Backward Design


การเรียนการสอนแบบ Backward Design

รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Backward  Design 

1. หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ

                รูปแบบการเรียนการสอนแบบ Backward  Design มี Grant Wiggins และ Jay Mc Tighe เป็นผู้เผยแพร่ขึ้นในปี ค.ศ. 1998 โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการเรียนรู้ที่พึงประสงค์ โดยกำหนดหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียนที่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แล้วจึงออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและหลักฐานที่กำหนดไว้

2. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ

                1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและได้แสดงความรู้ ความสามารถนั้นตามหลักฐานการแสดงออกและกิจกรรมการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่กำหนดไว้

                2. เพื่อให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความสอดคล้องระหว่างกิจกรรมการเรียนการสอนและเป้าหมายที่ต้องการ

3. ขั้นตอนการออกแบบการจัดการเรียนรู้

                3.1 กำหนดความรู้ความสามารถของผู้เรียนที่ต้องการให้เกิดขึ้น (Identify desired results) โดยพิจารณาว่าในหน่วยการเรียนรู้นั้น ๆ ผู้เรียนควรรู้อะไร มีความเข้าใจในเรื่องใด และทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คงทน (Enduring understandings) ติดตัวผู้เรียนเป็นเวลานาน โดยจัดลำดับเนื้อหาให้เป็นไปตามลำดับตั้งแต่

                    1. ความรู้ที่ต้องการให้นักเรียนอ่าน ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหน่วยการเรียนรู้นั้นเพิ่มขึ้น

                   2. ความรู้ หลักการและทักษะที่สำคัญในหน่วยการเรียนรู้นั้น เพื่อให้มีความรู้ความสามารถตามที่กำหนดไว้

                   3. ความคิดหลักหรือหลักการสำคัญที่ต้องการให้เป็นความรู้ที่คงทน (Enduring understanding) ซึ่งมีหลักในการพิจารณาดังต่อไปนี้

                      - เป็นประเด็นหลักที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ได้

                      - เป็นความรู้/กระบวนการ ที่เป็นส่วนสำคัญของหน่วย ซึ่งผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเองโดยผ่านกิจกรรมที่ผู้สอนจัดให้อย่างเป็นกระบวนการ

                      - เป็นความรู้/กระบวนการ ที่เป็นนามธรรม เรื่องยาก ซับซ้อน และเป็นส่วนสำคัญของหน่วย

                      - เป็นความรู้/กระบวนการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ ตามความสนใจของผู้เรียน เพื่อให้สามารถถ่ายโยงไปสู่เรื่องที่สนใจอื่น ๆ

                3.2 กำหนดหลักฐานของการเรียนรู้ที่ชัดเจนและยอมรับได้ (Determine acceptable evidence of learning) ตามที่กำหนดไว้ใน 3.1 โดยใช้วิธีการประเมินที่หลากหลายและต่อเนื่องเป็นระยะ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ต้องพิจารณาความเหมาะสมในการใช้เครื่องมือประเมินกับเป้าหมายที่ต้องการด้วย โดยมีข้อควรพิจารณาดังนี้

                  1. หลักฐานของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะแสดงออกมาโดย

                     - การพูด เช่น การพูดเล่าเรื่อง พูดอธิบายเรื่องราว เหตุผล ขั้นตอนต่าง ๆเป็นต้น

                     - การเขียน เช่น การเขียนบันทึก เขียนจดหมาย เขียนเรียงความ เขียนคำประพันธ์ เป็นต้น

                     - การปฏิบัติและการแสดงออกได้แก่ การเลือก/การตัดสินใจ การวางแผนปฏิบัติงาน เช่น การดูแลตนเอง การใช้และเก็บรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆเป็นต้น การปฏิบัติและการแสดงออกในการเรียนรู้ เช่น การค้นคว้า การแสวงหาและเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เป็นต้น

                  2. วิธีการประเมิน เนื่องจากเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาเพิ่มพูน จึงเน้นการประเมินตามสภาพจริง โดยใช้เทคนิคที่หลากหลายและต่อเนื่อง ได้แก่ การเลือกตอบ การตอบคำถามสั้น ๆ การเขียนแบบอัตนัย การประเมินผลการปฏิบัติภายในโรงเรียนและในชีวิตจริง การประเมินแบบต่อเนื่อง

                  3. เกณฑ์การประเมิน เนื่องจากเป็นการประเมินตามสภาพจริงจึงควรใช้เกณฑ์ (Rubric) ให้สอดคล้องตามธรรมชาติสาระและลักษณะกิจกรรม

              3.3 ออกแบบการจัดการเรียนรู้ (Plan learning experiences and instruction) โดยกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                 1. กำหนดหลักฐานการแสดงออกว่า ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะและจิตพิสัย ตามเป้าหมายที่กำหนด

                 2. กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย

                 3. กำหนดสื่อ อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม

                 4. กำหนดเวลาที่ใช้ในการพัฒนาผู้เรียน

                 5. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญคือ

                   - กำหนดชื่อหน่วยการเรียนรู้ ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนและสังคม เหมาะสม/สอดคล้องกับระดับการศึกษาของผู้เรียน

                  - กำหนดความเข้าใจที่คงทน ที่ต้องการให้เป็นความรู้ ความเข้าใจติดตัวไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ เขียนได้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรกเป็นแบบความเรียง โดยเขียนในลักษณะสรุปเป็นความคิดรวบยอด กระบวนการ ความสัมพันธ์ และสรุปเป็นหลักเกณฑ์ หลักการ  อีกรูปแบบหนึ่งก็คือแบบคำถามโดยเขียนในลักษณะคำถามรวบยอด

                  - กำหนดความคิดรวบยอดย่อย (Concepts) เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามหน่วยที่กำหนดโดยแต่ละConcept ให้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกันอย่างกลมกลืน

                  - กำหนดความรู้และทักษะเฉพาะวิชา (Subject-specific standard) ที่เป็นความรู้ และทักษะวิชาของแต่ละConcept

                  - ตรวจสอบความสอดคล้องของความรู้และทักษะเฉพาะวิชา ของแต่ละConceptกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                  - กำหนดทักษะคร่อมวิชา (Trans-disciplinary skills standards) ที่ต้องใช้ในการจัดการเรียนรู้ เป็นทักษะซึ่งสามารถนำไปใช้ได้หลายวิชา

                  - กำหนดจิตพิสัย (Disposition standards) ของหน่วยการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน

                  - กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ให้เหมาะสม สอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้

                  - กำหนดหลักฐานที่แสดงถึงความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนตามความเข้าใจที่คงทน จิตพิสัย ทักษะคร่อมวิชา  ความรู้และทักษะเฉพาะวิชาที่กำหนด ทั้งนี้ควรออกแบบการประเมินผลให้เหมาะสมด้วย

                  - จัดลำดับหลักฐานการแสดงออกของผู้เรียนให้เป็นลำดับที่เหมาะสม การประเมินผลที่จัดรวมกันได้ก็ควรจัดไว้ด้วยกันในแต่ละลำดับ

                  - ออกแบบการจัดการเรียนรู้ โดยนำการประเมินที่จัดลำดับไว้ มากำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อ/อุปกรณ์/แหล่งเรียนรู้ และเวลาในแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสม

                  - จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยนำผลการออกแบบการจัดการเรียนรู้ข้างต้นมาจัดทำแผน ทั้งนี้ให้เขียนผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามความรู้ และทักษะเฉพาะที่กำหนดในConcept แต่ละConcept

                  - ตรวจสอบความเหมาะสมของการออกแบบการจัดการเรียนรู้

                  - นำผลการออกแบบการจัดการเรียนรู้ไปจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

4. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ตามรูปแบบ

                ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ จิตพิสัย มีความเข้าใจที่คงทน โดยผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นระบบ และสามารถเชื่อมโยงความรู้/ทักษะที่ได้ไปสู่เรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนสนใจ ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมและสรุปองค์ความรู้ที่ได้เอง

5. แนวทางในการนำไปใช้

            1. นำแนวความคิดในการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ไปใช้ในการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้เป็นของตนเอง

            2. ในการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ต้องคำนึกถึงทฤษฎี หลักการ แนวคิด เทคนิค รวมทั้งวิธีการต่าง ๆที่ผ่านการทดลองใช้มาแล้วและได้ผลเป็นที่ประจักษ์

            3. นำรูปแบบการเรียนรู้ที่ศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้

ขั้นตอนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ สามารถสรุปการออกแบบตามวิธีการ Backward  Design ได้ดังนี้

ประเด็นหลัก

ข้อคำนึงในการออกแบบ

เกณฑ์ในการกลั่นกรอง

ผลงานการออกแบบ

ขั้นตอนที่ 1 เป้าหมายที่พึงประสงค์

- มาตรฐานชาติ

- มาตรฐานพื้นที่

- ประเด็นท้องถิ่น

- ความชำนาญและความสนใจของครู

-แนวคิดที่ผู้เรียนจะนำไปใช้ได้อย่างยั่งยืน

- โอกาสที่จะทำโครงงานตามสาระนั้น

-โอกาสที่จะเรียนรู้ในสภาพจริง

-ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ

หน่วยการเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจที่ยั่งยืนและกระตุ้นให้คิดในประเด็นหลัก

ขั้นตอนที่ 2 หลักฐานที่แสดงว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมาย

- ความเข้าใจ 6 ด้าน

- การประเมินผลที่ต่อเนื่องกันในหลากหลายรูปแบบ

- ความตรงประเด็น

-ความเที่ยงตรง

-ความเป็นไปได้

-ความพอเพียง

-สภาพความเป็นจริง

-เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

หน่วยการเรียนที่คำนึงถึงหลักฐานของผลการเรียนที่เน้นความเข้าใจและเป็นหลักฐานที่มีคุณภาพมาตรฐานตามหลักวิชา

ขั้นตอนที่ 3 กิจกรรมการเรียนการสอนที่สร้างเสริมความเข้าใจและความเป็นเลิศ

- ยุทธศาสตร์การเรียนการสอนที่วางอยู่บนพื้นฐานการค้นคว้า งานวิจัย

-เนื้อหาสาระและทักษะที่จำเป็นและเอื้อต่อการเรียนอื่น ๆ

วิธีการที่ใช้ชื่อย่อว่า WHERE

-Where จะสู่เป้าหมายอะไร

-Hook จะตรึงผู้เรียนได้อย่างไร

-Explore/Equip จะช่วยผู้เรียนให้มีความพร้อมที่จะแสวงหาความรู้อย่างไร

-Rethink จะทบทวนอย่างไร

-Evaluate/Exhibit จะประเมินผลและนำเสนอผลงานอย่างไร

หน่วยการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดประสานกันเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ ความสนใจ และความเป็นเลิศของผู้เรียน

แหล่งอ้างอิง

ดร.เฉลิม ฟักอ่อน. การออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเทคนิค Backward Design. 2550.  บทความ

ราศีไศล, โรงเรียน. รายงานการวิจัยเรื่องการจัดการเรียนรู้เรื่อง Travel โดยใช้รูปแบบ                

          Backward Design เทคนิค WHERETO  และวิธีการเรียนรู้แบบร่วมมือ ชั้นมัธยมศึกษาปี

          ที่ 3.  2550.  ศรีสะเกษ

ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา.  การพัฒนาข้าราชการครูเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ เป็นครูชำนาญ

          การพิเศษ ครั้งที่ 2 กรณีพิเศษ.  ก.ค.ศ.  สำนักงาน. 2550.  กรุงเทพ

คำสำคัญ (Tags): #backward design
หมายเลขบันทึก: 309345เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2009 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคุณ sunee sunmud เห็นชื่อนามสกุลคุ้นๆ เข้ามาทักทาย คงได้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันทางความคิด ยินที่รู้จักครับท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท