ธรรมฐิต
พระ(มหา) วิชิต ชิต สมถวิล(ฐิตธมฺโม)

นครกาย (โดยสังเขป) (๑)


เคยอ่านหนังสือชื่อเรื่อง  นครกาย  หลายเล่มที่มีท่านผู้รู้แต่งไว้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
ให้ข้อคิดต่อเราท่านทั้งหลายได้พอสมควร 
หลายปีแล้วมีโยมท่านหนึ่งให้ธรรมฐิตรวบรวมแบบย่อๆ
ให้อ่านง่ายๆ  เพื่อนำไปแจกแก่ผู้ที่สนใจในธรรม 
ธรรมฐิตจึงรวบรวมให้ตามความประสงค์
นึกได้เลยนำมาลงไว้ในบันทึกเผื่อใครอ่านแล้วจะรู้จักร่างกายนี้มากขึ้น
 
นครกาย (โดยสังเขป)
 เป็นเมืองที่ทุกชีวิตกำลังอาศัยอยู่
พร้อมที่จะรู้จักกับนครกายหรือยัง
 ..ธรรมฐิต..
 
                                                                 
            นครกายเป็นเมืองที่เราท่านทั้งหลายอาศัยอยู่คือร่างกายของเรานั่นเอง 
ที่กฎแห่งกรรมเป็นผู้สร้างขึ้นมา  จึงสมมติให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น 
            เมื่อศึกษานครกาย  อันยาววา  หนาคืบ  กว้างศอกแล้วย้อนมาดูตัวของเราว่าชีวิตนี้เราต้องการอะไร  ต้องการสุขหรือทุกข์กันแน่  และเราบริหารจัดการกับนครกายของเราดีพอหรือยัง  ถ้าเรารูจักจัดการกับนครกายของเราอย่างถูกต้อง  กฎแห่งกรรมก็ไม่สามารถที่จะสร้างนครกายให้เราได้อีกต่อไป
        หวังว่าท่านอ่านนครกายเล่มนี้แล้วคงได้ข้อคิดบ้างไม่มากก็น้อย  แล้วอย่าลืมย้อนกลับมาดูนครกายของตัวเองนะขอรับ
                                                                                     ด้วยความจริงใจ
 
อัฏฐีนัง  นะคะรัง  กะตัง         มังสะโลหิตเลปะนัง
ยัตถะ  ชรา  จะ  มัจจุ  จะ         มาโน  มักโข  จะ  โอหิโตฯ
                                                                                    ขุ.ธ.๒๕/๓๕
แปลว่า สรีระร่างกายถูกกฎแห่งกรรมทำให้เป็นเมืองแห่งกระดูก ฉาบทาไว้ด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่รวมอยู่ของชราและมัจจุ(ความตาย)
มีทั้งการถือดีและการลบหลู่คุณท่าน   ดังนี้ฯ
            ตั้งแต่อดีตกาลผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ยังมีนครอยู่เมืองหนึ่ง ชื่อว่า กายนคร หรือนครกาย นครกายแห่งนี้มีเนื้อที่วัดได้โดยประมาณ ยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก ผู้ที่สร้างนครกายแห่งนี้ขึ้นมา ชื่อว่า กฎแห่งกรรม มีความวิจิตรพิสมัยหลากหลาย
            ในนครกายแห่งนี้มีพระราชามหากษัตริย์ ครองราชสมบัติอยู่พระนามว่า
พระเจ้าอวิชชา (คือ ความไม่รู้ ว่า ทุกข์ ต้นเหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติที่จะให้ทุกข์ดับ เป็นอย่างไร)  พระเจ้าอวิชชา พระองค์นี้ยังมีพระมเหสีคู่บารมีอยู่นางหนึ่ง พระนามว่า พระนางโมหาราชเทวี (คือ เจ้าแห่งความหลงในขันธ์ ๕ ) และพระองค์ ยังมีพระราชโอรสอยู่องค์หนึ่ง  เป็นผู้มีหน้าที่ว่าราชการบ้านเมืองแทนพระองค์ผู้เป็นพระราชบิดา พระราชโอรสนี้ พระนามว่า จิตตราชกุมาร (คือ เจ้าชีวิต หมายถึง จิตใจของคนนั่นเอง)
                                                                           
นครกายแห่งนี้ มีกำแพงราชวัง อย่างหนาแน่นถึง ๔ ชั้นด้วยกัน ชั้นในที่สุด สร้างด้วยกระดูก ประมาณ  ๓๐๐  ท่อน รัดรึงด้วยเอ็นน้อยใหญ่ อย่างหนาแน่น ชั้นที่ สอง กั้นด้วยมังสา (เนื้อ)  ชั้นที่สาม ปิดกั้นอย่างมิดชิดด้วยตโจ (หนัง) ชั้นที่ สี่ สร้างเหมือนขวากหนามเรียงรายไว้ด้วย โลมา (คือ เส้นขน) กำแพงทั้ง ๔ ชั้น สร้างขึ้นอย่างดีวิจิตรพิสดารยิ่งนัก
            และนครกายแห่งนี้ ยังมีทวาร (ประตู) พระราชวัง ทางเข้า ออก ถึง ๖ ประตู แต่ละประตูมีชื่อดังนี้
         ประตูแรก     มีชื่อว่า จักษุทวาร (ประตูตา เป็นทางผ่านรูปน้อยใหญ่
         อีกประตู      มีชื่อว่า โสตทวาร (ประตูหู) เป็นทางผ่านของเสียงต่าง ๆ
         อีกประตู     มีชื่อว่า ฆานทวาร (ประตูจมูก) เป็นทางผ่านของอากาศ
         อีกประตู     มีชื่อว่า ชิวหาทวาร (ประตูลิ้น) เป็นทางผ่านรสต่าง ๆ น่าโอชา
         อีกประตู มีชื่อว่า กายทวาร (ประตูกาย) เป็นทางผ่านสัมผัสเย็น ร้อน อ่อนแข็ง
         อีกประตู    มีชื่อว่า มโนทวาร (ประตูใจ) ประตูนี้อยู่ด่านในสุด จะรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาตามชอบใจบ้าง มิชอบใจบ้าง
            ประตูทั้ง ๖ นี้ คอยต้อนรับทุกสิ่งทั้งชอบและมิชอบอยู่ตลอดเวลา

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ธรรมะสวัสดีขอรับ..

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมฐิต
หมายเลขบันทึก: 302981เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2009 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

 

นมัสการพระคุณเจ้า

  • มาท่องเที่ยวธรรมที่ "นครกาย" ขอรับ จริง ๆ มาแล้วรอบหนึ่งเมื่อคืนนี้ อ่านแล้วได้คิดจึงกลับมาอ่านใหม่แต่เช้าตรู่เลยขอรับ
  • จะรออ่านตอนต่อไปขอรับ
  • กราบขอพระคุณขอรับ

 

 

Pสาธุขอรับอาจารย์

ตอนสองมาแล้วขอรับ..เชิญติดตามได้เลย

นมัสการค่ะพระอาจารย์

ในนครกายนี้ เมื่อ ธาตุทั้งสี่แตกสลายไป และจิตเดินทางต่อ

กรรมจะตามไปกำหนด รูป ในภพต่อไปได้อย่างไรเจ้าคะ

ในเมื่อสังขารนี้แตกดับแล้ว การจะเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่

มีรูปพรรณสัณฐานตามกรรมเดิมที่ติดตัว หมายความเช่นไรเจ้าคะ

ขอบพระคุณค่ะ

Pคำถามนี้ก็คล้ายๆกับการเอาเมล็ดผลไม้จากผลที่สุกไปเพาะใหม่

ต้นที่งอกมาใหม่จะว่าของใหม่ซะทีเดียวก็ไม่ใช่แต่ของเดิมรึก็ไม่ได้อีก

ของพันธ์เก่าเป็นยังไงต้นใหม่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

จิตที่เดินทางถ้ายังมีเชื้อ(กิเลส)เพื่อหานครแห่งใหม่นี้

ธรรมฐิตก็อธิบายได้ตามพยัญชนะที่เรียนรู้มาคล้ายที่ยกตัวอย่างแหละ

ให้อยู่กับปัจจุบันว่า..  เวลานี้เราเป็นยังไงอยู่..

ขอให้กรรม  ณ  เวลานี้เป็นไปในแนวทางที่ดี..

เพื่อจะนำไปสร้างนครใหม่ที่งดงามได้อีกหากยังมีกิเลสอยู่ตอ่ไป...

สาธุๆๆ

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

มาอ่านนิทาน....ท่านธรรมฐิตชอบให้มีการติดตามตอนต่อไป...ทำยังกะนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์เลย ^-^

หลอกล่อให้อยากอ่านต่อ(ดาวกับพี่นกก็ติดกับไปแล้ว)

ดาวเป็นคนขี้เกียจ...ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งจะไม่ต้องสร้างนครอีกต่อไปเจ้าค่ะ

นมัสการขอบพระคุณในข้อวิสัชณาเจ้าค่ะ

เกี่ยวเนื่องแต่พันธุ์มะม่วงของน้องดาวทีเดียวเชียว

เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ จะพยายามให้เมล็ดนั้นฝ่อลีบ ปลูกและรดน้ำอย่างไรหาได้งอกไม่ ถ้าสามารถ

สาธุเจ้าค่ะ

Pไม่ใช่นิทานนะไม่ได้บอกสักหน่อยว่านิทาน..

ก็ยังดีนะที่ดาวฟ้ายังรู้ตัวอยู่ว่า laziness  เพราะเท่ากับว่ายังมีสติอยู่

สาธุ..

Pก็วิสัชนาตามที่เรียนรู้นะพี่นก

สิ่งไหนรู้ไม่จริงปฏิบัติไม่ถึงธรรมฐิตไม่ชอบนำเสนอขอรับ..

อ่อ..นี่นิตยสารชีวิตขอรับพี่นกฝากบอกท่านประธานด้วย..ไม่ใช่การ์ตูน..

ท่านธรรมฐิต...

ที่เรียกว่านิทาน น่าจะถูกต้องแล้วเจ้าค่ะ เพราะคำว่า นิทาน หมายถึงเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา เพื่อความบันเทิงโดยมีการแทรกแนวคิด คติสอนใจ นิทานบางประเภทโดยเฉพาะนิทานทางพุทธศาสนาเป็นการสมมติ ยกตัวอย่างเพื่อประกอบคำอธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ปล. ดาวก็ไม่ได้เป็นว่าการ์ตูนสักหน่อย เพราะการ์ตูนเค้าต้องมีภาพประกอบเจ้าค่ะ

Pนิทานธรรมก็แล้วกันเนาะดาวฟ้า..

มีสิภาพประกอบเห็นใหม  บางครั้งตาไม่ต้องเห็นก็ได้ขอรับ..

 

คืออยากจะถามว่านิทานเรื่องนี้ห้ข้อคิดอะไรบ้างคร่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท