โครงการซ่อมและสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริก บ้านพรุขี้เกลา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช


แนวทางการรับมือปัญหาภัยแล้งในไทย ด้วยฝายชุมชน

โครงการซ่อมและสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริก 

บ้านพรุขี้เกลา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช 

 

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทวิเคราะห์ : แนวทางการรับมือปัญหาภัยแล้งในไทย (ตอนที่ 1) ตอน วิกฤตภัยแล้ง ไทยกำลังเสี่ยงจริงหรือ???  ของข่าวสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์  ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานออกมาย้ำเตือนถึงปัญหาภัยแล้งว่า ในปี 2553 ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก และอาจเป็นปีที่ไทยต้องเผชิญผลกระทบจากการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุดปีหนึ่ง โดยกรมชลประทาน เปิดเผยว่า มีข้อบ่งชี้หลายอย่างว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปีและอาจรุนแรงกว่าปี 2537 ที่ขาดแคลน น้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่มีความแปรปรวนสูง รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนินโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงไปถึงกลางปี”  (http://thainews.prd.go.th) สถานการณ์เหล่านี้นอกจากภาคราชการจะต้องเร่งเข้ามาเยียวยาแล้ว ตัวชุมชนเองก็ต้องเท่าทันและประเมินสถานการณ์ให้ได้ว่าภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของตนอย่างไร และต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างแข็งขันจัดการกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว กรณีตัวอย่างที่ชุมชนลุกขึ้นมาวางระบบการจัดการน้ำชุมชนที่น่าสนใจอีกพื้นที่หนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชคือบ้านพรุขี้เกลา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง

บ้านพรุขี้เกลา ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง มีประชากรจำนวน 802 คน ปัญหาหลักที่บ้านห้วยปริกเผชิญคือน้ำบ่อและแหล่งน้ำดิบที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้านลดปริมาณลงอย่างมาก ชุมชนจึงได้หารือกันในเวทีประชาคมถึงวิธีจัดการน้ำให้เพียงพอพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคในชุมชน และตกลงที่จะใช้วิธีการทำฝายหมู่บ้านและบรรจุไว้ในแผนแม่บทชุมชน ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาข้อมูลการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำหลายชุมชนใช้ฝายขนาดเล็กแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

ชุมชนจึงได้ของบประมาณสนับสนุนจากโครงการ SML จนสามารถดำเนินการสร้างฝายหมู่บ้านเพื่อกักเก็บน้ำในลำห้วยปริกได้จำนวน 3 จุด และต่อมาเมื่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.)หรือโครงการชุมชนพอเพียง เปิดโอกาสให้ชุมชนเขียนโครงการ ประชาคมบ้านพรุขี้เกลาจึงได้เสนอโครงการสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริกเพื่ออีก 1 จุด และซ่อมแซมฝายทั้ง 3 ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

โครงการสร้างฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริก 1 จุด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 117,035 บาท และโครงการซ่อมฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริกจุดที่ 1,2 และ 3 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 132,965 เป็นโครงการประเภทสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

มีกลไกการดำเนินงาน 2 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมการกลางมีหน้าที่จัดซื้ออุปกรณ์ วัสดุในการก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้าง ตรวจสอบการก่อสร้าง และคณะกรรมการเขตจำนวน 9 เขต มีหน้าที่ดูแลรักษาและบำรุงฝาย เช่น การปลูกต้นไม้ริมฝาย การเฝ้าระวังผู้ลักลอบจับปลาผิดวิธี และการรักษาความสะอาดบริเวณฝาย การก่อสร้างและซ่อมแซมฝายจะใช้แรงงานในชุมชนช่วงที่ว่างเว้นจากการทำภารกิจส่วนตัว อย่างไรก็ตามชุมชนที่มาร่วมก่อสร้างได้สละค่าแรงของตนสมทบเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์จำนวน 8,000 บาท

          ผลที่ได้รับจากการสร้างฝายมีทั้งผลโดยตรงที่สัมพันธ์กับเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค   กล่าวคือชุมชนได้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี  บ่อน้ำตื้นเริ่มมีน้ำมากขึ้น   มีแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้านได้ตลอดทั้งปี  มีการปล่อยพันธุ์ปลาและอนุรักษ์พันธุ์ปลา  และเปิดโอกาสให้ชุมชนจับปลาครั้งใหญ่ปีละ 1 ครั้ง และผลโดยอ้อม เช่น เกิดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของชุมชน เป็นที่นั่งเล่น ที่จัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทง เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน ผู้สูงอายุมีกิจกรรมยามว่างเลี้ยงปลาในกระชัง ชุมชนมีอาชีพเสริมคือการปลูกผักสวนครัว และที่สำคัญชุมชนมีความมั่นใจว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้

เมื่อชาวบ้านพรุขี้เกลาได้เห็นถึงประโยชน์ของฝายชุมชน จึงมีความต้องการที่จะสร้างฝายให้ตลอดไปทั้งลำห้วยปริก

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากทุนของพื้นที่ ซึ่งสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้หรือจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการทำฝายได้ จึงมีข้อเสนอว่าหากชุมชนสามารถจัดกิจกรรมให้ราษฎรมาใช้ประโยชน์จากฝายในด้านนันทนาการมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาประเพณีทางน้ำ รวมทั้งการพัฒนากระบวนการเรียนรู้กับนักเรียนในระบบด้านการจัดการน้ำของชุมชน เช่น   กิจกรรมเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ กิจกรรมนักสืบสายน้ำ  ก็จะทำให้ฝายกักเก็บน้ำในลำห้วยปริกมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการตรวจตราดูแล การอนุรักษ์ การเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าต้นน้ำก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นรูปธรรมที่ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ  ด้วยวิธีการง่าย ๆ เริ่มต้นจากการกระหนักร่วมกันถึงปัญหา ค้นหาทางออกที่สอดคล้อง อาศัยองค์ความรู้จากภายนอกมาผสมผสานกับความรู้ในชุมชน ลงมือทำจากเรื่องเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ต่อยอด ขยายวงกว้างออกไป ดึงทรัพยากรจากภายนอกมาหนุนเสริมให้ถูกจังหวะ และปัญหาการขาดแคลนน้ำ  ก็จะสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ

 


 

หมายเลขบันทึก: 339019เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น้องบู๊ทเรื่องน้ำ ทางใต้มีปัญหาไหมครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ บู๊ท

โครงการแก้ปัญหาความย่ากจน ที่พัทลุงก็ทำเรื่องแก้ปัญหาน้ำ สามสี่พื้นที่ครับ

ปากพะยูนทำเรื่องขยะในเทศบาลครับ

นำมาแลกเปลี่ยนคุยกันครับท่าน

สวัสดีค่ะ ครูบันเทิงมีเพื่อนรักอยู่ที่ห้วยปริกค่ะ..ยินดีจัง

สวัสดีค่ะ

แวะมาให้กำลังใจคนทำงานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท