สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
สสท. สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สันนิบาตสหกรณ์ฯ องค์กรสูงสุดของขบวนการสหกรณ์

พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย (พระราชวรเธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ)


พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ

พระประวัติพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ

pic

    พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯบวรวิไชยชาญ และจอมมารดาเลื่ยม (เล็ก) ประสูติในพระราชวัง ณ. วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2419 ตรงกับวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด มีพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (ต้นสกุล "รัชนี")     กรมพระราชวังบวรฯ ทิวงคต เมื่อพระองค์รัชนีพระชนมายุได้ 7 ปี หน้าที่เลี้ยงดูอบรมท่านจึงตก เป็นของคุณจอมมารดาโดยลำพังตลอดมา เป็นพระกุศลที่ท่านทรงมีคุณลุงคุณน้าและพระญาติวงศ์ใกล้ชิด ผู้ เป็นข้าราชการคนสำคัญ ๆ สมัยนั้นเป็นผู้ช่วยคุณจอมมารดาแนะนำให้พระองค์ชายได้รับการศึกษาดีที่สุด ที่จะดีได้     เมื่อ พ.ศ. 2429 พระองค์รัชนีได้เสด็จเข้าเป็นนักเรียนประจำ ณ. โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว สำหรับให้เป็นสถานศึกษา แก่เจ้านายและบุตรข้าราชการสมัยนั้น ทรงเรียนอยู่จนพระชันษา 13 ปี จึงทรงสอบไล่ประโยค 1 ได้ ซึ่งท่าน ทรงเรียนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษไปด้วยกัน     เมื่อโสกันต์ (อายุ 13 ปี) แล้วก็เลยทรงผนวชเณร ณ. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สมเด็จ พระสังฆราช (สา) ปุสสะเทวะ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับประจำพรรษาอยู่วัดนั้นจนทรงผนวช     ทรงสอบไล่ประโยค 2 เมื่อ พ.ศ. 2434 ทรงได้ที่ 1 ในพวกที่สอบสำเร็จปีเดียวกันและได้ทรงรับ พระราชทานรางวัลเป็นหีบหนังสือ เมื่อทรางสำเร็จวิชาจากโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว พระชันษายังน้อยเกินที่จะ รับราชการ จึงเสด็จเข้าเรียนภาษาอังกฤษต่อที่สำนักเรียนอื่นอีกแห่งหนึ่ง     จนพ.ศ. 2436 ได้เสด็จเข้ารับราชการในตำแหน่งนายเวรกระทรวงธรรมการ แล้วได้ทรงเลื่อนขึ้น เป็นผู้ช่วยในกรมศึกษาธิการใน พ.ศ. 2438 ทั้งได้ทรงรับหน้าที่พิเศษเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชาหนังสือภาษาไทย ครั้งหนึ่งทรงเป็นกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความแพ่งด้วยอีก หน้าที่หนึ่ง ในระหว่างที่ทรงรับ ราชการในกระทรวงธรรมการนั้น ทรงสนพระทัยแสวงหาความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอยู่เสมอ โดย กระทำพระองค์ให้ใกล้ชิดสนิทสนมกับที่ปรึกษาและข้าราชการที่เป็นชาวอังกฤษ ทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ การวางพระองค์เช่นนี้เป็นทางเพิ่มพูนความรู้ทั้งทางด้านภาษาและขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวอังกฤษเป็น อย่างดียิ่ง จนพระองค์สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยเหตุนี้จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้ารัชนีจากกระทรวงธรรมการ มาเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 1สิงหาคม พ.ศ. 2439     ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2440 พระองค์เจ้ารัชนีทรงย้ายมามีตำแหน่งเป็นล่ามที่กระทรวงพระคลัง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 7 เมษายน ปีนั้น แล้วได้ รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จอยู่ทรงเล่าเรียนต่อไปในประเทศอังกฤษ วันที่ 23 พฤษภาคม พระองค์เจ้ารัชนีได้กราบถวายบังคมลาแยกทางจากขบวนเสด็จไปศึกษาที่ลอนดอน ผู้ดูแลนักเรียนหลวงจัดให้ ท่านไปเรียนอยู่กับแฟมมิลี่ได้เพียง 6 เดือน ก็ทรงสอบคอเลชออฟพรีเซ็ปเตอร์ภาค 1 ได้ ในเดือนธันวาคม ปีนั้น ครูแนะนำว่าท่านควรเรียนเข้าสอบเลชออฟพรีเซ็ปเตอร์ภาค 2 หรือมิฉะนั้นเข้าโรงเรียนเอกชน (Public School) แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วย ทรงประสงค์จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พระองค์ท่านทรงใช้เวลา เตรียมอยู่ 5 เดือน และทรงสอบไล่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พระองค์เจ้ารัชนีทรงโปรดกีฬา ท่านจึงไดัทรงเล่นกีฬาอย่างเต็มที่ ท่านได้ทรงเรียนและเล่นไปพร้อมกันตลอดเวลาที่ประทับอยู่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์รวมเวลา 3 เทอม ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ      เสด็จถึงกรุงเทพฯ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2442 ล่วงไป 3 วัน เสนาบดีก็รับสั่งเรียกให้พระองค์ เจ้ารัชนีเข้ารับราชการ นัยว่ากระทรวงพระคลังมหาสมบัติสมัยนั้น กำลังเตรียมขยายงานกันขนานใหญ่ตำแหน่ง และหน้าที่ราชการกำลังคอยท่านอยู่ พระองค์ได้เสด็จเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรมตรวจและกรมสารบาญชี ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ     วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2444 ได้ทรงย้ายไปมีตำแหน่งเป็นปลัดกรมธนบัตร เป็นเวลาที่กระทรวง พระคลังเริ่มดำริที่จะจัดพิมพ์ธนบัตรออกใช้แทนเงินตรากษาปณ์เป็นครั้งแรก พระองค์เจ้ารัชนีจึงได้รับมอบ ให้จัดตั้งระเบียบราชการในกรมใหม่นั้นขึ้น ได้ทรงเป็นแม่กองปรึกษากันในการคิดแบบ ลวดลาย และสีของ ธนบัตรแต่ละชนิดธนบัตรที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนั้น มีอัตราใบละ 1,000 บาท 100 บาท 20 บาท 10 บาท 5 บาท จ้างพิมพ์จากต่างประเทศ ส่วนอัตรา 1 บาท ยังคงใช้เหรียญกษาปณ์อย่างเดิม     ต่อจากวันเปิดกรมธนบัตรได้ 5 เดือนเศษ พระองค์เจ้ารัชนีก็ทรงเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้แทน เจ้ากรมธนบัตร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446     วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2446 ได้ทรงย้ายสังกัดจากกรมธนบัตร ไปทรงเป็นเจ้ากรมกองที่ปรึกษา อีกครั้งหนึ่ง เสด็จอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ 14 เดือน ก็ต้องทรงย้ายไปรับราชการแผนกอื่นอีกแผนกหนึ่ง ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2447 คือ ตำแหน่งอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ความมุ่งหมายอันสำคัญของราชการในกรม กษาปณ์ คือการจัดงานและการควบคุมการทำเหรียญตรากษาปณ์ให้มีปริมาณมากพอ ทรงจัดระเบียบงานใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การควบคุม ทรงแบ่งงานออกเป็น 6 กอง 1. กองอธิบดี 2. กองแยกธาตุ 3. กองหลอม 4. กองทำตัวเหรียญ 5. กองตีตรา 6. กองเครื่องจักร กองแยกธาตุนั้นทรงจัดขึ้นใหม่แทบทั้งหมด เช่นสั่งซื้อ เครื่องมือ เครื่องยาเคมี และเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับใช้ในการตรวจธาตุทองคำ แยกธาตุเงินและแยกธาตุโลหะ อื่นๆ ในการมใช้ทำเหรียญกษาปณ์เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่เก่าพ้นสมัยใช้การไม่ สะดวก ก็ทรงหารือผู้เชี่ยวชาญ ให้จัดแก้ไข หรือมิฉะนั้นก็จัดซื้อมาใหม่ เช่นเตาหลอมเงิน เดิมใช้เตาเผาด้วยถ่านโค้ก ซึ่งเปลืองค่าใช้จ่าย (เพราะ ถ่านโค้กราคาแพง) เปลืองเวลา และเปลืองแรงงานมาก ก็สั่งซื้อเตาที่ใช้น้ำมันมาแทน ซึ่งมีกำลังความร้อนมากกว่า เตาเก่า ทำให้เงินสะสมละลายเร็ว ทุ่นเวลา ทุ่นแรงงาน ทุ่นค่าใช้จ่าย และที่สำคัญคือ ทุ่นเนื้อเงินที่สูญไปอีกชั้นหนึ่งด้วย     การแกะตราเหรียญกษาปณ์ แต่ก่อนใช้มือแกะ นายช่างย่อมแกะให้เหมือนกันทุกครั้งไม่ได้ ก็ได้ทรง จัดสั่งซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับแกะตราอย่างทันสมัยเข้ามาใช้ เพิ่มความประณีต ทำให้ลวดลายของ ตราเหมือนกันทุกครั้ง     เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัสจาก ตำหนักอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ มาเป็นอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี พระองค์ท่านทรง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจ และกรมสารบาญชี ซึ่งเป็นกรมใหญ่ และสำคัญกรมหนึ่งในกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ 5 และทรงอยู่ในตำแหน่งเดิมนั้นต่อไปอีก 5 ปี ในรัชกาลที่ 6     รวมเวลาที่พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงรับราชการในรัชการที่ 5 เป็นเวลา 17 ปี จนมีพระชันษาได้ 33 ปี ใน พ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นปลายรัชกาล      ใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระองค์ เจ้ารัชนีแจ่มจรัสเป็น องคมนตรี ได้ทรงรับพระราชทานสัญญาบัตรองคมนตรีเป็นลำดับที่ 19 ในองคมนตรี ทั้งสิ้นรวม 233 ท่าน      เนื่องด้วยพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงประกอบด้วยคุณงามความดี ทรงมีพระสติปัญญา สามารถ ในราชการทั้งทรงความรู้แตกฉานในทางอักษรศาสตร์ทั้งภาษาไทย และต่างประเทศ ทรงเป็นจินตกวี มีโวหารวิเศษ สมควรทรงพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ฝ่ายพระราชวังบวร เชิดชูพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญพระองค์หนึ่ง จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้สถาปนาพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์ เจ้ารัชนีแจ่มจรัสขึ้นเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น พิทยาลงกรณ มุสิกนามทรงศักดินา 11,000 ไร่ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระราชวังบวร จงทรงพระเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริ สวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผล มโหฬาร ทุกประการในปี พ.ศ. 2456
กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับงานสหกรณ์
      ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 ธนาคารจีนล้มละลายลง การค้าขายติดขัด เมื่อเสนาบดีกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติ ทรงทราบความเดือดร้อนของเหล่าพ่อค้า จึงทรงเรียกหัวหน้าธนาคารต่างๆ มาสอบถามกรณีเหตุ แล้ววินิจฉัยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยพยุงการค้าขายของบ้านเมืองไว้ เมื่อนำข้อวินิจฉัยนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ช่วย เมื่อได้รับพระบรมราชโองการสั่งดังนั้นจึงได้มีการดำริ จัดตั้งกรมน้อยขึ้น มีเจ้ากรมเป็นหัวหน้าขึ้นใน กระทรวงพระคลัง สำหรับเป็นหนทางที่จะเริ่มต้นจัดการแผนกพาณิชย์ ให้ชื่อว่า " กรมสถิติพยากรณ์" ในชั้นต้น จัดวางหน้าที่ของกรมเป็น 4 อย่าง 1. การทำสถิติ 2. การรวมข่าวพาณิชย์ 3. การตั้งสถานจำแนกความรู้ทาง พาณิชย์ 4. การอุดหนุนอุตสาหกรรม ได้นำความขึ้นถวายบังคมทูล และได้รับพระบรมราชานุมัติให้จัดตั้งกรม ดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2457
      เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2458 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสถิติพยากรณ์ ขึ้นเป็น กรมบัญชาการขึ้นมีอธิบดีเป็นหัวหน้า อยู่ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีนามว่า "กรมพาณิชย์ และสถิติ พยากรณ์" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นอธิบดีแห่งกรมนั้น      หลังจากที่ กรมพาณิชย์ และสถิติพยากรณ์ ได้เริ่มจัดงานสำคัญขึ้นอีกแผนกหนึ่ง ด้วยคำนึงว่า ชาวนาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกรมพาณิชย์ เพราะข้าวเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ ตราบใดชาวนามีหลักฐาน ดีในการทำนาตราบนั้นความมั่งคั่งของประเทศย่อมแน่นแฟ้น แต่ชาวนาของเราโดยมากหนี้สินล้นพ้นตัว ทำนาได้ ข้าวมาก น้อยเท่าใด ก็ต้องจำหน่ายออกใช้หนี้เสียเกือบหมด ยังผลแห่งความเหน็ดเหนื่อยให้ตนเองเพียงเล็กน้อย ถึงกระนั้นหนี้สินก็ยังพอกพูน กรมพาณิชย์ฯ เห็นว่าการช่วยกู้ฐานะชาวนาให้พ้นอุปสรรคนั้นมีวิธีเดียว แต่วิธีจัด ตั้งสหกรณ์ซึ่งรวมเข้าในวิธีการส่วนหนึ่งในการอุดหนุนพาณิชย์ของประเทศด้วย      แต่สหกรณ์เป็นงานใหม่ จำเป็นต้องค้นคว้าหาความรู้เอาเยี่ยงอย่างของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แล้วนำ มาอนุโลมใช้ให้ถูกกับฐานะแห่งภูมิประเทศของเรา ต้องใช้ความรอบคอบเป็นอันมากในการจัดระเบียบข้อบังคับ และกฏเกณฑ์ต่างๆ กับทั้งต้องเตรียมหาเจ้าพนักงานให้คอยควบคุมตรวจบัญชี และส่งเงินที่สมาคมสหกรณ์ ยืมไป ทั้งคอยแนะนำวิธีการต่างๆ เป็นต้น การประชุมและหลักการทั่วๆ ไป ซึ่งสมาชิกยังใหม่ต่องานอาจพลาด พลั้งได้ง่าย      เมื่อกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ผู้ทรงเป็นอธิบดีและนายทะเบียนสหกรณ์ของกรมพาณิชย์ฯ และสถิติ พยากรณ์ จึงทรงสรรหาเจ้าพนักงานให้เหมาะแก่งานชนิดใหม่นี้ เพิ่มจำนวนชั้นจากที่มีอยู่เดิม ชั้นต้นทรงขอ ข้าราชการจากกระทรวงกรรมการได้มาสองสามคน ภายหลังจึงประกาศเรียกผู้ที่จะสมัครรับราชการแผนกนี้ เข้าสอบไล่แข่งขัน ความมุ่งหมายคือให้ได้คนที่มีระดับความรู้เท่าที่ต้องการและให้มีอัธยาศัย สติปัญญาเหมาะแก่ การที่จะควบคุมงานสหกรณ์ เมื่อผู้สอบเข้าสอบวิชาเขียนเสร็จแล้ว อธิบดีเองเป็นผู้สอบวิชาพูด ทรงซักถาม ด้วยพระองค์เองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งทรงสอดส่องสังเกตกิริยาและความไหวพริบ จนเป็น ที่แน่พระทัยแล้ว จึงประทานคะแนน ปรากฏผลการสอบแข่งขันครั้งนั้นว่า ได้คนดีที่เหมาะแก่งานมาทุกคน แต่ละ คนเป็นผู้สุจริตและภักดีต่อราชการเป็นที่ตั้ง อนึ่งการสอบไล่แข่งขันในการหาคนเข้ารับราชการนั้น เข้าใจว่า ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทางราชการดำริขึ้น เมื่อคัดได้คนดีสมกับงานแล้วก็เป็นการสะดวกแก่การอบรมให้รู้จัก วิธีของสหกรณ์      พ.ศ. 2459 เป็นปีแรกที่เริ่มทดลองจัดตั้งสหกรณ์ ได้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นตัวอย่าง ก่อน ต่อมาได้จัดขึ้นที่อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และที่อำเภอบางปะอิน ในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา รวมสหกรณ์ที่ได้จัดตั้งขึ้น 60 สมาคม ในระหว่าง 4 ปีที่ได้จัดสหกรณ์ขึ้นทดลองนั้น ปรากฏชัดว่า สหกรณ์เป็นงานที่จัดขึ้นได้โดยสะดวก เพราะคนไทยเป็นคนที่เรียนรู้ของใหม่ได้เร็ว ประกอบด้วยความซื่อสัตย์ ต่อกันและกัน มีคุณความดีทุกประการที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการตั้งสหกรณ์ ให้มีผลดีแก่พลเมืองผู้เป็นชาวนา กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ได้รับความรู้เช่นนั้น จึงได้วางหลักการตั้งสหกรณ์ให้แพร่หลายไปในพระราช อาณาจักร นอกจากนั้นสหกรณ์ยังมีประโยชน์ช่วยการปกครองอีกด้วย เพราะสมาชิกสหกรณ์แต่ละสมาคม ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าสมาชิกคนใดไปลักลอบเล่นการพนัน หรือประพฤติตนในสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ ควายของสมาชิกคนหนึ่งถูกขโมยสมาชิกคนอื่นๆ ก็ช่วยกันตามจับมาคืนได้ สมาชิกบางคนอ่านหนังสือไม่ออก ก็ขวนขวายเรียนจนอ่านออก เพื่อจะได้อ่านระเบียบการหรือรายงานการประชุม เป็นต้น เหตุฉะนั้น การจัดตั้ง สหกรณ์กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์จึงได้รวมไว้ในหน้าที่ที่จะจัดต่อไป เพราะเห็นประโยชน์แล้วหลายทาง      เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันและประเทศ ออสเตรียฮังการี คือสงครามโลกครั้งที่ 1 อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ผู้พิทักษ์ทรัพย์ของชนชาติศัตรู พระราชวรวงศ์เธฮกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเป็นอธิบดีอยู่ในกรมนั้น จึงต้อง ทรงรับหน้าที่นั้นโดยตำแหน่งก่อนวันประกาศสงครามราว 2-3 อาทิตย์บ้านของชนชาติศัตรูขณะนั้นมีไม่น้อย แม้ ไม่มากเท่าครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ทรัพย์เริ่มทำงาน โดยออกไปจดบัญชีทรัพย์สมบัติ ของแต่ละบ้านโดยละเอียด ลงบัญชีของแต่ละเจ้าของกว่างานจะเสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลานานเมื่อสิ้น สงคราม เซ็นสัญญาเลิกเป็นศัตรูกันแล้ว นายห้างเยอรมันหลายคนกลับเข้ามาเมืองไทย เมื่อตรวจดูบัญชีส่วนของห้างและ บัญชีส่วนตัวเสร็จแล้ว ต่างคนได้มาเฝ้าขอบพระเดชพระคุณ และขอบใจเจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ทรัพย์ สรรเสริญว่า ไม่มีประเทศใดจะพิทักษ์ทรัพย์ของพวกเขาโดยความเที่ยงธรรม เรียบร้อย และรอบคอบเหมือนประเทศนี้      เมื่อราชการผู้พิทักษ์ทรัพย์ค่อนข้างจะ เรียบร้อย งานด้านการพาณิชย์ก็เริ่มดำเนินต่อไปกรมพาณิชย์ฯ ได้ขยายงานกว้างขวางออกไปอีกหลายแผนก และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯประกาศตั้งกรมพาณิชย์ และสถิติพยากรณ์ขึ้นฐานะกระทรวง เรียกชื่อว่า "กระทรวงพาณิชย์" เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ให้อยู่ใน ความควบคุมของสภาเผยแพร่พาณิชย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยา ลงกรณ เป็นอุปนายกแห่งสภานั้น      กระทรวงพาณิชย์นั้นมีหน้าที่เป็นหน่วย ศูนย์กลาง เก็บข้อมูลมารวมกันขึ้นเป็นสถิติประจำเพื่อประโยชน์ แก่การค้าและเพื่อทราบสภาพแห่งการค้าประเภทต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร จึงมีพระบรมราชโองการดำรัส เหนือเกล้าฯ สั่งว่ากรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ในกระทรวงพระคลังเป็นกรมที่มีหน้าที่ตรง ต่อการเผยแพร่ พาณิชย์ ให้ยกกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นสู่ฐานะแห่งกระทรวง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของที่ประชุม ชื่อ สภาเผยแพร่พาณิชย์ และให้มหาอำมาตย์โทพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นอุปนายก      พ.ศ. 2464 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นรองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ ได้ทรงมีตำแหน่งในที่ประชุมเสนาบดีสภาตั้งแต่ พ.ศ. 2463 จนถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 อันเป็นการประชุมเสนาบดีครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 6      พ.ศ. 2465 สภานายกแห่งสภาเผยแพร่พาณิชย์ ได้มีรับสั่งให้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยา ลงกรณ ผู้เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ พร้อมด้วยมิสเตอร์ เลอเมย์ ที่ปรึกษา หลวงพิจารณ์พาณิชย์ และหลวง ประกาศสหกรณ์ ออกไปดูงานสหกรณ์ที่ประเทศพม่าและอินเดีย เป็นเวลา 5 เดือนเศษ เมื่อเสด็จกลับแล้ว ทรง เขียนรายงานเสนอ ต่อสภานายกโดยละเอียด ในเรื่องสหกรณ์แบบต่างๆ ที่เสด็จไปพิจารณา ทรงชี้แจงว่าสหกรณ์ ในสองประเทศนั้น มีประเภทใดบ้าง ควรนำมาจัดได้ในประเทศนี้ ก็ได้ทรงรายงานไว้ถี่ถ้วน ตอนหนึ่งในรายงานนั้น ทรงกล่าวว่า ประเทศเราเคราะห์ดีที่จัดสหกรณ์ด้วยความรอบคอบที่สุด และจัดทีหลังประเทศอื่นๆ แทบทั่วโลก ข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องสหกรณ์ เราจึงป้องกันได้ทุกทาง ด้วยทราบเยี่ยงอย่างความบกพร่องที่เกิด ขึ้นแก่สหกรณ์ประเทศนั้นๆ เช่น การควบคุมทางกฏข้อบังคับและทางกฏหมาย เป็นต้น ในที่สุดทรงยืนยันว่า สหกรณ์ที่จัดขึ้นในประเทศไทยนี้ไม่มีผิดพลาดอย่างหนึ่งอย่างใดเลย      วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นอุปนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครด้วยอีก ตำแหน่ง ใน พ.ศ. 2469 หอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้จัดรวมกรมศิลปากรเข้ามาไว้ และได้จัดหน้าที่ขึ้นใหม่ หลายแผนก เช่น แผนกวรรณคดี แผนกโบราณคดี และแผนกศิลปากร ได้เปลี่ยนนามจากหอพระสมุดสำหรับ พระนครเป็น "ราชบัณฑิตสภา" พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงรับตำแหน่งเป็น อุปนายกแผนก วรรณคดีแห่งราชบัณฑิตสภา      ในรัชกาลที่ 7 ได้มีการตัดรายจ่ายครั้งใหญ่ที่สุดในวงราชการทั่วไป สภาเผยแพร่พาณิชย์เป็นอันเลิก ให้กระทรวงคมนาคมมารวมกับพาณิชย์เรียกชื่อว่า "กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ย้ายมารับตำแหน่งราชการประจำที่ราชบัณฑิตสภาตั้งแต่นั้นมา เมื่อกรมหมื่นพิทยาลงกรณ พ้นจากตำแหน่งราชการกระทรวงพาณิชย์แล้ว หน้าที่เจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ ทรัพย์ศัตรูก็เป็นอันพ้นไปด้วย เพราะได้ทรงรับหน้าที่นั้นโดยตำแหน่ง ในฐานะที่ทรงเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และ สถิติพยากรณ์ ขณะนั้นประเทศไทยและประเทศเยอรมันได้เซ็นสัญญาใหม่กันอีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า "สัญญาระหว่าง สำนักงานตรวจและใช้หนี้ฝ่ายสยาม และฝ่ายเยอรมัน" รัฐบาลประเทศเยอรมันจึงได้ส่งข้อถามใหม่ ในเรื่องทรัพย์ สินบางข้อมาทางกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศส่งข้อถามนั้นไปที่กระทรวงพระคลัง กระทรวง พระคลังจึงส่งต่อมายังเจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ทรัพย์ศัตรูเดิมซึ่งพ้นหน้าที่ ไปนานแล้วแต่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ไม่สามารถที่จะค้นหาบันทึกสำหรับตอบข้อถามนั้นๆ ได้โดยตามลำพังเพราะข้าราชการรุ่นนั้นรับราชการอยู่ในกรม สหกรณ์ที่กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พระองค์ท่านไม่มีอำนาจจะเรียกมาช่วยได้ในเวลาราชการซึ่งอยู่คนละ หน้าที่กัน ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ได้มีประกาศอีกครั้งหนึ่ง ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ ทรัพย์ศัตรูไปตามเดิม ส่วนข้าราชการที่เคยช่วยงานพิทักษ์ทรัพย์ศัตรูเดิมนั้น ก็ให้มาปฏิบัติราชการในเรื่องพิทักษ์ ศัตรูจนสำเร็จลุล่วงไป
กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับงานด้านกฎหมาย
      ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระราชทานพระราชปรารภมายังเสนาบดีกระทรวง ยุติธรรมว่า การชำระประมวลกฏหมายนั้น จำต้องมีข้าราชการผู้รอบรู้ และสามารถทำการตรวจศัพท์ภาษาสยาม สักผู้หนึ่ง การชำระประมวลกฏหมายจึงจะได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2462 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นกรรมการตรวจ ศัพท์ภาษาสยาม ในกองกรรมการชำระประมวลกฏหมายกระทรวงยุติธรรม ต่อมาอีก 5 เดือน ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระองค์ท่านมีหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบคำแปลประมวลกฏหมายเพิ่มขึ้น อีกหน้าที่หนึ่ง ทรงปฏิบัติราชการทั้ง 2 แผนกนั้นอยู่ 9 เดือน จนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่น พิทยาลงกรณ ก็กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ทั้ง 2 นั้นเสีย ด้วยเหตุขัดข้องบางประการที่ไม่ทรงสามารถ จะปฏิบัติราชการแผนกนั้นให้ลุล่วงไปได้ ได้ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
      ต่อมาถึงรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราช วรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ เป็นกรรมการร่างกฏหมายอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ท่านทรงรับฉลองพระเดช พระคุณอีก และได้ทรงเป็นกรรมการร่างกฏหมายตลอดมา      พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงตระหนักในคุณประโยชน์ของสหกรณ์ที่ได้อำนวย ให้ฐานะเศรษฐกิจของชาวนาดีขึ้น พระองค์ท่านได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็น "ผู้นำ" เป็นผู้เผยแพร่โฆษณาอย่าง เข้มแข็ม การจัดตั้งสหกรณ์ได้ขยายเพิ่มขึ้นโดยลำดับจนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 จึงได้มีพระราช บัญญัติสหกรณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นกฏหมายคุ้มครองสหกรณ์โดยเฉพาะ
กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับงานด้านสังคมสงเคราะห์
      เมื่อ พ.ศ. 2467 พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้ทรงเป็นสมาชิกตลอดชีพของ สภากาชาดไทย และได้ทรงรับเลือกเป็นกรรมการกิติมศักดิ์ด้วย ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการโดยมากเป็นผู้ ทรงเกียรติและวิทยาคุณในด้านต่างๆ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดเห็นสมควรเชิญเข้ามาร่วมงาน และ ทรงได้รับเป็นอนุกรรมการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญการเงินบางท่าน ในการจัดเงินทุนแสวงหาผลประโยชน์ของ สภากาชาดอีกหน้าที่หนึ่งด้วย การเป็นกรรมการสภากาชาดนั้นมีกำหนดอายุคราวละ 4 ปี ที่ประชุมจึงจะเลือกกัน ใหม่ แต่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้รับเลือกเป็นกรรมการถึง 4 คราว ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 จนถึง พ.ศ. 2483 จึงได้ทรงลาออกจากกรรมการสภากาชาด

      ในระหว่างสงคราม สภากาชาดต้องทำงานหนักในการช่วยคนป่วยทุกคราวที่บอมบ์ตก ทำลายบ้านเรือน ชุมชนในกรุงเทพฯ สภากาชาดได้โอกาสเหมาะ จึงจัดให้มีการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อเตือนให้นึกถึง สภากาชาด พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้ทรงแต่งกลอน "กระหึ่มฟ้า" "สักวากาชาด" และ "กลอนโฆษณากาชาด" ไปทรงช่วยฉลองวันที่ระลึกของสภากาชาดในโอกาสนั้นด้วย

กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับการกีฬา
      เทนนิส เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ โปรดเล่นมานานแล้ว จึงได้ ทรงพระดำริตั้งสมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2470
      การที่ทรงริเริ่มตั้งสมาคมนี้ ได้ทรงเชิญผู้แทนจากสโมสรเทนนิสต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร มาประชุม ณ. วังถนนประมวญ หลายคราว เพื่อจะได้เลือกนายกและกรรมการ แล้วนำข้อบังคับและกฏเกณฑ์การรับสมัคร เข้าแข่งขันขึ้นปรึกษา ที่ประชุมได้เลือกพระองค์ท่านเป็นนายกแห่งสมาคม      พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการอยู่ 12 ปี ทรงอุปการะ และส่งเสริมสมาคมอยู่เป็นนิจ ทำให้สมาคมลอนเทนนิสดำเนินการก้าวหน้าไปอย่างเป็นล่ำเป็นสันตลอดมา ทรงจัด ให้นักเทนนิสไทย ได้มีโอกาสไปแข่งขันกับนักเทนนิสตามประเทศใกล้เคียง เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2482 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ จึงได้ทรงลาออกจากการเป็นนายกกรรมการแห่งสมาคม      การจัดตั้งสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศ ไทย กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ก็ทรงเป็นผู้หนึ่งในพวก กรรมการชุดแรก ได้ทรงเป็นนายกกรรมการช่วยร่างข้อบังคับ และทรงรับช่วยแปลข้อบังคับเป็นภาษาไทย
กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับงานด้านการปกครอง
      เมื่อรัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริจะให้มีการฝึกหัดการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและเริ่มทดลอง ขั้นต้น โดยทรงคัดเลือกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในคณะองคมนตรี มีจำนวน 40 ท่าน ตั้งให้เป็น "กรรมการ องคมนตรี" ที่ประชุมของกรรมการชุดนี้เรียกว่า "กรรมการองคมนตรีสภา" การที่โปรดเกล้าฯ จัดให้มีสภาเล็กๆ นี้ขึ้น ก็เพื่อให้เป็นการทดลองหาหนทางที่จะตั้งรัฐสภาในประเทศไทยในอนาคต
      กรรมการองคมนตรี มีกรมหมื่นพิทยาลงกรณร่วมอยู่ด้วย เปิดการประชุมครั้งแรกเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ณ ศาลาสหทัยสมาคม โปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการมานั่งเป็นประธานชั่วคราว ราชเลขา ธิการเชิญกระแสพระราชดำรัสมาอ่านในสภา มีใจความย่อๆ ว่าการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกกรรมการ องคมนตรี 40 ท่านนี้ เป็นอันเข้าใจว่า มิได้เลือกมาเป็นผู้แทนชนคณะใด หรือเหล่าใดโดยเฉพาะ ฉะนั้นขอให้ออก ความคิดเห็น โดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนใหญ่ของแผ่นดินและประชาชนทั่วไปเป็นสำคัญ ทรงเชื่อว่าคณะกรรมการ 40 ท่านนี้ จะดำเนินการประชุมให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง แม้มีสิ่งใดที่เห็นว่ายังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ก็ให้เสนอความเห็นขึ้นมา      เมื่อประธานชั่วคราวอ่านจบแล้ว ก็มีการเสนอวิธีเลือกสภานายก และอุปนายก มีผู้เสนอขึ้น 3 วิธี แต่ที่ประชุมตกลงรับวิธีของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ต่อจากนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้เสนอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณเป็นสภานายก และอธิบายในที่ประชุมว่า พระองค์ท่านทรงไว้ซึ่ง ความรู้ และความสามารถเหมาะแก่หน้าที่ เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ เสนอแล้ว พระยามโนปกรณ์จึงรับรอง ถึงคราว ลงคะแนนลับ กรมหมื่นพิทยาลงกรณได้ 22 คะแนน คนที่สองได้ 10 คะแนน และคนที่สามได้ 8 คะแนน เป็นอัน ได้ทรงเป็นสภานายก การเลือกอุปนายกก็ทำนองเดียวกัน ได้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ได้นำความกราบบังคม ทูลตามผลการเลือกตั้ง ในหลวงจึงพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของที่ประชุม      เมื่อหมดสมัยใน พ.ศ. 2474 สภากรรมการองคมนตรีได้มีการเลือกสภานายก และอุปนายกอีกครั้งหนึ่ง กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ก็ทรงได้รับเลือกเป็นสภานายกซ้ำอีก ส่วนอุปนายกได้แก่ พระยามานนจราชเสวี
กรมหมื่นพิทยาลงกรณกับงานวรรณกรรม
     
หมายเลขบันทึก: 306034เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2009 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย มีพระดำรัสไว้ว่า

งานเช่นสหกรณ์นี้  เวลาเป็นเป็นช้า

แต่เวลาตายตายเร็วที่สุด

เมื่อตายแล้วศพจะเป็นศพช้าง  ไม่ใช่ศพหนู

Large_thai_econ_fatherพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสทรงเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้า ยอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับ เจ้าจอมมารดาเลี่ยม (เล็ก) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ในพระบวรราชวัง เมื่อเยาว์วัยเรียนหนังสือกับมารดาที่ตำหนัก เมื่อชันษา ๕ ขวบ ก็ทรงอ่านหนังสือได้คล่อง ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ และต่อมาศึกษาภาษาอังกฤษจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายเวร กระทรวงธรรมการ ขณะพระชันษาได้ ๑๖ ปี และได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยในกรมศึกษาธิการใน ทรงรับหน้าที่พิเศษเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชาหนังสือไทย ทรงเป็นกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความแพ่ง และทรงได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสตามเสด็จด้วย และทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นเวลา ๒ ปี ทรงเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงย้ายเป็นปลัดกรมธนบัตร และเจริญก้าวหน้าเป็น ผู้แทนเจ้ากรมธนบัตร เจ้ากรมกองที่ปรึกษาอธิบดีกรมประสาปน์สิทธิการ อธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงจัดตั้งและวางรากฐานกิจการสหกรณ์ จนในที่สุดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสเป็น องคมนตรี และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมฯ เป็น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ดำรงตำแหน่งอุปนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับกรมศิลปากร ต่อมาได้เปลี่ยนจากหอสมุดสำหรับพระนครเป็น "ราชบัณฑิตยสภา" พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงโปรดเล่นกีฬาเทนนิส ทรงพระดำริตั้ง ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ด้วยพระโรคหลอดโลหิตในสมองตัน สิริพระชนมายุ ๖๘ ปี ๖ เดือน ๑๓ วัน

ขอบคุณข้อมูล: http://puresed.com/content/กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์-บิดาเศรษฐศาสตร์ไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท