BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บ่นเรื่องถวายพระพุทธรูป


บ่นเรื่องถวายพระพุทธรูป

ใกล้เพลวันนี้ มีโยมข้างบ้านซึ่งเป็นคู่สามีภรรยามาำทำบุญถวายสังฆทาน รวมทั้งมีพระพุทธรูปมาถวายด้วย ผู้เขียนรู้สึกอึดอัดบางอย่าง แต่ก็มิกล้าพูดทำลายน้ำใจ จึงถือโอกาสมาบ่นไว้ในบันทึกนี้ เผื่อใครอ่านจะได้ฉุกคิดขึ้นบ้าง...

ตามที่ฟังมาและคาดเดาเอาเอง ลูกคนหนึ่งของเค้าได้เสียไปหลายปีแล้ว และมีความรู้สึกว่ายังคอยติดตามรบกวนอยู่เสมอ หลังจากได้ไปฟังจากใครมาก็ไม่ทราบว่า ให้ซื้อพระพุทธรูปมาถวายวัดสะเดาะห์เคราะห์ และเป็นการเสริมดวงบารมีเพื่อให้เค้าได้ไปเกิดในภพชาติที่ดีๆ ... อะไรประมาณนี้

พระพุทธรูปที่นำมาถวายนั้น ทำด้วยพลาสติกอย่างดี (เรียกชนิดไม่ถูก) หน้าตักประมาณ ๕ นิ้ว  มองดูแล้วก็ตั้งชื่อให้ว่าปางปฐมเทศนา เพราะมีพระภิกษุอีก ๕ รูปนั่งฟังธรรมอยู่หน้าพระพุทธรูปด้วย ผู้เขียนก็รับไว้และบอกว่าจะนำไปตั้งไว้ในโบสถ์สักระยะหนึ่ง เพื่อเป็นศิริมงคล

ส่วนสาเหตุที่บอกไปอย่างนั้น เพราะอาทิตย์ก่อนมีโยมคุ้นเคยกับผู้เขียน ได้ซื้อพระพุทธรูปทองเหลืองปางสมาธิจากร้านมาฝากไว้ โดยบอกว่า ฝากไว้สักระยะหนึ่ง เพราะหลวงพี่ได้สวดมนต์ทำวัตรทุกวัน ไว้วัดพอได้ขลังแล้วจะได้พากลับไปบูชาที่บ้าน  และเมื่อวานก็ซื้อปางยืนประทานพรมาฝากไว้อีกหนึ่งองค์...

 

ย้อนกลับไปประมาณสองอาทิตย์ก่อน มีโยมหน้าวัดซึ่งไปมีครอบครัวลงหลักปักฐานอยู่กรุงเทพฯ กลับมาทำบุญเดือนสิบแล้วขอโอกาสเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์ ซึ่งตั้งแต่โบสถ์ใหม่เสร็จเค้ายังไม่เคยได้เข้าไปชมเลย ก็ไปเห็นว่าในโบสถ์ไม่มีพระสีวลี ซึ่งต่างจากวัดแถวกรุงเทพฯ จึงประสงค์จะสร้างพระสีวลีไว้ในโบสถ์ ผู้เขียนก็พูดไปทำนองว่า พระสีวลีในโบสถ์นั้น มิใช่สิ่งจำเป็น อาจเป็นธรรมเนียมแถวภาคกลาง แต่มิใช่ค่านิยมทางปักษ์ใต้บ้านเรา...

ผู้เขียนก็พูดไปว่า ถ้าจะสร้างก็ให้สร้างองค์ใหญ่ๆ ชนิดที่ยกคนเดียวไม่ไหว จะได้ไม่หายง่ายๆ เนื่องจากพระพุทธรูปที่ญาติโยมสร้างไว้นั้น วัดต้องดูแลรักษา ทำให้เป็นภาระแก่วัด เฉพาะที่มีอยู่ในวัดตอนนี้ก็เยอะแล้ว อีกอย่างสร้างไว้ก็ใช่ว่าจะมีประโยชน์อะไรนัก ที่ต้องการจริงๆ ตอนนี้ก็คือเก้าอี้ให้ญาติโยมนั่งฟังธรรมในศาลาฯ เพราะโยมปัจจุบัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ) นั่งพื้นไม่ค่อยสะดวก ตอนนี้ก็สั่งไปแล้วสิบตัว มีโยมรับเป็นเจ้าภาพแล้วห้าตัว เค้าก็ว่าเปลี่ยนเป็นเก้าอี้ก็ได้...

 

ย้อนไปประมาณ ๓ -๔ เดือน ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายลูกพี่ลูกน้องกับผู้เขียน ไปดูหมอมาว่า ลูกน้องผู้เขียนคนหนึ่ง ดวงไม่ค่อยดี หมอดูบอกว่าให้ซื้อพระพุทธรูปถวายพระเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ เค้าจึงซื้อพระพุทธรูปปางต่างๆ ๕ องค์มาจากกรุงเทพฯ แล้วติดต่อมายังผู้เขียนว่าให้ช่วยนิมนต์พระเพื่อถวายพระพุทธรูปเหล่านั้น โดยถวายเสร็จก็จะทอนกลับ (เอาปัจจัยถวายพระแล้วเอาพระพุทธรูปคืนกลับไป) แล้วฝากพระพุทธรูปเหล่านั้นไว้ที่ผู้เขียน เพื่อจะได้ทำพิธีถวายอีกในครั้งต่อๆ ไป...

ผู้เขียนก็นิมนต์พระภิกษุให้มารับพระพุทธรูป ๓ วาระ ห่างกันประมาณครึ่งถึงหนึ่งเดือน ครั้งสุดท้าย ผู้เขียนก็บอกว่าน่าจะพอแล้ว ต่อไปถ้าจะทำบุญสะเดาะห์เคราะห์อีก ก็ให้ไปวัดไหนก็ได้ เอาปัจจัยถวายพระ-เณรที่ดูแลทำความสะอาดพระประธานในโบสถ์หรือศาลาโรงธรรม หรือเอาเงินให้โยมที่ดูแลทำความสะอาดในส่วนนี้ก็ได้ พลางอธิษฐานตามประสงค์ ก็น่าจะได้เหมือนกัน และจัดว่าเป็นการทำบุญที่ดีด้วย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า...

  • วิเจยฺย ทานํ สาธุ
  • การตรวจสอบถวาย เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ประเด็นนี้จึงเรียบร้อยไป ซึ่งอันที่จริงแล้วโยมน้าสาวของผู้เขียนเองก็ใช่ว่าจะเชื่อและหลงงมงายกับเรื่องทำนองนี้ แต่พวกที่เอาดวงไปให้หมอดูนั้น เป็นญาติอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อได้ความจากหมอดูมา จะไม่ทำก็อาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ก็เลยทำไปตามความประสงค์ เพราะมีกำลังพอที่จะทำได้ และจะได้ไม่มีปัญหากระทบเชิงความคิดในบรรดาเครือญาติด้วย... อะไรประมาณนี้

 

ตอนนี้ ผู้เขียนเริ่มรับภาระดูแลวัด นอกจากค่าไฟฟ้าประจำเดือนละหลายพันแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องการมากมาย แต่ก็ขาดกองทุนในการดำเนินการ จึงต้องค่อยๆ ซื้อ ค่อยๆ จัดหามาซ่อมและสร้างไปเรื่อยๆ เช่น ตะปู ไม้อัด สี น้ำมันสน เครื่องมือช่าง กุญแจ เครื่องสูบน้ำ เก้าอี้ เสื่อ พรม เครื่องเสียง ลำโพง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้เขียนต้องซื้อ  แต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงว่าวัดโดยทั่วไป มีความจำเป็นยิ่งกว่าพระพุทธรูป...

จึงขอบอกญาติโยม ถ้าหมอดูบอกว่าให้ซื้อพระพุทธรูปถวายเป็นการสะเดาะห์เคราะห์นั้น ก็ลองไปถามที่วัดใกล้ๆ ว่านอกจากพระพุทธรูปแล้วขัดสนอุปกรณ์อะไรบ้าง จะจัดหามาให้เพื่อถวายแทนพระพุทธรูป แล้วค่อยอธิษฐานว่า.... แทนพระพุทธรูป โดยอ้างว่า การทำอย่างนี้ดีกว่า เพราะเป็นการทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้ว่า...

  • วิเจยฺย ทานํ สาธุ การตรวจสอบถวาย เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ถ้ามีศรัทธาคือความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนาจริงๆ ควรจะทำอย่างนี้ และผู้เขียนยืนยันว่าไม่ผิดแน่นอน...

หมายเลขบันทึก: 298139เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2009 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

นมัสการพระคุณเจ้า เข้ามาเรียนรู้ เรื่องกายถวายให้ยังประโยชน์สำเร็จ

หลายสิ่งหลายอย่างที่ชาวบ้านไม่ต้องการ หรือต้องการ มักพาไปไว้วัด

ตอนเด็กๆเคยได้ยินแม่ของเพื่อน ดุเพื่อนว่า"อย่ากางหลางแรงต๊ะเดียวพาไปไว้วัดเสียแหละ" ทำให้คิดได้ว่า วัดดัดนิสสัยคนกางหลางครับ

บังว่ามา ทำให้นึกถึงคำของพระอาจารย์พยอม (เดียวนี้เป็นท่านเจ้าคุณ...) เคยฟังท่านบรรยายเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ท่านก็บ่นทำนองที่บังว่านะแหละ โดยท่านให้ความเห็นทำนองว่า...

ถ้า ใคร่จะให้วัดหรือพระศาสนาเจริญ มีลูก ๕ คน คนที่ฉลาดที่สุดก็ควรจะให้บวช คนที่ฉลาดลองลงมาให้ไปเรียนครู ส่วนคนที่โง่ที่สุดให้ไปเป็นทหาร... แต่ค่านิยมแบบไทยๆ คนเรียนเก่งจะให้เรียนหมอหรือวิศวะ คนที่ฉลาดรองลงมาก็อยากจะให้ไปเรียนนายร้อยทหารเผื่อจะได้เป็นนายก คนที่รู้สึกว่าโง่ก็ให้เรียนครู ส่วนคนที่โง่ที่สุดก็ต้องการให้บวช เผื่อจะได้เป็นสมภาร... อย่างนี้วัดหรือพระศาสนาจะเจริญได้อย่างไร !

เจริญพร

อ่านแล้วทำให้นึกถึงกลอนที่เขียนไว้ที่หน้าวัดแห่งหนึ่งในภูเก็ต

"ที่วัดนี้มีแล้วทั้งแมวหมา โยมไม่ต้องจัดหามาถวาย

ที่นี้วัดนี้ต้องการอิฐหินปูนทราย ปูนก็ได้ไม้ก็ดีสีก็เอา.." ฮา

Pอัยการชาวเกาะ

 

  • ที่วัดนี้มีแล้วทั้งแมวหมา โยมไม่ต้องจัดหามาถวาย
  • ที่วัดนี้ต้องการอิฐหินปูนทราย ปูนก็ได้ไม้ก็ดีสีก็เอา

5 5 5... สำนวนนี้ เคยเห็นหลายวัดเหมือนกัน... ญาติโยมทั่วไป ไม่ค่อยคำนึงในแง่ว่าเป็นภาระของวัดหรือไม่... มักจะคำนึงถึงแต่บุญ หรือสะดวกดี มากกว่า...

เจริญพร

ทำเรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพอยู่  เข้าไปหลายวัดจะเห็นของที่คนเอามาถวายเยอะมาก (นี่ยังไม่ได้รวมถึงถังฆทาน) แต่ไม่ทรายพระคุณเจ้าจำเป็นต้องใช้รึเปล่า  และขาดคนดูแล ทำความสะอาด  เป็นภาระของพระคุณเจ้าอีกด้วย  ตอนนี้ถ้าจะทำอะไรจะทอนจากวัด  ทางวัดก็ได้ปัจจัยไปทำประโยชน์ตามความต้องการจริง

Pkaikiku

 

 

ความจำเป็นต้องใช้ของพระ-เณรหรือวัดนั้น แตกต่างกันไปตามบุคล สถานที่ และโอกาส...

แต่โดยมาก พระุคุณเจ้ามักจะไม่ค่อยพูดให้โยมเสียน้ำใจ...

เจริญพร

ไม่รู้จะชื่นชมตรงประโยคไหนดี อ่านแล้วมันถูกใจไปหมด ถ้าชาวพุทธคิดและปฏิบัติอย่างที่ท่านทำ พระทั้งหลายคงเบาไปมาก อยากให้ชาวพุทธมาอ่านที่พระคุณท่านเขียนจังเลย

Pเบดูอิน

 

  • อนุโมทนาอย่างยิ่ง...

เจริญพร

เรื่องการทำบุญทำทาน

บางครั้งก็ไม่อยากโทษชาวพุทธหรอกว่าเอาง่าย เอาสะดวกเข้าว่า(เกินไป) เพราะก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย

ยุคนี้คำว่า Creative กำลังมาแรง ทำทานให้สร้างสรรค์เกิดอานิสงส์ ก็ต้องครีเอถีฟกันพอสมควรอ่ะนะ

นอกจากทำทานที่ไม่สักแต่ว่าทำ ๆ ตาม ๆ กันไป ก็ควรถือเป็นวิถีแห่งการฝึกสมาธิ/ปัญญาไปด้วย

อย่างเมื่อก่อนหน้าพรรษากาล แต่ละวัดล้นเกินไปด้วยเทียนพรรษา

จนปัจจุบันมีผู้คิดถวายหลอดไฟมาเป็นอีกทางเลือก

ไม่รู้ป่านนี้หลอดไฟ ดวงไฟล้นวัด ไม่มีที่เก็บอีกหรือเปล่า...

ยุคสมัยเปลี่ยนไป (โลกร้อนเพิ่มขึ้นอิอิ) ค่านิยมตักบาตรอย่าถามพระ ต้องทบทวนกันหรือเปล่า ??

กราบนมัสการพระอาจารย์ 3 หน

อ่านเรื่องที่พระอาจารย์เล่ามาแล้ว คิดถึงคำสอนของพระอาจารย์หลายๆรูปที่ท่านสั่งสอนมา เชื่อได้แต่ต้องมีปัญญา

หลายๆครั้งและหลายๆหนชาวพุทธที่ไปหาหมอดู ไปหาพระสะเดาะเคราะห์ มักไม่ค่อยเอาปัญญามาใช้เลย

ท่านเจ้าอาวาสวัดแห่งหนื่งที่จังหวัดพังงาท่านบอกว่า

1.ตอนเป็นเด็กเชื่อครู

2.ตอนเป็นวัยรุ่นเชื่อเพื่อน

3.ตอนเป็นผู้ใหญ่เชื่อแฟน

4.ตอนจบปริญญาเอก เป็นด็อกเตอร์ เชื่อหมอดู

เอวังก็มีด้วยประการละฉนี้ แล.

กราบด้วยความเคารพ 3 ครั้ง ครับ

ยุทธศักดิ์ ว.

30ยุทธศักดิ์ ว.

 

  • นานๆ คุณโยมก็เข้ามาเยี่ยม พร้อมด้วยข้อคิดเห็นเสมอ...
  • หวังว่ายังคงสุขสบายดี...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

บางคนหวังพึ่งหมอดู ทำแล้วสบายใจ ดีที่หมอดูแนะนำสิ่งที่ดีนะครับ

แต่ถ้าไปทำแบบอื่นเขาอาจไม่สบายใจ อาจจะไม่ทำเลยก็ได้ครับ

พระคุณเจ้ารับไว้มากก็นำไปมอบให้กับวัดที่ไม่ค่อยมีพระพุทธรูปก็ได้ครับ

บางคนเขาก็เข้าใจผิดๆเพราะหมอดูหมอเดา แต่ถ้าเขาได้รับรู้ถึงสัจธรรมจริงๆ

เขาก็จะเข้าใจได้ครับ พระคุณเจ้า

นมัสการ

วันก่อนคุยกับรุ่นน้องอาจารย์แพทย์ วกเข้าเรื่องทำบุญ เธอก็ปรารภว่า "เนี่ย หนูต้องตื่นเช้ามากเลย จะได้มาใส่บาตรให้ทัน ไม่งั้นไม่ราวน์ (ดูคนไข้) ไม่ทัน (อาจารย์แพทย์บางท่าน ต้องไปดูคนไข้และสอนน้องๆหมอตั้งแต่ 7 โมง หรือ 7 โมงครึ่ง) เลยต้องตื่นยิ่งเช้าเข้าไปใหญ่"

ผมก็เรียนถามเธอไปว่า "แล้วที่ดูแลคนไข้ทุกวันนี้ ไม่ได้ทำบุญหรอกหรือ?"

"มันไม่เหมือนกันน่ะพี่"

"ก็เห็นด้วย แต่ถ้าจะทำบุญ แต่เราเกิดเป็นทุกข์ล่ะก็ อาจจะไม่ทำเสียดีกว่า เพราะจิตมันไม่รับบุญเสียแล้วล่ะหนอ"

ไม่ใช่ผมจะพูดว่าเป็นหมอแล้ว ไม่ต้องใส่บาตรหรอกนะครับ แต่ "บุญ" นั้น ไม่น่าจะเป็นเพียงสัญญลักษณ์ น่าจะเป็น intention ที่เป็นกุศล ซึ่งมีได้หลายรูปหลายแบบ มีเจ้าหน้าที่เภสัชของโรงพยาบาล เขาว่างเฉพาะสายๆวันเสาร์อาทิตยฺ ก็อุตส่าห์มาสอนหนังสือให้เด็กป่วยที่มานอน รพ.นานๆหลายๆอาทิตย์ หลายๆเดือน เพราะเขาถนัดอย่างนั้น ไม่มีเวลาจะมาหุงข้าว ตื่นแต่เช้า ใส่บาตร แต่ก็เห็นสีหน้าท่าทางหน้าตาเขาอิ่มเอิบ อิ่มบุญ ผิวพรรณสดใสดี

"รูปแบบ" ที่ทำต่อๆกันมา บางทีก็ถอยห่างจากความหมายดั้งเดิมไปเรื่อยๆ เราก็ยังทำไปโดยขาดสติ ขาดการครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคาย ไม่มีโยนิโสมนสิการ

เมตตา

เข้ามาขออ่านด้วยความนอบน้อมครับพระคุณเจ้า (^_^)

ได้อ่านข้อความที่พระคุณเจ้าได้บันทึกแล้ว  ส่วนตัวไม่ค่อยเข้าใจกับคนอื่น ๆ เหมือนกันกับการทำบุญ  รูปแบบต่าง ๆ  

 

ตอนแรกตกลงกับญาติ ๆ ว่าจะสร้างพระถวายวัด

แต่ปัจจุบันพอได้อ่านบ้างข้อความ  ก็ทำให้เปลี่ยนความคิด  เพราะเห็นว่ามีสิ่งอื่นที่เราสามารถทำบุญให้วัดได้อีก  หมายถึงมีสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการธำรงค์พระพุทธศาสนาให้สืบต่อไปได้ 

 

หากท่านใดพบเห็นวัดระแวก นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทรปราการ  นครปฐม  ที่เห็นว่าต้องการความช่วยเหลือ  (วัดที่ไม่หรูหรา  มีแต่ความสัมถะ  เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง)  กรุณาส่งรายละเอียด แผนที่  รูปถ่าย  มาได้ที่  [email protected]

ทำไงดี พึ่งมัดจำค่าพระพุทธรูป40* ถ้าไม่เอา คงต้องทิ้งค่ามัดจำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท