เรื่องเล่าชาวธัญญารักษ์ 1


เรื่องเล่า การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จากหอผู้ป่วยบุษราคัม สถาบันธัญญารักษ์

 

                 “ ตึกบุษราคัม ”  เป็นหอผู้ป่วย ที่ดูแลผู้ใช้สารเสพติดที่มีภาวะแทรกซ้อนทางจิต ฉันทำงานด้วยความทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจ เพื่อดูแลผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามาบำบัดในหอผู้ป่วยที่ฉันปฏิบัติงานอยู่ ถึงแม้ฉันจะมีความทุ่มเทแรงกายแรงใจขนาดไหน บางครั้งก็มีความเหนื่อยล้าบ้าง เนื่องจากในช่วงนี้ตึกที่ฉันปฏิบัติงานอยู่ มี ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนทางจิต ประเภท 3 มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด แต่ฉันก็ต้องทำงานต่อไป

                ในวันที่ตึกค่อนข้างยุ่งวุ่นวาย ฉันได้รับการส่งต่อเวรจากห้องฉุกเฉิน รู้สึกลำบากใจไม่ใช่น้อยที่ต้องรับผู้ป่วยประภท  3 เพิ่มขึ้นอีกคน แต่ฉันก็เตรียมความพร้อมในการรับ “เขา”  ฉันได้จัดเตรียม ไว้สำหรับ “เขา”  ฉันจัดให้ “เขา” อยู่เตียง “1”  เพราะฉันรู้ว่าจะเขาจะต้องได้รับการดูแลจากฉันเป็นอย่างดี และคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ไม่ให้ห่าง และแล้วเวลานั้นก็มาถึง  เสียงเอะอะโวยวาย ท่าทางหงุดหงิดญาติ เดินไปเดินมา ยืนยันจะไม่ยอมอยู่ที่หอผู้ป่วย อยากกลับบ้าน ฉันค่อยๆพูดคุยกับ  “เขา” เพื่อให้  “เขา” สงบลง ใช้เวลาอยู่นานกว่า 30 นาที กว่า  “เขา”  จะสงบ ฉันให้เขานั่งพักผ่อนก่อนแล้วเริ่มพูดคุย กับญาติ ของ “พงศ์”  

                “เขา” ที่ฉันพูดถึง  ฉันเรียกแทนชื่อ “เขา” ว่า “พงศ์”  เป็นผู้ป่วยที่เสพติดกัญชา  และมีอาการหลงผิดคิดว่าตนเองมีร่างทรง และมีพลังวิเศษ  การมาบำบัดครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ของ “พงศ์”   ที่มาบำบัดที่ตึกนี้ เนื่องจากครั้งแรก ญาติ ของ “พงศ์”   ขอรับตัว “พงศ์”    ออกไปร่วมงานศพของญาติ และขณะที่ออกไป “พงศ์”   ยังควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ดี ยังหลงผิด ทำร้ายคนอื่น ทำให้ พ่อแม่ “พงศ์”    พา “พงศ์”   กลับมาหาฉันอีกครั้ง 

                “พงศ์”   มาครั้งนี้ อาการของ “พงศ์”  มีสับสน มองคนอื่นด้วยสายตาไม่เป็นมิตร หลงผิดคิดว่ามีร่างทรง ทำทางแปลกๆ พูดคุยคนเดียว เอะอะโวยวาย จะทำร้ายคนอื่นๆ ฉันพา “พงศ์”   ไปที่เตียงเพื่อนอนพัก “พงศ์”   ไม่ยอม จะกลับบ้านไม่ยอมอยู่  ฉันจำเป็นต้องให้ทีมงานช่วยเหลือในการพาไปที่เตียง แต่ถึงอย่างไร “พงศ์”  ก็ยังไม่ยอม นั่งกำมือแน่นไม่ยอมจะกลับบ้าน ให้ได้   ฉันจำเป็นต้องผูกมัดผู้ป่วยไว้ที่เตียง และให้ยาฉีดตามแผนการรักษา  หลังได้รับยา ผู้ป่วยยังมีเอะอะโวยวายเป็นพักๆ ไม่หลับ ตะโกนด่าทอ ฉัน และ เจ้าหน้าที่ เป็นพักๆ ฉันปล่อยให้ “พงศ์”   ตะโกนเพื่อให้ “พงศ์”   ได้ระบายบ้าง   ฉันเฝ้าดูอาการของ “พงศ์”   และ คอยวัดสัญญาณชีพ “พงศ์”   กลัวว่า “พงศ์”    จะได้รับอันตรายจากยาฉีด แต่ สัญญาณชีพก็ปกติ ฉันรู้สึกดีใจ และพอใจที่ “พงศ์”   ปลอดภัยไม่เกิดอันตรายใดๆจากยาฉีด    ดูแลให้รับประทานอาหาร ฉันยกถาดอาหารมาให้ ที่เตียง “พงศ์”  รับประทานได้ หมดถาด  รับประทานยาหลังอาหารได้ แต่หลังจากที่แก้มัด “พงศ์”   จะทำร้ายคนอื่นตลอด สายตาของ “พงศ์”   มองไม่เคยเป็นมิตรกับใคร ฉันได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าทำไม “พงศ์” ยังไม่ดีขึ้น

                ในระหว่างที่ “พงศ์” มาบำบัดที่ตึก เริ่มมีผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่พอใจ ที่ เห็น “พงศ์”   มีท่าทางก้าวร้าว มองคนอื่นด้วยสายตาไม่เป็นมิตร มีหลายคนมาบอกฉันว่า รู้สึกหมั่นไส้ และไม่พอใจ “พงศ์”   ฉันรู้สึกกังวลและเป็นห่วง “พงศ์”   เพราะเสี่ยงต่อการถูกคนอื่นทำร้าย เนื่องจากเสียงผู้ป่วยคนอื่นๆเริ่มหนาหูว่า “เดี๋ยวเถอะมึง โดนแน่ ”  ฉันจึงต้องอธิบายให้คนอื่นๆเข้าใจ ถึงอาการของ“พงศ์”   และขอความร่วมมือ ไม่ให้รบกวน และกระตุ้น “พงศ์”   เพราะจะทำให้ “พงศ์”   อาการไม่ได้ขึ้นสักที   ในการให้ข้อมูล ผู้ป่วยอื่น ทำเอาฉันเหนื่อยเหมือนกัน เพราะต้องพูดซ้ำๆ พูดบ่อยๆ  พูดแล้วพูดอีก พูดอยู่นั่นแหละ พูดจนปากเปียกปากแฉะ เพิ่งเข้าใจ ว่า พยาบาลต้องมีปากเป็นเอก  ต้องรู้จักพูด  เข้าข่าย ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลปะ

                กว่าที่ “พงศ์”   จะเริ่มดีขึ้น มา ใช้เวลาล่วงเลย เข้าสู่สัปดาห์ที่ สองของการรักษา “พงศ์”  เริ่มดูแลตนเองได้  เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เริ่มเข้ากลุ่ม ได้ สีหน้าสดชื่น แววตาสดใส  มองผู้อื่นด้วยท่าที่ที่เป็นมิตรมากขึ้น ฉันรู้สึกดีใจที่เริ่มเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของ“พงศ์”    ยิ่งไปกว่านั้น ฉันรู้สึกภูมิใจ ที่เห็นพ่อแม่ ของ “พงศ์” มาเยี่ยม แล้วกอด “พงศ์”  หอมแก้ม “พงศ์” แล้วพูดว่า “ลูกดีขึ้นมากแล้ว อีกไม่นาน พงศ์คนเดิมจะกลับมา”  ฉันได้ยินและนั่งมองดู ด้วยความรู้สึกปราบปลื้ม จนต้องยิ้มออกมาในที่สุด

                ในที่สุดครอบครัว “พงศ์”   ก็ตัดสินใจรับ “พงศ์”   กลับบ้าน แพทย์ได้วางแผนการดูแลอย่างต่อเนื่อง นัดติดตามการรักษา และให้ยาไปรับประทานที่บ้าน ฉันได้ ให้วางแผนการดูแลผู้ป่วยที่บ้านการรับประทานยาที่บ้าน การมาติดตามนัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งพ่อแม่ของ “พงศ์”    และตัว “พงศ์”   เอง รับฟังและเข้าใจ ในคำแนะนำที่ให้  ฉันได้แต่เอาใจช่วย “พงศ์”  ให้ดูแลตนเองได้ และไม่กลับไปสูบกัญชาอีก

                นี่ก็ห้าเดือนแล้วนะ ที่ “พงศ์”  กลับไปอยู่บ้าน แต่ก็มาติดตามการรักษา กับ สถาบันธัญญารักษ์    อย่างต่อเนื่อง วันก่อนฉันเจอ พ่อแม่ของ“พงศ์”   และตัว“พงศ์”   มาติดตามการรักษา “พงศ์” ดูสีหน้าสดชื่น รูปร่างสมส่วน ไม่ผอมเหมือนตอนนั้น แววตาสดใส ใบหน้ามีรอยยิ้ม “พงศ์”  ยกมือไหว้ฉัน แล้วบอกว่า “ผมไม่กลับไปใช้ยาเสพติดอีกแล้วครับ” ฉันรู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ได้แต่ให้กำลังใจ “พงศ์”  ให้เลิกยาเสพติดให้ได้ และใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัวตลอดไป

                                                                                                                                 พยาบาลประจำการตึกบุษราคัม

หมายเลขบันทึก: 411115เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท