ทฤษฎีกับปฏิบัติ อะไรควรมาก่อน


นักศึกษาที่เรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แบบไม่เคยเห็นของจริงนั้น แทบไม่เข้าใจทฤษฎีที่เรียนมา อย่างมากก็จำชื่อได้ หรือเก่งไปหน่อย ก็ท่องได้ แต่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของทฤษฎี ที่ยังไม่ต้องไปคาดหวังถึงการใช้ทฤษฎีแต่อย่างใด

เดือนนี้ของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ผมต้องพานักศึกษาไปฝึกงานรอบแรกของแต่ละรุ่น

เทคนิคการฝึกงานแบบนี้ เป็นสิ่งที่ผมพยายามอธิบายให้อาจารย์ในสาขาฟัง แต่แทบไม่มีใครเห็นด้วย

ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ต้องเรียนทฤษฎีให้จบก่อน แล้วจึงไปปฏิบัติจึงจะเรียนรู้ได้ดี และพลาดน้อย

ซึ่งผมก็ไม่มีความเห็นขัดแย้งในประเด็นนี้ ถ้าสมมติฐานกับความเป็นจริงตรงกัน

กล่าวคือ เมื่อนักศึกษาเรียนทฤษฎีนั้น สามารถเข้าใจทฤษฎีได้หมดทุกเรื่อง เมื่อนำไปปฏิบัติ ก็จะเรียนรู้ต่อยอดได้เลย

แต่จากความเป็นจริงที่ผมประเมินนั้น พบว่า นักศึกษาที่เรียนทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แบบไม่เคยเห็นของจริงนั้น แทบไม่เข้าใจทฤษฎีที่เรียนมา อย่างมากก็จำชื่อได้ หรือเก่งไปหน่อย ก็ท่องได้ แต่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของทฤษฎี ที่ยังไม่ต้องไปคาดหวังถึงการใช้ทฤษฎีแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อเรียนมาก ก็ลืมมาก พอเว้นไปสักปีสองปี ก็ลืมเกือบหมด ไม่สามารถนำไปปรับใช้ได้ ต้องไปทบทวนกันใหม่เกือบหมด เพราะเขาไม่มีความจำระยะยาวเหลืออยู่พอที่จะใช้ทำอะไรได้ ที่ผ่านมาได้ ก็แค่จำไปสอบ

แล้วเราพอใจกับการศึกษาแบบนี้หรือ ผมไม่พอใจแน่นอน

ผมจึงได้เสนอแนวทาง และต่อสู้ทางความคิดมากว่าสิบปี จนคนที่ต้านผมเกษียณไปหลายคน แรงต้านจึงอ่อนลง และยอมให้ผมลองทำเมื่อปีที่แล้วเป็นครั้งแรก ที่จะช่วยให้นักศึกษามีประสบการณ์ตรงก่อนการเรียนทฤษฎี

แต่แรงต้านก็ยังมีมากมาย จากทั้งระดับอาจารย์ และนักศึกษาที่ยังไม่ชิน และไม่เห็นด้วย

ผมพยายามที่จะยกแม่น้ำทั้งห้า ทั้ง ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ก็แล้ว แม่น้ำโขง แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำคงคา และแม่น้ำยมนา ก็แล้ว ข้ามไปถึงแม่น้ำนานาชาติทั่วโลกอีกห้าลุ่มใหญ่ ก็แล้ว หาพรรคพวกได้ยากเต็มที

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมพยายามยกมาเป็นอุทาหรณ์ในชีวิตจริงๆ ของทุกคน ก็คือ การเรียนวิธีใช้โทรศัพท์มือถือของทุกคน

ผมถามว่า มีใครสักคนไหม เมื่อจะซื้อมือถือนั้น ได้ไปอ่านคู่มือของมือถือทุกรุ่นจนเข้าใจดี แล้วจึงตัดสินใจเลือกซื้อรุ่นที่ตรงกับตัวเองต้องการมากที่สุด

และเมื่อซื้อมาแล้ว ก็อ่านคู่มือจนเข้าใจละเอียดลึกซึ้ง ก่อนที่จะเริ่มเปิดใช้มือถือเป็นครั้งแรก

ก็ได้คำตอบจากคนที่จริงใจว่า “ไม่มี”

คนส่วนใหญ่จะไปเดินดูตามร้านขาย และถามแบบคร่าวๆ แล้วจึงตัดสินใจซื้อ พอซื้อมาก็เปิดใช้จนมีปัญหา ไม่เข้าใจ จึงจะตั้งใจอ่านคู่มืออย่างรู้ว่าจะหาวิธีแก้ปัญหาอะไร

ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั่นแหละครับ

จะไปเรียน มรรค ก่อนรู้ว่า ทุกข์ คืออะไร สมุทัยคืออะไร แล้วนิโรธจะทำอะไร ผมไม่ทราบว่าจะเรียนไปได้อย่างไร

แต่การสอนการเรียน ในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะไปเน้น “มรรค” ก่อน แล้วจึงมาเรียน “สมุทัย” ไปเรียน “นิโรธ” แล้วก็กลับมาที่ “ทุกข์”

โดยการให้นักศึกษาเรียนเทคโนโลยี (“มรรค”) ก่อน แล้วก็ไปดูว่าเทคโนโลยีทีว่า จะนำไปใช้ที่ใดได้บ้างตามสาเหตุ (“สมุทัย”)  เพราะอะไร (“นิโรธ”)  ใช้แก้ปัญหาในประเด็น(“ทุกข์”) อะไร

การสอนแบบย้อนศรนี้ น่าจะทำให้เกิดการเรียนแบบสับสน และน่าจะจำได้ยาก

ผมจำได้ว่าท่านพุทธทาสท่านย้ำนักย้ำหนาว่า

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ต้องเป็นไปตามลำดับ และครบถ้วน

ผมก็เรียนมาอย่างนี้ และผมก็เชื่อเช่นนี้

ผมจึงคิดว่า เราน่าจะให้นักศึกษาเรียน ตามลำดับ

ในอุดมคติจริงๆ ก็คือ

ขั้นแรก นักศึกษาต้องเรียนที่จะเข้าใจปัญหาก่อน

ดังนั้นถ้าไม่ประสพกับของจริง จะเข้าใจปัญหาได้อย่างไร

ขั้นที่สอง ก็คือ การทำความเข้าใจที่มาของปัญหา

ถ้าไม่ออกไปดูของจริงจะเข้าใจปัญหาได้อย่างไร

และข้อนี้ผมเห็นด้วยที่จะให้นักศึกษากลับมาทบทวนทฤษฎีเพื่อการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาให้ดีกว่าเดิม

ขั้นที่สาม รู้แนวทางแก้ไขปัญหา

ข้อนี้ต้องเรียนทั้งจากประสบการณ์ตรง และทฤษฎี ที่จะสามารถกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาได้

ขั้นที่สี่ การหาวิธีการแก้ไขปัญหา ที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการมากและลึกซึ้งในการคิด วางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ข้อนี้ต้องเน้นทั้งการเรียนเทคโนโลยี และการปรับใช้เทคโนโลยี

ผมจึงสรุปว่า การเรียนจากของจริง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ น่าจะให้ผลดีกว่า การเรียนจากตำราแห้งๆ ที่ลอกมาจากไหนก็ไม่รู้

การเรียนปัญหาจากของจริงน่าจะมาก่อนการเรียนทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหา

แต่การเรียนแบบนั้น อาจทำให้อาจารย์หลายคนอึดอัด ที่ความรู้และความถนัดของตัวเองไม่พอ และทำให้ตัวเองมีความสำคัญลดลง ที่ตัวเองยอมรับไม่ได้

จึงต้องต่อต้านทั้งทางตรง ทางอ้อม และทางหลักการ ตามความเข้าใจ ความสามารถ และความเคยชินของตนเอง

และจะคอยแยงทุกครั้ง เมื่อมีข้อจำกัดบางประการในขั้นตอนการเรียนรู้ ด้วยประโยค  “...ก็..ว่าแล้วไม่เชื่อ...ยังจะดันทุรังทำอีก....”

แทนที่จะหาวิธีการปรับปรุงช่วยกัน กลับหาวิธี สร้างความไม่ชอบธรรมให้กับวิธีการเรียนปฏิบัติควบคู่ไปกับทฤษฎี

เพื่อที่จะกลับไปใช้หลักการเรียนทฤษฎีให้จบก่อน แล้วค่อยมาฝึกการใช้ทฤษฎีตอนปี ๔ เทอมปลาย แบบเดิมๆ

คงต้องสู้กันอีกหลายยก จนกว่าใครจะหมดแรงไปก่อน แต่เชื่อว่างานนี้ไม่มีใครยอมแพ้แน่นอน เพราะดูเหมือนจะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่ต้องปกป้อง มากกว่าจะเป็นหลักการ และความเป็นจริงของการเรียนรู้ของนักศึกษาตามหลักอริยสัจสี่ของท่านพระพุทธเจ้า

นี่คืออีกด่านหนึ่งที่ผมกำลังหาทางฝ่าไปให้เห็นว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการพัฒนาคนของประเทศ ครับ

แม้คนเห็นด้วยจะมีน้อยเหลือเกิน

ก็จะลองทำต่อไปครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 304413เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2009 03:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
คนไกลบ้าน (การ์ต้า)

สวัสดีครับอาจารย์...ขอสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยคนครับ  เคยมีประสบการณ์ตรงเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน ได้ลาพักการเรียน(ดรอป)แล้วไปทำงานหนึ่งปีเต็ม มีคำถามข้อสงสัยมากมายในช่วงที่ทำงานอยู่ เมื่อกลับมาเรียนในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น เข้าใจในหลักวิชาดีขึ้นและนึกย้อนหลังไปว่า ขณะที่เราประสบปัญหาในการทำงานในกรณีต่างๆกันนั้น เราจะสามารถจะนำหลักวิชาหรือทฤษฎีไปปรับใช้กับการทำงานได้อย่างไรบ้างครับ

สนับสนุนแนวคิด และเห็นด้วยอย่างยิ่งครับอาจารย์ ผมสอนช่างซ่อมมือถือโดยใช้วิธี เริ่มต้นแนะนำให้เขารู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นก่อน และแนะให้รู้จุดที่จะต้องระวัง เพื่อไม่ก่อให่เกิดปัญหาเพิ่ม ลองถาม ก่อนลงมือำทว่าใครสงสัยอะไรอีกใหม ส่วนมากจะเงียบ..

ให้เจอกับงานจริงก่อน ให้เราได้เจอกับปัญหาด้วยตัวเอง ให้พบความยากง่ายของงานก่อน แล้วยังต้องมีข้อจำกัดที่ความชำนาญในการใช้เครื่องมือของตัวเขาอีก ที่จะทำให้งานที่ทำนั้นยาก..ขึ้น ยากกว่านั่งดู และสังเกตคนอื่นทำ

หลังให้ทำแล้ว ผมไม่ต้องถามล่ะ ว่าใครสงสัยอะไรใหม คราวนี้ผมต้องจัดการลำดับว่าจะตอบคำถามใหน ก่อน หลัง....

แล้วค่อยอธิบายทฤษฏีอิเลคทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง หลักการทำงานของอุปกรณ์และวงจร และชี้แนะจุดข้อบกพร่องในการปฏิบัติของเขาเป็นรายคน คน ไป ทำให้ได้ผลดี เรียนรู้อย่างเข้าใจและนำไปใช้ได่อย่างถูกต้อง ที่เหลือแล้วแต่ความขยันของแต่ละคน ที่จะหมั่นฝึกฝนฝีฝือให้ชำนาญต่อๆ ส่วนมากผู้ที่มาฝึกซ่อม ไม่มีความรู้ทางช่าง หรือทางอิเลคทรอนิกส์เลยด้วยซำ้้ำ แต่ถ้าใช้วิธีนี้ ทำให้ผู้ฝึกปฏิบัตเป็นเร็วกว่า เมื่อเทียบกับที่ผมเคยเรียนแบบเก่าๆ จบ ปวช. แล้วยังซ่อมวิยทรานซิสเตอร์ไม่ผ่านเลยในสมัยนั้น

ตามตัวอย่างนี้ น่าจะสนับสนุนแนวคิดอาจารย์ได้เป็นอย่างดี

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

          อาจารย์ครับ ศิษย์มองว่า เริ่มจาก “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นอยู่” ก่อนและค่อยก้าวออกไป หลากหลายมุม หลายมิติ เพราะการเชื่อมต่อภาพจะเป็นเนื้อเดียวกันและสอดคล้องกับความจริง กระผมมองว่า รปฏิบัติหรือการสัมผัสได้ต้องมาก่อน หรือเหลื่อมออกมาก่อนหน่อย จากนั้นเอาหลักการหรือทฤษฎีไปประกบจะทำให้การต่อยอดมีฐานยืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งวิชาการและความเป็นจริงนั้นจะอยู่บนฐานที่สู่การปฏิบัติได้ หากขาดภาพจริงมายืนยัน มันจะออกแนวติดสมมุติหรือวาดวิมานมากไป กระผมคิดว่าอย่างนั้นครับผม

เรียนแสดงความเห็นด้วยความเคารพ

        นิสิต

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

          อาจารย์ครับ ศิษย์มองว่า เริ่มจาก “สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่” ก่อนและค่อยก้าวออกไป หลากหลายมุม หลายมิติ เพราะการเชื่อมต่อภาพจะเป็นเนื้อเดียวกันและสอดคล้องกับความจริง กระผมมองว่า รปฏิบัติหรือการสัมผัสได้ต้องมาก่อน หรือเหลื่อมออกมาก่อนหน่อย จากนั้นเอาหลักการหรือทฤษฎีไปประกบจะทำให้การต่อยอดมีฐานยืนเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งวิชาการและความเป็นจริงนั้นจะอยู่บนฐานที่สู่การปฏิบัติได้ หากขาดภาพจริงมายืนยัน มันจะออกแนวติดสมมุติหรือวาดวิมานมากไป กระผมคิดว่าอย่างนั้นครับผม

เรียนแสดงความเห็นด้วยความเคารพ

        นิสิต

ลูกชายผมใช้คอมพิวเตอร์ได้เก่งกว่าครูสอนคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเขาอีก เพราะใช้การเรียนรู้ตามแนวทางที่อาจารย์เล่ามานี้แหล่ะครับ

ผมทำงานที่สถานีอนามัย เมื่อผมเชื่อว่าผมเองนี้แหล่ะคือผู้เชี่ยวชาญเพราะเป็นคนหน้างาน เจอโจทย์ทุกวัน แล้วค่อยไปอ่านทฤษฎี เข้าใจดีมาก ได้เรียนรู้(ไม่ใช่เรียนหนังสือ)ทุกวัน ทำงานได้ลุล่วงเป็นอย่างดี แล้วผมก็ไปบอกพรรคพวกที่ทำงานในสถานีอนามัยเหมือนผมว่า ถ้าคุณอยากทำงานให้ประสบผลสำเร็จและมีความสุข จงเลิกเชื่อผู้เชี่ยวชาญจาก สาธารณสุขจังหวัดหรือจากโรงพยาบาล แรกๆเขาบอกว่าผมเป็นบ้า แล้วถูกต่อต้านมาก ตอนนี้หลายคนได้ลองทำดู ได้สัมผัสโจทย์จริง หันมาเชียร์ผมเยอะขึ้นเรื่อยๆ

การเรียนในอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา ได้ทำลายศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ไปเกือบหมด เพราะได้ยกความเชื่อมั่นในการสร้างความรู้ไปอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ(คุณเป็นเพียงผู้เสพความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญสร้างให้เท่านั้น) ทำวิทยานิพนธ์แบบทุกข์ทรมาน(ผลิตกระดาษเปื้อนหมึก) มหาบัณฑิตส่วนใหญ่เมื่อจบมาแล้ว จึงไม่ค่อยมีความกระตือลือล้นในการทำวิจัยในงานที่ตนทำ วิทยานิพนธ์ของเขากลายเป็นงานวิจัยชื้นแรกและชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา

ขอเชียร์อาจารย์สุดใจเลยครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ อาจารย์ตั้งประเด็นน่าคุยจริงๆ ครับ

มีคำว่าพูด "เพิ่งมา ออ. เอาก็ตอนไปฝึกงานนี้แหละ" หมายถึงว่า ตอนอาจารย์สอนนะนึกภาพไม่ออกหรอกครับ มารู้แจ้งตอนฝึกงาน ซึ่งเห็นด้วยดีกับอาจารย์ครับ คือ ถ้าไปลองมาก่อนแล้วมาจัดการให้ได้ข้อสรุป เพียงแต่วิธีการนี้จะมีประเด็นต้องคุยต่ออยู่สองกรณีครับคือ จะมีหน่วยงานไหนรับเด็กที่ไม่รู้เรื่องไปฝึกงาน สองคือ นักศึกษามีความมั่นใจพอจะกล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับหน่วยงานหรือเปล่า

จากประสบการณ์ผมคือ หน่วยงานเองก็อยากได้องค์ความรู้ใหม่จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยผ่านนักศึกษาฝึกงานนี้แหละครับ ที่สำคัญคือ หน่วยงานเขาเป็นคนประเมินผลงานการสอนของอาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้จากนักศึกษาฝึกงานนี้แหละครับ

ประเด็นทั้ง 2 กรณี ในรูปแบบการสอนคือ การสอนแบบอุปนัยกับการสอนแบบนิรนัยครับ มีข้อดีข้อเสียต่างกันครับ

สวัสดีครับ

     มีอีกหลายอย่างมากครับอาจารย์ที่พวกเรายอมให้เป็นไปทั้งๆที่มันไม่น่าจะต้องเป็นอย่างนั้น  เช่น

  • การกำหนดล่วงหน้าตายตัวว่าแต่ละครั้งที่เข้าสอน จะต้องทำให้ครบถ้วนตามแผนที่วางไว้  เรียกว่าตีกรอบไว้อย่างไรก็ต้องให้ได้ตามนั้น  ต้องสอนให้เสร็จ  ส่วนจะไม่สำเร็จนั้น ช่างมัน  เอาให้ทันไว้ก่อน  คนเรียนจะรับได้แค่ไหน คนสอนไม่เกี่ยว .. อย่างนี้ก็มีอยู่
  • ทั้งๆที่เรื่องที่พูดถึงมีเอกสาร มีสื่อให้อ่านและเรียนรู้เองโดยผู้เรียนได้  ก็ยังเอามา Lecture ให้ฟังและจดตาม ก็ยังเห็นทำกันอยู่ทั่วไป  เสมือนหนึ่งว่า ข่าวสาร ความรู้ ต้องออกจากปากครูเท่านั้นจึงจะดูขลังและศักดิ์สิทธิ์
  • แม้ผู้เรียนจะกำลังเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ในเรื่องที่เรียน และอยากทำกิจกรรมต่อเนื่องเพียงใดก็ตาม  แต่เมื่อประกาศิตจากเสียงออดบอกหมดเวลา ก็เป็นอันต้องหยุด เพื่อไปเล่นกับเรื่องใหม่ ตามตารางที่วางเป็นกรอบ ครอบเอาไว้
  • ฯลฯ
  • ส่วนเรื่อง ทฤษฎี และปฏิบัตินั้น ผมเห็นด้วย 100 % ว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับทฤษฎีมากจนเกินไป เพราะแท้จริงแล้ว การเรียนรู้ทุกๆเรื่องล้วนทำไปเพื่อการนำไปใช้แก้ปัญหา 
  • พลังความอยากรู้อยากเรียนจะเกิดขึ้นได้มากก็เพราะผู้เรียนได้เล็งเห็นชัดว่าสิ่งที่เรียนรู้นั้นจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร 
  • การนำเข้าสู่บทเรียนด้วยการเรียนแห้งๆอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ยากนักที่จะสร้างพลังความสนใจใฝ่รู้ได้ .. พลังอยากรู้อยากเรียนจะเกิดได้ก็ต้องให้เขาได้ลงไปสัมผัสสภาพจริง  ปัญหาจริง อย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น
  • เมื่อเห็นและสัมผัสปัญหา  พอมีทฤษฎีมา ความคิดที่จะประยุกต์ ดัดแปลงความรู้ไปปฏิบัติก็เกิดได้ง่าย
  • ในส่วนตัวผม ที่หลายคนยอมรับในความเป็น Handy man ขอยืนยันว่าผมเรียนทฤษฎีน้อย เอาแค่พอให้ใช้ทำงานได้ เมื่อลงมือทำไปก็พบปัญหา ทำให้ต้องไปหาความรู้ทฤษฎีเพิ่ม แต่ก็ทำเท่าที่จำเป็น เรียนไป ทำไป แบบนี้ปรากฏว่าสนุก เพลิดเพลิน และเกิดทักษะ ความชำนาญในการปฏิบัติในหลายๆเรื่อง และที่แน่ๆคือได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความภาคภูมิใจในผลงานความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นแรงขับสำคัญให้เรียนรู้ไปแบบต่อเนื่อง จนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
  • ขอให้อาจารย์สู้ต่อ และสำเร็จเร็วๆครับ แนวร่วมเรื่องนี้ผมเชื่อว่ามีอยู่มากมาย ไม่โดดเดี่วยวแน่นอนครับ

เรี่องนี้ก็เป็นปัญหาของสถาบันที่ผมเคยศึกษามาก่อนเหมือนกันครับ เดิมทีนักเรียนฯต้องฝึกงานหลังจากจบปี 4 เทอมแรก แล้วมีเวลา 1 1/2 ปี ฝึกงานให้ครบ 1 ปี ก็ได้รับ feed back กลับมาว่าน่าจะให้มีการฝึกงานปี 3 ดีกว่าเพื่อว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ได้ความรู้เบื้องต้นแล้ว ได้ไปรับประสบการณ์มาจากการฝึกงานจะได้เห็นภาพ และได้มุมมองสำหรับอนาคต แล้วมาเก็บเกี่ยวความรู้เพื่อไปปฏิบัติงานหลังจบหลักสูตร 5 ปี

อีกตัวอย่างที่ผมเห็นก็คือพยาบาล มีการฝึกและการเรียนควบคู่กันไปด้วย ส่วนตัวผมเห็นว่าแบบนี้ดีที่สุดหากว่าสามารถทำได้เพราะนักเรียนจะได้นำความรู้ไปใช้ได้ตลอดและสอดคล้องกับบทเรียนที่ได้รับ จะทำให้เห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เกิดจาการปฏิบัติ ซึ่งจะขยายผลไปสู่การไฝ่หาคำตอบสำหรับคำถามที่เกิด และการแสวงหาความรู้เพื่อประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพครับ

ขอเสริมอีกนิด

เรื่องการฝึกงาน ผมจะไปติดต่อบริษัทเพื่อฝึกงานตลอดในช่วง summer ของทุกปี ผลที่เห็นแตกต่างคือว่า เราจะรู้เรื่องเกี่ยวกับวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพเฉพาะเร็วกว่าเพื่อน เพราะได้ไปเห็นและได้ไปทำมาแล้ว และได้สำผัสจริง และประสบการณ์จริง ๆ มาทำให้รู้ว่าเราจะเรียนไปทำอะไร และเราจะเรียนเพื่อเอาอะไรไปทำงาน

ขอขอบพระคุณมากๆเลยครับ ที่เข้ามาหนุนเสริมพลัง

เพราะผมคาดว่าคนที่ต่อต้านแนวคิดนี้ อาจจะผ่านมาอ่านสักวันหนึ่งข้างหน้า

วันนี้ แม้เขาเห็นเขาก็อาจจะยังไม่อยากอ่าน อะไรที่ต่างไปจากแนวคิดของเขามากนัก

เขาฝังหัวเลยครับ

"ถ้าเรียนทฤษฎีไม่จบ ปฏิบัติไม่ได้"

ที่ผมหวังว่า

เขาเหล่านั้นที่คิดแบบนั้น คงวางแผนและตั้งใจไปอ่านหนังสือตำราการครองเรือนในมุมต่างๆ ของชีวิตสมรส จนจบทุกเล่ม ทุกประเด็น  แล้วจึงจะคิดหาคู่แต่งงาน

ถ้าเขาทำตามที่เขายืนยันกับผม และทำจริงตามความคิดของตนเองเช่นนั้น

ก็ขออนุโมทนา สาธุด้วยครับ

 

ตามมาเสริมสร้างพลังปัญญาครับอาจารย์

สรุปงานเสวนา ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ ตามแนวพระราชนิพนธ์เรื่อง"พระมหาชนก"ที่ผ่านมาครับ

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/307280

เห็นด้วยอย่างมากเลยครับ

ผมเป็นนักเรียนอยู่คับ ผมเบื่อกับเรียนทฤษฎีมาก เรียนทีไรง่วงนอนตลอด อยากเรียนปฎิบัติบ้าง

อื้อหือ อ่านไปขนลุกไป มันเข้ากับชีวิตจริงทุกอย่างเลย ถ้าได้แนวคิดนี้ไปปฏิบัติจริงๆ จะเข้าใจง่ายกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท