ส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก


วิทยานิพนธ์

 

 

เนื่องจากมีข่าวส่วนตัวบางอย่างที่อยากแจ้งให้เพื่อน ๆ ทราบ  เพื่อร่วมแสดงความยินดี เพราะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตของผม  คือ เมื่อวันที่ 6-12 ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อส่งวิทยานิพนธ์ปริญาเอกเรื่อง Existence and Enlightenment : A Study of Metaphysics and Ethics in Abhidhamma and Nikaya of Theravada Buddhism  ต่อมหาวิทยาลัยมัทราส  เมืองเชนไน โดยส่งงานในวันที่ 12 พฤษภาคม 2010 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดเวลาตามหลักสูตร 3 ปี พอดี

หลังจากกลับจากอินเดีย ผมก็เข้าร่วมอบรบรมอาสาสมัครฑูตวิสาขโลกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวันที่ 15-17 พ.ค. และปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 21-23 พ.ค.  โดยวันที่ 23 เป็นวันเปิดงาน  วันที่ 24 เป็นวันประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่องการฟื้นฟูวิกฤติการณ์ของโลก-ทัศนะของชาวพุทธ  วันที่ 25 เป็นวันปิดงานมีการกล่าวรายงานและคำประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ที่สำนักงานสหประชาชาติ  และมีการทำพิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล 

ด้วยเหตุนี้จึงรายงานให้เพื่อน ๆ ทราบ เพื่อร่วมแสดงความยินดีและอนุโมทนากับงานอาสาสมัคร  ขอให้เพื่อนทุกคนมีความสุขและประสบความสำเร็จ เนื่องในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  และผมมองว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ดังคำอาสภิวาจาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสในวันประสูติว่า

เราเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก  และชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

 

 

 

อยากจะขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการของการส่งวิทยานิพนธ์ (Thesis)  ของ University of Madras ให้ทุกท่านเข้าใจ

  ตามกฏของมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะสามารถส่งงานวิทยานิพนธ์ได้เมื่อครบกำหนดเวลาในหลักสูตร 3 ปี  นับจากวันที่ลงทะเบียน  และในระหว่าง 3 ปีที่เราเขียนวิทยานิพนธ์ จะต้องมีการส่งรายงานความคืบหน้าของการทำงานต่อมหาวิทยาลัยทุก 6 เดือน  เรียกว่า Six Month Reports  วิทยานิพนธ์ต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่า 200 หน้า  ไม่เกิน 250 หน้า (แต่วิทยานิพนธ์ของผมเกินไปนิดหน่อย 294 หน้า) 

      ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยการจะส่งวิทยานิพนธ์ได้ต้องขึ้นนำเสนอผลงานต่อคณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาก่อน  เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบเราจึงจะสามารถส่งวิทยานิพนธ์โดยผ่านการเซ็นรับรองของอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดี  โดยส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์จำนวน 5 เล่มต่อมหาวิทยาลัย  ในจำนวนนี้ วิทยานิพนธ์ 3 เล่ม จะถูกส่งไปตรวจสอบโดยให้ผู้เชี่ยวชาญ(Professor)ของมหาวิทยาลัยภายในรัฐ  1 เล่ม  มหาวิทยาลัยของอินเดียภายนอกรัฐ 1 เล่ม  และอีกหนึ่งเล่มจะถูกส่งไปที่ต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นอเมริกาหรือยุโรป 

       จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะใช้เวลาในการตรวจสอบ 3-6 เดือน  แล้วก็จะส่งวิทยานิพนธ์กลับคืนมหาวิทยาลัย  ซึ่งหากคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจให้ผ่าน  ทางมหาวิทยาลัยก็จะสั่งให้คณะจัดตั้งคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ซึ่งเรียกว่า Public  Viva Voce  คือการขึ้นนำเสนอผลงานต่อหน้ามหาชนจำนวนมาก  ถ้าสถานการณ์ผ่านไปโดยความเรียบร้อยก็ถือว่าสอบผ่าน  แต่ถ้ามีการคัดค้านโดยคณาจารย์หรือผู้เข้าร่วมรับฟังก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน  ซึ่งในการนำเสนอนี้จะมีการซักถามในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเรา  

       เหล่านี้เป็นกระบวนการส่งและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมัทราส  ดูแล้วเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  แต่อย่างไรก็ตามผมจะเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด  เต็มตามกำลังสติปัญญาความสามารถของผม  และขอกำลังใจจากสมาชิกทุกท่านด้วยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 362969เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอขยายเรื่องความสำคัญของวันวิสาขบูชาอีกนิดหนึ่งครับ  ที่ผมบอกว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์นั้น  หากวิเคราะห์ในทางปรัชญา  ในวันประสูติพระพุทธเจ้าตรัสอาสภิวาจา  โดยนัยยะหมายถึงพุทธศาสนามองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐที่สุดในโลก (เพราะพระองค์เกิดมาเป็นมนุษย์) และความเป็นมนุษย์ก็มีความประเสริฐด้วยตัวของมันเองโดยไม่เกี่ยวกับชาติตระกูล เชื้อชาติหรือเผ่าพันธ์  ในวันตรัสรู้พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถประกาศอิสรภาพเหนือความชั่วร้ายทั้งมวลของอำนาจมืดในจิตใจของตัวเองได้  มนุษย์ไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้การบงการของสัญชาติญาณฝ่ายตำ  ในวันปรินิพพานทรงแสดงให้เห็นว่าความตายเป็นธรรมชาติของสังขาร  และมนุษย์ก็ไม่ต้องหวาดกลัวหรือหวั่นไหวต่อความตาย  ตรงกันข้ามพระองค์กลับตรัสเตือนสติสาวกให้เร่งทำความเพียร อย่าประมาทในชีวิต เร่งเดินทางให้ถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ก่อนที่พระยามัจจุราชจะมาเยือน  นี้คือความหมายของคำว่า  วันวิสาขบูชาคือวันแห่งอิสรภาพของมนุษยชาติ

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

กับอาสาสมัครทุกท่านและผู้ที่ได้รับปริญญาเอก

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับที่ท่านอุตส่าร่วมแสดงความยินดี

ความสำเร็จด้านการศึกษาของกระผมเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยทุนทั้งทางสังคม และทุนจากครอบครัว ทุนทางสังคมที่สำคัญยิ่งคือ พระพุทธศาสนา (มจร) เพราะฉะนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้วโจทย์ที่หนักที่สุดสำหรับผมคือจะตอบแทนบุญคุณของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติตลอดทั้งวงศ์ตระกูลได้คุ้มค่าขนาดไหน ความหนักใจตรงนี้ผมจำเป็นต้องแก้ด้วยการศึกษาและเจริญรอยตามปฏิปทาของบุคคลที่ยิ่งใหญ่อย่างท่าน ดร.อัมเบดการ์ เพื่อคนตัวเล็ก ๆ อย่างกระผมจะพอมองเห็นหนทางที่จะสร้างประโยชน์ได้บ้างตามกำลังสติปัญญาเท่าที่มี

ท่าน ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ นำประชาชนประมาณ ๕ แสนคน กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ณ บริเวณทิกษาภูมิ เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฎร์ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๙(๒๕๐๐) โดยมีคำปฏิญาณ ๒๒ ข้อ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุอีกต่อไป

๒.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพนับถืออีกต่อไป

๓.ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทพเจ้าของศาสนาฮินดูอีกต่อไป

๔. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตาร คือการแบ่งภาคลงมาเกิดอีกต่อไป

๕. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้า คืออวตารของพระวิษณุอีกต่อไป

๖. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูอีกต่อไป

๗. ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

๘. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างอีกต่อไป

๙. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน

๑๐. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน

๑๑. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน

๑๒. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศน์ โดยครบถ้วน

๑๓. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก

๑๔. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น

๑๕. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม

๑๖. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด

๑๗. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา

๑๘. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา

๑๙. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่แบ่งชั้นวรรณะ

๒๐. ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง

๒๑. ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่อย่างแท้จริง

๒๒. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฎิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ดร.อัมเบดการ์กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาเป็นฮินดู เพราะข้าพเจ้าควบคุมไม่ได้ แต่จะไม่ขอตายในฐานะฮินดู แต่ขอตายในฐานะชาวพุทธ"

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/372458

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท