มุมมอง นักวิชาการในพื้นที่สามจังหวัดฯ : ร่าง พรบ.ศอ.บต.ฉบับใหม่แก้ปัญหาใต้ไม่ตรงจุด


เช้านี้อ่านข่าวเรื่อง พรบ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ หากเป็นอย่างที่นักวิชาการในพื้นที่มองแล้วมันก็น่าคิดครับ ตามลิงค์


 

      ‘ร่าง พรบ.ศอ.บต.ฉบับใหม่’ หรือการ ‘ปลุกชีพ’ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาใหม่โดยพรรคประชาธิปัตย์เจ้า เก่า อาจเป็นการนโยบายขายฝันเก่าๆ เอามา ‘ยำ’ ใหม่ที่ไม่มีคำตอบรอข้างหน้าว่าแก้สำเร็จ อย่างข้อวิเคราะห์ของ ‘ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ นักวิชาการรัฐศาตร์ มอ.ปัตตานี -ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้มองว่านิยาม ‘5 จังหวัดชายแดนใต้’ทำให้งบประมาณแก้ไฟใต้ไม่ตรงความจริง ทั้งยังไม่ตอบสนองการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง (เหมือนเดิม!)

      ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ร่าง พรบ.ศอ.บต.ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำให้องค์กรแก้ไขปัญหาภาคใต้ในภาคพลเรือนคงชื่อเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้(สบ.ชต.)ว่า เดิมทีมีการเสนอร่าง พรบ.เข้าสู่สภา 4 ฉบับ คือหนึ่งร่างพระราชบัญญัติที่ นายถาวร เสนเนียม  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลปัญหาภาคใต้โดยตรงเสนอขึ้นมาเป็น ร่างกฎหมายและเรื่องของการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่างที่สองคือร่างของคุณนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมาหลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องคนในพรรคที่จะมารับผิดชอบบางส่วนของปัญหาภาคใต้ บวกกับพรรคมีหลายขั้วร่างจึงนี้ไม่ถูกเสนอ ฉบับที่สามเป็นร่างของนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ และอีกฉบับคือร่างรัฐธรรมนูญราชการจังหวัดชายแดนใต้ มีความต่างกับอีกสามฉบับในแง่มีโครงสร้างพระราชบัญญัติ เสนอจากนายนัจมุดดีน อูมา จากพรรคมาตุภูมิ ร่างทั้งสี่ฉบับมีสาระสำคัญ มาจากจุดเริ่มต้นโดยการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องของการเมืองการปกครองแล้วเสนอแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยลงสู่ ความยุติธรรม ปัญหาความขัดแย้ง ประเด็นเรื่องชาติพันธ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ อัตตลักษณ์  

     “แต่การแก้ปัญหาพื้นที่นี้ต้องแก้ปัญหา ที่โครงสร้าง และโครงสร้างที่สำคัญคือโครงสร้างการเมืองการปกครอง คือข้อเสนอที่สำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาการเมืองการปกครองได้จะสามารถแก้ปัญหาทะลุไปเรื่องอื่น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมาเน้นเรื่องของการทหาร การใช้กำลัง การใช้กฎหมายพิเศษ และให้อำนาจกับฝ่ายความมั่นคงจัดการทหาร ควบคุมสถานการณ์ที่รุนแรงโดยใช้กฎหมายพิเศษ เป็นอำนาจที่ร่างเข้ามาและละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นร่างเก่าจึงเป็นเรื่องของกฎหมายที่เสนอเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และกฎหมายพิเศษ” นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าว

         ผศ.ดร. ศรีสมภพเปิดเผยว่า  ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน พศ.... ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสภาในสมัย คมช.เรืองอำนาจ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขเฉพาะใช้แบบจัดการแบบพิเศษ มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการในการปฏิบัติข้อกฎหมายที่ใช้สองฉบับ คือ พรก.ฉุกเฉินและกฏอัยการศึก ทั้งที่การแก้ปัญหาควรให้อำนาจประชาชนแก้ปัญหาแทนที่จะใช้การทหารที่ทำให้ สถานการแย่ลง การใช้ทหารควบคุมเป็นการไม่ไว้ใจและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ท้ายสุดควรนำเรื่องการเมืองนำการทหาร นำมาเป็นใจความสำคัญของร่าง พรบ.ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ใช้สันติวิธี และมีอำนาจประชาชนเป็นส่วนย่อยอยู่

        ผศ.ดร.ศรีสมภพ  กล่าวต่ออีกว่า ภายใต้โครงสร้างของพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน พศ.... ซึ่งให้อำนาจกับกอ.รมน. ภายใต้การควบคุมของทหาร ทำให้สถานภาพของ ศอ.บตไม่มีอิสระในการบริหารหรือแก้ไข กำหนดนโยบาย และมีส่วนตัดสินใจกับงบประมาณที่ลงมา แต่โครงสร้างใหม่ที่เกิดขึ้นมา ศอ.บต แยกออกมาจาก กอ.รมน. ขึ้นตรงกับคณะรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นฝ่ายปกครองที่ทำให้การประสานงานทำได้ดีกว่าเดิม และโครงสร้างสภาที่ปรึกษาใหม่ ของ ศอ.บต จัดสรรจากหลายสาขาอาชีพ เป็นสภาสันติสุข อยู่ภายในเงื่อนไขข้อกฎหมาย จะส่งผลให้ปัญหามีแนวโน้มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น เพราะอำนาจได้ถูกกระจายอย่างแท้จริง

        “อันนี้ก็จะเป็นอำนาจเพิ่ม เข้ามา เพิ่มงบประมาณ ซึ่งมันอยู่ในมาตรา 11 จะเป็นลักษณะที่ ศอ.บต มีอำนาจที่ชัดเจนขึ้นซึ่งแต่เดิม ศอ.บต ไม่มีอำนาจในการตั้งงบประมาณตัวเองได้ เพราะหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กอ.รมน แต่ร่าง พรบ.ฉบับใหม่นี้จะให้ ศอ.บต มีอำนาจในการจัดการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยขึ้นกับสภาความมั่นคง แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ในทางเศรษฐ์กิจก็จะมีการพูดถึงในหลักการเศรษฐกิจพิเศษ ศอ.บต ก็เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเป้าหมาย จะมีรัฐมนตรีภาคใต้ จะกำหนดนโยบายภาพใหญ่ของ ศอ.บต ที่ได้เสนอขึ้นตามกฎหมายใน พรบ.ของรัฐบาล”

        แต่ ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า  ร่างฉบับใหม่อาจทำให้ ศอ.บต มีอิสระมากขึ้นในทางนโยบายและเรื่องงบประมาณ แต่มีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต  เพราะว่า ศอ.บต.ที่รัฐบาลเสนอนั้นมีองค์ประกอบอยู่ที่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล รวม 5 จังหวัด มีข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นว่า ถ้า ศอ.บต จะแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาความไม่สงบจริงๆ เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดไม่ใช้ 5 จังหวัด หรือสงขลาก็มีแค่ 4 อำเภอซึ่งอยู่ติดกับ 3 จังหวัด หากว่าเราพูด 5 จังหวัดมันก็มีปัญหาอยู่ว่ามันไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างแท้จริงเพราะจะทำให้ คลาดเคลื่อนในเรื่องนโยบาย เพราะว่าตัวปัญหาจริงๆ คือปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  

        “สงครามมันเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดไม่ใช้ 5 จังหวัดทำไมหน่วยงานนี้ไม่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่เฉพาะ 3 จังหวัดเพราะสิ่งที่ตามมาจะเป็นเรื่องของงบประมาณ เกิดกระจายออกไปสู่สงขลาและสตูล จะทำให้เกิดปัญหา เป้าหมายไม่ชัด ทรัพยากรที่ถูกส่งลงมาก็กระจาย อันนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังวัดชายแดน ภาคใต้ยากที่จะสงบ”นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้ สถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าว  

         โดยเขากล่าวว่า  ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น 5 ปีที่ผ่านมารัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก ข้อมูลที่เปิดเผย พบว่าเป็นแสนล้านซึ่งรวมถึงจังหวัดสงขลาด้วย ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเวลาพูดถึงงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้คนมักจะพูดถึงหลัก แสนล้าน แต่ที่ลงมาจริงๆ มันไม่ถึง จากงานวิจัยและจากการประชุมในระดับพื้นที่ได้ตั้งข้อสงสัยว่างบที่ลงมามัน ไม่เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นพอสมควร

           เมื่อ ไปศึกษาแล้วก็พบว่า งบประมาณที่ลงมาจะรวมของสงขลาและของสตูลด้วย ที่คือปัญหา เพราะงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่จริงๆ ประมาณ 30 หรือ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
         “สรุปแล้วงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่ 3 จังหวัดประมาณหกหรือเจ็ดหมื่นล้านในระยะ 5 ปีที่ผ่าน ซึ่งเป็นงบประมาณที่เปิดเผย และที่ผ่านมาหน่วยงานที่ลงมาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่มีหลายหน่วยงานมาก แต่ที่ทำงานจริงๆ ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่างบประมาณที่ลงมาปฏิบัติจริงๆทั้งงบพัฒนา งบอะไรต่างๆหากไม่นับเรื่องของการทหาร ทั้งหมดไม่ถึงห้าหมื่นล้านเพราะว่าหน่วยราชการอื่นๆ ก็มีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า มอ.ปัตตานีก็มีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ เพราะว่าอาคารที่ก่อสร้างต่างๆ ยังทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จเลย ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมันไม่มาก แต่มีปัญหาในเรื่องของการบริหาร เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ลงมาถึงประชาชนจริงๆนั้นผมว่าไม่ถึงครึ่งที่จ่ายจริง งบประมาณส่วนใหญ่จะหมดไปในการใส่น้ำมันรถทหาร เบี้ยเลี้ยงทหาร ซื้ออาวุธ งบประมาณถูกจ่ายให้กับประชาชนคงไม่เต็มที่เท่าที่ควร อันนี้คือปัญหา” ผศ.ดร.ศรีสมภพให้ความเห็น

         ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความ รู้สถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ยังฟันธงว่า หากหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กระจายความรับ ผิดชอบ ใน 5 จังหวัด คงไม่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงใดๆ ได้ เพราะการบริหารจัดการยังไม่ตรงเป้าหมาย หรือถ้าลงใน 3 จังหวัดก็ต้องชัดเจนในการแก้ปัญหา อันนี้เป็นข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นว่าทำไมถึงไม่ทำให้อำนาจหน้าที่ ศอ.บต รับผิดชอบเฉพาะ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา ซึ่งข้อโต้แย้งนี้เป็นข้อเรียกร้องของสภาสันติสุขของ ศอ.บต และในเรื่องนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ก็เรียกร้องในเรื่องนี้ด้วยและได้ส่งข้อความบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย แล้ว

         ต้องรอดูกันว่า  เมื่อมีข้อโต้แย้งตั้งแต่เพิ่งคลอด  ร่าง พรบ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ หรือ พรบ.ศอ.บต. ‘โบว์แดง’ ของรัฐบาลประชาธิปัตย์จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร หรือจะรอให้การเมืองเปลี่ยนขั้วแล้วเจอของ ‘แสลงใจ’ เหมือนที่รัฐบาลทักษิณประกาศยุบทิ้ง ศอ.บต.เก่าเมื่อ 30 เมษายน 2545  

         ถึง วันนั้นรัฐบาลนี้จะรู้ซึ้งว่า เวลามี.... แต่... ทำไม่ได้ ส่งผลต่อทิศทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างไร...

   ข้อมูลอ้างอิง  : http://www.voicepeace.org/index.php?option=com_content&view=article&id=443%3A2009-11-22-20-15-39&catid=59%3A2009-03-04-04-07-39&lang= en

 


         การเมือง...เรื่องต้องคิดจริงๆๆ อิอิ

 

 

หมายเลขบันทึก: 315464เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เห็นด้วย ทุกประการทั้งปวง

        มองอีกมุมหนึ่ง การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ เบี้ยเสี่ยงภัย ที่ทหารและตำรวจได้นั้น มันคือผลประโยชน์เงินทอง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กลับกลายเป็นการปลุกความคิดที่ว่า "ถ้าสถานการณ์สงบกรูก็ไม่ได้ค่าเสียงภัยสิน่ะ" หรืออย่างไรก็ตาม สถานกาณืก็ยื้อไป ไม่มีเหตุการณ์ก็สร้างสถานการณ์กันเอง เพื่อยื้อไว้ หรือ การที่พรรคต้องการฟื้น ศอบต นั้น อาจจะเป็นการรื้อเพื่อกินขนมต่อจากคราวที่แล้ว ที่ยังไม่ได้บูดภายใต้เหตุผลของสถานการณ์ความรุนแรง เหมือนจะดูดี แต่ข้างในก็เพื่อผลประโยชน์      

        "สถานการณ์ชายแดนใต้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว" กลายเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างนโยบายต่างๆ เมื่อสถานการณ์กลายเป็นเรื่องการเมือง มันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ การเมืองคือ เรื่องที่ว่าด้วยผลประโยชน์ ช่างสอดคล้องกับความหมายเสียจริงๆ

         ไม่มีอะไรมากครับ แค่ช่วยฉีกประเด็นให้ย่อยลงไปเพื่อตีแผ่

ขอบคุณมากครับ

30

คนเร่ร่อน

 การเมือง(หลาย) เรื่องต้องคิดจริงๆว่าเขาทำอะไรกัน อิอิ

สวัสดีค่ะ

  • อ่านเรื่องการบ้านการเมืองแล้ว  ไม่ทราบจะแสดงความคิดเห็นอย่างไร
  • เพียงแต่ขอส่งใจมาช่วยให้พี่นอ้งชาวใต้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขค่ะ

ขอบคุณมากครับ

P

ครูคิม

  ประเทศชาติจะสงบสุขด้วยการร่วมมือของเราทุกคนครับ

สวัสดีครับ

  • เป็นเรื่องจริงๆ
  • และอาจจะจริงเช่นคุณคนเร่ร่อนว่า
  • แต่อย่างเพิ่งชี้
  • รอดูกันต่อไป
  • ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณมากครับพี่ยาว

P

เกษตรยะลา

หนังม้วนนี้รอดูกันอีกยาวครับ อิอิ

  • เมื่อคืนลูกถามว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาในภาคใต้ไหม.. ก็นึกๆก็จำได้ว่า อ.พล(ท่านเสียชีวิตช่วงที่ผมนอนอยู่โรงพยาบาล)เคยให้เล่มหนึ่ง ก็ให้ลองหาดูในตู้ก็แล้วกัน แต่บอกเขาไปว่าอ่านพอเป็นเค้าโครงได้แต่เนื้อหานั้นต้องไปปรับแต่ง
  • ลูกอ่านอยู่เล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนของ คณะอนุกรรมการศึกษาวิถีทางการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ เขาก็สรุปที่เขาอ่านมา เลยบอกเขาไปว่า จริงแล้วมันลึกซื้อกว่านั้น เพียงแค่นั้นแก้ปัญหาไม่จบหรอก
  • บอกเขาเล่นๆ ไปว่า ต้องฟังพ่อสรุปในเรื่องนี้อย่างน้อยสองชั่วโมง จริงๆไม่ถึงขนาดน้้นหรอก เพียงแต่ว่าพอมีความรู้บ้างจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานด้านการศึกษาในภาคใต้บ้านเรามาพอควร
  • ผมมองว่าไม่ง่ายเลยที่จะแก้ปัญหาการศึกษาทางภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจับจุดปัญหาไม่ตรงตามสาเหตที่เกิดขึ้นจริง บางครั้งได้จากการศึกษาที่ได้จาข้อมูลมาพื้นๆ  

ฮือ เพราะงบเป็นแสนล้าน มิน่าละ เลยจึงได้ข่าวลือเรื่อง เงินสิบล้าน สงสัยเพราะกำไรสูง จึงทำให้ต้นทุนสูงไปด้วย

ขอบคุณมากครับอาจารย์

P

Ibm ครูปอเนาะ ڬوروفوندق

ประเด็นข้อมูลพื้นๆทางการศึกษาในพื้นที่ที่หลายคนสรุปมันพื้นจริงๆครับอันนี้เห็นด้วย ผมมีหนังสือเกี่ยวกับสามจังหวัดฯมากมายแต่ไม่มีเล่มไหนอ่านแล้วได้ใจสักเล่มเลยครับ การศึกษาบ้านเรา ปัญหาบ้านเรา ต้องเราร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจังครับ

สลามครับน้องฟูอ๊าด ยังไม่ได้ เห็น ร่า พรบ ฉบับนี้ ยินดีที่นำมาให้รู้ก่อนครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

P

จารุวัจน์ شافعى

เคยเข้าไปฟังสัมมนาเฉพาะกิจกับผู้หลักผู้ใหญ่เพียง ๒๐ กว่าคนฟังงบประมาณที่สูญสลายไปในเงื้อมมือของเงามืดแล้ว ถึงบางอ้อเลยครับว่า "ทำไมบ้านเมืองไม่พัฒนาซะที"

 

วาอาลัยกุสสลามฯ ครับบัง

P

วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ร่างฉบับนี้น่าเป็นห่วงมากครับ...แต่หลายคนคงสบายใจเพราะได้กำไรเยอะ อิอิ

.

.

.

แล้วหาดใหญ่ ที่ระเบิดตายๆ กันไป ที่หน้าลี ที่ร้านข้าวต้ม ที่ สนามบินหาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง ไม่ได้รับผลหรืออย่างไร

หาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเลย ระเบิดมันเดินมาเองใช่ไหม บ้าป่าว

ถ้าไม่อยากให้รวมสงขลา ก็อย่าเอาระเบิดมาวางดิ

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

ขอบคุณมากครับ...สันติสุข เชื่อทุกพื้นที่อยากให้เกิดขึ้นครับ

 

30

คนหาดใหญ่

อย่าเพิ่งตัดสินเลยคะว่าเงินที่ลงมามหาสารนั้นโดนนักการเมืองกินกันมากมาย ก็คงจะมีบ้าง แต่ในฐานะที่เรามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยเรียน มอ.ปัตตานี ปี 45 จนถึงตอนนี้ก็ยังทำงานที่ จชต. อยู่ รู้ว่าคนที่ทำงานที่นี่เหนื่อย แค่ไหน (สำหรับคนที่ทำงานจริงๆ) เสี่ยงมากมายแค่ไหน ไม่ได้พอใจกับเงินเสี่ยงภัยเดือนละไม่กี่บาท ที่ไม่คุ้มเลยกับการห่างลูก ผัว เมีย ช่วยกันนะคะ อย่าว่ากันเลย เปลี่ยนคำติเป้นคำที่ให้กำลังใจ บางทีใจคนทรามที่คุณๆประนามอาจจะเปลี่ยนก็ได้...คนเชียงราย รัก จชต.คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท