การสอนแบบค้นพบความรู้


การสอนที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบหรือความรู้ด้วยตนเอง

                  การสอนแบบค้นพบความรู้ (Discovery)  คือการสอนที่ผู้เรียนค้นพบคำตอบหรือความรู้ด้วยตนเองสิ่งที่ค้นพบนั้นมีผู้ค้นพบมาก่อนแล้วและผู้เรียนก็ค้นพบความรู้หรือคำตอบนั้นด้วยตนเอง ไม่ใช่รู้จากการบอกเล่าของคนอื่น หรือจากการอ่านคำตอบ ในการสอนจะใช้สถานการณ์ให้ผู้เรียนเผชิญกับปัญหา ในการแก้ปัญหานั้นผู้เรียนจะใช้ข้อมูลและปฏิบัติในลักษณะตรงกับธรรมชาติของวิชาและปัญหานั้น

                การค้นพบความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนนี้เป็นผลมาจากที่ได้เผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ แล้วรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยอาจจะใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร การทดลอง การสอบถามจากผู้รู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อมูลมากพอที่จะนำมาวิเคราะห์ เพื่อลงข้อสรุปเป็นคำตอบหรือความรู้ที่ต้องการ จึงยุติการศึกษาค้นคว้าในประเด็นนั้น การเรียนรู้โดยวิธีการค้นพบความรู้นี้ เป็นกระบวนการอย่างเดียวกับที่นักนักคณิตศาสตร์ศึกษาคณิตศาสตร์ นักเคมีศึกษาค้นคว้าทางเคมี นักประวัติศาสตร์ศึกษาประวัติศาสตร์ นักภาษาศึกษาทางด้านภาษา หรือศิลปินศึกษาค้นคว้างานทางด้านศิลปะ จะเห็นว่าวิธีการสอนแบบนี้สามารถนำมาใช้ในการสอนได้ทุกวิชา เพราะเป็นวิธีการที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการเรียน หรือเป็นผู้กระทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เอง  ทั้งนี้เป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับปวงชน ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.. 2542 มาตรา 8 และ มาตารา 22

ข้อดีของการสอนแบบค้นพบความรู้

1.       การที่ผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเองทำให้สามารถจดจำความรู้นั้นได้นาน มีความภูมิใจและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องนั้นต่อไปอีก

2.       ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาทักษะและเจตคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเอง

3.       ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาทักษะทางสมองระดับสูง ได้แก่ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการหยั่งรู้ (Intuitive Thinking)

4.       ผู้เรียนมีโอกาสฝึกทักษะการอ้างอิงโดยใช้การคิดอย่างมีเหตุผล ทั้งการคิดแบบอุปนัย (Inductive Thinking) และการคิดแบบนิรนัย (Deductive Thinking)

5.       ผู้เรียนจะเรียนรู้โดยเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งในสิ่งที่ตัวเองศึกษา

ข้อจำกัดของการสอนแบบค้นพบความรู้

1.       เป็นวิธีการเรียนที่ผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลาในการเรียนค่อนข้างมาก และผู้เรียนแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน

2.       เอกสารตำราและสื่อการเรียนอื่น ๆ ในปัจจุบัน จะผลิตขึ้นในรูปของการบอกความรู้ให้กับผู้เรียนมากกว่าการให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ด้วยตนเอง

3.       ผู้เรียนมักจะค้นพบสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ต้องการให้ค้นพบ ทำให้ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้าขยายกรอบกว้างมากเกินไป

4.       ผู้เรียนบางคนไม่สามารถค้นพบความรู้ตามที่มุ่งหวังไว้ ทั้งนี้อาจมาจากขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้โดยวิธีนี้

แนวทางการจัดกิจกรรมการสอนแบบค้นพบความรู้ให้มีประสิทธิภาพ

                จากข้อดีและข้อจำกัดของการสอนแบบค้นพบความรู้ด้วยตนเองดังกล่าว การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนโดยวิธีนี้ จึงน่าจะดำเนินการให้มีประสิทธิภาพได้ดังนี้

1.       ผู้สอนจะต้องรอบรู้ในวิชานั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือให้คำแนะนำในกรณีที่ผู้เรียนค้นพบความรู้ที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อน

2.       การกำหนดปัญหาและสถานการณ์เพื่อให้เกิดการค้นพบความรู้ จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบ และมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน

3.       จะต้องมีอุปกรณ์ สื่อการเรียนและแหล่งข้อมูลสำหรับการเรียนอย่างเหมาะสม

4.       ต้องมีการประเมินผลเพื่อพิจารณาทั้งในด้านความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียน

5.       ควรสร้างโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การค้นพบความรู้ของตนกับผู้อื่นทั้ง เพื่อนในชั้นเรียน เพื่อนต่างโรงเรียน ครู อาจารย์ หรือผู้รู้อื่น ๆ

6.       การค้นพบความรู้ได้นั้น นอกจากผู้เรียนต้องมีเวลามากพอแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานความรู้ที่เพียงพอ มีความสามารถในการสร้างความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการสังเกต การรวบรวม จัดหมวดหมู่ ตีความหมาย และลงข้อสรุปจากข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมด ดังนั้นในระยะแรกของการใช้การสอนวิธีนี้ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นก่อน

 

 

อ้างอิง

การสอนแบบค้นพบความรู้  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:  http://www.sobkroo.com/ed_3.htm

เทคนิคการสอน  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:  www.takesa1.go.th/~nitess/tecnic.doc

ลักษณะการสอนที่ดี  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:  ednet.kku.ac.th/~paisan/214420/internet-

instruction.doc

หมายเลขบันทึก: 207947เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2008 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท