ธรรมฐิต
พระ(มหา) วิชิต ชิต สมถวิล(ฐิตธมฺโม)

สุริยัน-จันทรา


เย็นนี้นั่งสวดมนต์อยู่ตามปกติ ใกล้อาทิตย์อัสดงคตพลันแสงอันเจิดจรัสจากสุริยันก่อนลาจากงดงามยิ่งนัก 

สวดมนต์เสร็จหยิบโทร.มาถ่ายรูปไว้เพราะธรรมฐิตเป็นผู้ที่ชอบเก็บภาพต่างๆไว้เรียนรู้ในสิ่งที่มันเป็น  เพราะจุดหมายหลักอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือ  การเชื่อโยงช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริงตามธรรมชาติกับสิ่งที่ใจเราเห็นว่ามันเป็นอยู่..นี้แหละที่ทำให้น่าศึกษาเรียนรู้ยิ่งนักละ..เมื่อนึกถึงแสงสว่างแล้ว

          บรรดาแสงสว่างทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้อันเป็นเครื่องกำจัดความมืดนั้น มีแสงสว่างแห่งพระอาทิตย์  พระจันทร์ ดวงไฟ เหล่านี้ล้วนเป็นแสงสว่างที่ชาวโลกนิยมยกย่องว่า เป็นแสงสว่าง อันทำลายความมืดได้ เพราะเป็นแสงสว่างที่ให้สำเร็จประโยชน์แก่สัตว์โลก ๆ ได้อาศัยประกอบกิจการงานของตน สมัยแก่ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาชนนิยมนับถือว่าพระอาทิตย์เป็นแสงสว่างอย่างสำคัญ สามารถส่องแสงสว่างขจัดความมืดได้ในกลางวัน ให้มหาชนประกอบกิจการของตน ๆ ได้  ดังคาถาที่มหาชนกล่าวถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ไม่มีแสงสว่างอันใดจะเทียบเท่าถึงแสงสว่างของพระอาทิตย์ได้ พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า

แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี(นตฺถิ ปญญาสมา อาภา)

  จริงอยู่บรรดาแสงสว่างทั้งหลายดังกล่าวแล้วย่อมกำจัดความมืด โดยธรรมดาสามัญ  พระอาทิตย์ส่องสว่างในเวลากลางวัน พระจันทร์ส่องแสงสว่างในเวลากลางคืนตามวิสัยของตน ๆ  ดวงไฟที่บุคคลตามในที่มืดก็กำจัดความมืดได้ตามวิสัยของตน ส่วนปัญญานี้เป็นประทีปอย่างสำคัญสามารถกำจัดความมืด คือ โมหะ ให้หายได้  กิจการทุกอย่างไม่เลือกว่าชนิดไรจะสำเร็จลงได้ อาศัยปัญญาเป็นเครื่องสอดส่องกระทำเป็นสำคัญฉะนั้นปัญญาจึงเชื่อว่าเป็นดวงประทีปอันยิ่งใหญ่  จึงนึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งอีกว่า

ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก(ปญญา   โลกสฺมิ  ปชฺโชโต)

ปัญญาเป็นแสงสว่างเยี่ยมกว่าแสงสว่างทั้งปวงเพราะแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์เป็นต้น ไม่สามารถส่องเข้าไปในบางแห่ง เช่นในภูเขาและท้องทะเลเป็นต้นได้ ส่วนปัญญานี้ย่อมสามารถส่องได้หยั่งรู้ถึงในภูเขาแผ่นดินและท้องทะเลได้และปัญญานั้นเมื่อกล่าวโดยประเภทมี ๓ ประการ คือ ปัญญาเกิดจากสดับฟัง เรียกว่าสุตมยปัญญา ๑ ปัญญาเกิดจากความพินิจพิจารณาค้นคว้าหาเหตุผลในในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา เรียกว่าจินตมยปัญญา ๑ และปัญญาเกิดจากการทำความอบรมฝึกฝนให้มีขึ้น ด้วยการเจริญสมถะและวิปัสนา  เรียกภาวนามยปัญญา ๑ ปัญญาทั้ง ๓ ประการนี้  สุตมยปัญญาเป็นเหตุให้เกิดจินตมยปัญญา ๆ เป็นเหตุให้เกิดภาวนามยปัญญา เมื่อกล่าวโดยสรุปเป็น ๒ คือ โลกิยปัญญา ๑ โลกุตตรปัญญา ๑ ความเป็นผู้เฉลียวฉลาดรู้ทั้งปวงของโลก มีรู้ศิลปวิทยา การค้าขายและการช่างเป็นต้น เรียกว่าโลกิยปัญญา ความรู้เท่าทันในสภาวธรรมทั้งปวง คือ สภาพที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วมีความแตกดับเป็นธรรมดา  และความจริงในอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ และตัดเสียได้ซึ่งอวิชชา (ความไม่รู้) โมหะ (ความหลง) ให้ขาดจากสันดานก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลอย่างนี้เรียกว่า โลกุตรปัญญา  จัดเป็นปัญญาอย่างยอดเยี่ยมกว่าโลกิยปัญญา ฯ

          ดังนั้นปัญญานี้เป็นคุณธรรมอันสำคัญ เป็นอุปการะทั้งทางคดีโลก คดีธรรม ในโลกนี้บุคคลจะประกอบกิจการใด ๆ  จำต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาให้รู้เหตุรู้ผลแห่งกิจการนั้น ๆ ให้รอบคอบเสียก่อนจึงทำลงไป การงานนั้น จึงสำเร็จไปด้วยดีและได้รับผลเต็มที่ ฝ่ายคดีธรรมก็เช่นเดียวกันผู้จะบำเพ็ญสมณธรรมสำเร็จไปได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาเป็นข้อใหญ่ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงได้ชื่อว่าเป็นแสงสว่างอย่างสำคัญในโลกนี้ 

แสงสุริยันจันทราหรือจะเทียบแสงแห่งปัญญาได้

ธรรมะสวัสดีขอรับ...

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมฐิต
หมายเลขบันทึก: 299033เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2009 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • วันนี้ไปทำบุญ ฟังเทศน์ ที่วัดมา
  • เเละเข้ามารับธรรมะที่นี่ด้วยค่ะ
  • ขอบพระคุณเจ้าค่ะ
  • ถ่ายรูปได้สวยงามมากนะคะ

ธรรมฐิตขออนุโมทนาบุญกับ..พี่ลีลาวดี..ด้วยขอรับ..

ธรรมฐิตมักได้ข้อคิดดีๆจากรูปที่ถ่ายเสมอขอรับ..

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

"แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี(นตฺถิ ปญญาสมา อาภา)"

เหมือนปรัชญาของโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม ตราดเลยครับ

กราบขอบพระคุณครับที่นำแสงสว่างแห่งปัญญามาฝากครับ

มีปรัชญาแล้วก้อเดินตามปรัชญานะขอรับคุณครู..

เพราะ..คำปรัชญา..ต้องการให้เรียนรู้แบบไฟฉายเพื่อส่องให้เห็นสิ่งต่างๆได้ง่าย

หาใช่เพียงแค่ต้องการให้เรียนรู้แบบถังเก็บของที่เป็นเพียงที่เก็บความจำ..

สาธุๆๆ

นมัสการครับ มหา

รูปสวยดีครับ แสงแบบนี้แหละครับที่ผมชอบเดินดูคนเดียวเวลาเย็น ๆ ที่นาหม่อมบ้านเราก็สวยไม่แพ้กันครับ

พาให้คิดถึงบ้านเลยครับ มหา

...ว่าแต่ว่าแสงมันสว่างหรือใจเราสว่างครับ...????

สาธุเจษ..

ถ้าพูดแบบปรมัตถสัจจะแล้ว

ธรรมชาติไม่มีถูกหรือผิดแต่จิตเรานี่แหละเอาสีไปแต่งเติม..

ที่ฝรั่งเศสคงมีอะไรให้เรียนรู้เยอะเหนาะ..กลับมาคงเต็มพุงแน่ๆๆ(๕๕)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท