ธรรมฐิต
พระ(มหา) วิชิต ชิต สมถวิล(ฐิตธมฺโม)

อย่า..อย่า..อย่า..


วันนี้ทำตัวให้ยุ่งสักหน่อยจัดที่พักให้เข้าที่เข้าทางเพราะยังเสร็จไม่ดี แต่วันนี้ช่างกลับหมดแล้วเลยย้ายหนังสือให้เข้าที่เข้าทางยังไม่เสร็จ

เลยมาลงบันทึกประจำวันก่อน

แต่บันทึกนี้นำกลอนมาให้อ่านได้พิจารณากัน

เพราะธรรมฐิตไปไหนต้องพาสมุดบันทึกตลอด

จดๆจำๆไว้มากมาย

กลอนนี้จดไว้เกือบสิบปีแล้ว

ไม่บอกที่มาของคนแต่งไว้

ลองอ่านกันดู

อย่า…อย่า…อย่า

                  อย่าคิดว่าตัวท่านนั้นอ่อนแอ

                   หรือคิดแต่ท้อแท้และแพ้พ่าย

                   จงคิดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยไป

                   แกร่งทั้งกายและจิตใจไม่พรั่นพรึง

                   อย่าร้อนรนค้นหาความลำบาก

                   จนกว่าความทุกย์ยากจะมาถึง

                   ถ้าวิตกทุกข์ร้อนนอนรำพึง

                   เมื่อทุกข์ถึงทุกข์ทับทวีคุณ

                   อย่าแบกโลกเอาไว้ให้หนักบ่า

                   อย่ากลัวว่าอนาคตไม่สดใส

                   อยู่ให้สุขแต่ละวันผันผ่านไป

                   เก็บแรงใจไว้แก้ไขเมื่อภัยมา

 

ธรรมะสวัสดีขอรับ...

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมฐิต
หมายเลขบันทึก: 296914เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2009 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • กราบนมัสการ พระอาจารย์ธรรมฐิต
  • อ่านแล้วได้ประโยชน์ นำไปปฏิบัติได้ดีค่ะ สรุปแล้วก็ให้อยู่กับปัจจุขณะ
    ไม่กังวลถึงอดีต ไม่พะวงกับอนาคต
  • กราบขอบพระคุณค่ะ
  • กราบนมัสการ พระอาจารย์ธรรมฐิต
  • อ่านแล้วได้ประโยชน์ นำไปปฏิบัติได้ดีค่ะ สรุปแล้วก็ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ
    ไม่กังวลถึงอดีต ไม่พะวงกับอนาคต
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองขอแต่ละคนว่า..ดี..หรือ..เลว..

เพราะมันคืออย่างเดียวกัน

สาธุพี่ครูขอรับ..

นมัสการค่ะ...หลวงพี่

ชอบบทนี้...

"อย่าร้อนรนค้นหาความลำบาก

จนกว่าความทุกย์ยากจะมาถึง

ถ้าวิตกทุกข์ร้อนนอนรำพึง

เมื่อทุกข์ถึงทุกข์ทับทวีคุณ"

และจะไม่พยายามค้นหาความลำบากและความทุกข์ยากมาใส่ตัวเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ

- ขอบพระคุณนะคะ สำหรับบทกลอนดี ๆ นี้คะ

- จะคอยนำไว้เตือนตนเองยามที่รู้สึกท้อแท้คะ

"คนเราไม่ควรกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ก็จงพึงระวังตนเองไว้เสมอด้วยเช่นกันคะ"

สาธุอาจารย์vij เพิ่งเห็นเลยไม่ได้ตอบ

ก็สอนให้เราเรียนรู้กับปัจจุบันขณะนะขอรับ..

ถูกต้องแล้วคุณครูโมเมย์..

สาธุๆๆๆ

กราบนมัสการ พระอาจารย์ ธรรมฐิต

   ขอความกรุณาท่านช่วยแนะนำการติว-การสอนนักธรรมตรีให้กับนักเรียนชั้นป.5 เพราะได้รับมอบหมายให้สอนนักเรียนที่จะสอบนักธรรมตรี

ในวันที่ 9 พ.ย.52  แต่ยังไม่มีความชำนาญพอ อ่านบาลีก็ยังไม่ค่อยจะคล่อง

กลัวนักเรียนจะไม่ได้รับความรู้เต็มที่  โดยเฉพาะการบรรยายกระทู้ธรรม

จึงขอความกรุณาจากท่านช่วยชี้แนะด้วยคะ

ท่านผู้อยากรู้ ..ธรรมฐิตส่งตัวอย่างการแต่งกระทู้มาให้

ส่วนการติวนั้นคุณครูลองให้นักเรียนทำข้อสอบเก่าดู

เพราะข้อสอบจะออกซ้ำๆกันโดยมาก

ลองหาดูในนี้ละกัน

http://www.gongtham.net/web/news.php

มีอะไรติดขัดให้ช่วยแนะสอบถามทางMail มาได้ขอรับ..

 

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ.

ควรรีบทำความเพียรในวันนี้

          ณ  บัดนี้   จักได้อธิบายขยายความแห่งกระทู้ธรรมสุภาษิตที่ลิขิตไว้ เบื้องต้น  พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษา และนำไปปฏิบัติสืบต่อไป

            ความเพียร ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วิริยะ แปลว่า ความแกล้วกล้า ขยันทำความดี หรือพยายามทำจนกว่าจะสำเร็จ การที่เราทำกิจใดนั้นเราจะต้องอาศัยความเพียร ๓ ลักษณะ คือ อารัมภะ ๑ เป็นความคิดริเริ่มในการวางแผนในกิจนั้น เพื่อที่จะทำกิจได้ตามต้องการ อุฏฐานะ ๑ เป็นความตื่นตัวที่จะลงมือทำกิจในทันทีมิได้รอเวลาซึ่งจะเป็นการเสียเวลาเปล่า ปรักกมะ ๑ เป็นความพยายามทำกิจไปอย่างต่อเนื่องก้าวไปข้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ จะพบว่าคุณธรรมในข้อนี้ เป็นเครื่องพยุงความพอใจมิให้ท้อถอยในการทำงาน เนื่องจากว่างานทุกชนิดนั้นมักจะง่ายตอนคิด แต่มักจะติดตอนทำเสมอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความเพียรอย่างต่อเนื่องในการทำกิจให้ลุล่วงไป ดังการที่บุคคลเข็นรถที่หนัก ในช่วงแรกนั้นจะต้องออกแรงมากเพื่อที่จะทำให้รถวิ่งไป และยังจะต้องออกแรงอย่างต่อเนื่องหยุดมิได้ แต่เมื่อรถวิ่งไปแล้วบุคคลนั้นก็ยังคงจะต้องออกแรงต่อไป แต่น้อยกว่าตอนเริ่มต้นต่อไปอย่างสม่ำเสมอ รถก็ยังคงวิ่งต่อไปได้ด้วยดี ถ้าบุคคลนั้นหยุดเข็น รถนั้นก็จะค่อยๆ หยุดลง แล้วบุคคลนั้นก็จะต้องเริ่มออกแรงใหม่อีกครั้งเพื่อที่จะให้รถวิ่งได้ใหม่ ฉันใด การทำกิจใดๆ ก็ฉันนั้นบุคคลจะต้องวางแผนลงมือทำ และก้าวไปข้างหน้าอย่าได้หยุดเช่นเดียวกัน

          ความเพียรที่กล่าวมานี้เป็น อัญญสมานา คือเป็นไปได้ทั้งในส่วนดี และส่วนชั่ว โดยทั่วไปแล้วเราจะมุ่งไปที่ความเพียรในทางที่ดีที่ชอบจริงอยู่ ดังเช่นบุคคลประสบความยากจน ก็ใช้ความเพียรในการหาทรัพย์ด้วยการโจรกรรม นับว่าเป็นความเพียรที่ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความเพียรลักษณะนี้จะก่อให้เกิดทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีกเพราะจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นบุคคลควรมีความเพียรในทางที่ดีที่ เรียกว่า ปธาน ๔ ซึ่งเป็นสัมมาวายามะ ที่เป็นองค์หนึ่งในมรรค ๘ เป็นทางดับทุกข์ด้วยความเพียร ประกอบด้วย สังวรปธาน เป็นความเพียรระวังมิให้บาปอกุศลธรรมต่างๆ ที่ยังมิได้เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น คือ ความเพียรที่จะประกอบกุศลธรรม ปหานปธาน ๑ เป็นความเพียรที่เกิดขึ้นจากการละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว คือ พึงงดเว้นจากความผิดที่ได้กระทำอยู่ไม่กระทำอีก ภาวนาปธาน ๑ เป็นความเพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น คือ พยายามคิดที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควรให้เกิดขึ้น อนุรักขนาปธาน ๑ เป็นความเพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อมไป และพยายามเพิ่มพูนให้สูงขึ้น คือ กุศลธรรมที่ได้ทำมานั้นก็พยายามที่ทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ จากพระโอวาทของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรื่องความถนอมเวลา ว่า ทรัพย์เสียไปแล้ว อาจหาใหม่ได้ด้วยความเพียร, ความรู้ที่เสื่อมไปแล้ว อาจบำรุงได้อีกด้วยการเล่าเรียน, ความสำราญอันตรธานหายไปแล้ว อาจทำให้เกิดได้ด้วยอีกด้วยรู้ประมาณในการบริโภคและกินยา, ส่วนเวลาที่เสียไปแล้วล่วงเลยไป เรียกเอาคืนมาไม่ได้ คนที่ไม่นำพากิจธุระ มักพอใจพูดแก้ตัวว่าไม่มีเวลาจะทำ, อันที่จริงเขาอยากอยู่เปล่าเท่านั้น คนผู้ประพฤติเพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ย่อมเป็นคนขยันไม่หยุดหย่อนตลอดปี คนเช่นนี้ถึงแม้นจะมีภาระธุระ ก็ยังจะสามารถช่วยทำได้อีก คนผู้ทำมากยังสามารถทำได้มากขึ้นไปอีกและทำได้ดีที่สุด เพราะเหตุการณ์กระทำย่อมเจริญความสามารถจะทำให้มากขึ้นสมกับสุภาษิตที่มาใน สคาถวรรค สังยุตตนิกาย ว่า

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา.

บุรุษพึงพยายามไปกว่าจะสำเร็จประโยชน์

          จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีความเพียรนั้นมี ๒ ทาง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ ๑ หมายถึง ประโยชน์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุที่ได้ทำมาก่อน ประกอบด้วย อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความเพียร หมั่นทำกิจที่ควรทำที่ยังมิได้ทำ เมื่อทำแล้วจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความรักษา คือ รักษากิจที่ทำไว้ไม่ให้เสื่อมเสีย และรักษาทรัพย์ที่หามาได้มิให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ สมชีวิตา เลี้ยงชีพตามกำลังอันสมควร กัลยาณมิตตา ความเป็นผู้ที่มีมิตรที่ดี คือ เลือกคบหาสมาคมกับบุคคลที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ และสัมปรายิกัตถะประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ในภายหน้า ประกอบด้วย สัทธาสัมปทา บุคคลถึงพร้อมด้วยความเชื่อ คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของ ตน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วบุคคลก็จะตั้งใจเป็นคนดี โดยทำกรรมดี ก็จะบรรลุผลดีทำให้เกิดศีล ศีลสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยศีล พยายามตั้งใจเรียนรู้ทางดำเนินยิ่งขึ้นไป สละสิ่งที่ชั่วในตัว จาคสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยจาคะ โดยสละวัตถุตามกำลังที่ควรสละแก่บุคคลที่สมควร ปัญญาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยปัญญา โดยปัญญา เลือกทางเจริญ ละทางเสื่อม การที่บุคคลปฏิบัติได้ดังนี้ก็ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ปัจจุบันแก่ตน สามารถตั้งใจตนให้เจริญได้ เกื้อกูลให้เกิดความสุขสืบไปและประโยชน์ในภายหน้า ก็จะก่อให้เกิดผลดีผลชอบต่อไปในคติภพที่เรียกว่าสุคติได้

          สรุปความว่า บุคคลควรมีความเพียรที่ตั้งมั่นที่จะทำกิจให้สำเร็จลุล่วงไป โดยยังจะเกิดผลต่อบุคคลนั้นทั้งในปัจจุบันและภายหน้าได้ เพียงแต่ว่าบุคคลนั้นจะต้องรีบทำความเพียรที่มีต่อกิจต่างๆ นั้นอย่างตั้งใจ ใส่ใจ และทุ่มเทเวลาให้กับกิจนั้นอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้กิจนั้นบรรลุได้ เกิดความอิ่มเอิบใจ ภูมิใจ และยังเป็นผลหนุนนำให้บุคคลนั้นได้สูงขึ้นไปอีก ดังนั้นบุคคลอย่ารอช้าจงเร่งทำความเพียรให้เกิดขึ้นในตน สังคม ย่อมทำให้เกิดความสุขได้ สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ.

ควรรีบทำความเพียรในวันนี้

 ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ฯ

นมัสการท่าน ธรรมฐิต 
         ขอกราบขอบพระคุณท่านมากที่ให้ความกรุณาแก่ผู้อยากรู้อย่างดิฉัน

ดิฉันได้ได้ทำการคัดลอกตามเว็ปที่ท่านแนะนำมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ ดีใจมากเลยที่ได้เฉลยมา เพราะเก็บข้อสอบของปี 50ไว้แต่ไม่มีเฉลย ร่วมกันกับเพื่อนครูช่วยกันเฉลยก็ยังทำได้ไม่หมดแล้วยังแปลกใจว่านักเรียนของเราที่สอบผ่านช่างเก่งจริงๆ ครูเองยังทำกันไม่ได้เลย(เมื่อก่อนมีพระท่านมาติวให้นักเรียน ปีนี้ให้ครูติว ก็เลยต้องขวนขวยหาความรู้มาสู่เด็ก  แล้วปีนี้นักเรียนจะสอบติดกี่คนหนอ) เพราะตอนเป็นนักเรียนก็ไม่ได้เรียนละเอียดขนาดนี้

 จึงได้ท่านมาโปรดสัตว์โดยแท้  แล้วจะรบกวนต่อไปจนกว่านักเรีรยนจะสอบนะคะท่าน

แล้วขออนุญาตท่านนำบันทึกของท่านเข้าสแพลนเน็ตด้วนค่ะ

อนุโมทนาคุณครู..

หากติดขัดสงสัยในเรื่องใดก็ถามได้ขอรับ

ธรรมฐิตจะถือว่าได้เผยแผ่สิ่งดีๆอีกทางหนึ่งด้วย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท