ปัญหาภิกษุณีในไทย ตามทรรศนะพระไพศาล วิสาโล


การให้น้ำหนักแก่ชายมากกว่าหญิงนั้น เห็นได้ชัดจากประเพณีที่กำหนดให้ผู้หญิงมีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างจำกัด จริงอยู่การปฏิบัติธรรมในขั้นทานนั้น ผู้หญิงมีโอกาสทำได้มาก อีกทั้งสังคมก็เปิดกว้างให้ผู้หญิงมีบทบาทอย่างสูง จนได้รับมอบหมายให้เป็น แม่งาน ในงานบุญต่างๆมากมาย รวมทั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอุปถัมภ์บำรุงพระเณรให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี จนกล่าวได้ว่า หากผู้หญิงไม่เอาใจใส่ในการทำบุญ เช่น เลิกใส่บาตร วัดวาอารามต่างๆจะร้างพระเณรยิ่งกว่านี้มาก

แต่เมื่อมาถึงการปฏิบัติในขั้นศีลและภาวนา โอกาสของผู้หญิงก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงสามารถถือได้อย่างมากเพียงศีล 10 (มากกว่านั้นก็ไม่เกินคิหิวินัย) เนื่องจากมีสถานสถานภาพหรือการครองชีวิตแบบแม่ชีเท่านั้นที่เป็นเครื่องรองรับสนับสนุน สังคมไม่อนุญาตให้มีมากกว่านั้น ในขณะที่สนับสนุนผู้ชายให้มีโอกาสฝึกฝนด้วยศีล 227 แต่หากผู้หญิงปรารถนาจะทำเช่นนั้นบ้าง หรือแม้แต่จะถือศีลน้อยกว่านั้นก็ไม่วายถูกสังคมต่อต้าน

ในขั้นภาวนาก็เช่นกัน ผู้หญิงมีโอกาสจำกัดมาก เป็นที่รู้กันว่าแม่ชีนั้นถูกคาดหมายให้ต้องดูแลรับใช้พระ มีหน้าที่ต้องทำกิจต่างๆในวัด จนมักไม่มีเวลาหลีกเร้นบำเพ็ญสมาธิภาวนาเช่นเดียวกับพระ ครั้นจะแยกออกมาตั้งชุมชนหรือสำนักของตนเองเพื่อจะได้มีเวลาศึกษาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากผู้คน สังคมพร้อมที่จะเลี้ยงดูผู้ชายให้มีชีวิตอย่างนักบวชเต็มที่ แต่ไม่เปิดโอกาสเช่นนั้นแก่ผู้หญิง (หน้า 412-413)

เมื่อผู้หญิงตื่นตัวในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น โอกาสอันจำกัดในการปฏิบัติธรรมจึงกลายเป็นตัวบีบรัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการฝึกฝนพัฒนาตนของผู้หญิง จริงอยู่ การปฏิบัติธรรมนั้น จะอยู่ที่ใดหรือในสถานะใดก็ทำได้ทั้งนั้น แต่พระพุทธองค์ทรงตระหนักดีว่าการฝึกฝนตนนั้น ลำพังปัจจัยภายใน (เช่นความตั้งใจ) อย่างเดียวไม่พอ

คนทั่วไปนั้นจำต้องมีปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อมมาช่วยสนับสนุนด้วย (ดังทรงแนะให้ผู้ใฝ่ธรรมหา อาวาสสัปปายะ คือที่อยู่อาศัยที่เกื้อกูล โคจรสัปปายะ คือไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์ รวมทั้ง อุตุสัปปายะ คือดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นต้น) รวมทั้งการมีวิถีชีวิตที่เหมาะสม (คือวิถีชีวิตอย่างนักบวช) ทั้งนี้เพื่อให้ศักยภาพในทางธรรมได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขยายโอกาสและเงื่อนไขทางสังคมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมของผู้หญิงให้มากขึ้น (หน้า 414)

(รูปปั้นดินเผาภิกษุณี)

ชุมชนสงฆ์และแบบแผนชีวิตอย่างภิกษุคือเงื่อนไขที่เอื้อให้ผู้ชายลัดตรงเข้าสู่ธรรมได้ง่ายขึ้นฉันใด ชุมชนสงฆ์และแบบแผนชีวิตอย่างภิกษุณีก็เอื้อสำหรับผู้หญิงฉันนั้น เป็นเวลานานช้าแล้วที่ผู้ชายมีชุมชนสงฆ์รองรับเพื่อการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงพึงได้รับโอกาสดังกล่าวด้วยเช่นกัน

การชี้ถึงความสำคัญของแบบแผนชีวิตอย่างภิกษุณีมิได้หมายถึงการมองข้ามความสำคัญของวิถีชีวิตแบบแม่ชี เมื่อมีภิกษุณีแล้ว ใช่ว่าแม่ชีจะไร้ประโยชน์ ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีแม่ชีอยู่แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีภิกษุณีก็ได้ วิถีชีวิตแบบแม่ชีและภิกษุณีคือ ทางเลือกที่ควรจัดขึ้นสำหรับคนที่มีความพร้อมและเงื่อนไขต่างกัน เช่นเดียวกับการมีพระ เณร ผ้าขาว (และอื่นๆที่ควรมีเพิ่มขึ้นดังได้กล่าวแล้ว)

ข้อที่ควรย้ำคือ การเปิดโอกาสหรือส่งเสริมให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้น ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเสมอภาคทางด้านสิทธิระหว่างเพศ ทั้งนี้เนื่องจากตามหลักพุทธศาสนา หญิงกับชายมีสิทธิเท่าเทียมกันอยู่แล้ว อย่างน้อยก็สิทธิในการบรรลุธรรม และสิทธิในการพัฒนาตนเอง นี้คือสิทธิอันเท่าเทียมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

ประเด็นสำคัญของเรื่องภิกษุณีนั้น อยุ่ที่การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างเต็มที่เพื่อความเจริญงอกงามแห่งธรรม การปฏิเสธว่าการบวชเป็นภิกษุณีไม่สำคัญต่อการพัฒนาตนของผู้หญิง ก็เท่ากับบอกว่า การบวชเป็นภิกษุไม่สำคัญต่อการปฏิบัติธรรมของผู้ชาย นั่นจะมีหมายความว่า เราปฏิเสธคุณค่าของการบวชละหรือ ตราบใดที่ผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านในเรื่องนี้มองไม่เห็นประเด็นดังกล่าว หากไปคิดว่าเรื่องนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ก็ยากที่จะทำความเข้าใจกันได้ (หน้า 416-417)

ประเด็นเรื่องพระวินัยนั้น เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันได้มาก ใช่ว่าจะยุติได้ง่ายๆ แต่การพิจารณาเรื่องภิกษุณี หาควรไม่ที่จะเริ่มต้นด้วยประเด็นพระวินัย ข้อที่ควรพิจารณาเป็นประการแรกสุดก็คือ ควรหรือไม่ที่จะมีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย ทั้งนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์อันเกิดแก่พระศาสนาและสังคมไทยเป็นสำคัญ และไม่ควรนำเอาอคติส่วนตัวมาเป็นอารมณ์ (รวมทั้งควรอดกลั้นไว้ก่อนในกรณีที่ยังทำใจไม่ได้ หากผู้หญิงจะมาเป็นพระ หรือทนไม่ได้ที่ผู้ชายจะกราบไหว้ผู้หญิง ทั้งๆที่เวลากราบไหว้ม้าทรงที่เป็นผู้หญิง กลับทำได้อย่างสนิทใจ)

(ภิกษุณีธัมมนันทา)

ต่อเมื่อเห็นว่าควรมีภิกษุณีสงฆ์ในเมืองไทย จึงค่อยพิจารณาถึงพระวินัยว่าเอื้ออำนวยหรือเปิดช่องให้มีภิกษุณีในปัจจุบันได้หรือไม่ แต่ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยจะสรุปไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ให้ผู้หญิงบวชภิกษุณีไม่ได้ แล้วจึงค่อยอ้างพระวินัยมาเป็นข้อขัดขวาง โดยหาได้ศึกษาพระวินัยจริงจังไม่

ใช่แต่เท่านั้น ยังมีการยกเหตุผลอื่นๆขึ้นมาคัดค้านโดยปราศจากหลักฐาน หรือทั้งๆที่ข้อเท็จจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เช่น อ้างว่าหากมีภิกษุณี พระศาสนาจะเสื่อมถอย (ในไต้หวันซึ่งมีภิกษุณีมากกว่าภิกษุหลายเท่า พระศาสนาที่นั่นก็หาได้เสื่อมถอยไม่ กลับเจริญก้าวหน้ากว่าเมื่อครั้งอพยพจากแผ่นดินใหญ่ด้วยซ้ำ จนเป็นที่หนึ่งซึ่งพระไทยนิยมไปจาริก) (หน้า 418-419)

.........................................................................

พระไพศาล วิสาโล พุทธศาสนาไทยในอนาคต สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง 8/23 ซ.บ้านช่างหล่อ ถ.พรานนก เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552

หมายเลขบันทึก: 340831เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2010 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะพี่ ณัฐรดา

มารับธรรมะยามเช้า และเรียนรู้เรื่องภิกษุณีในประเทศไทย อีกหนึ่งมุมมองค่ะ

อ่านสัมภาษณ์ ของ หลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทา ใน Secret เล่มใหม่ รึยังคะ

ได้ความรู้เพิ่มมากเลยค่ะ

ขออนุโมทนาร่วมบุญ

ขอบพระคุณค่ะ...^_^

 

สวัสดีครับ คุณณัฐรดา

อ่านแล้วชื่นใจในความศรัทธาที่แรงกล้าต่อพุทธศาสนา ใครๆ ก็น่าจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้

หญิงหรือชายก็มีหน้าที่บำรุงพุทธศาสนาเท่าเทียมกัน ตามมาขอบคุณที่สนับสนุนกิจกรรมค่ายจิตอาสา จะส่งเกียรติคุณบัตร

ติดที่ข้อมูล ที่อยู่หมู่ที่ ไม่ได้บบันทึก จะโทรศัพท์ติดต่ออีกครั้งครับ

การผลักดันให้เกิดชุมชนภิกษุณีนั้น

ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยจะสรุปไว้ล่วงหน้าแล้วว่า

ให้ผู้หญิงบวชภิกษุณีไม่ได้

หากมีการศึกษาว่าควรหรือไม่ที่จะมีภิกษุณีในเมืองไทย

หาข้อเท็จจริงมาคุยกัน

วันหนึ่งข้างหน้าเราอาจมีภิกษุณีเหมือนไต้หวันก็อาจเป็นได้

ที่สำคัญต้องเปิดใจให้กว้าง...

ทำใจให้เป็นอุเบกขา...เพื่อ....ยอมรับในสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

หรือยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

พระพุทธศาสดารู้แจ้งโลก            จึงได้ยกครุธรรม ๘ ประการนั้นเอาไว้

มหาปชาบดีภิกษุณีผู้มีใจ            เริ่มต้นให้พุทธบริษัทสี่มีสมบูรณ์

ปริศธรรมทั้งหลายในแจ้งโลก      หากแค่ยกเพียงความรู้ดูหันหุน

ญาณวิถีเล็งได้ไม่สมบูรณ์           เกรงวายวุ่นอายุศาสน์อาจถอยลง

แม้นสงสัยต้องทำดูรู้ให้สุด           แล้วพิสูจน์ให้ได้อย่าไหลหลง

จิตใสใสวางใจให้เที่ยงตรง           จักมั่นคงพุทธิญาณนั้นแน่นอน

พระพุทธศาสดารู้แจ้งโลก             จึงได้ยกครุธรรม ๘ ประการนั้นเอาไว้

มหาปชาบดีภิกษุณีผู้มีใจ              เริ่มต้นให้พุทธบริษัทสี่มีสมบูรณ์

ปริศนาธรรมทั้งหลายในแจ้งโลก    หากแค่ยกเพียงความรู้ดูหันหุน

ญาณวิถีเล็งได้ไม่สมบูรณ์             เกรงวายวุ่นอายุศาสน์อาจถอยลง

แม้นสงสัยต้องทำดูรู้ให้สุด             แล้วพิสูจน์ให้ได้อย่าไหลหลง

จิตใสใสวางใจให้เที่ยงตรง             จักมั่นคงพุทธิญาณนั้นเที่ยงธรรม

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านหนังสือเล่มนี้บางส่วนค่ะ

ขอบคุณที่นำข้อมูลมานำเสนอนะคะ

(^___^)

สาธุ.......ธมฺมจารี สุขํ เสติ.....

เกิดขึ้นแตกดับลับล่วง

ใจทั้งปวงเสกสรรค์ หรรษา.....

อนุโมทนา วิถีทางแห่งศรัทธา

สบพักต์ธรรมาแห่งพุทธองค์...

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

แวะมาเรียนรู้ธรรมะว่าด้วยภิกษุณีครับ

ขอบคุณมากครับ

  • น่าสนใจมากเลยครับ ในยุคความเทียมแห่งชายหญิง แต่ในการเข้าถึงศาสนาก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เป็นมายาคติหนึ่งที่สังคมยึดถือ แต่ทุกอย่างน่าจะเปลี่ยนไปได้
  • ผมจัดกิจกรรมเรื่องจริยธรรมอยู่บ่อย พบว่า เพศหญิงมีความสนใจและเข้าถึงอย่างลึกซึ้งกว่าเพศชายด้วยซ้ำไปครับ
  • เคยอ่านหนังสือ "ย่างก้าวบนดอกบัว ชีวิตและประสบการณ์ ของนักบวชหญิงในพุทธศาสนา" ทำให้เห็นมุมมองและความพยายามของภิกษุนี แม่ชี หลายคนที่ได้แง่คิดดีทีเดียว
  • เคยอ่านประวัติของ "ภิกษุณีนิรามิสา" ที่ไปบวชหมู่บ้านพลัม กับท่านติชนัทฮันห์ ก็เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจของบทบาทหญิงในพุทธศาสนา

อ่านหนังสือ ของ พระไพศาล เหมือนกันค่ะ

ความสงบ ไม่เลือก เพศ ค่ะ

การปฏิบัติ..ไม่เลือกเพศ..เพราะขึ้นอยู่ กับใจและกาย..ของ ผู้ปฏิบัติ..นั้น ๆ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท