ข้อคิดเกี่ยวกับหลักธรรมบางข้อ พระบาลีบางบท


ชีวิตตกอยู่ใต้ ธรรมดา มีชาติแลชรา พรั่งพร้อม พยาธิมรณา ตามติด ตนแฮ บุญบาปตามห้อมล้อม ส่งให้ชั่วดี

                     ชีวิตตกอยู่ใต้            ธรรมดา

               มีชาติแลชรา                  พรั่งพร้อม

               พยาธิมรณา                    ตามติด  ตนแฮ

              บุญบาปตามห้อมล้อม        ส่งให้ชั่วดี

            เกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นสิ่งธรรมดา ก็ธรรมดานี่แล ที่ทำให้โกณฑัญญะพราหมณ์ ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน หรือที่เรียกกันว่า ธรรมจักษุ คำว่าธรรมจักษุนี้ ก็น่าจะหมายถึง เข้าใจในเรื่องราวของธรรมชาติ คือเกิดขึ้นแล้วจะต้องดับไป เพราะพิจารณาตามพระบาลีบทนี้ว่า
                                               ยํ กิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ
           "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา" ที่ว่าเข้าใจเรื่องราวของธรรมชาติแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมนี้ คงจะหมายถึงเกิดความเห็นแจ้งด้วยญาณ แทงทะลุเข้าไปในความรู้สึก ไม่ใช่เห็นในระดับทิฏฐิ เห็นแจ้งกับเห็นในระดับทิฏฐิ นี้ก็ต่างกัน เหมือนกันกับทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าพ่อแม่รัก ลูกๆก็ตอบว่าดูจากการแสดงของพ่อแม่ นั่นก็ถูก แต่ไม่ใช้ความรู้แจ้งเรื่องความรักของพ่อแม่ ต่อเมื่อใดมีครอบครัวมีลูกแล้ว ความรู้สึก เป็นห่วงลูกก็เกิดขึ้น นั่นแลชื่อว่า เห็นแจ้ง เรื่องเห็นแจ้งความรักของพ่อแม่นี้ ท่านอาจารย์ รศ.อุดม พิริยะสิงห์ ท่านสอนเอาไว้ ตั้งแต่เรียนรัฐศาสตร์เมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว ก็เลยเอาความคิดนี้มาพิจารณาเรื่องธรรมดา ก็คงไปกันได้ จึงเขียนยกย่องท่านไว้ในที่นี้ด้วย........
                                                       ชราชชฺชริตา โหนฺติ          หตฺถปาทา  อนสฺสวา
                                                       ยสฺส,  โส  วิหตตฺถาโม       กถํ  ธมฺมํ  จริสฺสติ
               มือและเท้าของผู้ใดคร่ำคร่าไปแล้วเพราะชรา ว่าไม่ฟัง  มีเรี่ยวแรงอันชราขจัดแล้ว จักประพฤติธรรมได้อย่างไร (อนสฺสวา-เป็นอวัยวะไม่ฟังตาม แปลเอาความว่า ว่าไม่ฟัง)

        หมายความว่า เป็นคนแก่เรี่ยวแรงก็ไม่มีการจะทำอะไรได้ตามใจก็ทำได้ยาก การประพฤติปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ หมายถึงการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม เพราะปรากฏว่าท่าน นั่งสมาธิไม่นอนจนลมเสียดแทงตาของท่านเป็นเหตุให้ตาบอด ที่สุดก็เป็นพระอริยบุคคลรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา..  คนเราก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน ยังหนุ่มแน่นอยู่ไม่อยากเข้าวัดปฎิบัติธรรม รอให้แก่ก่อนก็มี แต่บางทีก็มีอันต้องจบชีวิตไปก่อน นี่แลท่านเรียกว่าเป็นคนประมาท คือพลาดจากโอกาสที่จะพึงได้พึงถึง พลาดจากคุณงามความดี (แต่การปฏิบัติธรรมนี้มีความหมายกว้างมาก ไม่ใช่จำกัดที่การนั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างเดียว)  คำพูดของท่านเป็นคำตอบให้กับคนที่คิดเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี

 . .. มีพระบาลีบทนึงมาในภัทเทกรัตตคาถา ซึ่งก็เป็นข้อคิดเตือนใจได้ดีมาก ดังต่อไปนี้
                                            อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ        โก ชญฺญา  มรณํ  สุเว
                                            น  หิ  โน สงฺครนฺเตน      มหาเสเนน   มจฺจุนา
    คำแปล ควรรีบทำความเพียรเสียในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะจะรู้ว่าความตายจะมีมาในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าเราจะขอผลัดเพี้ยนต่อพญามัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่ นั้นไม่ได้เลย,,,, จริงแล้ว ในบางสำนักท่านก็แปลเข้าใจง่าย ๆว่า ควรรีบทำความดีตั้งแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ว่าตนเองจะตายในวันพรุ่ง เราจะขอผัดเพี้ยนต่อความตายที่มีอำนาจมากนั้นไม่ได้เลย, เคยได้ยิน ที่วัดพระอาจารย์ สมภพ โชติปัญโญ วัดนิพเพธพลาราม อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ได้ยินท่านแปลว่า ความพากเพียรในสิ่งดีงามเป็นสิ่งที่ควรทำ ที่จริง อชฺเชว มาจากศัพท์ว่า อชฺช+เอว   อชฺช-ในวันนี้  เอว-นั่นเทียว,นั่นแล ส่วน กิจฺจมาตปฺปํ  แยกศัพท์ได้ดังนี้ กิจฺจํ+อาตปฺปํ  กิจฺจํ-กิจ หรือสิ่งที่จะต้องทำ อาตปฺปํ มาจาก อา-ตปฺปํ อา อุปสรรรค บทหน้า  แปลว่า ทั่ว ตปฺปํ-ความเพียรเป็นเครื่องยังกิเลสให้ร้อน ด้วยอำนาจแห่งนิคหิตสนธิ เอานิคคหิต ที่ กิจฺจํ ลงเป็น ม สำเร็จรูปเป็น กิจฺจมาตปฺปํ 

            

           วันนึงได้เข้าไปอ่าน   แด่เธอ.....ด้วยรักและอาลัย(บันทึกที่ไม่อยากเขียนของคุณครูภาทิพ) ได้อ่านกลอนแล้วก็เศร้า ก็ได้แต่ปลงธรรมสังเวช พิจารณาว่าคนเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีอันต้องจากโลกนี้ไปเป็นธรรมดา แต่การจากไปนั้นต่างกันแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น และเหตุที่ทำให้จากไปนั้นก็มีอยู่ ๔ อย่าง และยังมีสิ่งที่คนเราไม่สามารถจะรู้ได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ดังพระบาลี

 
                                              ชีวิตํ พยาธิกาโล จ               เทหนิกเขปนํ   คติ  
                                              ปญฺเจเต  ชีวโลกสฺมึ              อนิมิตฺตา น   นายเร
                บาทที่หนึ่งและบาทที่สองในคาถาบทนี้ มีบาทละ ๙ พยางค์ ไม่รู้ว่าเป็นฉันท์อะไรแปลว่า เรื่องที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ๕ ประการ คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องพยาธิความเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องกาลเวลาที่จะตาย เรื่องสถานที่จะตาย และเรื่องคติทางที่จะไปเกิด และยังมีพระบาลีที่มีปรากฏในธรรมบทภาคที่ ๑ ซึ่งคนในสมัยนั้นเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว มักจะได้ข้อคิดว่า..
                                                                 สพฺพํ ปหาย คนฺตพฺพํ
                                                    ทุกคนจำเป็นจะต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
                                         ปรโลกํ คจฺฉนฺตํ ปุตฺโต วา ธีตโร วา โภคา วา นานุคจฺฉนฺติ
                                บุตรธิดาและทรัพย์สมบัติก็ดี ไม่สามารถจะติดตามบุคคลผู้ไปสู่โลกอื่น
 
                                                              อนฺตมโส สรีสรํปิ อตฺตนา
                                                      แม้ร่างกายก็ไม่ไปกับด้วยตน (เรา)
 แต่สิ่งที่จะติดตามตัวไป มีพระบาลีรับรองดังนี้...
                                                อุโภ  ปุญฺญญฺจ ปาปญฺจ    ยํ  มจฺโจ  กุรุเต  อิธ
                                                ตํ  หิ ตสฺส  สกํ โหติ           ตญฺจ  อาทาย   คจฺฉติ
             อันผู้จะต้องตาย ทำบุญและบาปทั้งสองอย่าง อย่างใดในโลกนี้ ก็บุญและบาปนั้น คงเป็นของผู้นั้นโดยแท้ และผู้นั้นก็ต้องรับเอาบุญและบาปนั้นไป.
 
                                                  ตญฺจสฺส   อนุคํ   โหติ           ฉายาว    อนุปายินี
                                                 ตสฺมา    กเรยฺย  กลฺยาณํ        นิจยํ  สมํปรายิกํ
                                                 ปุญญานิ   ปรโลกสฺมึ             ปติฏฺฐา  โหนฺติ  ปาณินํ
             ก็บุญหรือบาปนั้นย่อมติดตามผู้นั้นไป เหมือนเงาตามตัวเขาไปฉะนั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงทำกรรมอันงามคือกุศล สั่งสมไว้เป็นกำลังในเบื้องหน้า เพราะว่าบุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า.จึงฝากพระบาลีเหล่านี้เพื่อแสดงความไว้อาลัยในบันทึกของคุณครูด้วย

         

         

หมายเลขบันทึก: 420488เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2011 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

   สาธุ อนุโมทนากับบันทึกแรกของพระคุณเจ้าค่ะ

ขอบคุณครูที่มาเยี่ยมชมให้กำลังใจครับ

ในบันทึกนี้ พระคุณเจ้าน่าจะทอนออกไปไว้บันทึกอื่นเป็นตอน ๆ ไป

พระพุทธภาษิต เรื่องหนึ่งก็ไว้๑ บันทึก

บันทึกที่ ๒ น่าจะเป็น

  ..ตอนเรียนบาลี ก็เคยได้ยินเรื่องฉันท์มาบ้าง  อินทรวิเชียร วสันตดิลก ปัฐยาวัตร  และกาพย์ต่าง ๆ  โดยเฉพาะกาพย์สินธุมาลี มหาสินธุมาลี มีลักษณะสัมผัสเหมือนโคลงสี่สุภาพมาก ดังคาถาข้อกำหนดดังนี้

                                         สตฺตทฺวาทสเอกูน-                   วีสตีสุ    ตโย  สรา
                                        จุทฺทสเม    ฉวีสาย                   เทว   สรา   สมกา  สิยุง
                                        ยสฺมึ   ลกฺขณมิทญฺเจ                  สินธุมาลีติ   สา  มตา ฯ
             คำแปล สระ ๓  สระในคำที่ ๗. ๑๒. และ ๑๙. เหมือนกัน และสระ ๒ สระในคำที่ ๑๔ กับคำที่ ๒๖ พึงเหมือนกัน หากกาพย์ใดมีลักษณะดังนี้ กาพย์นั้นท่านเรียกว่าสินธุมาลี อาตมาก็คิดเองว่าโคลงสี่สุภาพของเราน่าจะมาจากกาพย์นี้ (ทะเว พิมพ์แบบบาลีไม่ได้ ก็เลยเห็นเป็น เทว, สิยุง ก็เขียนไม่ได้ ก็เลยเขียนตามที่เห็น)

 

 วิธีการคือเปิดหน้าเว็บไว้ ๒ หน้า เปิดบันทึกหน้านี้ไว้  ๒ ครั้ง

 หน้าหนึ่งไว้คัดลอก  หน้าหนึ่งไว้แก้ไข

พระคุณเจ้าคลิกที่เพิ่มบันทึก copy ข้อความจากบันทึกแรกมาใส่

ทำจนครบทุกบันทึกก่อน แล้วค่อยไปลบในบันทึกแรกค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท