เปลี่ยนชื่อเพื่อคุณภาพ ลัทธิล่าอาณานิคม หรือพวกนิยมแฟรนไชส์


พัฒนาคุณภาพทำได้หลากหลายรูปแบบ แต่อาจไม่ใช่จากการเปลี่ยนชื่อ

สองวันที่ผ่านมานี้ผมสะดุดใจกับข่าวเล็กๆเรื่องการประท้วงไม่ต้องการให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนของคณะครูแและนักเรียนที่จังหวัดบุรีรัมย์ แน่นอนว่าในขณะที่บ้านเมืองกำลังร้อนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ เรื่องแบบนี้คงไม่เป็นที่สนใจของสังคมเท่าใดนักเนื้อข่าวก็มีอยู่ว่า




"บุรีรัมย์ 26 ม.ค. นักเรียนโรงเรียนภัทรบพิตร  ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พร้อมคณะครูและศิษย์เก่า รวมกว่า 1,000 คน  ชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก "ภัทรบพิตร" เป็น "สวนกุหลาบวิทยาลัย บุรีรัมย์" ตามที่จังหวัดทำหนังสือแจ้งเรื่องเปลี่ยนชื่อสถานศึกษา โดยอ้างเหตุผลเพื่อให้สามารถพัฒนาด้านวิชาการ บุคลากร ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ โดยมีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ เป็นเครือข่ายร่วมกัน
โดยนักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่ง กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปีแล้ว นักเรียนและครูต่างไม่ต้องการให้เปลี่ยนชื่อ เพราะ "ภัทรบพิตร" เป็นชื่อที่เป็นมงคลแล้ว มาจากชื่อ พระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองบุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนเขากระโดงใกล้กับโรงเรียน หากต้องการจะพัฒนาการศึกษาจริง ก็มีแนวทางอื่นอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งหากยังคงมีการผลักดันให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนต่อ พวกตนจะคัดค้านจนถึงที่สุด"

"ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำสั่งยกเลิกการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นเท่านั้น พร้อมสั่งผู้อำนวยการโรงเรียนภัทรบพิตร ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะครู นักเรียน และศิษย์เก่า รวมทั้งผู้ปกครอง โดยจะไม่มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายและสร้างความเสียหายให้กับชื่อโรงเรียน." - สำนักข่าวไทย

เรื่องของการเปลี่ยนชื่อนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดพิสดารแต่อย่างใด เราจะได้พบเห็นกันได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลของบุคคล ชื่ออาคารสถานที่ ถนนหนทาง สถานศึกษา วัดวาอาราม หรือแม้แต่กระทรวงทบวงกรม ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อให้เป็นศิริมงคล หรือภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หรือให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งล้วนต้องมีเหตุผลอันเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจของเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียเสียก่อน

ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งเคยเห็นการเปลี่ยนชื่อที่เกิดขึ้นโดยใครก็ไม่รู้และยังหาสาระ หลักการและเหตุผลไม่ได้จนทุกวันนี้ก็มีอยู่เรื่องเดียวคือที่เขาเปลี่ยนชื่อ "ยาม้า" เป็น "ยาบ้า" เท่านั้นแหละครับ



มีเด็กรุ่นน้องข้างๆบ้านผมคนหนึ่ง เธอค่อนข้างมีการศึกษาที่ดี จบปริญญาโทรับราชการในระดับหัวหน้ากลางๆ แต่ที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านก็คือชอบดูหมอ แล้วเอาเรื่องที่หมอดูทำนายมาจัดการปฏิบัติตามจนบางครั้งญาติพี่น้องก็บอกว่ามันเกินเหตุไปหน่อย แต่ก็ไม่มีใครขัดใจ ต่อมาเธอไปเปลี่ยนชื่อมาใหม่นัยว่าเป็นการแก้เคล็ดหรือเสริมดวงอะไรนี่แหละครับแต่ดูจริงจังมาก ผมเคยทักเธอด้วยชื่อเดิม(ชื่อเล่น) สังเกตุว่าทำไมหน้างอๆ วันหลังลองถามหลานสาวดูมันตอบว่า "ก็ลุงไปเรียกชื่อเก่า น้าเขาก็โกรธน่ะซิ"..นี่ชื่อเล่นมันยังเปลี่ยนเลยเหรอ เวรกรรม..

ตราสินค้าก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป(Re-branding) ซึ่งก็คงไม่พ้นเรื่องของการรักษา หรือการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด แต่การจะ rebranding จะต้องมีขั้นตอนและผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการ รวมถึงการวิจัยมาแล้วเป็นอย่างดี

การ rebranding ที่คุ้นๆกันก็ตัวอย่างเช่น Coca Cola เป็น Coke ก็เพื่อให้มีผลในการแข่งขันกับ Pepsi และก็คงได้ผลในระดับหนึ่งเพราะแค่เรียกง่ายก็ได้เปรียบแล้ว



แต่ก็ยังอดมีการ rebranding บางอย่างที่ผม(หรืออีกหลายๆคน) อดสงสัยไม่ได้ เพราะไม่ทราบจริงๆว่าเขาทำไปเพื่ออะไร และเพื่อประโยชน์อันใด ที่ว่านี่ก็เกิดในบ้านเรานี่แหละครับ เป็นหน่วยงานของรัฐ นั่นก็คือการเปลี่ยนชื่อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จาก Suriyan  เป็น ThaiOS เพราะโครงการสุริยันมีการพัฒนาแม้ว่าจะเป็นแบบปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมาหลายปีแล้ว และก็มีผลงานออกมาตามสมควร ซึ่งเมื่อต้นปี 2553 มีการใช้งบประมาณ (ก็ไม่พ้นภาษีชาวบ้าน) ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมออกเดินสายให้การอบรมสัมมนาไปมากอยู่เหมือนกัน พอมาปลายๆปีปรากฏว่าสุริยันหยุดไปดื้อๆ โดยมี ThaiOS มาแทนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
พูดง่ายๆไอ้ที่พอจะมีคนรู้จักก็หายไป ไอ้ที่มาใหม่ก็ไม่มีใครรู้จัก พัฒนาการหยุดอยู่ตรงนั้นเอง....นี่ก็เปลี่ยนชื่อ..เหมือนกัน



การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนก็มีกันมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เขาจะยังคงชื่อเดิมให้เป็นชื่อหลักไว้ เช่นเมื่อมีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ที่บริจาคเพื่อการก่อสร้างหรือจัดซื้อจัดหาที่ดิน อาคาร อุปกรณ์การศึกษาครั้งสำคัญ โรงเรียนอาจให้มีชื่อหรือนามสกุลของผู้อุปถัมภ์พ่วงท้ายต่อชื่อโรงเรียนไว้ก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นที่พอใจทั้งครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน รวมถึงผู้ให้การอุปถัมภ์ด้วย เช่นโรงเรียนกอไก่ ก็เปลี่ยนเป็น โรงเรียนกอไก่(สกุลขอไข่อุปถัมภ์) เป็นต้น

การเปลี่ยนชื่อสถานที่ หรือสถานศึกษาบางทีก็ทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจกับหลายๆคนเหมือนกัน แต่ก็เป็นความขุ่นเคืองใจที่ไม่ถึงกับเกิดการแตกหัก เพราะมันอาจไม่ก่อความเสียหายมากมายนัก

อย่างโรงเรียนเก่าของผมสมัยประถม (ป.1-ป.4) ปรากฏว่าเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้วมีครูใหญ่ (เดี๋ยวนี้เขาเรียก ผอ.) ย้ายมาเปลี่ยนชื่อซะได้ จากโรงเรียนบ้านXXXX เป็น โรงเรียนชุมชนบ้านXXXX พวกเราศิษย์เก่าจบกันไปหลายสิบปีแล้วต่างก็แยกย้ายไปทำมาหากินก็เลยเพิ่งจะรู้เรื่อง พอกลับไปบ้านสอบถามคนรุ่นเก่าๆพรรคพวกกันว่าทำไมไม่ค้าน พวกนั้นบอกว่าค้านอะไรล่ะ รู้เรื่องก็อีตอนมันเอาป้ายใหม่มาติดแล้วนั่นแหละ พอถามบอกทำไมไม่เอาเรื่อง พวกก็บอกว่าการขอเปลี่ยนใหม่ยิ่งยุ่งยาก ผลกระทบไปถึงเอกสารพวกลูกหลานอีก เกี่ยวกับ ผอ.คนนี้ผมเคยถามอาจารย์ที่ทำงานประเมินฯด้วยกันเพราะท่านเคยเป็นหัวหน้าการฯมาก่อน แกบอกว่า.."..โอ๊ย ผอ...นี่น่ะเหรอ..ที่นั่นแกดังที่สุด เป็นครูใหญ่ 5 ปีแกยุบโรงเรียนไปสามแล้ว 555 !" ไม่รู้ว่าแกพูดจริงหรือล้อเล่น

แล้วตกลงผมกับเพื่อนสมัยประถมต้นจบจากโรงเรียนอะไรล่ะครับทีนี้ เพราะมันหายไปแล้วนี่ !
 
การเปลี่ยนชื่อที่เขียนมานั่นก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป แต่ที่ไม่เคยเห็นและก็ไม่คิดว่าจะได้พบก็ที่บอกว่าเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือพัฒนาวิชาการ

"ตนรู้สึกเสียดายแทนคนบุรีรัมย์ ที่ลูกหลานจะได้มีสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงเข้ามาอยู่ในจังหวัด ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกลถึงกรุงเทพฯ เพราะสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนที่มีความเพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากร สื่อการเรียนการสอน ขอให้คณะครู นักเรียนได้เข้าใจเจตนาดีของทางจังหวัดที่มีความปรารถนาดีต้องการพัฒนาการ ศึกษาของเด็กบุรีรัมย์ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ แต่เมื่อมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้านเกิดขึ้น คิดว่าเรื่องก็คงจะจบลงด้วยดี ไม่มีการดำเนินการอีกต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าว"
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=492098&lang=T&cat=

พออ่านข่าวถึงตอนนี้แล้วเกิดความรู้สึกหวีดหวิว วิเวก วังเวงหัวใจจริงๆครับ

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความคิดนี้มาจากใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ ผู้มีอำนาจในพื้นที่ หรือโรงเรียนดังที่เป็นเครือข่ายร่วม แต่ที่แน่ๆคงไม่ใช่กลุ่มที่ออกมาประท้วง มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่านี่เป็นเรื่องของการล่าอาณานิคมทางการศึกษาหรือการแพร่กระจายของแฟรนไชส์รูปแบบใหม่หรืออย่างไรกันแน่

หรือว่าระบบการศึกษาของเราถ้าจะให้มีคุณภาพก็ต้องไปอิงแอบแนบชิดกับการเมือง การพาณิชย์ หรือต้องกลายร่างเป็น Education Co.Ltd.



ต่อไปถ้าเราอยากจะพัฒนาคุณภาพโรงเรียนมัธยมบ้านตุ๊กแกสามสี่ตัว เราคงต้องไหว้วอนขอให้นายทุนหรือนักการเมืองไปติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ขอซื้อไลเซ่น Eton Collage เปลี่ยนป้ายเก่าแก่ของโรงเรียนให้เป็นคอลเลจชื่อดัง มอราชภัฏพอกระเทินในตัวจังหวัด(ต่อไปคงจะมีครบทุกจังหวัด)ก็ขอซื้อแฟรนชายส์ ซื้อไลเซ่น Oxford University (เฉพาะป้ายชื่อ)มาจะได้มีคุณภาพและศักดิ์ศรีสูงส่งเทียบเท่ากัน

..นี่มันอะไรกัน ??????

ที่ผ่านมาวงการศีกษาก็มีวิธีพัฒนาอะไรๆที่วิจิตรพิสดารมากพออยู่แล้ว อย่างเช่นแผนการสอนพัฒนาเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ ธรรมนูญโรงเรียนเป็นแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ฯลฯ หากดูเผินๆก็น่าทึ่งแต่พอเปิดดูอย่างละเอียดปรากฏว่าทุกอย่างยังคงเดิมยกเว้นชื่อ !

ถ้าหากผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษา ผู้มีอำนาจ ผู้บริหารในบ้านเมืองยังมีสติปัญญาในการคิดนอกกรอบได้แค่นี้ เราคงต้องมาทบทวนการส่งลูกหลานไปแสวงหาวิชาความรู้กันบ้างแล้วว่าจะให้เป็นหน้าที่ของรัฐ(เช่นปัจจุบัน) หรือต้องกันเอามาสอนกันเองตามมีตามเกิด

แต่ก็ยังชื่นใจที่เรายังได้เห็นลูกหลาน นักเรียน ครูบาอาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชนที่มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันไม่ยินต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ร่วมกันต่อต้านติติง ทำให้เห็นว่ายังไงเสียบ้านเมืองเราก็ยังพอเดินไปได้อย่างมีอนาคตอยู่ไม่ได้สิ้นหวังเสียที่เดียว

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก
http://news.impaqmsn.com/articles.aspx?id=393094&ch=lc1
http://news.impaqmsn.com/articles.aspx?id=393316&ch=lc1
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=492098&lang=T&cat=
และภาพจาก internet

หมายเลขบันทึก: 423042เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท