ความทรงจำ


จำอะไรได้อีกอย่าง ตอนที่ไปอบรมครูสอนบาลีที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อสองสามปีที่แล้ว ท่านอาจารย์พระมหามนตรี ขนฺติสาโร ป.ธ ๙

 

       จำอะไรได้อีกอย่าง ตอนที่ไปอบรมครูสอนบาลีที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อสองสามปีที่แล้ว ท่านอาจารย์พระมหามนตรี ขนฺติสาโร ป.ธ ๙ ท่านเป็นวิทยากรอบรม เรื่องการสอนบาลี มีกลอนนึงที่แปลกและไพเราะดีที่ท่านว่าให้ฟัง  จึงขอนำมาลงในที่นี้ ตามที่จำได้

                  ถี     รมติ     ปุ                   ขุ     รมติ       ธํ

                  หึ     รมติ     ปํ                   หํ     รมติ     โป

 แปลว่า       สตรีมีจิตหมายในบุรุษ         ภิกษุขูดกิเลสหมดจิตสดใส

             กระบือชอบโคลนตมหล่มปลักควาย หงส์มุ่งไปสระบัวกลั้วชลธาร  

 ที่จริง ถี ก็มาจากศัพท์ ว่า อิตฺถี -ผู้หญิง รมติ-  ย่อมยินดี ปุ-ปุริโส-ผู้ชาย ขุ มาจากศัพท์ว่า ภิกขุ ธํ คงจะมาจาก ธํสินา ธํส แปลว่า การกำจัด (กิเลส) หึ-มหึโส-ควาย  ปํ-ปงฺก หรือ ปงฺเก เปลือกตม,โคลน, หํ-หํโส-หงส์  โป-โปกฺขรณิยํ-สระโบกขรณี (คำว่าบงกช ก็เช่นกัน เขาแปลกันว่า บัว มาจากศัพท์ว่า ปงฺก-เปลือกตม และ  ช-เกิด นำมาแล้วเปลี่ยนแปลงรูปและเสียง สำเร็จรูปเป็น บงกช แปลตามศัพท์เดิมว่า สิ่งที่อาศัยน้ำและโคลนตมจึงเกิดขึ้นมาได้ ดังบาลีว่า อุปลํ ว ยถา อุทเก  ) คุณครูภาทิพท่านแต่งโคลงไว้ดังนี้... 

                            สตรีหวังชื่นชู้               ชมชาย

                     ภิกษุพรหมจรรย์หมาย           หลุดพ้น

                    โคลนตมปลักเหมาะควาย        คลุกแช่   ตัวนา

                    หงส์ย่อมเหินเหาะด้น             แห่งห้วงชลาศัย

            วันนึงได้เข้าไปอ่าน   แด่เธอ.....ด้วยรักและอาลัย(บันทึกที่ไม่อยากเขียนของคุณครูภาทิพ) ได้อ่านกลอนแล้วก็เศร้า ก็ได้แต่ปลงธรรมสังเวช พิจารณาว่าคนเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีอันต้องจากโลกนี้ไปเป็นธรรมดา แต่การจากไปนั้นต่างกันแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น และเหตุที่ทำให้จากไปนั้นก็มีอยู่ ๔ อย่าง และยังมีสิ่งที่คนเราไม่สามารถจะรู้ได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ดังพระบาลี

                                                             ชีวิตํ พยาธิกาโล จ               เทหนิกเขปนํ   คติ  

                                                             ปญฺเจเต  ชีวโลกสฺมึ                        อนิมิตฺตา น   นายเร

                         บาทที่หนึ่งและบาทที่สองในคาถาบทนี้ มีบาทละ ๙ พยางค์ ไม่รู้ว่าเป็นฉันท์อะไร แปลว่า เรื่องที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ๕ ประการ คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องพยาธิความเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องกาลเวลาที่จะตาย เรื่องสถานที่จะตาย และเรื่องคติทางที่จะไปเกิด และยังมีพระบาลีที่มีปรากฏในธรรมบทภาคที่ ๑ ซึ่งคนในสมัยนั้นเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว มักจะได้ข้อคิดว่า.. สพฺพํ ปหาย คนฺตพฺพํ    ทุกคนจำเป็นจะต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป  ปรโลกํ คจฺฉนฺตํ ปุตฺโต วา ธีตโร วา โภคา วา นานุคจฺฉนฺติ  บุตรธิดาและทรัพย์สมบัติก็ดี ไม่สามารถจะติดตามบุคคลผู้ไปสู่โลกอื่นอนฺตมโส สรีสรํปิ อตฺตนา   แม้ร่างกายก็ไม่ไปกับด้วยตน (เรา) แต่สิ่งที่จะติดตามตัวไป มีพระบาลีรับรองดังนี้....

                                                         อุโภ  ปุญฺญญฺจ ปาปญฺจ            ยํ  มจฺโจ  กุรุเต  อิธ

                                                         ตํ  หิ ตสฺส  สกํ โหติ                   ตญฺจ  อาทาย   คจฺฉติ

                          อันผู้จะต้องตาย ทำบุญและบาปทั้งสองอย่าง อย่างใดในโลกนี้ ก็บุญและบาปนั้น คงเป็นของผู้นั้นโดยแท้ และผู้นั้นก็ต้องรับเอาบุญและบาปนั้นไป.

                                                        ตญฺจสฺส   อนุคํ   โหติ                            ฉายาว    อนุปายินี

                                                        ตสฺมา    กเรยฺย  กลฺยาณํ                        นิจยํ  สมํปรายิกํ

                                                        ปุญญานิ   ปรโลกสฺมึ                            ปติฏฺฐา  โหนฺติ  ปาณินํ

                ก็บุญหรือบาปนั้นย่อมติดตามผู้นั้นไป เหมือนเงาตามตัวเขาไปฉะนั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงทำกรรมอันงามคือกุศล สั่งสมไว้เป็นกำลังในเบื้องหน้า เพราะว่าบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า.คุณครูภาทิพท่านเแต่งโคลงไว้ดังนี้

                           มนุษย์อาจหยั่งรู้            รอบทิศ

                  เป็นอยู่พยาธิสถิต                    เปล่าแจ้ง

               กาลแลสถานชีวิต                      จบเมื่อ   ใดนา

              เกิดใหม่หนไหนแสร้ง                  สู่รู้เปล่าเลยฯ

                          ทรัพย์สมบัติมากล้น        หลากมี

                  บุตรธิดาดวงฤดี                      ดั่งแก้ว

                  คนรักร่วมชีวี                          สนิทยิ่ง

                  ทุกสิ่งสรรพ์พลันแคล้ว             คลาดเจ้ายามมรณ์ฯ

                          บาปบุญทุนก่อไว้            ยามยัง

                หนุนส่งตัดเติมพลัง                  เพื่อเจ้า

                มากบาปบาปตามขัง                ขดติด   นะพ่อ

                บุญมากฝากบุญเฝ้า                ห่อหุ้มภพโพ้น ฯ

โคลงนี้ท่านว่าแก้ใหม่ ดังนี้.....     

                              มนุษย์อาจหยั่งรู้                      รอบทิศ
                        เป็นอยู่พยาธิสถิต                          เปล่าแจ้ง
                       กาลแลสถานชีวิต                           วายบ่   เห็นเฮย
                       เกิดใหม่หนไหนแสร้ง                       สืบรู้ฤๅเห็น
 
คำสำคัญ (Tags): #ความทรงจำ
หมายเลขบันทึก: 420766เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท