีคนไปช่วยงานวัดกันมาก เพราะตามปกติของบ้านนอกนานๆ จะมีงานครั้งนึง และชาวบ้านเองก็มีชีวิตที่ผูกพันกับวัดมาก วิถีชีวิตของคนในชนบทถือว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน วัดเป็นทั้งโรงเรียน เป็นทั้งโรงพยาบาล เป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง  พระภิกษุที่วัดก็จะเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน  ที่วัดนี้ มีพระ ๔ รูป สามเณร ๒ รูป เด็กวัด ๕ คน ท่านสมภารเจ้าอาวาสมีอายุ  ๖๙ ปี ท่านบวชมาตั้งแต่ตอนหนุ่มๆ เป็นพระภิกษุที่มีศีลาจารวัตรงดงาม หลังจากที่เจ้าอาวาสรูปก่อนมรณภาพแล้วชาวบ้านก็นิมนต์ให้ท่านรับหน้าที่เจ้าอาวาสตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

   ที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากชาวบ้านได้มีศรัทธาร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น เพื่อทดแทนหลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก  จริงๆแล้วท่านสมภาร ท่านก็ไม่อยากจะรบกวนชาวบ้านหรอก  เพราะท่านคิดว่าคิดว่าการก่อสร้างศาลาการเปรียญ จำเป็นที่จะต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก ศาลาหลังเก่าก็ยังพอใช้ในการประกอบศาสนกิจได้ รอให้ปีไหนชาวบ้านเก็บเกี่ยวและขายข้าวได้ราคาดีแล้วค่อยสร้างก็ได้  แต่ท่านเองก็ไม่สามารถจะทัดทานแรงแห่งความศรัทธาของชาวบ้านได้ ก็เลยทำการก่อสร้าง สิ้นงบประมาณทั้งหมด  ๔ หมื่นกว่าบาท  ทั้งหมดนี้ชาวบ้านเป็นธุระบริจาคเองด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้ออกปากเรี่ยไรแต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นไปตามความประสงค์ของท่านสมภาร เพราะท่านเองก็ไม่อยากให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนในเรื่องการทำบุญ

    และบัดนี้เอง ศาลาการเปรียญหลังใหม่ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านได้ ก็ได้ปรึกษากับท่านสมภารว่าจะทำการฉลอง  ซึ่งอีก ๓ วันข้างหน้าก็จะเป็นวันฉลองศาลา ในการทำบุญครั้งนี้ ชาวบ้านได้ตกลงกันว่าจะจ้างคณะรำวงมาเล่นในกลางคืนของวันฉลอง เพื่อให้ชาวบ้านได้สนุกสนานบ้างตามสมควร  เรื่องนี้ท่านสมภารก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด  และยังตกลงกันนิมนต์ท่านเจ้าคณะตำบลซึ่งท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในละแวกนั้นมาเป็นประธานในงาน และยังนิมนต์ท่านให้เป็นผู้แสดงธรรมในงานนั้นด้วย ตลอดถึงพระสงฆ์ในตำบลนั้น ก็ได้นิมนต์มาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ฉันภัตตาหารเพลด้วย ซึ่งเรื่องการนิมนต์พระนี้ท่านสมภารและชาวบ้านได้มอบหมายให้พ่อของจันทร์และชาวบ้านอีก ๒ คน ให้รับเป็นภาระในเรื่องนี้  เพราะเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกับพระสงฆ์เป็นอย่างดี  นายมั่นจึงรับหน้าที่นี้ด้วยความยินดี

    วันนี้จันทร์กับเข้ม จึงได้มาช่วยงานวัดตามปกติ จันทร์นั้นก็จะช่วยชาวบ้านในเรื่องของการเตรียมอาหารสำหรับถวายพระและเลี้ยงคนที่มาทำบุญที่วัด  ส่วนเข้มนั้นยังเป็นเด็ก แล้วแต่ผู้ใหญ่จะเรียกใช้ให้ทำอะไร วันนี้ทางวัดเปิดรับบริจาค ข้าวสารอาหารแห้งเข้าโรงครัว ก็มีคนเอามะพร้าว  พริก ข้าวสาร  และของอื่นๆมาบริจาคจำนวนมาก  จันทร์เองก็เป็นแม่ครัวคนหนึ่ง ซึ่งวันนี้ จะได้ขูดมะพร้าวเตรียมทำกะทิ เอาไว้เพื่อจะได้ทำขนมเทียน เพื่อทำบุญในวันพรุ่งนี้ ในการทำบุญของชาวชนบทภาคอิสาน อาหารทั้งคาวและหวานที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ข้าวปุ้น (ขนมจีน) ข้าวหมก (ขนมเทียน) และข้าวต้มมัด ในการทำข้าวปุ้นนั้น น้ำยาจะทำมาจากปลาแห้งที่ย่างเอาไว้ จะไม่นิยมใส่กะทิ  ซึ่งก็มีรสชาติอร่อยอีกแบบ จันทร์และชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงส่วนหนึ่งก็จะรับหน้าที่ในเรื่องนี้ ต่างคนต่างก็ช่วยกันด้วยความเต็มใจโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  ในขณะที่ทำช่วยกันก็มีความสนุกสนาน บ้างก็มีพูดหยอกล้อกันบ้าง ตามประสาชาวบ้าน ตามประสาผู้ใหญ่ที่มีความเอ็นดูต่อเด็ก บางคนก็ก็บอกว่าเหนื่อยบ้างแต่ก็อิ่มอกอิ่มใจ ที่ได้มีโอกาสได้ช่วยงานวัด ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี  สมคฺคานํ ตโป สุโข  แปลว่า ความพร้อมเพียงแห่งหมู่ชน และ ความเพียรของบุคคลผู้มีความพร้อมเพียงกันเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข”  ดังนี้ และก็ตรงตามความหมายของคำว่าบุญที่ว่า “บุญ เมื่อว่าโดยเหตุ ก็ได้แก่การทำความดี เมื่อว่าโดยผล ส่งผลเป็นความสุขความเจริญแก่จิตใจ เมื่อว่าโดยสภาพคือสภาพที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส” ถ้าชาวบ้านมีความสุขมีความอิ่มใจ นั้นก็ได้ชื่อว่าผลบุญได้เกิดขึ้นกับชาวบ้านในขณะที่ทำแล้ว

    พอถึงวันงาน ก่อนที่จะฉันภัตตาหารเพล  เป็น ๙ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ท่านพระครูเจ้าคณะตำบลจะแสดงธรรม ชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างก็พากันขึ้นมานั่งจนเต็มศาลามองดูแน่นถนัดไปหมด  ท่านเจ้าคณะตำบลก็ขึ้นสู่ธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรม พอชาวบ้านพร้อมเพียงกันดีแล้ว  ท่านเจ้าคณะก็ให้ศีล หลังจากนั้นชาวบ้านก็พร้อมเพียงกันอาราธนาพระธรรม ซึ่งท่านเจ้าคณะตำบลก็ได้เมตตาแสดงธรรมเพื่อฉลองศรัทธาของชาวบ้านเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง  เนื้อความของธรรมะก็เป็นที่พออกพอใจของชาวบ้านยิ่งนัก   ดังใจความตอนหนึ่งซึ่งท่านแสดงว่า        

    “ ศาลาหลังนี้ใช้เป็นสถานที่ทำบุญทำกุศล ทำให้พระสงฆ์และชาวบ้านได้ใช้ในการประกอบบุญกุศลอย่างสะดวกสบาย ผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์สร้างศาลาหลังนี้  ย่อมได้รับอานิสงส์ตลอดกาล  ถ้าหากว่ามีการทำบุญเมื่อไรบนศาลาหลังนี้ ผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างศาลาหลังนี้ ก็ต้องมีส่วนในผลบุญนั้นทุกครั้งไป”   และอีกตอนหนึ่ง ท่านได้ยกประวัติของพระอินทร์มาแสดงไว้ประกอบไว้ว่า

      “พระอินทร์นั้น เมื่อครั้งที่ท่านเป็นมนุษย์ มีชื่อเรียกว่า มฆวะมานพ ได้สร้างศาลาและที่พักคนเดินทาง  เมื่อตายแล้วได้อุบัติเป็นพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๓ คน ที่มีส่วนร่วมในการสร้าง มีเวชยันตรปราสาทเป็นที่ประทับ แม้ช้างเชือกหนึ่งซึ่งใช้แรงงานช่วยสร้างศาลาหลังนั้น ยังได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรด้วย แต่เวลาพระอินทร์จะเสด็จไปไหนก็จำแลงร่างเป็นช้างสามเศียร เพื่อเป็นพาหนะ   ตลอดจนนายช่างผู้สร้างศาลา ก็ได้ไปเกิดเป็นพระวิสสุกรรมเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ร่วมกัน”

        “ก็ศาลาการเปรียญหลังที่ฉลองอยู่นี้ เป็นศาลาทำบุญ สูงกว่าศาลาที่พักของคนเดินทาง  ผู้ที่บริจาคทรัพย์ร่วมสร้าง จะต้องได้รับอานิสงส์ไม่ต่ำกว่าพระอินทร์และพวกพ้องเป็นแน่...”และอีกตอนหนึ่งที่ท่านแสดงเกี่ยวกับเรื่องของการฉลองเอาไว้น่าฟังมากว่า

หมายเลขบันทึก: 423368เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท