ปฏิบัติการปรองดอง ปฏิบัติการสร้างสาพัฒนาชาติลาวยุคใหม่


พื้นฐานการพัฒนาประเทศ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากจุดเล็กๆที่เรียกว่า "ความร่วมมือร่วมใจ"

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ บังเอิญผมได้อ่านหนังสือพิมพ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2553 คอลัมน์ mekong corridor เขียนโดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน เรื่อง "ลาวใน" เริ่มปฏิบัติการปรองดอง "ลาวนอก" พูดถึงเรื่องความพยายามของรัฐบาลลาวที่จะเปิดโอกาสให้ชาวลาวในต่างประเทศที่ได้อพยพออกจากบ้านเกิดเมืองนอนไปในครั้งสงครามความขัดแย้งเมื่อปี ค.ศ.1975 ได้กลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเกิดเมืองนอน ในโอกาสการเฉลิมฉลองการสถาปนาเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงครบรอบ 450 ปีที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2010 นี้ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของลาวได้มีมติตกลงอนุมัติแผนการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับคนลาวกลุ่มนี้ และยังได้อ้างคำแถลงของ เหียม พมมะจัน รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ (อดีตเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย) ว่า ทางการลาวจะให้การสนับสนุนส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้านแก่คนลาวในต่างประเทศที่ต้องการจะเดินทางกลับคืนมาลาวว่า

 "ในเบื้องต้นนี้พวกเฮาจะอำนวยความสะดวกในการไปการมา การเยี่ยมการยาม การแต่งดอง (แต่งงาน) ระหว่างคนลาวในกับคนลาวที่อยู่นอก หรือว่าการมาอยู่ในลาวอย่างถาวรของเขาเจ้า (ลาวนอก) นั้น พวกเฮาก็จะอำนวยความสะดวกให้พวกเขาเจ้าทางด้านนิติกรรม ในลักษณะที่ว่าพวกเขาเจ้าอยู่ก็มีผลประโยชน์ เพราะว่าพวกเขาเจ้ามีสัญชาติใหม่แล้วก็บ่ให้พวกเขาเจ้าเสียสัญชาติ รวมทั้งพวกเขาเจ้าก็ควรที่จะมีกรรมสิทธิ์แนวใดแนวหนึ่งในบ่อนอยู่บ่อนอาศัยในลาว โดยในเวลานี้พวกเฮาก็ได้ฮ่าง (ร่าง) นโยบายละเอียดจำนวนหนึ่งไว้แล้ว"

นิติกรรมที่สำคัญอันหนึ่งที่ทางการกระทรวงการต่างประเทศของลาวร่างและจัดทำเสร็จเรียบร้อย รอเพียงการลงนามอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี บัวสอน บุบผาวัน อย่างเป็นทางการเท่านั้น นิติกรรมนี้จะให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในลาวแก่คนลาวนอกที่จะเดินทางกลับคืนมาอยู่ในลาวอย่างถาวรนั่นเอง ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศของลาวได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการสนับสนุนส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้คนลาวนอกพากันเดินทางกลับคืนมาลาว ซึ่งพบว่าจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาลาวให้เจริญก้าวหน้าอย่างเท่าทันกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันและภูมิภาคอื่นๆ ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ทางการลาวจัดแบ่งคนลาวนอกออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยกลางคน และกลุ่มลาวนอกรุ่นใหม่ ซึ่งได้ให้ความสำคัญแตกต่างกันไปคือ

กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่เกิดในลาว แต่ต้องอพยพหลบหนีภัยสงคราม จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนานกว่าสามทศวรรษ ย่อมคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนเป็นธรรมดา ทางการลาวมองเห็นความสำคัญข้อนี้เป็นอย่างดีจึงส่งเสริมให้เดินทางกลับมาพักผ่อนและใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในลาวเป็นสำคัญ ทางการลาวมองไปไกลว่าเมื่อกลุ่มผู้สูงวัยได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในลาวแล้วนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่คนลาวนอกรุ่นลูกหลานจะต้องมาเยี่ยมพ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขาที่พำนักอยู่ในลาวนั่นเอง

สำหรับกลุ่มวัยกลางคน นับว่าเป็นกลุ่มใหญ่และมีบทบาทสำคัญที่สุด เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีโอกาสได้ศึกษาและเรียนรู้วิทยาการต่างๆเช่นเดียวกันกับคนชาติที่พวกเขาอพยพไปพำนักอยู่ อีกทั้งเวลาที่ผ่านไปถึงสามทศวรรษทำให้พวกเขาก่อร่างสร้างตัวได้อย่างมั่นคง สามารถส่งลูกหลานที่เป็นคนลาวนอกรุ่นใหม่ให้ได้รับการศึกษาระดับสูงในวิทยาการสมัยใหม่ทุกๆด้านอีกด้วย การนำคนลาวนอกทั้งในกลุ่มวัยกลางคนและกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้เป็นเป้าหมายหลักที่ทางการลาวต้องการที่จะดึงเอาทั้งความรู้ความสามารถและกำลังทุนทรัพย์กลับคืนมาเพื่อสร้างสาพัฒนาชาติลาวให้เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดนั่นเอง

ข่าวนี้อาจจะอยู่ในคอลัมน์เล็กๆที่อาจจะไม่สะดุดตา หรือยู่ในความสนใจของสังคมไทยเหมือนกับปัญหาการประมูล 3G ที่พวกเราหลายคนถือว่าเป็นสูตรสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าในปัจจุบัน แต่สำหรับผมแล้วข่าวนี้บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของประเทศเล็กๆที่พยายามพัฒนาบ้านเมืองของตนภายใต้ภูมิปัญญาของอันหลักแหลมตนเองที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1945 เป็นต้นมาในประเทศลาวเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี ค.ศ.1953 เมื่อกองกำลังเวียดนามเหนือร่วมกับกองกำลังของเจ้าสุภาณุวงศ์ซึ่งต่อต้านจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและต่อต้านรัฐบาลแห่งชาติ บุกเข้ายึดครองภาคเหนือของลาว ต่อเนื่องถึงความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ให้กับเวียดนามเหนือในการสู้รบที่เดียนเบียนฟูเมื่อปี ค.ศ.1954 ประเทศลาวก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง สงครามที่ไม่ได้ประกาศตลอดมาจน ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.1975 พรรคปฏิวัติประชาชนลาวหรือพรรคคอมมิวนิสต์ ก็สามารถยึดอำนาจได้เด็ดขาด และปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้


สงครามในลาวเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ถูกกดขี่และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลเช่นเดียวกับประเทศในโลกที่สามทั่วไป ในสงครามนี้นอกจากจะเป็นการต่อสู้ระหว่างชาวลาวด้วยกันแล้ว ยังมีความช่วยเหลือจากฝ่ายสนับสนุนแต่ละฝ่ายจากภายนอกอย่างลับๆอีกหลายประเทศ พรรคปฏิวัติประชาชนลาวได้รับการสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและกำลังพลจากเวียดนามเหนือและสหภาพโซเวียตฯ ส่วนรัฐบาลลาวในยุคนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจาก CIA อย่างลับๆเนื่องจากไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้/สปอ.(SEATO) เหมือนกับเวียดนามใต้ ที่ประเทศสมาชิกสามารถเข้าไปช่วยเหลือทางการทหารได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมเดิมและอังกฤษคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือของ CIA ก็คือความช่วยเหลือรัฐบาลสหรัฐและพันธมิตรผ่านองค์กรลับนั่นเอง ในครั้งนั้นมีทหารไทยเข้าไปร่วมรบในสงครามครั้งนี้ด้วยแต่ในฐานะทหารรับจ้างของ CIA ไม่ใช่จากรัฐบาลไทยซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สามารถละเมิดกิจการภายในของประเทศใดได้


หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการยึดอำนาจได้ของรัฐบาลยุคปัจจุบันตั้งแต่ ค.ศ.1975(พ.ศ.2518) เป็นต้นมา แม้ว่ารัฐบาลลาวจะสามารถบริหารประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ยังคงมีความพยายามในการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มชาวม้งซึ่งได้อพยพเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยเป็นจำนวนมากซึ่งก็คงจะได้รับการสนับสนุนจากชาวลาวอพยพในประเทศต่างๆทั้งในยุโรป อเมริกา แคนาดา และออสเตรเลียอยู่บ้าง แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปเป็นเวลานาน และรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปัจจุบันเอง ก็บริหารประเทศโดยมิได้มีการกดขี่ข่มเหงประชานเหมือนอย่างที่เคยพบจากการโฆษณาชวนเชื่อสมัยที่ยังมีการต่อสู้กันอยู่ ประเทศลาวเองก็มีความเจริญก้าวหน้า มีการเปิดเสรีเพื่อให้มีการลงทุนในการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆมากขึ้น ความเข้มข้นของความรู้สึกโกรธเคืองขัดแย้งของคนรุ่นเก่าๆก็คงจะลดน้อยถอยลงไปบ้าง ในขณะที่รัฐบาลลาวก็คงจะได้มีการเปิดใจกว้าง ลดความหวาดระแวงลงจนไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการนี้ และเมื่อทั้งสองฝ่ายคิดถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน ความพยายามที่จะให้เกิดการปรองดองเพื่อสร้างสาพัฒนาชาติลาวก็คงไม่ยากที่จะเป็นรูปเป็นร่างในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่ผมชื่นชมรัฐบาลของลาวในความพยายามครั้งนี้ก็คือ นอกจากความใจกว้างทำตนเป็นผู้มีวุฒิภาวะและการมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลแล้ว รัฐบาลลาวยังทำให้ชาวโลกได้รู้ว่า การพัฒนาประเทศชาตินั้น ไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนทฤษฎีของใครมาใช้แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากการมีข้อมูลที่ดี มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ ภายใต้องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานของคนลาวเอง อาจจะเรียกได้ว่าเป็น know-how ที่ไม่ได้สักแต่ลอกเลียนจากเจ้าตำหรับที่ใดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ที่สำคัญ รัฐบาลลาวรู้ว่า การพัฒนาใดๆไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือไม่อาจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเลย หากปราศจากการบริหารประเทศโดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกกลุ่มของคนในชาติ ประเทศหรือแม้แต่องค์กรใดที่ยังมีความขัดแย้งและการต่อสู้กันอยู่ การพัฒนาก็คงเป็นแค่แผนงานที่ไม่มีวันสำเร็จนั่นเอง

วันนี้ลาวกำลังจะพ้นจากความขัดแย้งแม้เพียงความคิดจากอดีต สู่ความร่วมมือร่วมใจสร้างสาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนให้เจริญรุ่งเรือง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่กำลังเริ่มต้นเหมือนกัน

..แต่เป็นการเริ่มต้นความทุกข์เข็ญเหมือนอย่างที่เคยเกิดกับลาวเมื่อย้อนหลังไปเกือบ 7 ทศวรรษที่ผ่านมา...



http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/SEATO
http://www.nationweekend.com/home/
http://en.wikipedia.org/wiki/Laotian_Civil_War

และขอขอบคุณภาพจาก Internet

หมายเลขบันทึก: 396404เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แผนปรองดองคนลาวต่างประเทศกลับมามากไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท