มุมมองเรื่อง สังคมที่เข้มแข็ง


สังคมที่เข้มแข็งจึงขึ้นอยู่กับพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีของมวลหมู่สมาชิก ถ้าขาดความเข้าใจกัน มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร และมีกลไกที่ครอบงำทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบ ฯลฯ ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่ความอ่อนแอของสังคมนั้น ๆ

ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดย อ.ปรีชา อุยตระกูล ได้รับทำหน้าที่ในการศึกษา องค์ความรู้ในการวางรากฐานสู่การขับเคลื่อนโยบายประชาสังคมเพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประมวลองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประชาสังคม รูปแบบ กระบวนการประชาสังคม ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในกระบวนการประชาสังคม การสร้างเครือข่ายประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและตัวแบบที่ดี (Best Practice) ของประชาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์รูปแบบ กระบวนการประชาสังคมที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ความรู้ประชาสังคมที่มีอยู่และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะนำมาสังเคราะห์เป็นบทสรุปที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการในการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาได้ และพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติการในการส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคมเข้มแข็งได้

อ.ปรีชา ได้ตั้งประเด็นคำถามส่งมาให้สมาชิกเครือข่ายประชาสังคมแสดงความคิดเห็น 12 ประเด็น ผมได้ตอบกลับไปโดยอยู่บนพื้นฐานมุมมองจากประสบการณ์และการปฏิบัติของตนเอง พยายามที่จะสะท้อนออกมาตรง ๆ ตั้งใจให้เป็น “ความรู้มือหนึ่ง” ไม่ยึดติดกับข้อมูลจากตำราวิชาการ ระเบียบ คำสั่ง ตัวบทกฎหมาย ฯลฯ ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในแง่ของความถูกต้อง เหมาะสม หรืออื่น ๆ เชื่อว่าน่าจะมีมุมมองที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของตนเอง และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผมตอบในประเด็น “สังคมที่เข้มแข็ง”

  • ท่านให้ความหมายของคำว่า “สังคมที่เข้มแข็ง” ว่าอย่างไร ?

สังคมที่เข้มแข็ง คือ สังคมที่ประกอบไปด้วยมวลหมู่สมาชิก ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายในเรื่อง เพศ วัย อาชีพ ความรู้ การศึกษา ศาสนา แหล่งกำเนิด ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่การงาน ฯลฯ  สมาชิกเหล่านั้นได้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในบริบทของพื้นที่ (หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ-จังหวัด) การติดต่อสื่อสาร (กลุ่ม, เครือข่าย Social Network) และสถาบัน (โรงเรียน-หน่วยงาน-ห้างร้าน-บริษัท)

สังคมที่เข้มแข็งจึงขึ้นอยู่กับพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีของมวลหมู่สมาชิก ถ้าขาดความเข้าใจกัน มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร และมีกลไกที่ครอบงำทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบ ฯลฯ ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่ความอ่อนแอของสังคมนั้น ๆ

  • ในความเห็นของท่าน สังคมที่เข้มแข็งจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?

จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการ คือ

  1. สมาชิกของสังคมที่มีความรู้และสติปัญญา
  2. มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ รู้จักการฟัง-คิด-พูด เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่เหมาะสมกับเหตุ-ปัจจัย โดยยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลายของสมาชิก
  3. มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตนเอง ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเหมือน ๆ กัน ได้แก่     ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ
  • ท่านมองสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนี้และอนาคตอันใกล้อย่างไร ?

สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่ซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในขั้นอันตรายเกินกว่าความสามารถขององค์กร หน่วยงาน สถาบัน และรัฐบาลจะรับมือไหว วิกฤติการณ์ที่อุบัติขึ้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเมื่อใช้กลไกทางอำนาจโดยเฉพาะการเมืองที่อ่อนแอและทุจริตมาเป็นตัวจัดการ จะก่อให้เกิดปัญหาใหม่สร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง ทำลายความเชื่อมั่น ความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในสังคม

ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยต้องเจอกับวิกฤติการณ์เกือบทุกด้าน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองทำลายล้างกันเอง สภาพสังคมเหลวแหลกเพราะมัวเมาอยู่กับการบริโภคนิยม เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากกว่าเดิม ฯลฯ

“ขอย้ำว่าคำตอบเหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผมเท่านั้น ถ้าตัดสินกันด้วยมาตรฐานถูก-ผิด เชื่อว่าต้องมีความแตกต่างทางความคิดเกิดขึ้นแน่ ๆ ผมพร้อมจะเรียนรู้ครับ”

คำสำคัญ (Tags): #สังคมเข้มแข็ง
หมายเลขบันทึก: 396795เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 06:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีครับ เป็นกรอบความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อความเข้มแข็งของชุมชนมาก

ตามมาอ่านพี่หายไปนานมาก อยากให้มาเขียนบ่อยๆจะได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยชีวิตและทีมงานทางภาคใต้แถวชุมพร ทำอะไรกันบ้าง

ในมุมมองของผมคิดว่าเราจะพบกับเรื่องภัยธรรมชาติ่รุนแรงกว่าสมัยก่อนแน่นอนเพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมาก พี่สบายดีนะครับ

สังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง กลุ่มเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง เยาวชนเข้มแข็ง .......แข็งอยู่กี่คน

(สังคมที่เข้มแข็ง คือ สังคมที่ประกอบไปด้วยมวลหมู่สมาชิก ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายในเรื่อง เพศ วัย อาชีพ ความรู้ การศึกษา ศาสนา แหล่งกำเนิด ตำแหน่ง บทบาท หน้าที่การงาน ฯลฯ สมาชิกเหล่านั้นได้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในบริบทของพื้นที่ (หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ-จังหวัด) การติดต่อสื่อสาร (กลุ่ม, เครือข่าย Social Network) และสถาบัน (โรงเรียน-หน่วยงาน-ห้างร้าน-บริษัท)

หากพิจารณาจากบันทึกของอาจารย์ คนที่พูดว่าเข้มแข็งคือคนเข้าไปกระทำการ หรือผู้ถูกกระทำ เป็นคนบอก ต้องคิดหนักแล้วครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท