โทรทัศน์ครู


โทรทัศน์ครู แหล่งเรียนรู้เพื่อครูไทย

การพัฒนาวิชาชีพครู (Continuing professional development (CPD)) เป็นกระบวนการยกระดับความรู้ แนวคิด ศักยภาพที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของครูให้เป็นครูที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รูปแบบของวิธีการพัฒนา อาจมีหลายวิธี ได้แก่ การฝึกอบรม (Training) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)  การกำหนด ให้มีโอกาสสังเกตการสอนของครูที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี (Good practice) เป็นต้น

 

                การพัฒนาวิชาชีพครู (Teacher Professional Development) ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือ การฝึกอบรม (Training) ซึ่งเป็นวิธีการที่จัดการง่าย เร็ว เป็นระบบ แต่มีจุดอ่อนตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับฝ่ายผู้จัดการ แต่ลำบากฝ่ายผู้รับการพัฒนา ประกอบกับวิธีการเรียนรู้แบบฝึกอบรมมักจะเป็นการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ หากผู้เข้ารับการอบรมขาดแรงจูงใจ มาฝึกอบรมตามใบสั่ง ก็จะยิ่งทำให้เกิดการสูญเปล่ามากยิ่งขึ้น วิธีการพัฒนาวิชาชีพครู ที่เป็นวิธีการที่นิยมกันมากในหลายประเทศ คือ การเข้าสังเกตการจัดการเรียนการสอนของครูที่เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติที่ดี (Good practice) ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ผู้ที่เป็นผู้สังเกต ได้เห็นทั้งหลักการที่เป็นเสมือนศาสตร์ และได้เห็นศิลปะของการนำหลักการไปใช้อย่างเป็นนรูปธรรม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการที่จะนำแบบอย่างที่ดีนั้นไปลองปฏิบัติด้วยตนเองดูบ้าง

                รายการโทรทัศน์ครู เป็นสื่อมวลชนที่นำหลักการสังเกตการจัดการเรียนการสอน การบริหาร การแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางการศึกษา มาใช้ด้วยการใช้คุณสมบัติของรายการโทรทัศน์ที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บางอย่างที่เฉพาะเจาะจง นำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นแนวคิดหรือย่นย่อให้เห็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีได้ในเวลาอันสั้นแต่ได้ใจความครบถ้วนเท่ากับการไปสังเกตดูด้วยตนเอง  ด้วยความดีพิเศษของรายการโทรทัศน์ที่สามารถย่อเรื่องราวให้กระชับ ชัดเจนได้สาระครบถ้วน แต่ใช้เวลาสั้นเท่ากับที่บุคคลทั่วไปจะมีสมาธิเฝ้าชมรายการอยู่ได้ด้วยความตั้งใจประมาณ 15 นาที

                โครงการ ทีวีครู หรือรายการโทรทัศน์ครู เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่อยู่ในรูปของการบริการผ่านสื่อที่หลากหลาย ซึ่งรายการโทรทัศน์ได้รับการออกแบบมาเพื่อการสนับสนุนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน รวมไปถึงนิสิต นักศึกษาฝึกสอนของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนสถานศึกษาและเป็นผู้รับบริการการศึกษาด้วย 

                วัตถุประสงค์หลักของรายการโทรทัศน์ครู มุ่งที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาครูไทย ด้วยการให้ครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา ได้เห็นตัวอย่างของการปฏิบัติการสอน การบริหาร การแก้ปัญหาอื่น ๆ ทางการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดแรงบันดาลใจ นำเอาแบบอย่างของการปฏิบัติทีดีนั้นไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอน การบริหารและการแก้ปัญหาภายในโรงเรียนของตนเอง

                ลักษณะของการนำเสนอจะมุ่งนำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดี การบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนที่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี การแก้ปัญหาพิเศษที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนตลอดรวมไปถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวิถีชีวิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทำไมรายการโทรทัศน์ครูจึงมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของครูได้ ทั้งนี้เกิดจากการผลิตรายการโทรทัศน์ครู จะใช้มาตรฐานการผลิตระดับที่มีคุณภาพสูง (Broadcast quality) โดยเฉพาะคุณภาพด้านเทคนิค นอกจากนั้นยังมีกระบวนการคัดกรองเนื้อหาสาระด้วยผู้มีประสบการณ์สูงทางการศึกษา มีการตรวจสอบ คัดกรองอย่างพิถีพิถันก่อนนำออกเผยแพร่ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอุมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม ๓ ปีงบประมาณระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ถึงปีงบประมาณ ๒๕๕๕ โดยมีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผู้บริหารโครงการ

                แนวคิดของรายการโทรทัศน์ครู มีจุดเริ่มต้นจาก ความสำเร็จของการดำเนินงานรายการโทรทัศน์ครู ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โดยการให้การบริการมีทั้งการนำเสนอรายการผ่าน โทรทัศน์ทั่วไป (Free TV.) โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม  บริการผ่านเว็บไซท์  บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันมีรายการพร้อมบริการแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา มากกว่า ๓,๕๐๐ รายการ การพัฒนารายการโทรทัศน์ครูของประเทศไทย นับเป็นประเทศที่ ๒ ของโลกที่นำแนวคิดดังกล่าวมาดำเนินงาน ขณะนี้กำลังมีความพยายามของประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ ที่จะนำแนวคิดนี้ไปดำเนินการลักษณะเดียวกัน

                พันธกิจของรายการโทรทัศน์ครู มุ่งที่จะยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการแก้ปัญหาต่างๆ ภายในสถานศึกษา เป็นสำคัญ โดยเป้าหมายของการดำเนินงานจะพยายามพัฒนารายการโทรทัศน์คุณภาพสูงที่นำเสนอตัวอย่างของการจัดการเรียนการสอนที่ดีที่มีเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงมิใช่เป็นเงื่อนไขที่ไกลเกินฝัน หรือไกลจากชีวิตของความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ครูและบุคลากรทางการศึกษายอมรับและนำไปเป็นแนวคิดในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนการแก้ปัญหาของตนเองได้ โดยตัวอย่างของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะนำเสนอในรายการจะมีกระบวนการคัดสรรทางวิชาการอย่างเป็นระบบ มีทั้งครูไทยและครูจากทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อเป็นเปิดโลกทัศน์และขยายมุมมองการจัดการเรียนการสอน แบ่งปันประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของครูไทยให้ทันสมัยทันทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก

                กลุ่มเป้าหมายหลักของรายการโทรทัศน์ครู ประกอบด้วย ครูที่ปฏิบัติการสอนอยู่ในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนเศษ นิสิตนักศึกษาฝึกสอนของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศมากกว่าปีละ ๒๐,๐๐๐ คน กรรมการสถานศึกษา ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ผู้บริหารโรงเรียน ประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งรายการโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้นจึงมีเป้าหมายผลิตให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน นิสิต นักศึกษาฝึกสอน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ได้ชมมากกว่าที่จะผลิตเพื่อสอนนักเรียน ดังนั้น โครงการโทรทัศน์ครูจึงแตกต่างจากรายการติวเตอร์แชนแนล (Tutor Channel) ในเชิงของวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย  นอกจากนั้น ช่องทางการเผยแพร่รายการของรายการโทรทัศน์ครู จะเริ่มเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซท์ประมาณกลางเดือนกุมพันธ์ ๒๕๕๓  จากนั้นจะออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทย พี บี เอส ซึ่งได้รับความกรุณาและความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะสามารถเริ่มเผยแพร่ได้ในเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปทุกวัน ๆ ละ 15 นาที หลังจากนั้นจะเป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม (Sattellite TV) ประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ส่วนการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทสามารถเข้ารับชมได้ที่ http://www.thaiteachers.tv/  ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 เป็นต้นไป

                ลักษณะเฉพาะของรายการโทรทัศน์ครู จะมีลักษณะของการสื่อสารเป็นแบบการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) กับเพื่อนครูและบุคลาการทางการศึกษา ผู้ปกครองและนิสิต นักศึกษาครูที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีการสร้างสามชิกเครือข่ายครู (Teacher Associate) เพื่อเป็นการเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จากนั้นจะนำปัญหาและความต้องการนั้นกลับมาตอบสนองในรายการที่จะผลิตขึ้น  ซึ่งในเว็บไซท์ของโครงการจะสามารถให้ครูและกลุ่มเป้าหมายสามารถรับชมรายการได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมถึงหากสนใจมากเป็นพิเศษ สามารถดาวน์โหลดหรือดึงข้อมูลไปใช้ในการประชุมหรือชมเองได้ตามความต้องการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับโรงเรียนที่ห่างไกล ไม่สะดวกในการดาวน์โหลดหรือรับชมรายการ โรงเรียนสามารถขอรับแผ่นบันทึกข้อมูลรายการได้ฟรี

                ทำไมรายการโทรทัศน์ครู จึงมีความน่าสนใจและทำไมจึงทำให้ รายการโทรทัศน์ครูในประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จ ซึ่งมีครูมากกว่าครึ่งเข้าชมรายการและดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมากในแต่ละเดือน เสน่ห์ของรายการโทรทัศน์ครู อยู่ตรงที่ว่า เป็นรายการที่ผลิตขึ้นด้วยคุณภาพการผลิตระดับสูงพร้อมที่จะนำไปออกอากาศได้  สถานการณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำ เป็นสถานการณ์จริง ไม่ใช่การแสดง ถ่ายทำตามบริบทของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติไม่มีการปรับเสริมเติมแต่ง  ขนาดความยาวของรายการ ประมาณ ๑๕ นาทีต่อตอน จึงเป็นการง่ายต่อการชมเพราะไม่ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน การนำเสนอรายการจะพยายามเน้นการเปลี่ยนแปลงนิสัย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  รายการจะพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ครูเกิดแนวคิดในการที่จะนำแบบอย่างจากรายการโทร ทัศน์ครูไปปรับประยุกต์ใช้กับงานของตนเอง

                เชื่อมั่นว่า รายการโทรทัศน์ครู จะเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาวิชาชีพครูในประเทศไทย จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง และน่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                หากท่านที่สนใจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามและให้ข้อเสนอแนะได้ที่ ตู้ ปณ.๓ ปทฝ.มหาวิทยาลัยบูรพา อ.เมือง จ.ชลบุรี ๒๐๑๓๑ 

หมายเลขบันทึก: 352042เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 02:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท