BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หม้ายสาไหร่, โร้สา, ลาสา, สาเร่


หม้ายสาไหร่, โร้สา, ลาสา, สาเร่

คำปักษ์ใต้ตามชื่อบันทึกนี้ ถ้าเป็นคนใต้น่าจะพอเดาถูก และเมื่อลองสังเกตให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า แต่ละคำจะมีพยางค์ว่า สา อยู่ด้วย ซึ่งนั้นเป็นสาเหตุของการคาดเดาว่าพยางค์ว่า สา นี้ มาจากคำว่า พรรษา เราก็มาลองพิจารณากัน...

๒-๓ วันก่อน ผู้เขียนและเพื่อนสหธัมมิกร่วมรุ่นก็นั่งคุยกันในวงฉันข้าว  ผู้เขียนก็อ้างถึงพระแรกบวชบางรูปที่ชอบขึ้นไปนั่งหัวแถว ชอบทำตัวเป็นพระผู้ใหญ่ (เพราะอายุมากแล้ว เพียงแต่แรกบวชเท่านั้น)... พระใหม่ที่ชอบประพฤติทำนองนี้ หาได้ทั่วไปและมีอยู่ทุกยุคสมัย แต่มักจะถูกพระเถระซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ด้วยพรรษาบวชมานานแล้วตำหนิแล้วไล่ให้ไปนั่งปลายแถว... และผู้เขียนก็อ้างต่อว่า แต่เดียวนี้ เค้ารู้จักตัวเองแล้ว มักจะไปนั่งตำแหน่งที่เหมาะสมกับตนเอง...

ปิยมิตรรูปหนึ่งซึ่งเป็นนักคาดเดาก็บอกว่า นั่นแหละ เค้าเรียกว่า โร้สา (ภาษากลางว่า รู้พรรษา) นั่นคือ เป็นผู้มีพรรษา หรือผ่านพรรษาแล้ว ย่อมรู้ย่อมเข้าใจธรรมเนียมจารีตแล้วปรับตัวให้เหมาะสม... ขณะที่เมื่อก่อนนั้น หม้ายสาไหร่ (ไม่มีพรรษาเลย) จึงไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมเนียมจารีต ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ  ไม่เหมาะสม...

ต่อมาคำ ๒ คำนี้ จึงถูกนำมาใช้นอกสังคมวัด  และความหมายก็ขยายความกว้างขึ้นว่า

  • หม้ายสาไหร่ คือ ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ เอาดีไม่ได้ หรือขาดความจริงจังกับชีวิตและหน้าที่การงาน
  • โร้สา คือ มีความรู้และเข้าใจ เฉลียวฉลาดในกิจการและเรื่องราวต่างๆ ทำอะไรถูกต้องตามขนบธรรมเนียม

 

และแล้วปิยมิตรรูปนี้ก็เล่าต่อว่า ต่อไปพอ โร้สา แล้ว สามารถ ลาสา  ได้ ซึ่งตามพระวินัยบัญญัตินั้น ภายในพรรษาพระภิกษุต้องจำพรรษาอยู่วัดใดวัดหนึ่ง แต่ถ้ามีความจำเป็นก็อาจ ลาพรรษา (ภาษาใต้เรียกสั้นๆ ว่า ลาสา) ไปค้างแรมยังที่อื่นได้ และจะต้องกลับมาำภายในเจ็ดวัน...

ปิยมิตรอีกรูปก็พูดขึ้นบ้างว่า  ผมเคยได้ยินเค้าพูดว่า  พามา ลาสา นะ ... คำว่า ลาสา มีความหมายปักษ์ใต้ว่า มาก หรือ เยอะแยะ... ตามนัยนี้ขยายความว่า พระภิกษุเมื่อจะลาพรรษาไปนอนค้างแรมที่อื่นนั้น ก็จะต้องพาบริขารส่วนตัวไปบ้างตามสมควร ที่ขาดไม่ได้ก็เช่นต้องพาผ้าสังฆาฏิครองไปด้วย นั่นคือต้องมีสิ่งของมากกว่าปกติ..

สำหรับผู้ที่อยู่วัดนาน ถ้าในพรรษาเห็นพระภิกษุอาคันตุกะต่างถิ่นต่างวัดเดินเข้ามาภายในวัด ก็อาจสังเกตย่ามหรือสิ่งของบางอย่างได้ ถ้าสะพายย่ามพองๆ มีของเยอะเต็มย่าม ก็อาจคาดหมายได้ว่า พระภิกษุรูปนั้น น่าจะ ลาสา มาค้างแรมที่วัด เพราะถ้ามาธุระเสร็จแล้วกลับก็คงไม่นำสัมภาระมาเต็มย่าม... ต่อมาคำนี้ก็ถูกนำมาใช้นอกวัด และมีความหมายกว้างขึ้นว่า

  • ลาสา คือ มาก เยอะ ยิ่งกว่าปรกติ

 

ยังมีอีกคำ... ปิยมิตรอีกรูปพูดขึ้นบ้าง สาเร่ คือ พระที่เข้าพรรษาวัดนี้ พออีกปีก็ไปเข้าพรรษาวัดโน้น เที่ยวเร่ร่อนเข้าพรรษาไปเรื่อย มิได้อยู่ประจำวัดหนึ่งวัดใด นั่นคือ เข้าพรรษาเร่ร่อน แต่ภาษาใต้เรียกสั้นๆ ว่า สาเร่ ... ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ทั้งชาวบ้านและชาววัดมักไม่ค่อยเชื่อถือพระภิกษุที่ชอบท่องเที่ยวอยู่ไม่เป็นที่ทำนองนี้ ดังคำว่า พระสาเร่ อยู่ไม่เป็นที่่ เชื่อถือยาก... ต่อมาคำนี้ก็ถูกนำมาใช้นอกวัด และมีความหมายกว้างขึ้นว่า

  • สาเร่ คือ คนเร่ร่อน อยู่ไม่เป็นที่ คนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

.........

สำนวนใต้ที่ใช้คำเหล่านี้ ก็เช่นคุณตาอาจดุด่าลูกหลานบางคนว่า...

  • อายุก็ลาสาแล้ว เที่ยวสาเร่ หม้ายสาไหร่ โร้สาเสียมั้งตะ

แปลพอเป็นภาษากลางได้ว่า...

  • อายุก็มากแล้ว ยังไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทำอะไรก็จับจดไม่จริงจัง รู้จักปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นบ้างซิ

 

ริงเท็จก็ไม่ทราบ แต่ฟังคำอธิบายที่ชักนำมาแล้ว ก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผล พอฟังได้...

 

หมายเลขบันทึก: 195645เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2008 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นมัสการพระคุณเจ้า เข้ามาอ่านงานของท่าน ได้ความรู้ดีครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอแจมสักคำครับ แถวพังงา ภูเก็ต เขาใช้คำว่า สะกี้ไม่มีหู แปลว่า ไม่สาไหร เหมือนกันครับ

P

ลุงพูน

 

สะกี้ไม่มีหู (หรือ สะกี้หม้ายหู) เป็นสำนวนเปรียบเปรย เพราะใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือใช้ได้ก็ยาก (ถ้าเอาไปทำถางปลุกต้นไม้ ก็พอได้ แต่ไม่ดีเท่าไหร่)

คนประเภทสะกี้ไม่มีหู  ก็ทำนองเดียวกับ คนไม่สาไหร่

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

โร้สาจริงๆแล้วครับหนนี้

คำว่า สา ในที่นี้น่าจะมาจากคำว่า "สาระ" มากกว่าน่ะ เช่น

ไร้สา ก็ไม่มีสาระ ไม่มีไหร้นั้นแหละ ไม่สาไหร่ ก็เหมือนกัน

ราสา หรือจังหู ใช้แทนกันได้ คือ มีสาระมาก ทีนี้คำว่า "จังหู"

มาจากไหน ใครพอรู้มั่งคับ

ไม่มีรูปนภพ สุทธิวรา

 

  • เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ไม่ได้ถือเป็นจริงจัง...

ประเด็นว่า สา มาจาก สาระ ก็พอรับฟังได้... สาระ เป็นคำมาจากภาษาบาลี...

แต่ สา ตามภาษาบาลี ยังแปลว่า หมา (หรือ สุนัข) ได้อีกด้วย...

ถ้าเทียบคำว่า หมา กับสำนวนปักษ์ใต้ว่า หมาโร้ หมาเห็น หมาไป... ซึ่ง หมา ในที่นี้ เป็นคำปฏิเสธ แปลว่า ไม่ นั่นคือ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ไป...

ส่วนสำนวนว่า ไม่สาหมา ก็อาจกลายเป็นคำซ้ำซ้อน ซึ่งต้องวินิจฉัยต่อไป (5 5 5...)

คำว่า จังหู เคยได้ยินใครวิจารณ์นานแล้ว แต่จำไม่ได้ จะจำไปลองสอบถามดูแล้วค่อยนำมาเล่า... หรือใครพอมีความเห็นก็ลองวิจารณ์ได้...

เจริญพร 

นมัสการครับ

เข้ามาหาข้อมูล หาความรู้ จากท่านอาจารย์บ่อยๆ

(ทึกทัก เรียกอาจารย์เลย)

ไว้ผมทำเว็บไซต์ของตัวเองเมื่อไร จะทำลิ้งมาที่นี่นะครับ

อยากให้ผู้คนได้อ่านเยอะๆ

โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ และ วัยรุ่น

อ้อ ขออนุญาตินำ คำเล่านี้ไปทำดิสเพลย์ในmsnด้วยครับ

"อายุก็ลาสาแล้ว เที่ยวสาเร่ หม้ายสาไหร่ โร้สาเสียมั้งตะ"

ขอบคุณครับ

ไม่มีรูป สานิตย์

 

 

  • อนุโมทนา...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท