006 : สไตล์การอ่าน....บอกอะไรได้บ้างไหม?


 

ได้อ่านบันทึก ขอบคุณเจ้าของหนังสือหลายเล่ม ของพี่ต๋อย

แล้วนึกอะไรขึ้นมาได้...

 

สมมติฐาน :

สไตล์การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งๆ บอกทัศนคติของเราต่อหนังสือเล่มนั้น

 

มั่วๆ ขึ้นมานะครับ หนับหนุนก็ดี เถียงก็ได้

 

     1) บางเล่ม เราอ่านจบรวดเดียว (แม้จะหนา) => เล่มนั้นน่าสนใจมากๆ สำหรับเรา

     2) บางเล่ม เราอ่านผ่านๆ ก่อน แล้วค่อยมาเก็บรายละเอียด => เล่มนั้นมีข้อมูลที่เราต้องการใช้

     3) บางเล่ม เราค่อยๆ อ่านอย่างสบายอารมณ์ ว่างก็หยิบมาต่อ => เล่มนั้นน่าเพลิดเพลิน 

     4) บางเล่ม เราอ่านจากบทหลังมาบทหน้า (ผมเป็นแบบนี้กับบางเล่ม และพบว่ามีหลายคนเป็นเหมือนกัน) => บทแรกๆ น่าเบื่อ หรือ เราอยากเห็นภาพรวมก่อน แล้วสืบสาวไปหาต้นตอ หรือ....

     5) บางเล่ม อ่านไป ขีดเขียนไป เถียงกับผู้เขียนมั่ง เขียนเตือนตัวเองมั่ง  => ผมทำแบบนี้กับหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้เถียงสนุก หรือไม่ก็เป็นหนังสือที่สุดห่วย ...แต่บางเล่มที่ต้องการศึกษาจริงๆ จังๆ จะทำสำเนา เพื่อขีดเขียนให้เต็มที่

     6) บางเล่มอ่านแล้ว หยิบมาอ่านใหม่ ผ่านไปกี่ทศวรรษ ก็ไม่รู้เบื่อ => เล่มนี้สุดคลาสสิคสำหรับเรา [ขอบคุณ คุณปู ณ อันดามัน สำหรับข้อนี้ครับ]

     7) แต่บางเล่มอ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็วาง หยิบอีกก็วางอีก ผ่านไป 10 ปี ก็ยังเป็นอย่างนั้น... => สงสัยไม่ถึงวัยที่จะอ่าน หรือไม่ก็เกินวัยที่จะอ่านครับ (ฮา)

     8) บางเล่มอยากอ่าน แต่ก็ไม่ได้อ่าน เพราะว่ามันแพงมาก ๆ [อันนี้ก็จริงแฮะ...ขอบคุณ คุณณัฐจีรา ขวาไทย สำหรับข้อนี้ครับ ^__^]

     9) บางเล่ม มีพกติดตัว แต่ไม่ยอมอ่าน เก็บไว้อ่านยามคับขัน ไม่มีอะไรจะอ่านแล้ว หรือในสถานะการณ์ที่น่าเบื่อเช่น รอการประชุม  รอรถ นั่งเครื่อง อะไรประมาณนั่น  [ขอบคุณ หนุ่ย-นักพับนก สำหรับข้อนี้ครับ "เข็มขัดสั้น" (แปลว่า คาดไม่ถึง) จริงๆ เล้ย! ;-)]

    10) บางเล่ม แค่เห็นหน้าปกก็อยากอ่านแล้ว [ขอบคุณคุณ Paula - ข้อนี้จริงมากๆ เลยครับ ว่ากันว่าเดี๋ยวนี้ ผู้อ่านไม่ได้แค่บริโภคข้อความ แต่ยังบริโภครูปแบบของหนังสืออีกด้วยครับ]

   11) บางเล่มอ่านแล้วอยากให้เพื่อนอ่าน ให้ยืมแล้วหาย ต้องไปซื้อใหม่มาเก็บครับ ;-) [ขอบคุณพี่บัง-วอญ่า ชอบข้อนี้มากๆ ครับ เจอมาแล้วเหมียนกัลล์...อิอิ]

   12) บางเล่มแอบอ่าน ไม่ให้ใครรู้ว่าอ่าน => ก็ตำราไง (อ๊ะๆ คิดอารายอยู่เหยอ...) แล้วก็หลอกเพื่อนๆว่า ยังไม่ได้อ่านเล้ย [ขอบคุณคุณครู ป.1 ครับ มีแอบซุ่มอ่านด้วยแฮะ]

   13) บางเล่มยืมชาวบ้านมาอ่านแล้วติดใจ ไม่ยอมคืน ;-) => ข้อนี้ทำให้เกิดข้อ 11 ของพี่บัง-วอญ่า ไงล่ะครับ [ผมเคยทำครั้งหนึ่ง ยี่สิบปีผ่านไป...สารภาพกับเพื่อน....เพื่อนอีกคนที่ได้ยินเข้าก็เลยบอกว่า "คดีหมดอายุ" (ฮา)]

   14) บางเล่มไม่ต้องซื้ออ่าน รอยืมเค้าอ่านดีกว่า... [ขอบคุณครูแอ๊ว สำหรับมุมมองนี้ครับ]

   15) บางเล่ม อ่านในช่วงเวลาเดียวกับเล่มอื่น (อีกหลายเล่ม) อ่านเล่มนี้ส่วนหนึ่ง แล้วก็โดดไปอ่านเล่มนั้น แล้วก็เล่มโน้น แล้วก็เล่มนู้น.... [ ขอบคุณพี่ต๋อย สำหรับสไตล์การอ่านแบบนี้ครับ ผมก็เป็นเหมือนกันอ่านแบบนี้]

   16) บางเล่มอ่านซ้ำหลายรอบ แต่ละรอบที่อ่านมุมมองก็เปลี่ยนไปตามวัยของคนอ่าน  เช่น อ่านครั้งแรกหลงรักคนเขียน อ่านครั้งที่ 2 เริ่มไม่รักคนเขียน แต่ก็ยังอ่านครั้งที่ 3  อ่านจบอยากเจอคนเขียนและบอกว่าที่เธอเขียนนั้นฉันไม่เห็นด้วย ;-) แต่บางเล่มยิ่งอ่านตอนสูงวัยยิ่งซาบซึ้ง [ขอบคุณคุณ Wanpen-อินเดียนแดงแห่งพะเยา สำหรับมุมมองนี้]

   17) แต่ละเล่มอ่านหลายรอบ อ่านแล้วจะขีดเขียนในหนังสือไปด้วย ส่วนไหนที่คิดว่าอ้างอิงได้ หรือน่าสนใจ จะนำมาเขียนหัวข้อ และเลขหน้าไว้ในปกใน เวลาจะอ่านใหม่จะได้ไม่เสียเวลาค้น [ขอบคุณคุณ ณัฐรดา สำหรับสไตล์การอ่านแบบนี้ครับ แสดงถึงความละเอียด ความสนใจในความรู้ และการนำความรู้ไปใช้ ไปต่อยอด ของผู้อ่านสไตล์นี้ได้เป็นอย่างดี]

 

   อื่นๆ ) บางเล่ม........ช่วยเติมหน่อยครับ.............. => .....ช่วยเติมเช่นกัน.....

 


  

 

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ#อ่าน
หมายเลขบันทึก: 310670เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

ท่านอ.หมอหนอน วันนี้ขอเป็นคนแรก นะคะ นานๆ ที หุ หุ

บางเล่มอ่านแล้ว หยิบมาอ่านใหม่ ผ่านไปกี่ทศวรรษ ก็ไม่รู้เบื่อ แบบคลาสสิค ซะกระนั้นค่ะ

ข้อ ๕ ไม่ค่อยกล้าทำค่ะ แบบหวงหนังสือ กลัวบอบช้ำ ยกเว้นหนังสือเรียนเพราะได้มรดกตกทอดมา เลยเขียนซะเละ แล้วเละอีก ค่ะ หุ หุ

เรียนท่าน ดร.บัญชา เป็น เช่นนั้นจริงๆ ครับ

คุณปู ผู้เจิมบันทึกนี้เป็นคนแรก!

       เติมเข้าไปแล้วครับ ข้อ 6

       ข้อ 5 นี่ผมทำไม่บ่อยครับ คือ ถ้าไม่รู้สึก (ไม่ว่าดี หรือไม่ดี) จริงๆ ก็จะถนอมหนังสือ แต่บางเล่มนี่ ยิ่งเขียนยิ่งมันส์ ครับ

อาจารย์หมอ JJ สวัสดีครับ

       อาจารย์เจอข้อไหนมากที่สุดครับ?

บางเล่ม ก็อยากจะอ่าน แต่ก็ไม่ได้อ่าน เพราะว่ามันแพงมาก ๆ

ช่วยเติมข้อท้ายสุดให้นะคะ

สวัสดีค่ะ พี่ชิว

ถ้าเป็นหนังสือเรียนก็ เอาไว้ก่อน อ่านหนังสือพิมพ์ก่อน( เป็นเด็กเรียนมากเลย)

ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ก็หัวข้อข่าวแล้วเปิดมุ่งไปหน้าหรือคอลัมภ์ที่สนใจ

ถ้าเป็นหนังสือบ็อคเก็ตบุ๊ค ก็ผลิกไปหน้าสุดท้าย อ่านประวัติผู้เขียน ต่อด้วยคำนำ

ถ้าเป็นนิตยสารก็ ข้อ 2 ค่ะ

ติดการ์ตูนญี่ปุ่นค่ะ ข้อ 3 เลย ค่อยๆ กลัวว่าจะจบเล่มเสียก่อนที่เล่มใหม่จะออกมา

เคยอ่านเพชรพระอุมา จนสว่างคาตา 2 เล่มค่ะ แต่ตอนนั้นยังเด็ก ไม่รู้ว่าเพชรพระอุมามีหลายเล่มมาก

เข้าเรื่องค่ะ

บางเล่ม มีพกติดตัวค่ะ แต่ไม่ยอมอ่าน เก็บไว้อ่านยามคับขัน ไม่มีอะไรจะอ่านแล้ว หรือในสถานะการณ์ที่น่าเบื่อเช่น รอการประชุม  รอรถ นั่งเครื่อง อะไรประมาณนั่นค่ะ

 

 

 

สำหรับพอลล่า ....หลายเล่ม เป็นตำรา ไม่น่าอ่าน...อิอิ

บางเล่ม แค่เห็นหน้าปกก็อยากอ่านแล้วค่ะ .......

สวัสดีครับ

ผมก็เป็นเหมือนเกือบทุกข้อเลยครับ อาจจะมีขัอ 7 ที่ต้องรอให้สุกก่อน แล้วก็ข้อ 8 ที่ซื้อมาแล้วต้องรีบอ่านทันที เพราะถ้าคิดว่าอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ มันก็ไม่ได้อ่านซักที มันอาจจะบูดก่อนแล้วก็กลายเป็นข้อ 7 ครับ

บางเล่มอ่านได้ประมาณ ครึ่งเล่ม แล้วคั่นไว้จะอ่านต่อ ปรากฎว่า กลายเป็นข้อ 8 ครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

บางเล่มอ่านแล้วอยากให้เพื่อนอ่าน ให้ยืมแล้วหาย ต้องไปซื้อใหม่มาเก็บครับ

สวัสดีค่ะ

บางเล่มก็น่าอ่านค่ะ

พอซื้อมาอ่าน

ก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ^^

อาจารย์ณัฐจีรา ขวาไทย สวัสดีครับ

       จริงด้วยครับ คนไทย (โดยเฉพาะเด็ก & เยาวชนไทย) เข้าไม่ถึงหนังสือหลายเล่มก็เพราะเหตุนี้แหละ ขอบคุณมากครับ ^__^

หนุ่ย นักพับนก

        เรียบร้อยครับ เข้าไปอยู่ในข้อ 9 แล้ว ^__^

บางเล่ม แอบอ่านไม่ให้ใครรู้ว่าอ่าน

(ตำราไง แล้วก็โกหกเพื่อนๆว่า ยังไม่ได้อ่านเล้ย)

คุณ Paula สวัสดีครับ

        จริงมากๆ เลยครับ เข้าไปในข้อ 10 พร้อมข้อคิดเห็นเล็กๆ แล้วครับ ^__^

คุณไทเลย-บ้านแฮ่ สวัสดีครับ

       จริงด้วยครับ ว่าแต่ว่า ข้อ 7 & 8 นี่ ผมดันเปลี่ยนข้อไป ถ้าแวะกลับมาอีก ช่วยระบุชัดๆ นิดหนึ่งด้วยครับ ขออภัยจริงๆ ครับ

พี่บังวอญ่า สวัสดีครับ

       จริงที่สุดอีกแล้วครับ เคยโดนเหมือนกัน เข้าไปอยู่ข้อ 11 แล้วครับ ^__^

น้องต้นเฟิร์น สวัสดีครับ

        เจอแบบนี้บ่อยๆ ก็ดีครับ ไม่เสียดายตังค์และเวลา ;-)

คุณครู ป.1 สวัสดีครับ

        ถ้าทำบ่อยๆ ระวังเพื่อนจับได้นะครับ ;-)

ท่านอ.หมอหนอน .. อ่านแล้วแต่ละคห. ได้อมยิ้ม น่ารักซะ มากมาย ค่ะ

  บางเล่มอ่านแล้ว หยิบมาอ่านใหม่ ผ่านไปกี่ทศวรรษ ก็ไม่รู้เบื่อ อ่านอีกรอบแล้วรู้สึก นิยามนี้เหมือน รักของหนุ่มสาววัยดึกเลยนะคะ เป็นศตวรรษ ก็คงมั่น มิผันแปร .. ฝันดีนะคะ

 

ขอบคุณมากครับ คุณปู

        ชอบของพี่บัง-วอญ่า ครับ เห็นภาพ + รู้สึกได้เลยครับ

บางเล่ม..ไม่ต้องซื้ออ่าน..รอ้ยืมเค้าอ่านดีกว่า..

อันนี้ประสบการณ์ตรงที่ไม่ค่อยดีค่ะ..อิอิ..

โดนใจค่ะ..บันทึกนี้..^^!

บันทึกนี้ทำให้พี่กลับไปค้นความลับของตัวเองเรื่องการอ่านหนังสือค่ะ บันทึก ก็แล้วทำไมต้องอ่านทีละเล่มล่ะคะ ....^^....อายใจจัง เพิ่มข้อต่อไปเลยค่ะ อ่านทีละหลายๆ เล่ม(มันซะเลย)

มีอยู่หลายเล่มที่อ่านซ้ำหลายรอบ แต่ละรอบที่อ่านมุมมองก็เปลี่ยนไปตามวัยของคนอ่าน เช่น อ่านครั้งแรกหลงรักคนเขียน อ่านครั้งที่ 2 เริ่มไม่รักคนเขียน แต่ก็ยังอ่านครั้งที่ 3 อ่านจบอยากเจอคนเขียนและบอกว่าที่เธอเขียนนั้นฉันไม่เห็นด้วย ;-)  แต่บางเล่มยิ่งอ่านตอนสูงวัยยิ่งซาบซึ้ง

คุณครูแอ๊ว ขอบคุณมากครับ

          ได้นำไปเพิ่มในข้อที่ 14 แล้วครับ....ทำแบบนี้ประหยัดตังค์ดี เอาไว้ไปซื้อเล่มอื่นอ่าน ^__^

อือม์ หลากสไตล์การอ่านจริงๆค่ะ

สำหรับดิฉัน แต่ละเล่มมักใช้เวลาอ่านหลายรอบเชียวค่ะ

อ่านแล้วจะขีดเขียนในหนังสือไปด้วย ส่วนไหนที่คิดว่าอ้างอิงได้ หรือน่าสนใจ จะนำมาเขียนหัวข้อ และเลขหน้าไว้ในปกใน

เวลาจะอ่านใหม่จะได้ไม่เสียเวลาค้นไง อิอิ

สวัสดีวันกลางสัปดาห์นะคะ

สวัสดีครับ พี่ต๋อย

       เรียบร้อยครับ เข้าไปอยู่ในสไตล์การอ่านข้อ 15 แล้ว เข้าใจว่าหลายคนเป็นเหมือนกัน อ่านแบบนี้เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ ตามที่เราอ่านครับ ^__^

คุณ Wanpen ครับ

          เป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย คือ ยิ่ง สว. ขึ้นเท่าไร ยิ่งจับผิดเก่งขึ้น...เพราะเห็นการลวงโลกมามาก (ฮา)

          ขอบคุณสำหรับมุมมองเด็ดๆ ครับ เข้าไปอยู่ในข้อ 16 แล้ว

คุณณัฐรดา สวัสดีครับ

         ละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ อ่านแบบนี้ เอาไว้ใช้งานในอนาคตด้วย เพิ่มเข้าไปในข้อ 17 แล้วครับ

         ขอบคุณมากครับ ^__^

หนังสือเรียนเนี่ย เก็บไว้บนหิ้งก่อนเลย แบบว่าไม่ต้องจุดธูป ปล่อยไว้ให้ปลวกมาอ่านมากินเป็นอาหารได้เลย แบบว่าผู้เขียนเขียนซะดีเหลือเกินไป

โดยปกติจะอ่านหนังสือที่ชอบและไม่ชอบจนจบเล่ม บางเล่มที่ไม่ชอบจริงก็เก็บไว้จนลืม กลายเป็นอาหารของปลวกเลยค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณอาบัญชา สบายดีไหมค่ะ

กรุงเทพอากาศเย็นสบายๆค่ะ เมื่อวานก็หนาวค่ะ โดยฌฉพาะตอนเย็นมีฝนโปรยพร้อมอากาศหนาวค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

แล้วจะมาเยี่ยมอีกค่ะ

ผมมีหลายสไตล์ เลยครับอาจารย์

สวัสดีค่ะพี่ชิว

  • ธารเมฆเคยเป็นเหมือนข้อ 10 ค่ะ บางเล่มหน้าปกสวยมากๆ เลยซื้อมาสะสมไว้ เปิดอ่านเบาๆ (ค่อยๆแง้มกลัวมันจะยับและเป็นรอยนิ้วมือค่ะ) อ่านครั้งเดียวแล้วนำขึ้นหิ้งสะสม
  • บางเล่ม อ่านไปก็ปลื้มไป ก่อนอ่านและหลังอ่านพกไว้อวดญาติพี่น้อง เพราะมี  ลายเซ็นของผู้แต่งอยู่ที่ใบรองปกค่ะ ^__^
  • ชอบ ถอดรหัสอัจฉริยะ เลโอนาร์โด ดาวินชี มากค่ะ อ่านทีเดียวจบเลย อ่านแล้วแอบเข้าข้างตัวเองนิดหน่อยว่าบางอย่างเราก็เหมือนดาวินชีเหมือนกันนะนี่ เช่น เป็นจอมProject แต่ทำไม่ค่อยจะสำเร็จ ,ตอนเล็กๆเคยโดนตีเพราะเขียนก.ไก่กลับด้าน ,เป็นมังสวิรัติที่ไม่ผอมแต่แข็งแรงมาก 555
  • สรุปว่าเค้าฉลาดสุดๆเลยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ^______^

สว้สดีค่ะคุณบัญชา

ดีจังค่ะได้นึกได้สังเกต ตั้งแต่อ่านหนังสือมา แต่ละเล่มเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้กานดาเองก็มีปัญหา กับการตั้งใจทำหนังสือเผยแพร่เพื่อสุขภาพ เล่มเล็กๆ แต่ก็มีคนเข้าใจมากกว่า คนต่อว่าค่ะ แต่ก็เสียใจมากที่เขาว่าทั้งๆที่ส่วนหนึ่งก็ทำเพื่อเขาจะได้ขายมะพร้าวมากขึ้นและน้ำมันที่เขาผลิตขาย ก็ไม่ทราบว่าเขาอ่านของเราจบหรือเปล่า ว่าหนังสือทำขึ้นมาเพื่ออะไร

***** ต่อ บางเล่ม นะคะ บางเล่มทุกเล่ม อ่านแล้ว ต้องเก็บอย่างดี ถ้าใครยืมไป ไม่คีนก็ต้องตามคีน คือ หนังสือที่เกี่ยวกับในหลวงของเรา มีเล่มหนึ่งนะคะ จะตรงกับ ข้อ 1 6 8 ชื่อ พระราชอารมณ์ขันจาก วังสวนจิตรฯ ได้ทราบเรื่องราวของพระองค์ เวลาพระองค์เยี่ยมประชาชน อ่านแล้วอารมณ์ดี อ่านไปยิ้มไป เวลาไม่สบายใจอ่านก็หายเครียด โดยเฉพาะ เรื่องของสมเด็จพระเทพฯ บางเรื่องหัวเราะเลยค่ะ อยากให้คนไทยที่พอซื้อได้ซื้อเก็บไว้อ่าน มีสูตรขนมจีนน้ำยา อาหารทรงโปรด ของ รัชกาลที่ 5 หมูหวาน ด้วยค่ะ หนังสือเล่มนี้ เขียนโดย วิลาศ มณีวัต ไม่ทราบพิมพ์เพิ่มอีกหรือไม่ครั้งแรกปี 2547 ครั้งที่3 2549 เป็นหนังสือยอดเยี่ยมมากค่ะ จะบอกหมายเลขที่จัดจำหน่ายนะคะ 02 2259536-9 สายส่งศึกษิตบริษัทเคล๊ดไทย ตรงข้ามวัดราชบพิตร ไม่แน่ใจว่าตามร้านหนังสือยังมีวางขายหรือไม่ ราคาเล่มละ 250 บาท มี 304 หน้า กระดาษถนอมสายตา เผื่อมีใครสนใจ สอบถามดูนะคะ

น้อง berger

          ใช้ตำราเรียนเลี้ยงปลวก อย่างนี้ปลวกที่บ้านก็ฉลาดสิครับ 555

คุณตาหยู

        มีสไตล์อื่นที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกนี้ไหมครับ

น้องธารเมฆ

         เขียน ก.ไก่ กลับด้าน ไม่ได้เป็น dyslexia แน่นะ?

คุณกานดา

         หนังสือ อารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ นี่เป็นหนึ่งในเล่มโปรดของผมทีเดียวครับ อ่านไปหลายรอบเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท