เปิดตำนาน "โพน 9 ลูก" เมืองพัทลุง


เปิดตำนาน "โพน 9 ลูก" เมืองพัทลุง : นายสุทธิพงษ์ นิ่มนวล นิสิตชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ ม.ทักษิณ ชนะเลิศการประกวดร้องเพลง “โพนมงคลที่เมืองลุง” (แหล่ภาษาใต้) รุ่นอายุ 16-18 ปี ในงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 28 กันยายน -5 ตุลาคม 2552 ณ เวทีกลางหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพัทลุง

“เปิดตำนานโพน 9 ลูก” : นายโกสินทร์ ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง  ได้กล่าวไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของเทศบาลเมืองพัทลุง ว่า  โพน เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ให้สัญญาณชนิดหนึ่ง ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของ “คนพัทลุง” มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเมืองพัทลุง นอกเหนือจากการจัด “งานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ” ที่เทศบาลเมืองพัทลุง ได้จัดมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จังหวัดพัทลุง ยังได้สืบค้นประวัติโพนทั้ง 9 ลูกพบว่า มีความเชื่อถือเรื่องความเป็นมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยอรับในหมู่นักเลงโพนและชาวบ้านทั่วไป ควรแก่การเชิดชูไว้ในหอโพนมงคลเมืองพัทลุง เพื่อสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย  ดังนั้นจึงเชิญชวนผู้มาเยือนพัทลุงให้มาตีโพนมงคล ณ หอโพนมงคล และย้ำว่าควรจะตีให้ครบทั้ง 9 ลูก เพราะไม่เพียงแต่จะได้เยี่ยมชมและเพลิดเพลินกับสถานที่สำคัญๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง  โพนแต่ละลูกแล้ว ยังมีความหมายและนัยอันเป็นสิริมงคลกับชีวิตของผู้ตีอีกด้วย 

1. โพนก้องฟ้า (ชื่อเดิม - ฟ้าลั่น) โพนแห่งวัดอินทราวาส (ท่ามิหรำ) อ.เมืองพัทลุง สร้างขึ้นโดยพระครูตาแก้ว และพระปลัดประคอง ธมุมปาโล เมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นโพนใหญ่ สูง 76 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 51 ซม. ทำจากไม้ขนุนทอง ลูกสักมี 98 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง มีนายแปลก ขุนชำนาญ เป็นผู้ตี  ผลงานที่สร้างชื่อคือเป็นแชมป์ในงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระ ติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2540 เป็นที่โจษจันกันในหมู่นักเลงโพนทุกเพศ ทุกวัย รูปทรงสวยงาม เสียงดัง มีเสน่ห์ 

2. โพนพสุธาสนั่น (ชื่อเดิม - สุธาลั่น) โพนแห่งจังหวัดสงขลา ไม่ปรากฏว่าเป็นของวัดใด แต่มีคนแลกเปลี่ยนกับโพนตาพ่วง จุลพูน ข้างโพนมีรอยระบุปีที่สร้าง คือ พ.ศ. 2471 เป็นโพนขนาดใหญ่ สูง 80 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 61 ซม. ทำจากไม้ตะเคียน มีลูกสัก 100 อัน ขนาด 3 หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายพ่วง จุลพูน  โพนสุธาสนั่น เป็นโพนที่มีเสียงยืด ทุ้ม มีจุดเด่นที่รูปทรงสวยงาม สมส่วน เคยเป็นแชมป์ไทยสยามภูธรและรองแชมป์ถ้วยพระราชทาน

3. โพนขวัญเมือง (ชื่อเดิม - ฟ้าเมืองลุง) มีการแลกเปลี่ยนโพนกันหลายทอด ท้ายที่สุดอยู่ในความผิดชอบของนายฉกรรจ์ ศารานุรักษ์ ที่เป็นผู้ตีด้วย สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง 82 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 59 ซม. มีลูกสัก 76 อัน ขนาด 4 หุน โพนฟ้าเมืองลุงเคยคว้าแชมป์โพนถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2543 เคยเป็นแชมป์ระดับตำบล-หมู่บ้านมาทุกปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จึงไม่ไปแข่งขันที่สนามใดเลยจวบจนปัจจุบัน

4. โพนเรืองเดชา (ชื่อเดิม - โครงพุก) โพนแห่งวัดควนปรง อ.เมืองพัทลุง สร้างขึ้นโดยพระอาจารย์คง เจ้าอาวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2418 เป็นโพนขนาดกลาง สูง 53 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 41 ซม. ทำด้วยไม้ขนุนทอง มีลูกสัก 104 อัน ขนาดหุนครึ่ง สมัยรุ่งเรืองสุดขีดนั้น นายเตี้ยม มาเอียด และนายนะ อินทนุ เป็นผู้ตี  โพนโครงพุก ใช้ตีบอกเวลายาม เช้า-เที่ยง-เย็น และในกรณีสำคัญ ๆ หรือยามฉุกเฉิน เสียงจะดังไปทั่วเขตเทศบาลฯ และใกล้เคียง เพราะเวลาตีอยู่บนเนินสูง มัความขลัง บนบานตามความเชื่อ มักสัมฤทธิ์ผล ให้โทษกับบุคคลที่ลูบหน้าโพน ก่อนแข่งขันบางครั้งว่ากันว่า สามารถกลิ้งไปมาเองได้ทั้งที่ไม่มีคนจับขยับแต่อย่างใด เอ่ยชื่อโพนโครงพุกไม่มีใครไม่รู้จัก บางคนอาจไม่เคยเห็น แต่ชื่อเสียงโด่งดังหาโพนวัดใดเสมอเหมือนมิได้

5. โพนมหามงคล (ชื่อเดิม - ไอ้ยอม) โพรแห่งวัดไทรย้อย ต.ท่ามิหรำ อ.เมือง สร้างเมื่อ พ.ศ.2432 เป็นโพนขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้พะยอม สูง 48 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 42 ซม. มีลูกสัก 80 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง ส่วนผู้ตีไม่ทราบแน่ชัด  เป็นโพนคู่แข่งของโพนโครงพุก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะพอๆ กัน หากเป็นโพนรุ่นเดียวกันยากที่จะเอาชนะได้ ความพิเศษของโพนไอ้ยอมคือในอดีตเมื่อมีการสร้างถนน ทว่าถนนที่สร้างนั้นไปตัดพื้นที่ซึ่งเจ้าของไม่อนุญาต เกิดกรณีพิพาทขึ้น เพียงแต่ได้ยินเสียงโพนไอ้ยอมเท่านั้น ข้อพิพาทนั้นเป็นอันยุติ

6. โพนมนต์เทวัญ (ชื่อเดิม - ไอ้เคียน) โพนแห่งวัดควนปริง ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน สร้างขึ้นโดยหลวงพ่อยิ้ม สัยติโถ เมื่อพ.ศ. 2490 เป็นโพนขนาดกลาง สูง 60 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 47 เซนติเมตร ทำด้วยไม้ตะเคียน มีลูกลัก 94 อัน ขนาด 3 หุน ตามตำนานไม่ปรากฏชัดว่าผู้ใดตี จนเมื่อปี 2543 นายประชีพ นวลมโน คือ ผู้ตี ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายเจิม เพชรรักษ์  โพนไอ้เคียน มีจุดเด่นที่เสียงหวานหนักแน่นและมีความขลังด้วยอาคมคาถา เคยสร้างชื่อด้วยการเป็นแชมป์ที่สนามกีฬากลาง และแชมป์ระดับอำเภอ ตำบล ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน อันดับหนึ่งในสาม ต้องมีชื่อของโพนไอ้เคียนปรากฏอยู่เสมอ


7. โพนอนันตชัย (ชื่อเดิม - อีโด) โพนแห่งวัดท่าสำเภาใต้ อำเภอเมืองพัทลุง สร้างเมื่อ
พ.ศ.2430 แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่า ใครเป็นผู้สร้าง เป็นโพนรุ่นเล็ก ทำจากไม้ประดู่ สูง 57 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร มีลูกลัก 78 อัน ขนาด 4 หุน  เป็นโพนบอกเวลาเช้า - เย็น เหตุฉุกเฉิน มีอายุมาก เสียงดังก้องกังวาน ไม่เป็นสองรองใครเรื่องเสียง แม้อาจจะไม่ได้แชมป์สนามใหญ่หรือสนามกลาง กระนั้นก็ติดรองแชมป์ทุกปี ส่วนสนามภูธร ระดับตำบล - หมู่บ้าน ยากที่คู่แข่งจะผ่านไปได้

8. โพนพิชิตไพรี (ชื่อเดิม - ไอ้เคียนทอง) ทำจากไม้ท่อนเดียวกับโพนไอ้เคียนแห่งวัด
ควนปริง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2493 เป็นโพนขนาดกลาง ทำจากไม้ตะเคียน สูง 57 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 49 เซนติเมตร มีลูกสัก 102 อัน ขนาด 3 หุน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของนายอ้วน นิ่มดำ  มีความพิเศษที่เมื่อถึงฤดูกาลแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา มักจะดังขึ้นเอง เหมือนกับจะบอกว่า โพนในสังกัดจะต้องติดอันดับต้นๆ หรือเป็นแชมป์ทุกคราวไป ทั้งยังเคยเป็นแชมป์ระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน

9. โพนศรีไพศาล (ชื่อเดิม - ก้องสุธา) โพนแห่งวัดควนปันธาราม (ปันแต) ตำบลปันแต
อำเภอควนขนุน เป็นโพนขนาดใหญ่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 อายุ 78 ปี ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สูง 71 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 54 เซนติเมตร มีลูกลัก 114 อัน ขนาด 3 หุนครึ่ง  เพราะเป็นโพนขนาดใหญ่ เสียงทุ้ม ดังกังวาน น้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก แต่แข่งขันครั้งใดๆ ไม่มีใครเอาชนะได้ กระทั่งไม่มีคู่แข่งขัน จึงเก็บไว้ ต่อมาพระครูสงวน ฉนฺทโก หุ้มและตกแต่งใหม่ ที่เคยหนักเคลื่อนย้ายลำบากก็เบาขึ้นกว่าเดิม แข่งโพนรอบคัดเลือกจนเข้ารอบชิงชนะเลิศ ปี 2547 ได้รองแชมป์โพนใหญ่

ที่มา  http://www.phatthalungcity.com/phon.php

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

บันทึกประวัติศาสตร์:แข่งโพนเมืองลุง

พ.ศ.2524 การแข่งโพนระดับจังหวัดครั้งแรก ณ บริเวณสี่แยกเอเชีย มีโพนจำนวน 43 ใบ เข้าร่วมแข่งขัน

พ.ศ. 2525 เทศบาลเมืองสงขลาได้เห็นความยิ่งใหญ่สนุกสนานของการแข่งโพนที่พัทลุง จึงขอเชิญไปร่วมแข่งขันที่หาดสมิหลาจังหวัดสงขลา ผลปรากฏว่าโพนฟ้าลั่นวัดอินทราวาส คือโพนที่ดังที่สุด โพนสวยงามคือโพนอีสมบูรณ์ วัดทุ่งลาน พัทลุง ลีลาตีโพนชนะเลิศคือนายบุญธรรม อักษรผอม พัทลุงส่วนโพนที่ใหญ่ที่สุดคือโพนวัดเนินไศล สงขลา

พ.ศ. 2526 เทศบาลเมืองพัทลุง ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุงจัดการแข่งขัน ณ บริเวณสี่แยกเอเชีย ปรากฎว่าโพนฟ้าลั่นได้ครองความชนะเลิศอีกสมัย

พ.ศ. 2527 ชลประทานจังหวัดพัทลุงเป็นผู้จัดการแข่งขัน จัด ณ บริเวณสี่แยกเอเชีย โพนชนะเลิศคือโพนฟ้าสะท้าน วัดแหลมโตนด

พ.ศ. 2528 เทศบาลเมืองพัทลุงและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุงเป็นผู้จัดการแข่งขัน ณ บริเวณสี่แยกเอเชีย โพนชนะเลิศคือโพนจากวัดวิหารเบิก

พ.ศ. 2529 เป็นปีแรกที่จัดอย่างยิ่งใหญ่มี 5 องค์กรที่ร่วมจัดงานคือเทศบาลเมืองพัทลุง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุงชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุงและ จังหวัดพัทลุง เปลี่ยนจากสี่แยกเอเชียเป็นสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง และที่สำคัญเป็นปีแรกที่ได้เชิญโพนจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมแข่งขัน มีโพนจำนวน 112 ใบ

พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองพัทลุงและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพัทลุงจัดการแข่งขันที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง และเป็นปีแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)โดยได้รับการเผยแพร่ในปฏิทินการท่องเที่ยวภายในประเทศ

พ.ศ. 2535 ย้ายสนามแข่งขันจากสนามหน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุงไปเป็นเกาะลอย หาดแสนสุข ลำปำ ตามดำริของนายสมพงศ์ ศิริยะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง

พ.ศ.2543 – ปัจจุบัน  จังหวัดพัทลุง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการแข่งโพนในงานประเพณีแข่งโพน-ลากพระจังหวัดพัทลุง

จังหวัดพัทลุง กำหนดจัดงานประเพณีแข่งโพนลากพระขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับเทศกาลออกพรรษา  จะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน เมื่อผ่านวัดต่างๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้น และทางจังหวัดพัทลุงก็ได้จัดให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเทศกาลลากพระเดือน 11  กิจกรรมในงาน มีการแข่งโพนจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง   การประกวดขบวนแห่โพน  การประกวดลีลาตีโพน การประกวดแห่เรือพระพิธีทางศาสนา การประกวดธิดาโพน การแสดงนาฎศิลป์ และการซัดต้ม รวมทั้งเที่ยวชมและเลือกซื้อศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง เช่น การทำเสื่อกระจูดและผลิตภัณฑ์จากกะลา

"โพน" เป็นภาษาท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง ใช้เรียกเครื่องดนตรีไทยที่มีรูปร่างคล้ายกลองทัด "โพน" มีสามขา ตีด้วยไม้แข็ง 2 มือ ตัวโพนทำด้วยการขุดเจาะไม้จากต้นตาล ไม้ขนุน ฯลฯ มีขนาดรูปร่างต่าง ๆ กัน ส่วนมากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 35-80 เซนติเมตร หน้าโพนนิยมหุ้มด้วยหนังควายทั้ง 2 หน้า  ไม้โพน กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สาวดำ ไม้หลุมพอ ฯลฯ โพนที่ทำพิเศษเพื่อการแข่งขัน เรียกว่า "โพนแข่ง" การหุ้มโพน (ทำโพน) ส่วนใหญ่ทำกันในบริเวณวัด ระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจกรรมของวัด ใช้ตีเป็นสัญญาณ เช่น ตีบอกเวลาเพลฯ ตลอดไปถึงเป็นดนตรีหลัก ใช้ตีจังหวะการลากพระในวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งชาวบ้านใกล้วัด พระ และเณร จะร่วมมือกันทำโพน โดยใช้เทคนิคเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง ซึ่งการหุ้มโพนมีความสำคัญ ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกไม้มาเจาะเป็นตัวโพน การฆ่าหนังเพื่อนำมาหุ้มโพน การขึงหนังให้ตึงอย่างเต็มที่ การเจาะรูเพื่อใส่ลูกสัก ที่สวยงาม ตลอดถึงการแต่งโพน (คัดขอบ หรือคัดคิ้ว) ให้มีเสียงดังตามต้องการ ทั้งหลายเหล่านี้ คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมา

การแข่งโพน เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากการหุ้มโพน เมื่อแต่ละวัดซึ่งอยู่ห่างกันหุ้มโพนใบใหม่ ก็ต้องมีการตีเพื่อทดลองเสียง มีเสียงดัง ได้ยินออกไปไกล จึงมีการท้าประลองกันว่าโพนของใครเสียงดังกว่ากัน และขยายวงกว้างออกไปจนเป็นประเพณี นิยมแข่งโพนกันใน เวลากลางคืน ชาวบ้านจะบรรทุกโพนรถเข็นมาจากทุกสารทิศ ลากด้วยรถจักร-ยานยนต์ ไปยังจุดนัดหมายบริเวณที่โล่งง่ายต่อการ นำโพนไปถึง ง่ายต่อการฟังเสียง เช่น หัวคันนา สี่แยก หรือกลางทุ่งนา ส่วนการตัดสินเป็นที่ยอมรับกันเองในหมู่ผู้เข้าแข่งขัน เดิมมีการ ตัดสินเพียงจุดเดียว ให้กรรมการฟังเสียงโพนห่างจากจุดแข่งขัน ตีโพนส่งสัญญาณมาจากจุดตัดสิน เช่น ผลการตัดสินโพนเสียงทุ้มชนะ ตีสัญญาณ 1 ครั้ง หากโพนเสียงแหลมชนะ กรรรมการตีโพนสัญญาณ 2 ครั้ง ฝ่ายใดเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่เสียงดังน้อยกว่าเป็น ฝ่ายแพ้ ต้องนำโพนไปแก้ไขปรับปรุงมาแข่งใหม่ในสนามอื่น ในคืนต่อ ๆ ไป

กระบวนการแข่งโพน โพนที่เข้าแข่งขันแบ่งออกตามขนาด ขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ตามกติกาที่กำหนด แต่ละขนาดมีเลขหมาย ประจำโพน ประกบคู่ด้วยวิธีจับฉลาก การแข่งโพนบนเวทีแข่งกันครั้งละ 2 ใบ แบบแพ้คัดออก จนเหลือคู่ชิงชนะเลิศ เมื่อนำโพนทั้ง 2 ใบขึ้นเวทีแล้วให้ทำการขานเสียง (ซอเสียง หรือ เทียบเสียง) โดยผลัดกันตี ช้า ๆ ดัง ๆ ตกลงกันว่าใบใดเป็นเสียงทุ้มหรือเสียงแหลม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ การแข่งขันรอบแรกจนถึงรอบรองชนะเลิศ ใช้เวลาแข่งคู่ละ 3 นาที คู่ชิงชนะเลิศใช้เวลาแข่ง 5 นาที ผู้ตีจะมีวิธีตีอย่างใดแล้วแต่ศิลปะ ไหวพริบและความชำนาญ

ที่มา  http://thai.tourismthailand.org/festival-event/grand-content-5269.html

 

 

คำสำคัญ (Tags): #onblog#online#pr#sar#tsu
หมายเลขบันทึก: 304858เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณพี่นงมากที่นำข้อมูลเรื่อง โพนเมืองลุงมาให้รู้

ผมเงือดๆอยู่หลายหนว่าจะบันทึกโพนเมืองลุงลงบันทึก แต่ข้อมูลไม่พอ

ดีใจจ้านที่พี่นงจัดการให้สมประสงค์

ขอบคุณพี่นงครับ

ค่ายโพนป่ายางหูเย็น

ค่ายโพนป่ายางหูเย็นมีการทำโพนมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า แต่ได้สร้างค่ายโพนมาตั้งแต่พ.ศ.2545จนถึงปัจจุบันโดยมี นายฉลอง

นุ่มเรือง เป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันค่ายโพนป่ายางหูเย็นมีโพนตั้งหมดประมาณ 20 ลูก โพนแต่ละลูกล่วนเป็นโพนที่มีประวัติในการแข่งโพนชิงถ้วนพระราชทาน โพนที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งโพนชิงถ้วนพระราชทานได้แก่โพน สุวรรณโณ เป็นโพนขนาดกลางเมื่อปีพ.ศ.2551และในปีพ.ศ.2552ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งโพนชิงถ้วนพระราชทานได้แก่โพน จอมใจ เป็นโพนขนาดเล็ก และโพนที่เคยได้รับรางวัลจากการแข่งโพนชิงถ้วนพระราชทาน ได้แก่โพน ไกรทอง ลูกเก้า สิงขร อ่าวเศรียร เพชรงามทอง เทพฤทธิ์

มาเรียนรู้ตำนานโพนค่ะ...ขอบคุณค่ะมาก

นางสาว ทิพวรรณ สิทธิชัย

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเรื่องประวัติของการแข่งโพน

เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่เยาวชนทุกคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท