ผูกมิตรสร้างสามัคคี


คนเราไม่ได้อยู่ผู้เดียวในโลก   เราจะต้องมีหมู่คณะมีเพื่อนฝูง  มีสังคม  มีครอบครัว มีญาติพี่น้อง เมื่อเป็นเช่นนี้  การที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้นั้น  เราจะต้องอยู่แบบรักกัน    ถ้าไม่ถูกกัน   เกลียดกัน ก็ไม่อยากพบกัน ไม่อยากอยู่ร่วมกัน ไม่อยากเข้าใกล้   แต่เราหลีกเลี่ยงการอยู่ในหมู่ผู้คนไม่ได้  ถ้าไม่ชอบกันก็ไม่มีความสุข ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข   เพราะฉะนั้น เราจะต้องรักกลมเกลียวกัน มีความสามัคคีกัน  ดังนั้น เราต้องรู้จักวิธีอยู่ในหมู่คณะ ต้องมีวิธีผูกมิตร ซึ่งวิธีการสร้างไมตรีในทางพุทธศาสนามีหลักธรรมอยู่หมวดหนึ่ง ชื่อว่า สังคหวัตถุ แปลว่า  หลักธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์กัน  หมายถึง คุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน มี 4 ประการ ได้แก่

            ประการที่ 1  ทาน คือ การให้  การเสียสละ  แบ่งปัน  

คนเราจะรักกัน  อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมีมิตรไมตรีต่อกันได้นั้น   จะต้องมีการให้ ต้องเสียสละ ต้องแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่น   ถ้าคิดแต่จะเอาอย่างเดียว ชีวิตส่วนตนก็ไม่มีความสุข  สังคมนั้นก็จะไม่มีความสุขความเจริญก้าวหน้าไปด้วย 

ยกตัวอย่าง  เช่น ในบ้านเรามีตู้เย็นอยู่ตู้หนึ่ง ทุกคนคิดแต่ที่จะเอาหมดเลยต่างคนต่างมาหยิบ ต่างคนต่างมาเอา ไม่มีใครคิดที่จะเอาของมาใส่ไว้เลย เป็นอย่างไร !  สุดท้ายก็หมด เหลือแต่ตู้เปล่าๆ อย่างดีก็มีแค่น้ำเปล่าแช่เย็นไว้  อาตมาเคยเห็น บางทีแม้แต่น้ำเปล่าก็ไม่มี คือมีแต่คนมาดื่มมากิน แต่ไม่มีคนเอามาใส่ แต่ถ้าบ้านนั้นคนที่มาหยิบไปกินไปใช้ เมื่อมีก็เอามาใส่ไว้ด้วย ใครมีก็เอามาใส่ไว้ เอามาแบ่งปันไว้เผื่อผู้อื่น ขาดเหลือก็มาหยิบเอาไป มีเมื่อไรก็เอามาใส่ อยากได้ก็มาหยิบเอา   ก็จะมีของหมุนเวียนอยู่ในตู้เย็นตลอดเวลาพร้อมให้มาหยิบมาใช้ได้ตลอด แต่ถ้าหยิบอย่างเดียวไม่เอามาใส่ไว้เลย สุดท้ายก็เหลือแต่ตู้เปล่าๆ การอยู่ร่วมกันในหมู่คณะก็เช่นกัน จะต้องมีการรับและให้    จึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขทำให้สังคมอยู่รอด ดังที่มีคำกล่าวว่า 

 

จงทำให้สังคมอยู่รอด เพื่อเราจะได้อยู่รอดในสังคม

 

 ไปไหนมีของติดไม้ติดมือไป  มีการแบ่งปัน มีการช่วยเหลือกัน มีน้ำใจกัน มีความเสียสละ เห็นใครมีทุกข์ก็พร้อมที่จะแบ่งปันความสุขให้  พร้อมที่จะสละเวลาให้  คู่สามีภรรยาก็เหมือนกัน มีการผ่อนหนักผ่อนเบายอมกันบ้าง ให้กันบ้าง  ชีวิตก็มีความสุข  โดยที่สุด แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน  ถ้าเราให้อาหารมัน  ดีกับมัน  ก็ผูกมิตรกับมันได้ ใช่ไหม  พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า

 

ททมาโน  ปิโย  โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก

 

ลองดูนะถ้าใครเกลียดเรา  ตั้งตนเป็นศัตรูกับเรา ก็ลองให้เขามาก ๆ ทั้งข้าวของน้ำใจไมตรี ฯลฯ ด้วยความจริงใจ  สุดท้ายเขาจะกลายเป็นมิตรของเราได้  ถ้าเขาเกลียดเรา  เราก็เลยเกลียดเขา  แล้วเมื่อไรจะสร้างมิตรได้ จริงไหม ?

 

วิธีผูกมิตร

                = โอบอ้อมอารี  (ทาน)

          = วจีไพเราะ  (ปิยวาจา)

          = สงเคราะห์มวลชน (อัตถจริยา)

          = วางตนสม่ำเสมอ (สมานัตตตา)

 

ประการที่ 2     ปิยวาจา คือ มีคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน สุภาพอ่อนโยน  

เมื่อให้แล้วก็ต้องพูดเพราะๆ ด้วย คือให้กันแบบดี ๆ  สมมติว่าให้ของใครแล้วพูดว่า อ่ะ! เอาไป  ให้แล้วนะ เอาก็เอาไม่เอาก็อย่าเอา อย่างนี้คนรับเขาอยากจะรับไหม?  ไม่อยากรับหรอก  ถึงจำเป็นก็ไม่อยากจะรับ สู้ยอมลำบากดีกว่า บางทีจะรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น  ต้องพูดกันดีๆ บางคนโกรธกันจนตาย  แม้ตายก็ไม่ไปเผาศพกัน  เรียกว่า ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบกันเลยทีเดียว  เพราะอะไร ?  ก็เพราะพูดให้เจ็บใจ แค่คำพูดเท่านี้ไม่ได้ทำอะไรอื่นให้เสียหาย  แต่พูดแล้วมันกรีดเข้าไปถึงหัวใจ บาดใจ เสียดแทงใจไม่ลืมเลือน   เพราะฉะนั้น ให้ระวังคำพูดให้ดี  จึงมีภาษิตว่า 

 

อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ร่วมมิตรให้ระวังวาจา

 

แต่ถ้าคนพูดดี  พูดเพราะ ไปที่ไหนใครก็รัก ใครก็ชื่นชม เจอกันแล้วพูดดีพูดให้ชื่นใจก็อารมณ์ดี ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน แต่ว่าต้องมีความจริงใจด้วยนะ พูดออกมาจากใจที่ปรารถนาดีและเป็นคำพูดดีๆ เจอใครก็ทักทายปราศรัย พูดในสิ่งที่น่าชื่นใจน่ายินดี

ตัวอย่างก็มีมากมาย เรื่องที่เราได้ยินได้ฟังกันมาตั้งแต่เด็ก (แต่โตขึ้นมาก็ลืมหมดเพราะไม่เอามาใช้) เช่น เรื่องโคนันทวิศาล ที่ว่าเจ้าของเลี้ยงไว้อย่างดี  อย่างกับเป็นลูกของตัวเอง รูปร่างล่ำสัน บึกบึน แข็งแรง สามารถลากเกวียนได้ครั้งละเป็นร้อยๆ เล่ม จึงไปท้าพนันกับเศรษฐี  เอาเกวียนบรรทุกกรวดทรายเป็นร้อยเล่ม พอขึ้นขี่บนหลังโคนันทวิศาล ก็สั่งว่า ไป!  ไอ้โคโง่ ไอ้โคเกเร จงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้ โคนันทวิศาลแม้มีกำลังมากสามารถลากเกวียนเหล่านั้นได้ แต่เมื่อได้ยินอย่างนี้หมดกำลังใจ  แข้งขาไม่มีแรงไม่มีใจจะลากเกวียนแล้ว จึงได้แต่ยืนนิ่งเฉย เจ้าของก็แพ้พนัน ต้องเสียใจ ภายหลังมาคิดได้รู้ว่าตัวเองทำพลาดไปคือพูดไม่ดี แม้สัตว์ก็ต้องการคำไพเราะอ่อนหวานเหมือนกัน ก็เลยไปท้าพนันใหม่ คราวนี้ พูดดีๆ พอขึ้นหลังโคแล้วร้องสั่งว่า พ่อโคผู้เจริญ พ่อโคตัวประเสริฐ เจ้าจงลากเกวียนนี้ไปให้ถึงเส้นชัยเถิดนะ โคได้ยินแล้วชื่นใจ เกิดกำลังใจ รู้สึกมีกำลังวังชา กระฉับกระเฉงลากเกวียนไปลิ่วเลย นี่เป็นผลของการพูดไพเราะ   

 

สังคมไทยปัจจุบันให้กันน้อยลง  ยอมกันน้อยลง  แต่พูดกันแรงขึ้น 

สังคมจึงร้อนขึ้น  วุ่นวายขึ้นทุกวันอย่างที่เห็นกันอยู่ 

เขาก็อยากได้  เราก็อยากได้  ใคร ๆ ก็อยากได้ทั้งนั้น 

 

ขอให้เข้าใจกัน  แบ่งปันความสุขกันให้ถ้วนทั่ว 

พูดกันดี ๆ  สังคมจะน่าอยู่กว่านี้ 

มนุษย์รวมตัวกันจึงเกิดเป็นสังคมขึ้น 

ฉะนั้น มนุษย์ในสังคมนั้นนั่นแล  ที่จะเป็นผู้ทำให้สังคมดี หรือไม่ดี 

 

อยากอยู่ในสังคมแบบไหน  ก็จงทำตัวแบบนั้นเถิด   

ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่ 039   ประจำวันพฤหัสบดี ที่  19 - 26  กรกฎาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 219540เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2008 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 03:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับท่านอาจารย์

          รพี

        

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท