ควรทำอย่างไรเมื่อถูกขอร้องให้การุณยฆาต(Mercy Killing)?(ตอนที่ 2)


มียาอะหยังก่อ ตี่หื้อเปิ่นกิ๋นแล้วก็หลับสบายๆไปอี้แหนะ...เปิ่นทรมานล้ำ

  

กับคำถามของผู้ดูแลคนไข้ (Caregiver) ซึ่งต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยที่ไม่รู้สติ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในทุกกิจกรรม ตั้งแต่อยู่ที่โรงพยาบาลมาจนนำกลับไปดูแลต่อที่บ้าน มาก็นานพอดู...ถ้านับตั้งแต่เริ่มได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่สมอง มาก็ปีกว่าแล้ว โดยเฉพาะที่หนักจริงๆ นอนไม่รู้สติอยู่กับเตียงก็กว่า 9 เดือนแล้ว...จึงเป็นที่มาของโจทย์คำถามที่ทางทีมฯเราได้รับ...ติดตามเรื่องราวเบื้องหลัง ได้ที่ ควรทำอย่างไรเมื่อถูกขอร้องให้การุณยฆาต(Mercy Killing)?(ตอนที่ 1)

จากเวที KS ของเรา  มีคำแนะนำสรุปได้ว่า...

1.เปิดโอกาสให้ผู้ดูแล ได้บอกเล่า แสดงความคิด ความรู้สึกในประเด็นเหล่านี้ออกมาให้เต็มที่  พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ...

2.ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกับผู้ดูแลว่า ในวิชาชีพด้านสุขภาพและแนวคิดของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น เรายึดหลักการดูผู้ป่วยให้มีความทุกข์ทรมานจากอาการรบกวนต่างๆให้น้อยที่สุด พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ในระยะเวลาที่เหลือได้อย่างมีความสุขเท่าที่จะทำได้  ส่วนเรื่องการตายนั้น  ให้เป็นไปโดยกลไกธรรมชาติของร่างกาย ไม่มีแนวคิดที่จะเร่งรัดหรือเหนี่ยวรั้งกระบวนการเข้าสู่ความตายที่เกินไปกว่าธรรมชาติจะดำเนินไปของมันเอง

3.สรุปว่า ไม่ว่าตามหลักกฎหมายของไทยในปัจจุบัน หรือตามหลักการทางพุทธศาสนาที่ผู้ป่วยและครอบครัวยึดถืออยู่ ก็ไม่สนับสนุนให้สามารถทำเช่นนั้นได้

4.นอกเสียจากว่า ผู้ป่วยรายนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น มีการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เราอาจตัดสินใจร่วมกันกับญาติผู้ที่ตัดสินใจได้ทั้งหมดว่า จะรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือไม่ เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น จะทำการกู้ชีพหรือเปล่า และอย่าลืม! บันทึกข้อตกลงนั้นไว้เป็นหลักฐาน นะคะ

5.ติดตามการดูแลที่บ้าน ให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อคอยสนับสนุน ให้กำลังใจ และคอยประคับประคองการดูแลผู้ป่วยรายนี้ให้ดี และเหมาะสมที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนั้นยังมีความเห็นดีๆจาก ท่านศุภรักษ์  และคุณหมอโรจน์ ใน ตอนที่ 1 ด้วยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 310552เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • การรับฟังอย่างตั้งใจ การให้กำลังใจอย่างมีเมตตา และการใช้วาจาแห่งรัก นับเป็นหลักพื้นฐานสำคัญยิ่งของการดูแลผู้ป่วย
  • ดีใจที่เห็นชาว รพร.ปัว ได้มีวง Share and Learn กัน ที่จะให้เกิดปัญญาแตกฉาน และที่สำคัญเกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท