เชื่อมร้อยใจ ...... วาดฝันปั้นสุข เมืองชุมพล


ข้าวยำ .... บูรณาการ

เชื่อมร้อยใจ ...... วาดฝันปั้นสุข  เมืองชุมพล

 

การขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะ  ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้  ดับบ้านดับเมืองเรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้  ของจังหวัดชุมพร  นั้นดำเนินการในระดับห้าตำบล ( ต.ละแม, ต.นาขา ,ต.พะโต๊ะ ,ต.ตะโก ,ต.นากระตาม )   ได้นำหลักการบูรณาการหรือข้าวยำ ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวใต้มาเป็นแนวในการขับเคลื่อนงานสร้างสุข   เพราะข้าวยำนั้นมีส่วนประกอบหลายอย่างกว่าจะเป็นข้าวยำได้  ตั้งแต่   ตะไคร้  ใบขมิ้น  ย่านพาโหม ใบยอ  บัวบก  ถั่วพู และพืชผักอีกหลายชนิด  มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง  ถั่ว  ปลาแห้ง  ฯลฯ  เครื่องแกง  น้ำบูดูหรือน้ำเคย  และข้าวสวย   นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน  และมีเทคนิคการคลุกเคล้าคืออย่างใส่ข้าวให้มากต้องผสมเครื่องเคียงก่อนใส่ผัก  ราดน้ำเคยพอประมาณจึงจะกินอร่อย   แต่หากข้าวยำขาดส่วนประกอบใดส่วนหนึ่งก็ไม่มีรสชาติข้าวยำ  และหากเปรียบเทียบกับการขับเคลื่อนงานพัฒนาหรืองานสร้างสุขภาวะ  หากแยกส่วนกันทำ  ต่างคนต่างทำ  หรือ ทำที่เรื่องที่ละประเด็นไซร้แล้ว  หนทางสุ่สุขก็มิเกิดขึ้นได้  เพราะสถานการณ์ปัญหาหรือทุกขภาวะในพื้นที่นั้นมีความซับซ้อน  หมุนเคลื่อน  แปรเปลี่ยน  เชื่อมโยงถึงกัน (   เป็นพลวัต    )  และหากร่วมแรง  แบ่งสรรกันทำ  แบ่งบันกันสร้างเปรียบเสมือนข้าวยำนั้นไซร้แล้วสุขก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ......  สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การสร้างสุขของคนทำงานขับเคลื่อนแต่สร้างสุขต้องอยู่ที่คนในพื้นที่  ที่ต้องรู้จักเลือกจะรับหรือเลือกไม่รับ

 และหลักคิด “  การพัฒนาอย่างบูรณาการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่เป็นตัวตั้ง  ” ( ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ  วะสี ) ซึ่งมีองค์ประกอบของมรรคผล     ประการ  ดังนี้ 

๑.การมีสัมมาอาชีวะเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงเต็มพื้นที่

๒.การอนุรักษ์และเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

๓. มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

๔.มีสังคมเข้มแข็ง

๕.มีการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม

๖. มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณหรือศาสนธรรม

๗.มีสุขภาพดี

๘.มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่จะรักษาดุลยภาพท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

 

ความเป็นมาและเป็นไปของทีมทำงานสร้างสุขชุมพร

                คณะทำงานประชาสังคมจังหวัดชุมพร เกิดจากรวมตัวของแกนนำระดับจังหวัด ซึ่งมาจาก  องค์กรชาวบ้าน  ข้าราชการเกษียณ  นักธุรกิจ  องค์กรเอกชน  ข้าราชการหัวก้าวหน้า  ได้รวมตัวกัน  และมีการก่อตั้งเมื่อ  ปี  2546  เพื่อดำเนินงานตามโครงการถักทอเครือข่ายพลังชุมชนพลังแผ่นดิน ฯ  และได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานและการขับเคลื่อนทางสังคมผ่านทางโครงการ/ กิจกรรมต่าง ๆ  ลำดับเหตุการณ์และการขับเคลื่อนได้ดังนี้    ปี   พ.ศ.   2546 2547  ดำเนินงานโครงการถักทอเครือข่ายพลังชุมชน- พลังแผ่นดิน ฯ โดยการสนับสนุนจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  ( LDI. )     , ปี พ.ศ.  2547 2548  ดำเนินงานรณรงค์  พรบ.สุขภาพ และจัดกิจกรรมสมัชชาสุขภาพ  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ  ( สปรส.)  และขับเคลื่อนงานเวทีสาธารณะการเมืองภาคพลเมืองทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค   , ปี พ.ศ.  2549 - 2550  ดำเนินงานสมัชชาสุขภาพ และงานสมัชชาคุณธรรม  โดยการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมแห่งชาติ  และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร

ทิศทาง และเป้าหมายของคณะทำงาน ฯ 1) สร้างการเรียนรู้พร้อมการปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและยกระดับกระบวนเรียนรู้การเมืองภาคประชาชน  ให้เกิดพลังการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย    2) เชื่อมร้อยคนและองค์กรภาคประชาชน  ให้เป็นขบวนภาคประชาชนระดับจังหวัดและให้มีสถานการรับรองทางสังคม

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง                ได้แก่  1.)  เพื่อเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการความรู้ของสังคม  ให้นำไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน      2.)  เพื่อเชื่อมร้อยคนและองค์กรภาคประชาชนให้เกิดพลังหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่น  และ สรรค์สร้างประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานให้พัฒนากระบวนการ การเมืองภาคประชาชน   3.)        เพื่อเป็นหน่วยเชื่อมประสานความร่วมมือกับองค์กรเอกชน  กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หน่วยงานราชการ  ให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน

กลไกโครงสร้างในการดำเนินงาน  จัดให้มีกลไกโครงสร้างการดำเนินงานของจังหวัด ซึ่งมาจากตัวแทนจากอำเภอต่าง ๆ  และจัดบทบาทหน้าที่เป็นฝ่ายต่าง ๆ  ตามความถนัด ประกอบด้วย  ฝ่ายประสานงาน  ฝ่ายงานธุรการ  ฝ่ายการเงินและบัญชี  ฝ่ายติดตามและประเมินผล  ฝ่ายวิชาการและวิทยากรกระบวนการ  ฝ่ายสื่อประชาสัมพันธ์  และจัดความสำพันธ์แนบราบให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  หนุนเสริมและพัฒนาซึ่งกันและกัน   ทั้งนี้ยังจัดให้มีคณะที่ปรึกษา  ซึ่งมาจากนักพัฒนาเอกชน  นักวิชาการ  นักธุรกิจเอกชน  นักการเมืองท้องถิ่น  ข้าราชการ  เพื่อให้คำปรึกษาหารือและสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนงานของคณะทำงานประชาสังคมจังหวัดชุมพร

ปัจจุบัน ขับเคลื่อนงานพัฒนาดังนี้  1) โครงการดับบ้านดับเมือง  เรียนรู้อยู่ดีที่ปากใต้   2) งานเครือข่ายยุทธศาสตร์สังคมชุมพรและงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการในพื้นที่  ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาสังคมที่  11  จังหวัดชุมพรและพัฒนาสังคมฯ จังหวัด   3) งานส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม  ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม  4) งานสมัชชาสุขภาพ  ร่วมกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ    5)  กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่  ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดชุมพรและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ความพยายามในการเชื่อมประสานงานสร้างสุขในพื้นที่

                การขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะของจังหวัดชุมพร นั้นกลไกคณะทำงานเครือข่ายฯ กำลังเรียนรู้และฝึกฝนกับบทบาทหน้าที่ให้เป็น....หน่วยที่ทำหน้าที่ดังนี้ 

หนึ่งหน่วยประสานและสร้างสัมพันธภาพใหม่ คน  องค์กร  กลไก หน่วยงาน  ในพื้นที่ให้เกิดการพบปะ  พูดคุย  ปรึกษาหารือ  กำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน โดยใช้แผนสุขภาวะหรือกิจกรรมสร้างสุขภาวะเป็นเครื่องมือ และการเชื่อมร้อยองค์กรชุมชน   

สองหน่วยจัดกระบวนการเรียนรู้  กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ทุกขภาวะและทุนทางสังคมของพื้นที่  รวมทั้งการเพิ่มทักษะขีดความสามารถแก่แกนนำชุมชนผ่านเวทีเรียนรู้  ผ่านการเรียนรู้ตัวอย่างหรือต้นแบบ  ผ่านข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ  ฯลฯ  

สามหน่วยจัดการความรู้  โดยการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการเอื้ออำนวยให้แกนนำชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอด  เผยแพร่องค์ความรู้   หรือนำความรู้หรือข้อมูลจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง   หรือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานด้วยการสรุปบทเรียนหลังการทำกิจกรรมและถอดบทเรียน   

สี่เชื่อมโยงและหนุนเสริม โดยเวทีเครือข่ายฯ ที่พบปะ  แลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง  และเชื่อมสัมพันธ์กับเพื่อนพ้องนอกพื้นที่นอกเครือข่าย   รวมทั้งการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้าหนุนเสริมพื้นที่หากมีประเด็นเนื้องานที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ของพื้นที่

 

สิ่งที่ควรรู้ก่อน... การเชื่อมประสานความร่วมมือเพื่อสร้างสุขในพื้นที่

                ก่อนที่จะขับเคลื่อนงานสิ่งที่ต้องศึกษาเรียนรู้ข้อมูลของพื้นที่ให้มากพอสมควร  ด้วยการพบปะ  พูดคุย  ซักถาม  ร่วมวงสนทนาในพื้นที่  ( ต้องเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด )  วงน้ำชากาแฟ  งานบุญประเพณี  เข้าหาผู้เฒ่าผู้แก่   ซึ่งมีดังนี้ 

หนึ่งต้องรู้สถานการณ์และบริบทของพื้นที่นั้น ๆ  เช่น สภาพพื้นฐาน     ปัญหา  ศักยภาพ  ทรัพยากร อาณาเขต  ฯลฯ

สองต้องรู้ความสัมพันธ์ของคนหรือแกนนำในพื้นที่เป็นอย่างไร  ใครเป็นใคร  ทำอะไร  มีบทบาทอย่างไรและระดับความสัมพันธ์หรือระดับความรุนแรงของความขัดแย้ง  

สามต้องรู้กลุ่มองค์กร  หน่วยงานใหนทำอะไร  มีบทบาทหน้าที่หรือระดับความสำคัญต่อพื้นที่เป็นอย่างไร  โดยเฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นทางการ  ยิ่งต้องศึกษาบทบาทหน้าที่ขอบเขตภารกิจของงาน  วัฒนธรรมองค์กร  และบุคลิกลักษณะของผู้นำองค์กรหรือผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสำพันธ์กับประเด็นงานที่จะต้องประสานความร่วมมือ  “ รู้เขา  รู้เรา ”

สี่ต้องรู้ประเด็นงาน หรือ กระบวนการขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่  มีอะไร  เป็นอย่างไร

                หากรู้ในประเด็นข้างต้นมากเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้การกำหนดแนวทาง  กระบวนการ  วิธีการ  ในการประสานความร่วมมือได้มากยิ่งขึ้น  แต่ถ้ารู้ไม่พอก็ไม่ควรผลีผลามดำเนินการ  ค่อย ๆ  ศึกษา  เก็บ รวบรวมข้อมูลได้ในทุกจังหวะของการทำงานหรือประสานงาน  ....

 

ข้อควรระวัง และควรปฏิบัติในการประสานความร่วมมือ

๑.      อย่ารื้อฟื้นความหลังในสิ่งที่ไม่ดีหรือข้อบกพร่องที่ผ่านมา ...หากไม่เข้าถึงหรือไม่รู้จิตรู้ใจ  เพราะจะเป็นการสร้างศัตรูมากกว่าสร้างมิตร              ควรพูดในสิ่งที่สร้างสรรค์  ภาพฝันในอนาคต

๒.    อย่าพูดโดยปราศจากข้อมูล  ความจริง หรือรู้ไม่ชัดแจ้ง  เพราะจะทำให้เสียเครดิต   ควรพูดในสิ่งที่รู้และมีข้อมูล  หากจำเป็นต้องพูดก็เพียงการเสนอความเห็น  .... คิดว่า ........

๓.      ควรยึดหลักการ    แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง  ( พบกันคนละครึ่งทาง  ค้นหาแนวทางร่วมกันได้  ส่วนที่ไม่สามารถร่วมกันได้ก็ต้องพักไว้ก่อน  รอคอยเวลาและโอกาสต่อไป)

๔.     ควรพิจารณา  จังหวะและโอกาสให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เช่น  อาจจะเป็นปัญหาที่เร่งด่วน  เรื่องที่เป็นนโยบายหรือเป็นกระแสของสังคม  เรื่องที่โดนจิตโดนใจของผู้เข้าร่วม

๕.     ควรเจรจา ต่อรอง  อย่างมีศักดิ์ศรี มีท่วงทำนอง  ท่าทีที่เป็นมิตร และอย่าใจร้อน  รีบด่วนตัดสินใจ

๖.      ควรคำนึงถึงคนและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่  มากกว่ายึดติดกับโครงการหรือหน่วยงาน/องค์กรเป็นหลัก  ( บางครั้งอาจขัดใจหรืออึดอัด  ฝืนความรู้สึกบ้าง  ก็ต้องอดทน )

๗.     ..............................โปรดช่วยกันเติมต่อ  ถ้าผ่านพบมาแล้ว

หมายเลขบันทึก: 180797เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2008 01:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ได้มีโอกาสร่วมประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะทำงานประชาสังคมจังหวัดชุมพรหลายครั้ง ตระหนักได้ถึงพลังในศักยภาพของกลุ่ม ของตัวบุคคล และพลังแห่งเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ชุมพร
  • หลายครั้งที่ได้รับฟัง "เรื่องเล่าดี ๆ" จากพื้นที่ จำได้ว่าเคยสรุปเป็น คำหลัก (Key Word) ใช้เรียกลักษณะเด่นของการขับเคลื่อนงานในแต่ละพื้นที่ เช่น ประสาน, สัมพันธ์, สร้างสรรค์
  • "เรื่องเล่าดี ๆ" เหล่านี้ควรจะนำมาขยาย ถ่ายทอด ถอดบทเรียน เก็บกักไว้ในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ต อย่างเช่นใน Blog : Gotoknow แห่งนี้
  • เรื่องไหนที่ถูกนำมาถ่ายทอดมักจะได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ แผ่ขยายออกไปสู่วงกว้างได้ดีมาก ดังตัวอย่างเรื่องของ นางบัว <Click>
  • ขออนุญาตแนะนำให้จัดกระบวนทัพให้เข้มแข็ง เสริมพลัง "คุณลิขิต" ถอดบทเรียนออกมาเผยแพร่ทาง Blog หรือสื่ออื่น ๆ ให้มาก ๆ ครับ.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท