นักเรียนโข่งดูการเลือกตั้ง


              นักเรียนโข่งดูการเลือกตั้ง

 

 

              ตอนที่แล้ว พรรณาถึงการนั่งรถไฟไปสุราษฎร์ธานี  มากล่าวต่อในตอนนี้ว่า ไปเพื่อดูกระบวนการจัดการเลือกตั้ง  ในฐานะที่เป็นนักเรียนโข่งศึกษาหลักสูตรว่าด้วยการพัฒนาการเมืองและการจัดการเลือกตั้งระดับสูง 

               เริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่ไปยังอำเภอ ดูการนำกล่องลงคะแนน บัตรลงคะแนน รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คูหาลงคะแนนและบรรดาอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็น  มาวางไว้เป็นชุดๆ ตามจำนวนหน่วยเลือกตั้ง

               ต่อมา ได้ดูกรรมการจากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ มาตรวจนับรับเอาบรรดาสิ่งต่างๆ ข้างต้น  กลับไปยังหน่วยเลือกตั้งของตน  ช่วงนี้โกลาหลกันน่าดู เพราะทุกหน่วยต่างกุลีกุจอตรวจและนับให้ครบ จนแน่ใจว่าครบก็ลงรายชื่อรับสิ่งเหล่านั้นไป เก็บเรียบร้อยมิดชิด ปิดผนึกและไว้ในที่ปลอดภัย

               วันต่อมา ต้องตื่นแต่เช้ากระจายกันไปตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ สังเกตการจัดหน่วยเลือกตั้ง การนำสิ่งต่างๆ ออกมาเพื่อ จัดตั้งคูหาลงคะแนน การวางกล่องใส่คะแนน การเตรียมบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การตรวจบัตรเลือกตั้ง การเตรียมบัตรเลือกตั้ง  จนได้เวลาเลือกตั้ง ประชาชนเริ่มทะยอยมาใช้สิทธิ

               คนใต้ตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าทุกภาค แม้ฝนจะตกสลับหยุดเป็นระยะๆ ก็ไม่เป็นอุปสรรค บางหน่วยน้ำท่วมขังก็เดินลุยน้ำเข้าคูหาเป็นธรรมดาๆ จนหมดเวลาเลือกตั้ง

               ช่วงเวลาต่อมาก็ได้ชมการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การเปิดหีบลงคะแนน การขานคะแนน การรวมคะแนน การตรวจตราซ้ำเพื่อป้องกันความผิดพลาด  ภายใต้การจับตามองของผู้แทนทั้งสองฝ่ายที่ลงแข่งขันกัน  เมื่อหน่วยใดนับเสร็จก็จัดแจงขนทั้งหลายทั้งปวงกลับไปยังอำเภอต้นทาง

               คะแนนจากทุกหน่วยเมื่อมารวมกันที่อำเภอ ทุกอำเภอรวมกันก็ได้คะแนนรวมของผู้ชนะ ผู้แพ้ ผู้ไม่ประสงค์จะเลือกใคร บัตรเสีย ส่วนใครชนะนั้นคงรู้แล้วนะครับตั้งวแต่ก่อนการลงคะแนน

               ได้ติดตามชมทุกขั้นตอนแล้ว ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดยิบ ผิดพลาดไม่ได้เลย ดูแล้วเหนื่อยแทน 

               พยายามดูว่ามีการทุจริตเลือกตั้งไหม ยังไม่พบ คงเป็นเพราะฝ่ายหนึ่งแน่ใจว่าชนะขาด อีกฝ่ายยังไงก็ไม่มีลุ้น ใครซื้อเสียงไปก็เสียเงินเปล่า ทุจริตก็ไม่คุ้ม

               จึงเอวังด้วยประการ ฉะนี้ 

 

หมายเลขบันทึก: 406123เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)

สวัสดีครับคุณครูหยุย  (ครูวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์)

...

กระผมเข้ามานั่งอ่านบทความ  แต่ใจหนึ่งไปอยู่ตรงที่  มีความต้องการที่จะขอขอบพระคุณคุณครูที่ได้ให้เกียรติกับโครงการจักรยานให้ลูกรักอย่างมากครับ  ข่าวความที่คุณครูได้ช่วยเหลือนี้  กลุ่มจักรยานต่างก็มีความรู้สึกถึงเรื่องพลังใจกันอย่างยิ่ง  เราดีใจกันมากครับครู  กระผมขอใช้คำพูดเช่นนี้ให้ครูทราบครับ

...

และต้องขออภัยด้วยครับ  ที่นอกเรื่องจากกระทู้ที่ครูตั้งชื่อ  ทุกวันที่ผมเข้ามาบ้านหลังนี้  กระผมมองหาครูก่อนเป็นคนแรก  ครูในดวงใจ  ครับ

ดูจากที่คุณครูเล่าแล้ว  ยากที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้  แต่ทำไม่เวลามีเลือกตั้งแต่ละครั้งถึงมีข่าว ว่ามีบัตรแทรก หีบถูกเคลื่อนย้าย ฯลฯ

เกิดอะไรขึ้น หรือเป็นการข่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือเท่านั้น

สวัสดีค่ะ

มีภาพดอกไม้มารับอรุณ

เอวัง

 

อรุณสวัสดิ์ค่ะคุณครู

ชมข่าวทีวี เห็นบรรยากาศการเลือกตั้งแล้วชื่นใจกับภาพสองคุณยาย กว่า๗๐ ปี ชวนกันมาหย่อนคะแนน สองอนงค์นางบอกว่า วัยมิใช่อุปสรรค และใช้สิทธิทุกปีมิเคยพลาด ด้วยสายตามุ่งมั่น สวมวิญญาณนักประชาธิปไตย .. ที่มองก็ทราบว่า อย่าให้ริมาซื้อเสียงของยายเชียวนะ ๕ ๕ ..

เห็นแล้วยิ่งตอกย้ำชัดเจน ถึง ความตื่นตัวทางการเมือง ของผู้คนในพื้นที่ค่ะ คุณยายเป็นตัวอย่างดีๆ ของคนร่นใหม่สม้ยนี้จริงๆ ค่ะ

ส่งกำลังใจพี่น้องทั่วไทย บ้านคุณครูยังรับไหวนะคะ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

คุณเนิ่มครับ หวังว่าโครงการจักรยานให้ลูกรีกจะดำเนินการไปเรื่อยๆและขยายไปอย่างกว้างขวาง นะครับ แล้วจะพยายามร่วมกันส่งเสริมต่อไปอีกนะครับ

กระติกครับ ปัญหาใหญ่อยู่ที่การซื้อเสียง แต่หากพื้นที่ใดที่คาดหมายว่าคะแนนจะใกล้เคียง จะมาถึงการเปลี่ยนบัตร เปลี่ยนหีบ นับบัตรผิด ซึ่งจะทำได้ต้องซื้อยกหน่วยครับ แต่ที่สุราษฎร์นี่มวยคนละชั้น จึงปล่อยตามปกติไป

อ่านแล้วก็เห็นภาพตามที่ครูหยุยว่า หากการเลือกตั้งบ้านเราเป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ การโกงกินไม่มี ทุจริตไม่มี เราคงได้นักการเมืองน้ำดีส่วนมากเข้ามาบริหารประเทศของเรา ประชาชนตัวเล็กๆอย่างพวกผม คงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้แน่นอนครับ

ณัฐรดาครับ ชื่นใจและแจ่มใสแต่เช้าด้วยความงามอ่อนโยนของดอกไม้ ขอบคุณมากครับ

คุณ poo ครับ ทุกพื้นที่ที่ไปสังเกตการ ได้เห็นภาพผู้สูงอายุไปใช้สิทธิกันมาก คงอยู่ในสายเลือดแล้วครับสำหรับชาวใต้กับเรื่องการเมือง

เรื่องน้ำท่วมนี่ แผ่ไปมากและลำบากกันอย่างไม่เคยประสบมาก่อนในประเทศ ต้องร่วมด้วยช่วยกันครับ

ผมอยู่ดอนเมือง พื้นที่สูง ปัญหาไม่มีครับ

peter p ครับ ที่เห็นนั้นคือกระบวนการจัดการเลือกตั้ง แต่...ที่อยู่เบื้องหลังในการเลือกตั้งทุกครั้งคือ ระบบหัวคะแนนและการซื้อเสียง ขายเสียง ทำให้คนดีที่ไม่ซื้อเสียง ลงครั้งใดแพ้ครั้งนั้น การเมืองจึงวนเวียนอยู่ในไม่กี่ตระกูล หรือในหมู่คนเงินมากทั้งหลาย

มาอีกครั้งค่ะ

เห็นข่าวน้ำท่วมทางโทรทัศน์ เห็นแล้วนึกถึงครูหยุยที่มาอยู่ที่สุราษฎร์

หวังว่าจะไม่มีอุปสรรคใดๆนะคะ

กลับมาก่อนแล้ว คือกลับมาถึงในสายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงไม่ได้ผจญกับน้ำท่วม แต่ได้เจอกับฝนที่ตกสลับหยุดบ่อยๆ เท่านั้นครับ ขอบคุณที่เป็นห่วงเป็นใย

เพิ่มเติมครับว่า เหตุที่ใช้รถไฟและจองตู้พิเศษไปสุราษฎร์นั้น เป็นเพราะในรุ่นนักเรียนโข่งที่เรียนร่วมกันอยู่นี้ มีผู้ช่วยผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนักเรียนอยู่ด้วย คือ ผศ.ดร.ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ คนหนุ่มไฟแรงแห่งการรถไฟนั่นเอง

  • ... ผศ.ดร.ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ คนหนุ่มไฟแรงแห่งการรถไฟ ...
  • มีคนหนุ่มไฟแรง .... แต่รถไฟไทยยังไปได้ช้า ๆ (ไม่ตรงเวลาอีด้วย)
  • เพราะสาเหตุเกิดตรงไหนเอ่ย
  • เหตุผลที่หลักสูตรนี้จัดให้นักเรียนไปดูงานการเลือกตั้ง เพื่อต้องการอะไร ?

       - หาจุดอ่อน / หาจุดแข็ง

       - พัฒนาวิธีการ

แล้วบทสรุปหลังจากไปดูงาน ตรงตามเป้าประสงค์ ?

      

ใยไหมครับ ผู้ช่วยเป็นด๊อกเตคอร์หนุ่มที่พยายามพัฒนาการรถไฟมาก แต่เสนอแนวทางหรืออะไรไป ติดกึกที่นักการเมืองหมด ก็น่าท้อใจแทนเหมือนกัน

ใยไหมครับ หัวใจหลักของหลักสูตรคือหาแนวทางพัฒนาการเมืองให้ดีขึ้น การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองครับ

  • ปัจจุบันมีกฎกระทรวง "กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายใรวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553"
  • ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 22 ต.ค.2553 หน้า 18 เล่ม 127 ตอนที่ 65 ก
  • อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ
  • รบกวนช่วยอธิบายเป็นภาษาชาวบ้านหน่อย

สวัสดีค่ะ

ทีเดียวยังเหนื่อยแทนเลยนะคะ

ทั้งประเทศ เราต้องเหนื่อยแทนนานเลยค่ะ

แต่พอเสร็จ แล้วใครสบายที่สุดค่ะ

 

  • สวัสดีครับครูหยุย
  • ตอนทำงานใหม่ๆ เคยได้เป็นกรรมการจ่าย-รับกล่อง/บัตรที่อำเภอ
  • วุ่นวายน่าดูเลยครับ
  • มีขั้นตอนมากมาย
  • ขั้นตอนต่างๆ ก็มีไว้อย่างรัดกุม การโกงไม่ใช่เรื่องง่าย
  • แต่ก็อย่างว่านะครับหากจะมีการทำเรื่องไม่ชอบมาพากล
  • เพราะมนุษย์เราทำได้ทั้งนั้น 
  • บางอย่างเราคาดไม่ถึงหรอกครับ
  • ปัญหาที่แก้ยากมากก็คือ...ก่อนที่คนจะมาลงคะแนนครับ
  • ..
  • มีเรื่องแปลกๆ อยู่ยุคหนึ่งที่เขาระดมคนหลายร้อยหลายพันที่เกี่ยวข้องฯ
  • ทั้งผู้นำ-ชาวบ้านมาดื่มน้ำสาบานว่าจะไม่ซื้อสิทธิขายเสียง
  • ผมคิดกลับว่า  ไม่น่าจะให้คนอื่นเขาเดือดร้อน
  • เอาคนที่สมัครรับเลือกตั้งที่มีไม่กี่คนนั่นแหละ มาสาบานน่าจะง่ายกว่าและตรงเป้ากว่า
  • เพราะซื้อไม่ซื้อก็มีทำอยู่เพียงไม่กี่คนนั่นเองนะครับ

 

 

 

คุณใยไหมครับ กำลังคุยกับเรื่องสาธารณูปโภคด้านการรถไฟอยู่ดีดี ดึงผมไปเจาะลึกด้านสาธารณะสุขแล้ว ด้วยความยินดีครับ เดี๋ยวจะหาเวลาไปตามอ่านดู ได้ความอย่างไรจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

คุณกานดาครับ เลือกตั้งแห่งเดียวยังดูวุ่นและเหนื่อยขนาดนี้ ถามผมว่าพอเลือกเสร็จแล้วใครสบาย ก็คือคนชนะครับ ยิ่งเลือกตั้งใหญ่ใครจัดตั้งรัฐบาลได้ สบายไปตลอด เมื่องไทยแปลก พรรคที่ได้เสียงกลางๆ สบายที่สุด เพราะบวกกับพรรคที่ได้ที่หนึ่งหรือที่สอง ได้เป็นรัฐบาลทันที ใครก็ง้อ

อีกไม่เกินสองเดือนก็ต้องเลือกตั้งซ่อมอีก 6 คน แทนที่ถูกสอยเรื่องถือหุ้นครับ ได้เหนื่อยกันอีกแล้ว

สิงห์ป่าสักพูดตรงประเด็นครับ ปัญหาอยู่ก่อนเลือกตั้งครับ ทุ่มซื้อเสียงกันหนัก ส่วนเรื่องสาบาน ผมว่าเดี๋ยวนี้บรรดาคนสมัครที่ไปสาบานนั้น ยอมสาบานครับเพราะไม่กลัวคำสาบาน เขากลัวแพ้เลือกตั้งมากกว่า

สวัสดีค่ะ

ขอมาอีกรอบค่ะ...วันนี้มาชวนไปชมการสวนสนามที่เกาหลีเหนือค่ะ....http://gotoknow.org/blog/0815444794/406303

มาตายีสังเกตไหมครับว่า ในประเทศแบบคอมมิวนิสต์ เช่นจีน เวียตนามและเกาหลีเหนือนั้น ลักษณะงานรวมกลุ่มจะสวยงามและเป็นระเบียบมาก

สวัสดีครับคุณครู หยุย ภาคใต้การตื่นตัวทางการเมืองสูง การเมืองระดับชาติอาจยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่

การเมืองระดับท้องถิ่น และกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีการเปลี่ยนแปลง

ชาวบ้านเองก็มีนโยบายว่า

"สามร้อยไม่ใส่

ห้าร้อยแบ่งๆปันๆ

หนึ่งพันลูกโดด

ถ้าสองพันโกรธกันมาเป็นปีก็ใส่ให้

ครูลองลงเจาะลึกในพื้นที่ดูครับ

http://gotoknow.org/blog/bangheem/340176

ลุงวอญ่าครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลระดับท้องถิ่นครับ จะนำไปหารือเพื่อนพ้องเจาะลึกกันต่อไป

ทำดี หรือไม่ดี มนุษย์ทำได้ทุกอย่างครับครูหยุย แต่การเมืองของไทยหนีไม่พ้นการซื้อเสียงแน่ ๆ แต่จะรูปแบบไหนเท่านั้นเอง นักการเมืองบางคนเขาบอกว่าซื้อแล้วคุ้มครับ

คุณศุชณัฎฐ์ครับ ใช่ครับ เขาซื้อแล้วคุ้ม เพราะไปต่อยอดทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางตำแหน่งหน้าที่ของญาติพี่น้อง ฯลฯ วงจรอุบาทถ์แบบนี้อีกนาน กว่าประเทศไทยเราจะพ้นไปได้

  • เบื้องหน้าที่สง่างามและเข้มแข็งของทหาร กว่าจะทำให้หน้าเชิด หลังตรง ต้องมาจากเบื้องหลังที่อดทนฝึกฝน

 

       

  • กระโดดไปเรื่องสาธารณะสุข เพราะเพิ่งจะเห็นระเบียบฉบับนี้ประกาศใช้
  • แล้วก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องรอให้พ้นกำหนด 210 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจาฯ
  • อีกอย่าที่คิดคือ ถ้าต้องใช้ จะได้เตรียมตัวถูก ไม่ต้องเป็นภาระให้คนรอบ ๆ ตัว
  • ความตายไม่กลัว กลัวตอนก่อนตาย

คุณใยไหมครับ ใช่ครับ ความตายไม่น่ากลัว แต่กลัวตอนก่อนตาย สำหรับเรื่องระเบียบนี้ ผมยังงงอยู่เพราะก่อนมีระเบียบต้องมีกฎหมายก่อน ผมไม่แน่ใจว่ากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีแล้ว จึงยังงงๆ อยู่ครับ เดี๋ยวจะตามให้ลึกครับ

คุณใยไหมครับ ภาพแหงนหน้าท้าชีวิตนี้ เพิ่งเคยเห็นและเคยรู้ครับ เห็นภาพแล้วนึกถึงเรื่องเล่าชาวจีนตอนเด็กๆ ว่า แม่จะตั้งเข็มไว้ หากลูกอ่านหนังสือเผลอหลับจะโดนเข็มสะดุ้งตื่นมาอ่านต่อ คงคล้ายๆ กัน

ตอบครูหยุยที่นับถือ ที่รถไฟช้า มีหลายสาเหตุ จาก ทาง หรือราง หรือ ตัวรถ ไม่ว่ารถจักร หรือรถพ่วง สุดเก่า ซื้อไม่ได้เสียที งง ที่แย่กว่านั้น คนในองค์กร ยัง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามยุคโลกาภิวัตน์ ที่ IT มีความสำคับในการทำงาน หาระบบคอมมาช่วยทำงาน ก็ยังไม่ยอมปล่อยระบบ Mannual อีก เสียเงินทั้งของใหม่ที่ลงทุน ของเก่าก็จ่ายค่า OT ช่วยด้วย ที่แย่ ยังมีกาฝากอีกมากมาย ขาดการดูแลอย่างจริงจังจากภาครัฐ ภาวนา ยุครัฐบาลใหม่มา ช่วยแก้ไขเสียที อย่ามัวแต่หาเสียงใส่ตัว ช่วยกันพัฒนาประเทศดีกว่านะ ครับ

คนระดับสูงในการรถไฟนำข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอแบบนี้ ฝ่ายการเมืองทั้งหลายทราบและแก้ไขด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท