next station ผู้พิการ :ก้าวที่เพิ่มขึ้น


สรุปผลงานที่ผ่านมา หาแนวทางขยายพื้นที่บริการ เก็บประสบการณ์ที่เก่า มาแก้ไขในพื้นที่ใหม่

วันนี้ท่านผู้อำนวยการ เรียกประชุมทีมทำงานผู้พิการ

โดยให้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตามพื้นที่รับผิดชอบ

น้องๆ นักกายภาพทั้งสี่คนเตรียมนำเสนอด้วยความพร้อมเพรียง

   เมื่อมากันพร้อมหน้า เวลา10.30 น.ตามนัดหมาย ฉันโทรหาเจ้านาย มิใช่เร่งรัด หาก confirm เวลาอีกครั้ง เกรงว่าจะนัดเวลาผิด เพราะเมื่อวาน ทำให้เจ้านายหน้าแตกไปเรียบร้อยแล้ว (ว่างๆ จะเล่าให้ฟัง)  ก่อนเจ้านายจะมาถึง พวกเราวางแผนกับเรียบร้อย ให้เจ้านายเลี้ยงอาหารกล่องกลางวัน เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการทำงาน เจ้านายโอเค พวกเราก็รีบสั่งอาหารแถมน้ำปั่นคนละแก้วด้วย อิอิ

น้องกุล พูดถึงภาพการทำงานที่ตำบลทับกวาง 10 หมู่บ้าน สภาพพื้นที่ของเทศบาล ที่ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ มีแรงงานต่างจังหวัดอาศัยอยู่มาก ประชากรประมาณ 1 หมื่นคน ตามทะเบียนราษฎร์ อีกไม่ต่ำกว่า 5000 คน ตัวอยู่ชื่อไม่มี ผู้พิการที่ต้องดูแลทั้งหมด 199 คน ติดตามเยี่ยมครอบคลุมและได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องติดตาม ดูแลอย่างต่อเนื่อง มีทีมงานจิตอาสา และผู้นำหมู่บ้านคอยอำนวยความสะดวก และเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการการดูแลจากเราเพิ่มคือ ผู้อาศัยในสถานสงเคราะห์ทับกวาง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีบ้าน และญาติดูแล พวกเราติดต่อเจ้าหน้าที่ของสถานสงเคราะห์ เพื่อทำโครงการอบรมผู้ป่วยและผู้ดูแลในนั้นด้วย และมีการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อความเหมาะสมตามสภาพที่ต้องใช้งาน  เพิ่งทราบว่า แม้แต่วอคเกอร์ สำหรับผู้ป่วย สถานสงเคราะห์มีเงินให้ใช้แต่ไม่สามารถจัดซื้อได้ เราก็สนับสนุนของเราไป และส่วนเขาก็สนับสนุนสิ่งอื่นที่เราขาด แลกเปลี่ยนกันไป

น้องนิด บรรยายสรุปงาน ของตำบลชะอม 11 หมู่บ้าน ในพื้นที่ชนบทผ่านป่าเขาลำเนาไพร เดินทางค่อนข้างลำบาก และอันตราย ต้องดูแลผู้พิการอีก เจ็ดสิบกว่าราย พื้นที่นี้ได้รับความร่วมมือจาก อสม.และจิตอาสาอย่างดีมาก  เสนอปัญหาของการให้ค่าตอบแทน อสม.และจิตอาสา มิใช่เป็นเงิน แต่อยากได้อาหารกลางวันเลี้ยงคนทำงาน พื้นที่นี้อยู่แบบชนบท ทำไร่ ทำสวน ถ้าถึงฤดูกาลผลไม้ พวกเรากลับจากเยี่ยมบ้านจะได้ของฝากประจำ ไม่ว่าจะเป็นมะยงชิด เงาะ ทุเรียน กระท้อน เป็นต้น

น้องจิ๊บ ทำงานในเขตเทศบาลแก่งคอย แรกๆ พวกเราใช้มอเตอร์ไซค์ ต่อมาอัพเกรด ใช้รถหน่วยเคลื่อนที่เร็วของเทศบาล 16 ชุมชน ประชากรกลุ่มนี้ ส่วนมากเป็นข้าราชการ และค้าขาย จะมีกำลังซื้อและกำลังทรัพย์ การทำงานจะว่ายากก็ไม่ใช่ จะว่าง่ายก็ไม่เชิง การพูดคุยกับประชาชนกลุ่มนี้ คุณหมอวันชัย แนะนำให้พูดด้วยความระมัดระวัง และบริการด้วยน้ำใจ  ปัญหาของการทำงานในพื้นที่ เรามี อสม.ที่มาช่วยทำงานเยอะมากกก  บางวันเดินกันเป็นทิวแถว 10-20 คน เมื่อเจอผู้ป่วย ก็ทักทายกับไม่ครบ ทำให้โอกาสที่หมอจะแทรกเข้าไปให้บริการมีเวลาค่อนข้างน้อย เป็นเหรียญสองด้าน  ท่านผู้อำนวยการแนะนำ ให้จัดช่วงเวลาสำหรับ อสม. เพราะเขามีใจให้กับเราค่อนข้างสูง ท่านเสนอให้ แบ่งกันทำงาน อสม.อาจเข้าไปในบ้านก่อนเพื่อค้นหาข้อมูลที่เราต้องการ ในขณะที่เราเยี่ยมอีกบ้านหนึ่งอยู่  เป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก

น้องดา รับผิดชอบตำบลตาลเดี่ยว 11 หมู่บ้านเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาล พื้นที่นี้มีโรงงานอุตสาหกรรมและการคมนาคมที่มีเส้นถนนสายหลักมิตรภาพ และแก่งคอย-บ้านนาตัดผ่าน ฟังดูทำให้อยากทราบเหมือนกันว่า ผู้พิการในตำบลนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากกำเนิด จากโรคเรื้อรัง หรืออุบัติเหตุ ปัญหาของน้องดา มีในเรื่องรถที่ต้องใช้ออกเยี่ยม ท่านผู้อำนวยการให้ทำบันทึกเสนอเมื่อพบปัญหา ท่านจะจัดการทันที

โดยภาพรวมแล้ว ยิ่งเมื่อออกไปทำงานในเชิงรุก เราพบคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู สูงกว่าคนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล แต่ปัญหาในเรื่องการเดินทาง ความสะดวก และความเข้าใจ ทำให้ขาดโอกาส

ตัวผู้เขียนเอง พบว่าในเรื่องของการขึ้นทะเบียนผู้พิการ ที่เราคิดว่าเราทำครอบคลุมแล้ว จริงๆ ยังหลงเหลืออยู่มาก คนไข้บางราย เห็นว่ามันยุ่งยาก และไม่มีประโยชน์กับตัวเขา เลยไม่สนใจ แต่เราก็โชคดีจริงๆ พอรัฐบาลประกาศให้เบี้ยผู้พิการ  อบต.ได้เข้าไปค้นหาในพื้นที่ และส่งให้มาตรวจรับรองที่โรงพยาบาลในเวลาเพียง 1 เดือน ยอดเพิ่มอีก มากกว่า 40 ราย ดีจริงๆ บางครั้งคุณหมอที่โรงพยาบาลก็เหนื่อยกับการอธิบายความหมายและความเข้าใจให้คนไข้ด้วย เพราะบางคนยังไม่ถึงขั้นพิการ

ท่าน ผอ.และ คุณหมอวันชัย ถึงจะเป็นหมอเด็ก แต่ได้อาสาจะช่วยดูแลเรื่องนี้ พร้อมทั้ง ได้ให้ข้อเสนอแนะหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ และทำให้ทีมงานของเรามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

พอตกถึงเที่ยงพวกเราก็รับประทานอาหารฟรีอย่างเอร็ดอร่อย ในห้องประชุมด้วยกัน สนทนาพาทีอย่างมีความสุข

จากนั้น ฉันก็ตามน้องๆกายภาพ นั่งรถประจำทาง รพ.ใหญ่ไปรพ.เล็ก คันสีส้ม ค่ารถคนละ 10 บาท  เพื่อที่จะเอารถที่บ้านพัก เดินทางต่อ ไปเข้าพบเจ้าหน้าที่ของ อบต.บ้านป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ โรงพยาบาลตำบลแห่งแรกของเรา เพราะท่านผู้อำนวยการฯ ให้เพิ่มพื้นที่การดูแลในเขตนี้ด้วย งานนี้ได้รับคำสั่งตอนที่นอนป่วยอยู่  วันนี้โอกาสเหมาะอยู่ครบพร้อมหน้า ฉันเลยขับรถพาน้องๆ เข้าพบเพื่อพูดคุยรายละเอียดของงาน และหารือวางแผนร่วมกัน

เด็กๆ ทำหน้าตาเด๋อด๋า พี่แน่ใจว่าจะขับรถพาหนูไปเหรอ ด้วยความไม่มั่นใจ  เพราะสร้างวีรกรรมทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์มาแล้ว เลยให้ความมั่นใจน้องๆ ไปว่า ถ้าทำประกันชีวิตแล้วไม่ต้องห่วงหรอก พี่สามารถ น้องกล้านั่งไปด้วยพี่ก็กล้าขับ

 

พวกเรามาถึงโรงพยาบาลตำบลบ้านป่า ที่ปรับปรุงสถานที่สวยงาม

ไม่ใช่อนามัยเล็กๆ ที่ฉันเคยเห็นอย่างก่อนหน้านี้

 

 

พี่อุษา หัวหน้า รพ.สต.ยิ้มแย้มต้อนรับอย่างอบอุ่น และพาลัดเลาะด้านข้าง เข้าพบเจ้าหน้าที่ที่อบต.

ท่านนายกไม่อยู่ เพราะเราไม่ได้นัดไว้ เราคุยกับน้องบิ๋ม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งยินดีให้ความร่วมมืออย่างยิ่ง และบอกจะนำเข้าเสนอในการประชุมกองทุนประกันสุขภาพตำบลในวันอังคารหน้า เราวางแผนร่วมกัน จะเริ่มออกเยี่ยมสำรวจในต้นเดือนมีนาคม

 

บริการด้วยใจ สุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

หมายเลขบันทึก: 333866เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2010 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

PT :  คุณหมอคะ  หนูออกท้องที่กันบ่อยมากเลยค่ะ  งานนี้ถ้าหนูดำ  หนูอยากขอครีมกันแดดจะได้ไหมคะ

??? : ถ้าหนูดำกว่า ผอ.เมื่อไหร่  มารับโปรโมชั่น  ครีมกันแดดได้เลยจร้า 555

ขอให้ทีมนี้มีความสุขกันทุกคนนะคะ  อย่ารีบหนีไปไหนก่อนนะ  เพราะพวกคุณคือคนสำคัญ  พวกเราเหนื่อยกันมาเยอะมาก  ขอให้กำลังใจค่ะ

คิดถึงนะ  จะได้เจอกันวันไหนเนี่ย

1.

P

"สงสัยหนูไม่ได้ค่าครีมกันแดดแน่เลย ชาตินี้จะมีโอกาสดำกว่า ผอ.มั้ยเนี่ย?"

ประโยคนี้ตังหากที่จะทำให้พวกเราคอขาดอ่ะ 

ทีมนี้ ทนๆ ท้อๆ สลับกันตามวาระค่ะ

คิดถึงนะ แต่ไม่อยากไปหา อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท