โครงการสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์และกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดครบวงจร บ้านท่าเลน หมู่ที่10 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช


ตราบใดก็ตามที่เกษตรกรยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก คงคาดหวังยากที่จะให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิ้น หรือสามารถสร้างกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการลงทุนลงแรงไป รวมทั้งยังทำให้เกษตรกรสูญเสียการพึ่งตนเองและระบบการจัดการระดับชุมชน

โครงการสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์

และกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดครบวงจร 

บ้านท่าเลน หมู่ที่10 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตราบใดก็ตามที่เกษตรกรยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก คงคาดหวังยากที่จะให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิ้น หรือสามารถสร้างกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการลงทุนลงแรงไป  รวมทั้งยังทำให้เกษตรกรสูญเสียการพึ่งตนเองและระบบการจัดการระดับชุมชน เพราะเหตุที่นำตัวเองไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจจากภายนอกซึ่งชุมชนมิสามารถกำหนดหรือต่อรองอะไรได้เลย อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรหลายชุมชนที่พยายามเรียนรู้ถึงสภาวการณ์ดังกล่าวและปรับตัวโดยการสร้างผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการพึ่งตนเองทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชนอย่างกรณีที่บ้านท่าเลน หมู่ที่ 10 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

บ้านท่าเลนเป็นหมู่บ้านขนาดกลาง มีประชากร 769 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการเรียนรู้ระดับครัวเรือนผ่านการทำบัญชีครัวเรือน แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลระดับหมู่บ้าน ทำให้ครัวเรือนและชุมชนเกิดการเรียนรู้ว่าค่าใช้จ่ายในหมวดปุ๋ยเคมีสูงกว่าค่าใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ รองลงมาคือค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกิน จึงเกิดคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในหมวดต่าง ๆ ได้ ด้านหนึ่งครัวเรือนก็ต้องมีแผนระดับครัวเรือนสำหรับจัดการตนเอง แต่อีกด้านหนึ่งชุมชนก็ต้องมีแนวทางการกลางที่จะช่วยให้ครัวเรือนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกัน  ผู้นำชุมชนจึงได้พยายามแสวงหาความรู้จากภายนอกแล้วนำมาสร้างรูปธรรมให้ชุมชนเห็นว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เองสามารถลดต้นทุนการผลิตได้กว่าครึ่ง ทั้งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ นอกจากนั้นแนวคิดที่ว่า “ทำในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก”    ถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในครัวเรือนของผู้นำ  ทำให้ชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องรวมกลุ่มกันผลิตและใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์  ทำถามต่อมาก็คือ  แล้วเราจะหาวัตถุดิบที่ไหนมาผลิตปุ๋ยดังกล่าว ? คำตอบก็คือต้องใช้วัตถุดิบในชุมชน ทำถามต่อมา แล้วขี้เลื่อยที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญไม่สามารถหาได้ในชุมชนจะทำอย่างไร ? ชุมชนจึงมีข้อเสนอว่าต้องซื้อจากภายนอก เมื่อซื้อมาแล้วต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด จึงเห็นพ้องต้องการว่าต้องมีการผลิตก้อนเชื้อเห็ด แล้วกระจายให้ครัวเรือนได้ดูแลเก็บผลผลิต จากนั้นเมื่อก้อนเชื้อหมดอายุก็จะนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ย เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์และโครงการเพาะเห็ดครบวงจรจึงถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทชุมชน

 ทั้งสองโครงการที่ถูกระบุไว้ในแผนแม่บทชุมชนถูกนำมาสร้างปฏิบัติการในระดับครัวเรือนและชุมชน ในวาระที่ประจวบเหมาะกับรัฐบาลเปิดให้ชุมชนเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.)หรือโครงการชุมชนพอเพียง บ้านท่าเลนจึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 500,000 บาท เป็นโครงการสนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์จำนวน 350,000 บาท และโครงการสนับสนุนกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดครบวงจรจำนวน 150,000 บาท ชุมชนสมทบเป็นค่าแรงงานก่อสร้างโรงเรือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 4,000 บาท อยู่ในโครงการประเภทที่สนับสนุนการลดต้นทุนและปัจจัยในการผลิตด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก

การดำเนินโครงการทั้งสองจะมีคณะกรรมการโครงการละ 15 คน มีการประชุมทุก ๆ วันที่ 17 ของเดือน โครงการเพาะเห็ดครบวงจร สมาชิกคือราษฎรทั้งหมดในหมู่บ้าน จะให้ราษฎรเป็นผู้ผลิตก้อนเชื้อเห็ดไปเพาะรับประทานที่บ้าน

โดยมีนักวิชาการเกษตรเป็นผู้เขี่ยเชื้อและให้คำแนะนำ ส่วนคณะกรรมการจะผลิตก้อนเชื้อไว้สำหรับเพาะเพื่อจำหน่ายให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน  สำหรับครัวเรือนใดที่ไม่พร้อมจะมาผลิตก้อนเชื้อเองก็สามารถสั่งซื้อได้ในราคาก้อนละ 1 บาทซึ่งถือว่าเป็นค่าจ้างในการผลิตก้อนเชื้อ สำหรับโครงการปุ๋ยจุลินทรีย์จะมีการเปิดรับสมาชิกและมีการระดมหุ้นจากสมาชิก ขณะนี้มีสมาชิกจำนวน 75 ครัวเรือน คณะกรรมการจะทำหน้าที่ผลิตปุ๋ยตามยอดการสั่งซื้อทุก ๆ วันที่ 17 ของเดือน และจำหน่ายในราคากระสอบละ 130 บาท โดยนำก้อนเชื้อเห็ดที่หมดสภาพมาแปรรูปร่วมกับมูลสัตว์ในชุมชนและน้ำหมักชีวภาพ

ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการปุ๋ยจุลินทรีย์คือทำให้ราษฎรมีปุ๋ยจุลินทรีย์ใช้ในแปลงเกษตรด้วยราคาที่ถูกเป็นการลดปัจจัยการผลิตและการพึ่งพาจากภายนอกและปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวน 75 ครัวเรือน สำหรับโครงการเพาะเห็ดครบวงจรทำให้ราษฎรมีเห็ดบริโภคในครัวเรือนก่อให้เกิดการลดรายจ่ายหมวดอาหาร เกิดความรู้ใหม่ที่ผ่านการทดลองว่าการเพาะเห็ดที่กั้นด้วยที่กันแสงให้ผลผลิตดีกว่าการกั้นด้วยใบจากหรือทางมะพร้าว สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรจำนวน 10 คน ที่ทำหน้าที่ผลิตก้อนเชื้อตามยอดสั่งของครัวเรือน นอกจากนั้นทั้งสองโครงการยังสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งเป็นการตอกย้ำให้ชุมชนได้เข้าใจวิถีแห่งการพึ่งตนเอง รวมทั้งยังสามารถระดมความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งสง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งสง องค์การบริหารส่วนตำบลกะปาง และศูนย์บริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอทุ่งสงให้เข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานของชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามหากชุมชนจะพัฒนาต่อยอดแนวคิดดังกล่าวและต้องการสร้างให้บ้านท่าเลนเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ก็ควรจะมีการจัดเก็บเอกสารไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ไว้ยังที่ทำการทั้งเอกสารการเงิน แผนแม่บทชุมชน นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ชุมชนได้บันทึกบัญชีครัวเรือนและจัดเวทีเรียนรู้เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างหรือพัฒนาการของครัวเรือนเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่สามารถอธิบายได้อย่างมีรูปธรรมและมีหลักฐานรองรับถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ชัดเจน

          เมื่อใดก็ตามที่เกษตรกรสามารถรู้จักตนเองได้อย่างชัดเจน และนำไปสู่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต วิถีการดำเนินชีวิตที่เน้นพึ่งตนเอง พึ่งทรัพยากรในท้องถิ่น ตลอดจนมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมที่ครัวเรือนเองไม่มีศักยภาพเพียงพอเช่นการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ การเพาะเห็ดครบวงจร และสร้างเงื่อนไขให้เกิดกองทุน หรือแหล่งทุนของชุมชน เกษตรกรก็สามารถที่จะสร้างอำนาจการต่อรองกับภายนอก และอาจจะหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้ เช่นรูปธรรมที่บ้านท่าเลน  หมู่ที่ 10 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังใช้ความพยายามดำเนินงานเช่นว่านี้

 


 

หมายเลขบันทึก: 340534เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2010 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ อาจารย์ บูท

)รแกรมบัญชีครัวเรือน สามเดือน เทศบาลช่วย คีย์ข้อมูลให้แล้วครับ ยังที่จดต่อไม่ได้ไปเก็บ

ส่วนประเด็นขยะ ข้อมูลการจัดการขยะในครัวเรือน 400 ชุด ลงข้อมูลไว้แล้ว รอวันวิเคราะห์ ขอเชิญอาจารย์มาปากพะยูนด้วยครับ

จากศิษย์ ลักจำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท