อนงค์ศิริ
รองศาสตราจารย์ อนงค์ศิริ วิชาลัย

บัณฑิตควรฝึกฝนตนเอง


คำว่า"บัณฑิต" จึงมีความขลัง เพราะเราใช้หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ในการเรียนรู้

คำว่า"บัณฑิต"มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า ผู้ทรงความรู้ ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ และผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาแต่ละระดับ ซึ่งผ่านการเรียนรู้ ตามแต่ละหลักสูตรกำหนด

คำว่าบัณฑิตจึงเป็นคำที่สังคมยกย่อง ผู้ที่ได้รับการยกย่องจึงควรภาคภูมิใจในเกียรติที่สังคมมอบให้และควรตระหนักในคุณค่าของตนเอง  ในอดีตผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญามีจำนวนไม่มากเท่ากับปัจจุบัน  ครอบครัวใดมีบุตรหลานสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาแต่ละสาขาวิชา  จะได้รับการกล่าวขาน นิยมยกย่องและพ่อ แม่ มักจะยกเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังชื่นชมและเจริญรอยตาม

ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคภูมิใจในสถาบันที่มีคำขวัญเป็นพุทธภาษิต "อตฺตานํ  ทมบัณฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง" คำว่าฝึกฝนตนเองในอดีต ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการที่ครูอาจารย์สอน แนะนำเพียงเล็กน้อย การเข้าชั้นเรียนเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  อาจารย์จะตั้งคำถามให้นักศึกษาตอบ หรือนักศึกษามีเรื่องที่จะสอบถามอาจารย์ เหล่านักศึกษาด้วยกันก็ช่วยกันแสดงความรู้ ความเข้าใจของตน

บางวิชา  เราบ่นกันว่าไม่เข้าใจ อาจารย์ไม่ได้สอนอะไร แล้วเราก็ช่วยกันเป็นติวเตอร์ เวลาสอบอาจารย์ออกข้อสอบ  1 ข้อ แต่แจกสมุดให้เขียนตอบคนละ 1 เล่ม ใครเขียนมากไปขอสมุดเพิ่มได้ เราเขียนมากมายได้อย่างไร

ข้อสอบชนิดเลือกตอบมีน้อยที่สุด แหล่งการเรียนรู้ สื่อ ไอ ที มีเป็นส่วนน้อยแต่เราก็เรียนรู้มากมาย

ถึงตอนนี้เพิ่งเข้าใจแล้วว่าแท้จริงอาจารย์ท่านไม่เน้นการสอน แต่เน้นการเรียนรู้ของนักศึกษา ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง จากการอ่านหนังสือตำราหลายๆเล่มและเรียนรู้ร่วมกันในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน เรียนรู้ร่วมกันจากการที่เพื่อนช่วยเป็นติวเตอร์ให้ ในอดีตได้รับคำติเตียนว่าไม่เน้นผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเอง  น่าจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ตรงกระมัง  เพราะ....

คำว่า"บัณฑิต" มีความขลัง เพราะเราใช้ หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ในการเรียนรู้ สุ หมายถึง สุต การฟัง การอ่าน การได้ยิน อ่านมาก ฟังมาก ได้ยินได้เห็นมามาก  ช่วยให้เรามีความรู้ ความเข้าใจ ฟัง หรืออ่านแล้วคิดตาม จิ หมายถึง  จินตนะ การคิดหาคำตอบในแต่ละเรื่องราว ช่วยฝึกฝนให้เราคิดเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์รวบรวมความรู้เป็นหมวดหมู่ เป็นกล่มก้อน จัดเรียงลำดับปุ  หมายถึง  ปุจฉา การซักถามในสิ่งสงสัย การถามในสิ่งที่เป็นประโยชน์ การถามเพื่อตอบในสิ่งที่อยากรุ้  ทำให้เราเป็นผู้ช่างสังเกต ช่างสงสัย และสุดท้าย ลิ  หมายกึง  ลิขิต  เขียน จดจำ บันทึกสิ่งที่ควรรู้ ควรจำเราทราบดีว่าสมองบันทึกเรื่องราวมากมายในชีวิต และลืมในสิ่งที่ไม่ได้ทบทวนในที่สุด

เราเรียนรู้อย่างนี้นี่เอง  จึงทำให้ความรู้ที่เรามีมันยั่งยืนและคงทน  ช่วยให้เราเป็นผู้รอบรู้และรู้รอบ ความเป็น บัณฑิตจึงสง่างาม

แต่.....การเรียนการสอนปัจจุบัน

กลับทำตรงกันข้ามกับครู อาจารย์ที่ท่านสอนในอดีต

ครู อาจารย์ปัจจุบันเหนื่อยมากที่ต้องเตรียมการสอน เตรียมเนื้อหาสาระ เตรียมสื่อวัสดุ อุปกรณ์ เตรียมเครื่องการวัดผล เหนื่อยที่จะต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหนื่อยที่จะต้องจัดเตรียมจัดหาทุกอย่างไว้ให้ แนะนำแหล่งการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้  แต่ผู้เรียนกลับอ่านน้อยมาก ฟังน้อยและไม่มีสมาธิพอที่จะฟัง ไม่มีหัวใจนักปราชญ์ ผู้เรียนบางท่าน สมุดบันทึกความรู้สักเล่มแทบไม่มี  เขาเรียนแล้วเขาก็ลืม  เขาไม่ชอบคิดอยากให้ได้คำตอบที่สำเร็จรูป  บอกมาเลย ถ้าหากต้องได้คิด ได้ค้นคว้า ได้ทำด้วยตนเองเขาขาดวิริยะ อุตสาหะ ในที่สุดก็คัดลอกงานของคนอื่นไปส่ง เพื่อต้องการคะแนนเช่นเดียวกับเพื่อนๆ   ข้อสอบที่เขาชอบมากที่สุดคือ แบบทดสอบชนิดเลือกตอบ เขาถนัดที่จะฝนลงในข้อ ก ข ค ง หรือ จ โดยแทบไม่ต้องคิด และใช้เวลาสอบเพียงไม่กี่นาที กลายเป็นว่าครู อาจารย์สอนมากใช่หรือไม่ แต่ ศิษย์กับได้เรียนรู้น้อย และศิษย์ก็ชินกับการรับที่ครูอาจารย์เตรียมไว้ให้ จนไม่อยากจะขวนขวาย

ความเป็นบัณฑิต  มีอยู่ที่ไหน คุณภาพการศึกษาจะเป็นเช่นไรยังไม่มีคำตอบสำหรับวันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นบัณฑิตปราศจากการฝึกฝนตนเองและผู้เขียนเองเริ่มไม่มั่นใจกับคำว่า "Child Centered" ที่กล่าวถึงกันนัก ว่าแท้จริงการสอนในปัจจุบันหรือการสอนในอดีตกันแน่ที่ต้องปฏิรูป

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 314935เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน อาจารย์อนงค์ศิริ

การศึกษาไทยตีกรอบไว้มากเกินไป คนไทยเลยคุ้นกับการจำแล้วนำไปสอบ

การคิดสร้างสิ่งใหม่ จึงเกิดยาก

การสอนบัณฑิต ควรตั้งโจทย์ให้เขา ได้หาทางเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด อยากทำ

ผมว่าเวลาสอบทิ้งหนังสือให้สอบ เป็นวิธีการทดสอบที่ดี แต่โจทย์ต้องทำให้คนตอบหลากหลาย

ที่สำคัญคนตรวจต้องใจกว้าง ไม่ใช่วางธงไว้ครับ

เรียน ท่าน ผอ.พรชัย

ขอบคุณค่ะที่กรุณาร่วมแจม และเห็นสอดคล้องอย่างยิ่ง

อยู่ที่สูงต้องมองไกล ใจกว้าง แต่ก็นั้นแหละประสบการณ์กว้าง ใจก็กว้าง

ประสบการณ์แคบ  ใจก็แคบตาม ตอนนี้อาจารย์ก็บ่นว่านักศึกษา

ขาดทักษะการเรียนรู้ นักศึกษาก็ว่าอาจารย์ยัดเยียดความรู้

  • แวะมาชื่นชมคนดี
  • คำว่า"บัณฑิต" มีความขลัง เพราะเราใช้ หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ในการเรียนรู้ สุ หมายถึง สุต การฟัง การอ่าน การได้ยิน อ่านมาก ฟังมาก ได้ยินได้เห็นมามาก

แวะมาทักทายค่ะ

เป็นน้องใหม่และเป็นครูมัธยมคนใหม่ค่ะ

 ที่นี่นะคะ

นางในวรรณคดี

นางสาวจารุณี พิชญากรวงศ์

นางสาวจารุณี พิชญากรวงศ์

รหัส 5O2211O4

กป 5O ค 5O 1 ( ภาค ส - อ)

หนูคิดว่าการเรียนการสอนในอดีตน่าจะดีกว่า เพราะนักเรียนเป็นคนค้นคว้าหาความรู้เองจึงทำให้ได้ความรู้แน่กว่า และสามารถจดจำนานกว่าที่ให้ครูเป็นผู้ป้อนให้ฝ่ายเดียว สิ่งที่เราค้นคว้าเองเสวงเองสิ่งนั้นเราจะจดจำได้นานกว่าเขาสอนเรา

นางดวงนภา เตปา รหัส 50221108 หมู่เรียน กป50ค5.01

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูขอแสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเอาส่วนดีในการเรียนการสอนในอดีตและส่วนดีในการเรียนการสอนในปัจุบันมาบูรณาการร่วมกัน

เช่นส่วนดีในอดีตครูผู้สอนจะเป็นผู้ให้ความรู้อบรมสั่งสอนทำให้ใกล้ชิดกับผู้เรียนและรับรู้ปัญหาของผู้เรียน และส่วนดีปัจุบันครูผู้สอนจะเป็นผู้แนะนำส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมาบูรณาการร่วมกัน ทำให้ผู้สอนกับผู้เรียนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท