จับความรู้ โครงการความร่วมมือ


ภาณุ อุทัยรัตน์ : พ่อเมืองนครกับโครงการความร่วมมือฯ

 

     ภาณุ อุทัยรัตน์ : พ่อเมืองนครกับโครงการความร่วมมือฯ

 ( ข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือฯครั้งที่ 01/2552)

5  มิถุนายน 2552  เวลา 13.30 16.00 น.

ณ ศูนย์ OTOP  จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

                                                                                โดย นายณรงค์  คงมาก

                                                                             โครงการวิจัยฯ การจับความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

 

                เกริ่นนำ  โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2  ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552  มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน จะสิ้นสุดโครงการฯ  ในวันที่ 31 สิงหาคม 2553  โดยข้อเสนอโครงการฯ ที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะผู้แทนภาคีการพัฒนาและผู้แทนภาคประชาชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช   ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552  ณ ห้องประชุมพลังเมืองนคร  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช

                หลังจากโครงการความร่วมมือฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ดำเนินงานได้ 3 เดือน ( มีนาคม พฤษภาคม 2552 )  จึงกำหนดการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ครั้งแรก ในวันนี้ ( 5 มิถุนายน 2552 ) โดยมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานที่ประชุม  มีนายอนันต์ คลังจันทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ  นักวิชาการ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  และผู้แทนภาคประชาชน  ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมประชุม  จำนวนประมาณ 55  คน

                เนื้อหาสาระของการประชุมครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่สำคัญ  แต่ในบทความนี้จะเน้นการจับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเห็นของนายภาณุ อุทัยรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในส่วนที่น่าจะเป็น  ความรู้  นำไปสู่ปฏิบัติการของโครงการความร่วมมือฯระยะที่ 2 ได้จริง

                3 เดือนแรก : โครงการความร่วมมือฯยังมีช่องว่างการประสานงานทั้งในและนอกโครงการฯ    จากการนำเสนอโดยผู้แทนประธานร่วมของโครงการความร่วมมือฯ  (  ประธานร่วม  3 คนของโครงการความร่วมมือฯ ได้แก่ นายประยงค์ หนูบุญคง นายคณพัฒน์ ทองคำ  และนายทวี วิริยฑูรย์ ) พบว่า ข้อปัญหาและอุปสรรคในช่วง  3  เดือน ( มีนาคม พฤษภาคม 2552 )  มี 3   ประการสำคัญ คือ 1.) ผู้ปฏิบัติงาน  และคณะทำงานของโครงการฯขาดความรู้ ความเข้าใจ  ในแนวคิดทิศทางของโครงการ  2.) คณะผู้บริหารโครงการฯ ไม่ได้เข้าพบ ทำความเข้าใจกับภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  และ 3.) ผู้บริหารระดับสูงของภาคีพัฒนาให้ความสนใจโครงการความร่วมมือฯน้อย   

                พร้อมกับมีข้อเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค 3 ประการดังกล่าว อย่างชัดเจน กล่าวคือ 1.) คณะกรรมการบริหารโครงการฯควรเร่งทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงาน  2.) คณะผู้บริหารโครงการฯควรสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับภาคีพัฒนา  และ3.) คณะกรรมการบริหารโครงการฯควรสร้างความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงของภาคีการพัฒนา

                พ่อเมืองนคร : เน้นงานที่สร้างผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และสานต่องานชุมชนเข้มแข็งต่อไป  หลังจากนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้รับฟังการนำเสนอรายละเอียดและผลการดำเนินงานระยะ 3 เดือน ของโครงการฯ  ( รายละเอียดตามเอกสารที่แจกจ่ายในที่ประชุมแล้ว) ท่านได้ให้คำตอบต่อที่ประชุม  ต่อกรณีข้อปัญหาอุปสรรคว่า ที่ผ่านมา  7  เดือน  ผมทำงานแบบเน้นผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำงานตามนโยบายส่วนกลาง ไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในระยะไกลๆ มากนัก และผมมีฐานที่ยึดหนักแน่นคือความตั้งใจในการทำงาน และเห็นว่างานที่ท่านวิชม ทองสงค์ ได้วางไว้มีฐานรากเข้มแข็ง  งานจึงเดินต่อไปได้ และยืนยันว่าผมจะสานงานนี้ต่อไป  แม้ว่าโครงการความร่วมมือฯจะมีเป้าหมาย 60 ตำบล ไม่เต็มพื้นทั้งจังหวัด 165 ตำบล เนื่องจากต้องการคุณภาพ มากกว่าปริมาณ ก็เห็นด้วย จะได้มีจุดโฟกัส ทำจุดโฟกัส 60 ตำบล ให้ดีที่สุด  ทำด้วยใจ ไม่ใช่ทำงานเพราะมีคำสั่ง หาก 60 ตำบลเข้มแข็งและดี   การขยายผลไม่ใช่เรื่องยาก

                ข้อมูลครัวเรือน บัญชีครัวเรือน : เครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน   นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจยิ่งต่อเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งยังเป็นเครื่องมือสำคัญของโครงการความร่วมมือฯระยะที่ 2 ว่า ผมเห็นแบบบันทึกข้อมูลครัวเรือน แบบบัญชีครัวเรือน วางไว้ที่ว่าการอำเภอหลายแห่ง ยังไม่ขยับเลย  อยากรู้ว่าจริงๆ ทำบัญชีครัวเรือนไปเท่าไร?  และเราได้ใช้เนื้อหา  ใช้ข้อมูล จากบัญชีครัวเรือนเท่าไร? กี่เปอร์เซนต์ของที่เราแจกจ่ายไป และในพื้นที่เป้าหมาย 60 ตำบลของโครงการฯนี้ใช้บัญชีครัวเรือนอยู่หรือไม่? ผมยังเห็นความสำคัญของบัญชีครัวเรือนมาก และเป็นการดำเนินตามแนวพระราชดำริด้วย การทำบัญชีครัวเรือนเป็นเครื่องมือชี้วัดสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจน ทุกคนรู้ว่าสำคัญ จำเป็น แต่ไม่ค่อยทำกัน ภายใต้โครงการฯนี้ ผมขอเสนอให้พิจารณาว่า อาจไม่เน้นปริมาณของคนทำบัญชีครัวเรือน  แต่ให้ครัวเรือนที่ทำบัญชีอาจเป็น 5-10 % ก็ได้  ทำให้จริง ให้เห็นผลชัดเจนจากการทำบัญชีครัวเรือนจริงจัง แล้วนำมาขยายผลมีอย่างน้อย 2 เรื่องที่ผู้ว่าให้ความเห็นและผมจับประเด็นได้ว่าผู้ว่าเป็นคนสนใจ KM และสนใจคุณภาพมากกว่าปริมาณ  เอาคุณภาพให้ได้เป็นตัวอย่างการขยายผลเชิงปริมาณโดยใช้ KM  นับว่าสอดคล้องกัฐฐานการทำงานที่ผู้ว่าวิชม วางไว้ครับ

                นายคณพัฒน์ ทองคำ  ประธานโครงการฯร่วม ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นบัญชีครัวเรือนว่า ในระยะที่ 1 โครงการฯยังทำเรื่องบัญชีครัวเรือนไม่สำเร็จ  ในระยะที่ 2 จึงวางแผนเน้นการทำบัญชีครัวเรือนกับครัวเรือนที่สมัครใจทำจริงจัง หมู่บ้านละ10% เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับครัวเรือนที่ทำอย่างจริงจัง และนำไปสู่การวิเคราะห์ การเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มครัวเรือน และนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ไปใช้เป็นข้อมูล ส่วนประกอบหนึ่งของการทำแผนชุมชนหมู่บ้านและตำบล โดยใช้แบบบันทึกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เสริมกับแบบบันทึกครัวเรือนของภาคีการพัฒนาต่างๆ เช่น ธกส. กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

                แผนชุมชนเมืองนครยุคใหม่ : จะไปทิศทางไหน ?  นายสุชาติ  สุวรรณกาศ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช  ให้ข้อมูลเรื่องการขับเคลื่อนแผนชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ที่ทำการปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 23 อำเภอ ดำเนินการเรื่องการปรับปรุงแผนแม่บทหมู่บ้าน โดยให้คณะกรรมการหมู่บ้านที่แต่งตั้งตามกฎหมายเป็นแกนกลาง  ส่วนแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล เพื่อให้สามารถบูรณาการแผนกันได้จริงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีคำสั่งให้ปลัดอบต.เป็นเลขานุการ  ฝ่ายวิเคราะห์นโยบายและแผนของ อบต.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ของคณะทำงานทำแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล  และบูรณาการเป็นแผนระดับอำเภอ  ซึ่งกำลังดำเนินงานทำแผนอำเภอบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ 2553 อยู่ในขณะนี้

                นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นเสริมว่า อยากเห็นพลังของ 4 ทหารเสือในตำบล คือ กำนัน  ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบตำบล  ปลัดอบต. และนายก อบต.  ทำงานเสริมพลังกัน  ใน 60 ตำบลนี้ ขอให้ลองทำกันดู ? เพื่อให้แผนชุมชนกับแผน อบต.บูรณาการกันให้เป็นจริง ให้ท่านปลัดจังหวัด และคณะกรรมการบริหารโครงการฯไปพิจารณาร่วมกัน

                 นายสาธิต  กลิ่นภักดี  ท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช   ให้ข้อคิดเห็นประกอบว่า ที่ผ่านมาแผนชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  มีเจ้าภาพหลายฝ่ายดำเนินการ  จังหวัดมีหนังสือคำสั่งไปยังทุก อบต.ให้ใช้แผนชุมชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการทำแผนของ อปท. แต่ในความเป็นจริงหลาย อบต.ยังไม่มีแผนชุมชน (รูปเล่มแผนชุมชน)ที่อบต. และในการทำแผนฯปี 2553 ของ อปท.ทางจังหวัดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ อปท.นำแผนชุมชนมาพิจารณาบูรณาการเป็นแผนของอปท.เช่นกัน  และทางท้องถิ่นได้กำหนดให้เรื่องการนำแผนชุมชนมาใช้ทำแผน อบต. เป็นตัวชี้วัดหนึ่งด้วย

                 นายอภินันท์   ชนะภัย  นายก อบต.กะปาง   อำเภอทุ่งสง   นายวิชิต  โมลีกานนท์ นายกอบต.ทุ่งสง อำเภอนาบอน  นายประยงค์ หนูบุญคง  อดีตนายก อบต.ขอนหาด อำเภอชะอวด  ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ในจังหวัดนครศรีธรรมราช  หลาย อบต.ได้นำแผนแม่บทชุมชนมาใช้เป็นแผน อบต.ด้วย แต่เราต้องเข้าใจปรัชญาแนวคิดของแผนชุมชนด้วยว่า แผนชุมชนเป็นแผนที่ทำโดยชาวบ้าน ไม่ใช่ทำโดย อบต. หรือข้าราชการ อย่าทำาผิดหลักการที่น้าประยงค์ รณรงค์จากชุมชนไม้เรียงได้วางไว้  คือการทำแผนชุมชนยึดการใช้ข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลบริบทหมู่บ้าน ตำบล มาวิเคราะห์ มาเรียนรู้ร่วมกัน ก่อนที่จะจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการในระดับต่างๆ เริ่มจากแผนงานที่ทำได้ด้วยตนเองก่อน  และแยกประเภทเป็นแผนที่ต้องทำบนฐานความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และร่วมมือกับภาคีการพัฒนาระดับต่างๆ ไม่ใช่แผน อบต. แต่เป็นแผนที่ อบต.สามารถนำไปทำเป็นแผนอบต.ได้ เพราะมาจากการจัดทำข้อเสนอโดยภาคประชาชนในตำบลนั้นๆอยู่แล้ว อันนี้เป็นหลักการที่ดี  แผนชุมชนทำไปโดยชุมชน  เพื่อปูฐานการทำงานชุมชนเข้มแข็ง  เป็นเป็นฐานรากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม  บัญชีครัวเรือนสามารถเอาไปสังเคราะห์แผนชุมชนและแผน อบต. ได้ ที่สำคัญคือแผน อบต. ต้องอย่าขัดกับแผนชุมชน  ผมคิดว่างาน สกว. ที่มีอยู่น่าจะเข้าไปช่วยแผน อบต. โดยยึดหลักการพิจารณาว่าจะขัดแย้งหรือส่งเสริมแผนชุมชนหรือไม่  เราจะใช้การวิเคราะห์โดยตารางความสัมพันธ์แบบที่เราเคยเรียนรู้จากการทำกับบัญชีครัวเรือนโยงกับ ศก. พพ. ได้เลย

 

                พ่อเมืองนครสั่งลุย : นัดประชุมเปิดตัวโครงการฯและติดตามงานโครงการความร่วมมือฯ ทันที   หลังจาก การนำเสนอความก้าวหน้าและแผนงานของโครงการความร่วมมือฯ จบลง  นายณรงค์ คงมาก หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฎิบัติการการจับความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง นำเสนอแนวคิด แนวปฏิบัติ ของโครงการฯจับความรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งจะเป็นโครงการวิจัยบนฐานงานของโครงการความร่วมมือฯทั้ง 5 จังหวัด ( นครศรีธรรมราช  พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี และสตูล) ที่ สกว.สนับสนุนให้เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่คอยเสริมพลังการดำเนินงานโครงการความร่วมมือฯ  โดยยึดหลักการการจับความรู้ของกระบวนการดำเนินงาน หรือ ความรู้ที่ค้นพบระหว่างทาง นำมาเสริมความสามารถของโครงการความร่วมมือฯเอง หรือนำไปขยายผลยังพื้นที่อื่นๆต่อไป แล้ว   ที่ประชุมก็ได้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของพ่อเมืองนคร  สอดรับกับที่ท่านได้แสดงเจตจำนงตั้งแต่ช่วงนั้นของการประชุม กล่าวคือ

                1.) การนัดประชุมใหญ่เปิดตัวโครงการความร่วมมือฯ ทำความเข้าใจและข้อตกลง กับ 60 ตำบลเป้าหมาย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2552  โดยมอบภารกิจเร่งด่วน แก่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ คือ ให้จัดเตรียมวีดีทัศน์ที่แสดงผลงานและศักยภาพที่โดดเด่นของ 60 ตำบล ที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย ความยาวตำบลละ 10-12 นาที นำเสนอเป็นตัวอย่างในการประชุม  และเผยแพร่ขยายผลสู่ตำบลต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 165 ตำบล  โดยในวันประชุมครั้งต่อไป  ให้เชิญท่านวิชม ทองสงค์ และที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆมาให้ครบถ้วนด้วย

                2.)  ให้ฝ่ายเลขานุการ นัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฯชุดนี้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2552 เพื่อติดตามความก้าวหน้า อีกครั้ง เพราะเป็นคณะกรรมการชุดที่มีความสำคัญ ต่อการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนฐานล่าง.

                บทสรุป    จากปรากฏการณ์วันนี้ ( 5 มิถุนายน 2552 )   การนัดประชุม  เพื่อเปิดตัวโครงการความร่วมมือฯและการนัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือฯ เพื่อติดตามงานอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2552   นั้น  สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของนายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  อย่างชัดเจนในการสานต่อภารกิจการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และจากรายละเอียดที่พ่อเมืองนครศรีธรรมราชท่านนี้ ได้กล่าวถึงเรื่องแบบบันทึก แบบบัญชีครัวเรือน ที่ยังไม่ขยับในหลายอำเภอ หลายพื้นที่ นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ท่านติดตามผลงานของโครงการความร่วมมือฯระยะที่ 1 อย่างใกล้ชิด   และข้อขัดข้องดังกล่าวที่ท่านพบ  ท่านได้อธิบายด้วยความเข้าใจถึงสภาพปัญหา และยังยืนยันในความสำคัญของการทำบัญชีครัวเรือน รวมทั้งการทำแผนแม่บทชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป

                แต่ขอให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม  จับต้องได้ เห็นได้  ในพื้นที่ 60 ตำบล  และนำไปขยายผล  นำไปอวดพื้นที่อื่นๆได้อย่างเต็มภาคภูมิ  เท่านี้ก็พอ.

วันที่ 24 ผมอยู่ต่างประเทศ  ถ้า อ. สมยศจัดให้ทีมรวมปัญญาฯ เข้าร่วมเพื่อเริ่มการ รับทราบ บริบทนครฯ ได้ก็ดีมาก

สุธีระ

หมายเลขบันทึก: 266620เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2009 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับนายหัว ภีม ขอแสดงความเสียใจ จากการสูญเสียที่จากไปครับ

พรุ่งนี้ เก้ามิย.พัทลุงก็นัดพื้นที่โครงการ สกว. เฟส สองคุยกันที่ศาลากลาง  ยี่สิบตำบลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท