วิสาหกิจชุมชนกับคนรุ่นใหม่


จุดเริ่มของการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่ไม่เคยรู้จักกัน แต่ผูกสัมพันธ์ด้านจิตใจความรู้สึกที่ดีได้ยาวนานจริง ๆ

          เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2551 ผมตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเดินทาง   ขณะเดียวกันรู้สึกว่าตัวเองตื่นเต้นกับภารกิจที่ได้รับจากเพื่อนทีมงานเก่า ๆ ของเครือข่ายยมนา(ยาง ไม้ผล นา) ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  และหวังไว้ว่าหลังเสร็จในภารกิจวันนี้คงได้พบกับใครหลาย ๆ คนที่เคยร่วมวงร่วมงานการเรียนรู้มาด้วยกันซึ่งก็ห่างกันไปบ้างอันเนื่องจากต่างก็ต้องทำภารกิจของตนเอง  เมื่อมีโอกาสเจอกันคงได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ้างไม่มากก็น้อย


         ผมได้รับการประสานงานจากคุณสหัส  เลิศไกร  หนึ่งในทีมงานวิทยากรของ เครือข่ายยมนา  ว่าขอช่วยเป็นวิทยากรในการอบรมบุคคลเป้าหมายคือนักเรียน กศน. 60 คน ในหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ภายใต้โครงการ  พัฒนาการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกิจกรรมที่จัดให้มีขึ้น

ในปีงบประมาณ 2551  ณ ห้องประชุมศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ตำบลไม้เรียง  อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ผมไม่ลังเลในการตอบตกลง   เพราะว่าหากเครือข่ายยมนาประสานงานเราก็ไม่ต้องทำความเข้าใจกันมากมายนักในอันที่เราจะให้อะไรกับบุคคลเป้าหมายและจะจัดการกระบวนการให้เขาเรียนรู้อย่างไร  เพราะต่างก็รู้กันอยู่แล้ว  เมื่อยื่นไม้ให้แล้วจะรับกันได้อย่างลงตัว  ผมเตรียมกระบวนการไม่มากมายอะไรนัก เพราะการชี้แนวทางการเรียนรู้เรื่องวิสาหกิจชุมชนของบุคคลเป้าหมายที่จะชี้ให้  ก็อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงเพื่อสู่ความเข้มแข็งของชุมชนตามที่เคยร่วมเรียนรู้กันมานาน  ซึ่งมีน้ายงค์(ประยงค์ รณรงค์  ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ)  คนที่ผมนับถือเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่ได้ปลูกฝังแนวทางกระบวนการเรียนรู้ไว้ให้ตั้งแต่ ปี 2543  และเพื่อน ๆ ในเครือข่ายยมนาหลายคนทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นเดียวกัน(รุ่นคือนับอายุแก่อ่อน)

 


          ผมเดินทางถึงศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง  เลขที่ 141 หมู่ที่ 2   บ้านหนองหาด  ตำบลไม้เรียง  อำเภอฉวาง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  9  โมงเศษ ๆ ซึ่งผมสับสนกับเส้นทางเล็กน้อยเลยหลงไปในทางที่อ้อมกว่าทำให้สายจากเวลาที่นัดหมายไว้ 9  โมงตรง  รู้ตอนหลังว่าที่ศูนย์เรียนรู้ ฯ  เริ่มกังวลกันแล้วและกำลังปรับแผนการสอน  และผมก็รู้สถานการณ์ตั้งแต่ก่อนลงจากรถแล้ว  เมื่อเห็นน้ายงค์  ยืนมองออกมาที่ถนน  และเมื่อรถผมจอดท่านก็มองให้แน่ใจเลยว่าใช่ผมหรือไม่  เมื่อผมสวัสดีทักทายท่านก็รีบเรียกพี่จร (ขจร ทิพาพงศ์)  ผู้นำชุมชนไม้เรียงอีกท่านหนึ่งที่คอยจัดการเรื่องของศูนย์เรียนรู้อยู่  ให้พบกับผม  ผมคุยกับพี่จรเพื่อถามข้อมูลในการอบรมที่ผ่านมาแล้วหนึ่งวันว่าทางวิทยากรท่านอื่นให้อะไรไว้แล้วบ้างและผมก็แยกจากน้ายงค์มาทำหน้าที่ที่นักเรียนรออยู่แล้ว  ส่วนน้ายงค์ก็แยกไปบรรยายให้กับนักศึกษาปริญญาโทจาก ม.วลัยลักษณ์  ประมาณ 20 คน  ซึ่งรออยู่ด้วยเช่นกัน


          กระบวนการของผมนั้นชี้แนวทางให้รู้ว่าวิสาหกิจชุมชนคืออะไร  หลังจากนั้นให้นักเรียนฝึกกิจกรรมวิเคราะห์ข้อมูลของจริง  โดยแบ่งนักเรียนเป็น  3 กลุ่ม  แต่ละกลุ่มให้คิดเอาว่าเป็นชุมชน  และเอาข้อมูลจริงว่าที่บ้านทำอาชีพอะไร  แล้วเอาอาชีพเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันให้เป็นลักษณะของการพึ่งพาตนเอง  และนำสู่เส้นทางของวิสาหกิจชุมชนอย่างไร   แล้วให้ผู้แทนกลุ่มออกมานำเสนอให้เพื่อน ๆ ได้รับฟังวิธีคิด


        

         เสร็จสิ้นในหน้าที่ของผมในช่วงบ่ายนักเรียนจะไปดูงานของจริงในหลาย ๆ ด้าน 
ช่วงพักได้นั่งกินข้าวเที่ยงกับน้ายงค์  ในขณะเดียวกัน  พี่จร  คุณสหัสมานั่งร่วมวงด้วยแต่ไม่ได้กินข้าวด้วยเพราะกินมาก่อนแล้ว  ได้มีโอกาสพูดคุยย้อนหลังไปในเรื่องของการเริ่มต้นเรียนรู้ของแต่ละคน  ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศแรก ๆ ที่เราเคยร่วมเรียนรู้กัน  นอนในอาคารเรียนร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลาของการเรียนรู้การทำแผนแม่บทชุมชนระดับตำบล   ได้มีโอกาสพูดคุยกันอีกครั้งมีความสุขดีจริง ๆ ครับ   แต่ก็ไม่ได้คุยกันนานเพราะเมื่อเวลา 13.00 น. คุณสหัส  ก็พานักเรียนไปดูงาน  พี่จรก็จัดเตรียมเรื่องอื่น ๆ อีก ส่วนน้ายงค์ก็ยังมีนักศึกษาปริญญาโทรอยู่  ทุกคนก็เลยต้องแยกกันไปผมก็ลากลับด้วยความสุขที่ได้เจอน้ารงค์ผู้ที่ผมเคารพเป็นอาจารย์  พี่จรพี่ชายใจดี  คุณสหัส  เพื่อนร่วมเรียนรู้  ผมขับรถกลับแต่ก็ยังไม่ลืมนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ จุดเริ่มของการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่ไม่เคยรู้จักกัน  แต่ผูกสัมพันธ์ด้านจิตใจความรู้สึกที่ดีได้ยาวนานจริง ๆ

คำสำคัญ (Tags): #ชุมชนเข้มแข็ง
หมายเลขบันทึก: 189712เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2008 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • สวัสดีครับ
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • อยากมีโอกาสไปร่วมวง ลปรร.ด้วยจัง
  • คิดถึงมากครับ

สวัสดี คุณชาญวิทย์

นับถือ นับถือ ชุมชนไม้เรียงเป็นต้นแบบให้ หลายๆชุมชนใด้ใย

เศรษฐกิจพอเพียง ต้องนำฝึก นำเรียนนำสู่คนรุ่นใหม่

ยิ่งใด้ฝึกเรียนจากคลังปัญญา นับว่าเป็นโอกาส ที่สุดยอดแล้ว

สวัสดีครับ น้องสิงห์ป่าสัก

ที่ไม้เรียงเขามีหลักสูตรให้เรียนรู้มากมายเลยครับ เป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสอีกครั้งไปเจอผู้นำชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันครับ

ขอบคุณที่มาเยี่ยม ช่วงนี้งานชุกมากเลยครับไม่ค่อยมีโอกาสนั่งบันทึกเลย

สวัสดีครับ บังหีม

ผมมีโอกาสได้ถ่ายทอดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตัวเองให้กับเยาวชน เพื่อให้มองเห็นความเป็นจริงและวิธีคิด ถือเป็นความภาคภูมิใจครับ ที่ไม้เรียงมีอะไร ๆ ให้เรียนรู้ได้เยอะเลยครับ แม้จะเรียนรู้กันกี่ครั้งก็ไม่หมด

ขอบคุณและคิดถึงนะครับ

สวัสดีคะ พี่ชาญวิทย์

  • ไม่คิดว่า คนนคร ก็จะหลงนครเช่นกันคะ
  • สู้ๆ คะ

สวัสดีค่ะ..พี่ชาญวิทย์

...อยากเข้าร่วมกิจกรรมด้วยจังเลยค่ะ.ถ้ามีโอกาส กศน.ท่าศาลาคงได้มีโอกาสต้อนรับวิทยากรอย่างพี่ชาญวิทย์ ที่เป็นผู้มีความชำนาญด้านนี้ด้วยนะคะ.

* อยากทำงานร่วมกันเหมือนตอนอยู่ อ.พระพรหม

* ได้ความรู้เยอะมาก

สวัสดีครับ น้องปู

  • น้องปูเคยเดินทางแล้วหลงพัทลุงบ้างหรือเปล่า  น่าจะมีมั่งล่ะ
  • คิดถึงทีมงานเดิม ๆ ทุกคนนะครับ  ส่งเมล์มาให้ข่าวกันบ้าง

สวัสดีครับ ครูต้อย

  • ช่วงหลังก็ห่างกันไปบ้างนะครับ  เพราะต่างก็เปลี่ยนที่ทำงานบทบาทก็เปลี่ยนกันไป  มีโอกาสคงได้เจอในกิจกรรมงานนะครับ
  • ขอบคุณที่มาเยี่ยมนะครับ

เครือข่ายยมยา ทำกิจกรรมอะไรบ้างค่ะ และมีการบริหารจัดการเคือข่ายอย่างไรบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท