เมล็ดพันธุ์ความดีที่เติบโตในระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เครือข่ายสถานบริการสาธารณสุขอำเภอปัว จังหวัดน่าน: Hotline EOL และ Skype contaction


ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวนี้ มันรู้สึกเหมือนกับว่า มีก้อนอะไรสักก้อนหนึ่งวิ่งขึ้นมาจุกแน่นอยู่ที่อก มันรู้สึกเสียดาย สูญเสีย ล้มเหลว หรืออะไรสักอย่างหนึ่งที่บอกไม่ค่อยถูกเหมือนกัน ...

            คุณจะรู้สึกอย่างไร  ถ้ามีหน้าที่ในการดูแลผู้เจ็บป่วย...และคุณมีความรู้มากมายที่จะจัดการกับปัญหาการเจ็บป่วยต่างๆ  มียาพร้อมสรรพที่จะบรรเทาอาการเจ็บปวดได้อย่างชะงัด แต่วันหนึ่งคุณกลับได้รับทราบข่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับรายหนึ่งที่เคยดูแลอยู่จนอาการสงบ อยู่ได้โดยไม่มีอาการรบกวนจากความเจ็บปวดเท่าใดนัก และจำหน่ายคืนเขาไป ให้แก่ครอบครัวสังคม โดยหวังว่าเขาจะใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ กับสิ่งแวดล้อมที่เขาคุ้นเคย กับคนที่เขารัก...แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น มันช่างโหดร้ายเมื่อทราบว่าเขาเสียชีวิต ในสภาพที่ทุกข์ทรมานจากการปวด…ปวดมาก…ปวดทุกวัน ปวดเป็นสัปดาห์ จนบุตรสาวซึ่งเป็นผู้ดูแลต้องเอาผ้าห่อน้ำแข็งมามัดรอบเอวไว้เพื่อบรรเทาอาการ ทำเช่นนี้อยู่ทุกๆวัน  ผู้ป่วยทุกข์จากความปวด จนไม่อยากกินอะไร อ่อนเพลียลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในที่สุด...ผู้ดูแลบอกว่า ไม่ได้พามาโรงพยาบาลเพราะหมอว่าโรคนี้รักษาไม่ได้แล้ว คิดว่าพามาหมอก็คงบอกว่าให้ทำใจ  ไม่รู้จะรักษาอย่างไร

            สำหรับฉันเอง ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวนี้  มันรู้สึกเหมือนกับว่า มีก้อนอะไรสักก้อนหนึ่งวิ่งขึ้นมาจุกแน่นอยู่ที่อก มันรู้สึกเสียดาย สูญเสีย ล้มเหลว หรืออะไรสักอย่างหนึ่งที่บอกไม่ค่อยถูกเหมือนกัน ...ก็ ทำไมล่ะ บ้านผู้ป่วยอยู่ไม่ไกลไปจากโรงพยาบาลเลย หรือแม้แต่สถานีอนามัยเองก็อยู่ไม่ไกลจากบ้าน แต่พวกเราบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข...สุขภาวะของผู้เจ็บไข้ กลับไม่รู้ว่าเขากำลังทุกข์อยู่มากมายก่อนตาย  ยาแก้ปวดหลายขนาน แม้แต่มอร์ฟีนเราก็มี แต่เขากลับไม่ได้มีโอกาสใช้มันอย่างเต็มที่...ด้วยความที่ไม่รู้  ส่วนเราเองที่มีความรู้ก็กลับไม่มีช่องทางที่จะรับรู้ได้ว่าเขาน่าจะต้องได้รับการบำบัดอาการเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นเหตุให้เราขาดโอกาสที่จะเข้าไปช่วยเหลือเขาทั้งที่เราทำได้...ฉันเชื่อ... ว่าเราน่าจะช่วยเขาได้มากกว่านี้     
            เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญที่ทำให้ฉันมุ่งมั่น ทุ่มเท แสวงหากลยุทธ์ แนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ทางทีมเราได้ดำเนินการอยู่ ให้สามารถที่จะตอบโจทย์ปัญหาที่แท้จริงของผู้รับบริการได้อย่างจริงจัง
          การให้บริการปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวทางโทรศัพท์ตลอด24 ชั่วโมง (Hotline EOL) การทำระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาแก่เครือข่ายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในอำเภอปัวผ่านทางอินเทอร์เนตโดยใช้โปรแกรม Skype และกลยุทธ์อีกมากมายที่เลือกสรรมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายจึงเกิดขึ้น


Hotline EOL และ Skype contaction
 
          บ่อยครั้งที่มีเบอร์แปลกๆ ปรากฏขึ้นที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ฉันต้องรีบรับสายเพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นของผู้ป่วยที่เคยดูแลหรือญาติโทรมาปรึกษาปัญหาหรือเปล่า ที่ต้องรีบเพราะคิดว่าผู้ป่วยส่วนมากจะเกรงใจหมอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเขาตัดสินใจโทรมา ฉันถือว่าจำเป็นสำหรับเขาอย่างยิ่งแล้ว

           ¶¶ อยากจะบอกให้รู้ว่าคิดถึง...เธอ   อยากจะให้โทรไปหาเหมือน...วันก่อน...         
          เสียงเพลงเรียกเข้าที่คุ้นเคยดังมาจากโทรศัพท์มือถือตัวเก่งตอน 4 ทุ่มกว่า...ปลุกให้ฉันงัวเงียตื่นขึ้น  เมื่อกดรับสาย สัมผัสได้ถึงน้ำเสียงที่ดูร้อนรนนัก

            “แม่เลี้ยงคับ แม่ผม...แม่ผม...” ญาติของผู้ป่วยระยะสุดท้ายรายหนึ่งกล่าวด้วยเสียงละล่ำละลัก

            …

          จำปี เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  ที่ “หมอเติ้ล” พยาบาลชายประจำสถานีอนามัยตำบลสกาด เพิ่งไปติดตามเยี่ยมบ้าน และติดต่อศูนย์การดูแลแบบประคับประคองของ CUP ปัวมาทาง skype เมื่อบ่ายวันก่อน  รูปถ่ายแผลที่ขาหนีบของผู้ป่วยที่แนบ skype มาให้ ยืนยันได้ถึงผลลัพธ์ของการใช้น้ำผึ้งใส่แผลได้เป็นอย่างดี คุณหมอและพยาบาลซึ่งเป็นเจ้าของไข้เมื่อครั้งนอนอยู่โรงพยาบาลถึงกับกล่าวว่าแผลดีขึ้นมาก
           วันนั้น สามีและบุตรชายของผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่ได้ลงมาด้วยเพราะไม่สะดวกที่จะนั่งรถนานๆ เนื่องจากจะปวดแผลมาก ทางทีมได้คุยกันถึงทางเลือกและแนวทางในการรักษากับครอบครัวอีกครั้ง
            หลังกลับจากโรงพยาบาล สามีของผู้ป่วยได้โทรกลับมา บอกว่าผู้ป่วยดูอ่อนเพลียลงมาก มีเลือดซึมออกมาที่แผลเหมือนเมื่อนอนอยู่โรงพยาบาลครั้งก่อน  สามีเธอบอกว่า อยากจะพามาโรงพยาบาลแต่ผู้ป่วยปฏิเสธ...หรือเธอจะรู้ว่า นาฬิกาชีวิตของเธอใกล้หยุดเดินแล้ว

            และคืนนั้น...เธอก็จากไปจริงๆ
            …

            ฉันได้แต่ถือหูโทรศัพท์รับฟัง รับรู้และเข้าใจถึงความทุกข์ของเจ้าของเสียง รอจังหวะที่จะปลอบโยนให้กำลังใจแก่บุตรชายของผู้ป่วย เมื่อเสียงคร่ำครวญร้องไห้เงียบไปพักใหญ่...ฉันทำได้เพียงแค่นั้นจริงๆ
            รุ่งเช้าฉันรีบโทรติดต่อกับ “หมอเติ้ล” เพื่อแจ้งข่าว ปรากฏว่า “หมอเติ้ล”ถูกโทรตามและรับทราบเรื่องแล้วตั้งแต่เมื่อคืน...

            จวบจนวันนี้ ...Hotline EOL ก็ยังคงดำเนินการต่อไป  

          “ถ้าปิ๊กไปอยู่บ้านแล้ว อาก๋านเปิ้นเปลี่ยนไป มีปัญหาขึ้นมาใหม่ หรือว่าบ่ฮู้จะตั๊ดสินใจ๋จะใด ต้องก๋านคำปรึกษา หื้อนึกถึงขะเจ้าเน้อ เอาเบอร์โทรนี้ไป แล้วโทรมาถามกั๋นได้ บ่ต้องเกรงใจ๋ ขะเจ้ายินดีหื้อคำปรึกษาตลอด กลางค่ำกลางคืนก็ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง...แล้วก็ หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ตางโรงพยาบาลก็จะมีก๋านโทรติ๊ดต๋ามถามอาการเป็นระยะๆ  พร้อมกับส่งข้อมูลหื้อตางอนามัยฮู้ว่าคนไข้ปิ๊กบ้านแล้ว หมออนามัยจะไปแอ่วหาตี่บ้าน จะได้จ่วยกั๋นดูแล น้อเจ้า...”

          “ตู๊ด...ตู๊ด...ตู๊ด” เสียงสัญญาณเตือน ดังมาจากคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน...อ้อ มีคนติดต่อมาทาง Skype…“หมอนัย” จากสถานีอนามัยตำบลเจดีย์ชัยนั่นเอง...
            เป็นอย่างนี้ทุกวัน ที่ฉันต้องเปิดโปรแกรม Skype ให้ online ไว้เพราะเครือข่ายของเรารับส่งต่อข้อมูลระหว่างกันอยู่เสมอ ทั้งส่งข้อมูลผู้ป่วยให้สถานีอนามัยเพื่อการดูแลที่ต่อเนื่องในชุมชน  เป็นช่องทางในการปรึกษาเรื่องราวคนไข้รายใหม่ที่พบ และอื่นๆอีกมากมาย

หมายเลขบันทึก: 355642เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อ่านแล้วอยากไปอยู่ปัวครับ

ขอบคุณ คุณหมอสีอิฐ ค่ะที่มาแวะเยี่ยมเยียน เรื่องราวที่นำมาบอกเล่าก็เป็นหนึ่งในความดีที่พวกเราชาวสา'สุขปัวอยากแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ แต่ก็ใช่ว่าผู้ป่วยทุกราย เราจะดูแลได้ดีเหมือนกันหมดค่ะ จุดอ่อนและปัญหาอุปสรรคก็ยังมีอีกเยอะ อย่างเช่นผู้ป่วยรายหนึ่งอยู่บนพื้นที่สูง(บ้านของผู้ป่วยอยู่ลึกลงไปคล้ายหุบเขา สามีของผู้ป่วยมีโทรศัพท์ใช้เหมือนกัน แต่ถ้าจะโทรทีหนึ่งต้องหาสัญญาณ ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ขี้นไปบนเนิน ซึ่งก็ทำให้การติดตามทางโทรศัพท์ไม่ค่อยสะดวก ถ้าเราจะติดต่อเขาทีหนึ่งก็ต้อง skype หรือบางครั้งก็โทรศัพท์ติดต่อไปที่ สสช. และ จนท.ก็ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ไต่ไปตามทางบนเขา เพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน และประสานข้อมูลกลับมาที่ Palliative care center อีกต่อหนึ่งน่ะค่ะ...แต่ก็เป็นอะไรที่ ให้โอกาสพวกเราได้ทำความดีจริงๆ คือถ้าไม่มีใจ หรืออยากทำก็คงยากอยู่น่ะค่ะ...    

ดีใจได้อ่านบันทึกของเพื่อนคนนี้อีก

และดีใจที่ Skype ช่วยลดปัญหาระบบการสื่อสารระหว่างพื้นที่ลงได้

สวัสดีค่ะ

แวะมาให้กำลังใจและชื่นชมการทำงานค่ะ

ดีใจคะที่ได้มาเจอบล็อกดีๆ มีประโยชน์อีกบล็อก

เป็นไอเดียที่ดีมากคะในการนำ Skype มาใช้ในการสื่อสารระหว่างทีมดูแล

สำหรับ hotline ก็น่าทึ่ง..ในความมี"ใจ"ของคนทำงาน ที่เสียสละเวลาส่วนตัวช่วยเหลือผู้อื่น

สิ่งที่ญาติต้องการคือความรู้สึกปลอดภัย มีคนให้คอยปรึกษา แนะำนำ หรือได้ระบายความเศร้า

ึสิ่งที่ท้าทายต่อไป คือ ทำอย่างไรให้เรื่องใจ กลายเป็นระบบ ระบบส่งเสริมให้คนมีใจ..

มาขออนุญาตเอาบทความดีๆไปลงหนังสือเครือข่าย MS-PCARE ในหัวข้อ community pallitive care นะครับ

ด้วยความยินดีค่ะ ท่านอาจารย์

ธีราภรณ์ สาครเจริญ

สวัสดีค่ะ

ขอชื่นชมกับการทำงานที่ทุ่มเท และตั้งใจจริง ที่ให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายนะคะ

ทำงาน ที่ รพ.อุบล ค่ะ ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเก่งนะคะ

ถ้าอยากขอคำแนะนำบ้างได้มั้ยคะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ คุณธีราภรณ์ สาครเจริญ ที่ทำงาน ที่ รพร ปัว เป็น รพ.ชุมชน 120 เตียง เป็น รพ ขนาด M2 ค่ะ...บริบทอาจแตกต่างกับ รพท. ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท