ชีวประวัติของ ดร.อัมเบดการ์


ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์

     

         ดร.บี.อาร์. อัมเบดการ์ (Dr.B.R. Ambedkar) ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวมหาร์  วรรณะจัณฑาล ที่ยากจนค้นแค้นเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน  พ.ศ.๒๔๓๔  บิดาชื่อ  สุเภทาร์ รามชิ สักปาล มารดาชื่อ ภิมาไบ  ณ หมู่บ้านมาหู รัฐมัธยมประเทศ  อินเดีย  ท่านอัมเบดการ์มีนามเดิมว่า ภิม (Bhim)

        พ.ศ. ๒๔๔๙ แต่งงานกับรามา ไบ

        พ.ศ. ๒๔๕๐  จบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษา  จากโรงเรียน เอลฟิสโตน  (Elphistone)  เมืองบอมเบย์หรือมุมไบ  ในการจัดงานแสดงความยินดีที่สำเร็จการศึกษา  ท่านกฤษณชิ อรชุน เกลุสการ์ ได้มอบหนังสือ เรื่อง "พุทธจริต"  เป็นเหตุให้ท่านได้รู้จักประวัติของพระพุทธเจ้าและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

        พ.ศ. ๒๕๕๖ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  สาขาภาษาเปอร์เซียและอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยบอมเบย์

        พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับทุนการศึกษาของมหาราชาไคกวาร์ แห่งเมืองบาโรด้า  เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท  คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  จบการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๕๘

        พ.ศ. ๒๔๕๙ เรียนปริญญาเอก โดยเขียนวิทยานิพนธ์ชื่อ "The National Divident of India - A Historical and Analytical Study"      สำเร็จการศึกษาเมื่อ   พ.ศ.๒๔๖๐

        พ.ศ. ๒๔๖๐ ดำรงตำแหน่งปลัดฝ่ายความมั่นคง แห่งเมืองบาโรด้า

        พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นศาสตราจารย์ทางเศรษกิจการเมือง ที่วิทยาลัยการค้าและเศรษฐศาสตร์ ไซเดนฮัม (Sydenham College) เมืองบอมเบย์

        พ.ศ.๒๔๖๓ กลับไปศึกษาต่อ ณ London School of Economics  and Political Science จบปริญญาเอก โดยเขียนวิทยานิพนธ์ชื่อ "The Problem of Rupee-its Origin and its Solution"  และสำเร็จการศึกษาด้านกฏหมายเป็นเนติบัณฑิต

        พ.ศ. ๒๔๖๗  เป็นผู้พิพากษาสูง ของเมือง บอมเบย์

        พ.ศ. ๒๔๗๐ เริ่มพิธีสัตยาเคราะห์(ประท้วงอย่างสันติ)  ณ บ้านมหัท จังหวัดโกลาบะ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มคนจัณฑาลเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะโชว์ดาร์

        พ.ศ.๒๔๗๑ เป็นศาสตราจารย์ ของมหาวิทยาลัยกฏหมายแห่งรัฐ เมืองบอมเบย์  และได้เลื่อนเป็นอธิการบดีในปีนี้เอง

        พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นตัวแทนของกลุ่มคนจัณฑาล เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

        พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นกรรมการร่วมของรัฐสภาเพื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอินเดีย

         พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกฏหมายแห่งรัฐ เมืองบอมเบย์ ครั้งที่ ๒ และเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและกฏหมาย

        พ.ศ.๒๔๘๙ เปิดสิทธารถวิทยาลัยเพื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์  เมืองบอมเบย์

        พ.ศ.๒๔๘๙ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญแห่งอินเดีย

         พ.ศ.๒๔๙๐ อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ  ดร.อัมเบดการ์ได้รับเลือกจากพรรคคองเกรส เข้าสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดแรกของอินเดีย  ซึ่งมี พณฯ ยวาหลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี  ดร.อัมเบดการ์ได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม  และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย

         พ.ศ. ๒๔๙๔ ก่อตั้งองค์กร "ภารติยพุทธชนสังฆะ" หรือ สมาคมชาวพุทธอินเดีย

         พ.ศ.๒๔๙๕ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา  มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่าน ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปี ของมหาวิทยาลัย

         พ.ศ.๒๔๙๗ เข้าร่วมประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ล.ส.) ครั้งที่ ๓ ณ นครย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า

        พ.ศ.๒๔๙๘ ก่อตั้ง "ภารติยพุทธมหาสภา" หรือ พุทธสมาคมแห่งอินเดีย

        พ.ศ. ๒๔๙๙ เขียนหนังสือเรื่อง  "The Buddha and His Dhamma"  และ "Revolution and Encounter-revolution in Ancient India"

        พ.ศ.๒๔๙๙  จัดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ ณ เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฎร์  พร้อมกับบริวารประมาณ 500,000 คน  โดยมีพระมหาเถระจันทรมณี จากมหาวิหาร กุสินารา เป็นประธานสงฆ์ประกอบพิธี

        ๖ ธันวาคม ๒๔๙๙ ได้ถึงแก่อนิจจกรรมที่บ้านพัก กรุงนิวเดลี และได้มีรัฐพิธ๊เผาศพ ที่เมืองบอมเบย์หรือมุมไบ

 

      ท่าน ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ นำประชาชนประมาณ ๕ แสนคน กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ณ บริเวณทิกษาภูมิ เมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฎร์ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๙(๒๕๐๐)  โดยมีคำปฏิญาณ ๒๒ ข้อ ดังนี้

  ๑. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุอีกต่อไป

   ๒.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพนับถืออีกต่อไป

  ๓.ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทพเจ้าของศาสนาฮินดูอีกต่อไป

  ๔. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตาร คือการแบ่งภาคลงมาเกิดอีกต่อไป

  ๕. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้า คืออวตารของพระวิษณุอีกต่อไป

  ๖. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูอีกต่อไป

  ๗. ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

  ๘. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างอีกต่อไป

  ๙. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน

  ๑๐. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน

  ๑๑. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน

  ๑๒. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศน์ โดยครบถ้วน

  ๑๓. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก

  ๑๔. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น

  ๑๕. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม

  ๑๖. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด

  ๑๗. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา

  ๑๘. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา

  ๑๙. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่แบ่งชั้นวรรณะ

  ๒๐. ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง

  ๒๑. ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่อย่างแท้จริง

  ๒๒. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าจะปฎิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

            หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ดร.อัมเบดการ์กล่าวว่า "ข้าพเจ้าเกิดมาเป็นฮินดู เพราะข้าพเจ้าควบคุมไม่ได้  แต่จะไม่ขอตายในฐานะฮินดู  แต่ขอตายในฐานะชาวพุทธ"

หมายเลขบันทึก: 372458เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านครับ

ขอบพระคุณครับ...

ขอบคุณครับที่อุตส่าโพสต์ข้อความให้กำลังใจ

เพื่อความชัดเจน ผมขออธิบายเสริมเรื่องชนชั้นในสังคมฮินดูนิดหน่อย ศาสนาฮินดูแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ คือ

1.กษัตริย์ ได้แก่ นักปกครอง นักการเมือง และข้าราชการ

2. พราหมณ์ ได้แก่ นักบวช นักวิชาการ และครูอาจารย์

3. แพทย์ ได้แก่ พ่อค้า นักธุรกิจ

4. ศูทร ได้แก่ กรรมกร เกษตรกร ชนใช้แรงงาน

ส่วนท่าน ดร.อัมเบดการ์ เกิดในกลุ่มจัณฑาล คนกลุ่มนี้มีสถานภาพต่ำกว่าพวกวรรณะศูทรอีก เป็นชนที่ 2 วรรณะต้นดูถูกเหยียดหยามมาก ขนาดห้ามมีการสัมผัสแตะต้องกัน จัณฑาลจึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชนที่แตะต้องไม่ได้ (untouchable person) ภายหลังท่านมหาตมะ คานธี ต้องการแก้ไขความผิดพลาดของฮินดู ท่านจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า หริชน แปลว่า คนของพระเป็นเจ้า

สำหรับคนอินเดียแล้ว ดร.อัมเบดการ์เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งครับ ทางการประกาศให้วันเกิดของท่าน 14 เมษายน เป็นวันหยุดราชการ

เคยไปชมพิพิธภัณฑ์ของท่านที่ปูเน่ น่าสนใจมาก

ขอบคุณสำหรับข้อเขียนถึงคนดีของโลกครับ

ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ

ความสนใจในตัวท่านดร.อัมเบดการ์เริ่มตั้งแตผมยังไม่ได้เข้าศึกษาปริญญาตรี ซึ่งเกิดขึ้นจากการได้อ่านหนังสือชื่อ"ดร.อัมเบดการ์ รัฐบุรุษจากสลัม" เมื่อไปศึกษาปริญญาโทต่อที่อินเดียผมได้ไปกราบสักการะท่านที่ทิกษาภูมิ เมืองนาคปูร์ และในช่วงศึกษาปริญญาเอกผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มชาวพุทธ ที่ทำงานเพื่อสังคมตามแนวทางของท่าน ดร.อัมเบดการ์ โดยมีสถาบันฝึกอบรมอาสาสมัครชื่อ "สถาบันนาครชุน" แล้วสร้างเป็นเคลือข่ายครอบคุมทั่วทั้งอินเดีย และมีการร่วมมือกับองค์กรพุทธระดับสากลของท่านสังฆรักขิต ชาวอังกฤษด้วย

ระหว่างอยู่ที่อินเดีย ผมสังเกตุเห็นอย่างหนึ่งคือ ตามหมู่บ้านในชนบททั่วอินเดียจะมีรูปปั้นของท่านดร.อัมเบดการ์ ถือรัฐธรรมนูญ ส่วนรูปปั้นและรูปภาพของท่านมหาตมะ คานธีจะมีเฉพาะในสถานที่ราชการเท่านั้น น่าคิดนะครับ

“ผมยกย่องท่านในฐานะที่เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เพื่อนร่วมชาติที่ถูกละเมิดมานานนับพันปี “ (ขอพระคุณที่ท่านนำเสนอชีวประวัติบุคคลที่ควรสรรเสริญเป็นแบบอย่างครับ)

เจ้าคนนายคน ชนชั้นล่าง เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ผู้ดีเดินตรอก ระบบลูกพี่ ไม้กันหมา อาสาเจ้าจนตัวตาย ซื่อสัตย์อย่างพันท้ายนรสิงห์ ฯลฯ วลีเหล่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท