การสลายความขัดแย้ง.... โดยคนในชุมชน


ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่ก็ได้เห็นพลังการช่วยเหลือเกื้อกูลและความเอื้ออาทรของคนบ้านสระขาว

          เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา .... เช้ามืดของวันอังคารรถปิคอัพนำร่างของนางบัว  ไปยังโรงพยาบาลละแมเพื่อรับการรักษา  แต่ปรากฎว่านางบัวได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ( เป็นลม ) ซึ่งนำมายังความขัดแย้งเรื่องมรดกของผู้ตาย  เพราะผู้ตายมีลูกสาวหนึ่งคน และมีสามีใหม่ และญาติพี่น้องของผู้ตาย

        หลังจากนำร่างอันไร้วิญญาณของนางบัวมาถึง  เพื่อนบ้านชาวสระขาวก็มากันประมาณห้าสิบคน จากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ , กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ , กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ , กลุ่มอนุรักษ์พันธ์พืชฯ   ต่างกุลีกจอช่วยเหลือในการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพนางบัว  ที่ณาปณสถานวัดแหลมเศียร  ต่างช่วยกันเรี่ยไรเงินทอง  ข้าวของเครื่องใช้  เพื่อมาใช้ในงาน ( เพราะครอบครัวผู้ตายมีฐานะยากจน และไม่มีญาติพี่น้องในพื้นที่ )  ... เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนจากทุกกลุ่มมาช่วยเหลือกันเพราะผู้ตายและสามี เป็นสมาชิกในหลาย ๆกลุ่ม  และเป็นคนดี ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน  เป็นที่รักใคร่แก่เพื่อนบ้าน   แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะการที่ผู้คนได้ทำกิจกรรมร่วมกันผ่านกลุ่มต่าง ๆ  ทำไห้ได้สร้างสัมพันธภาพของคนในชุมชน  ซึ่งนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจ  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

         และแล้วงานศพก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย  ด้วยพลังความร่วมมือของคนในชุมชน    ...... หลายคนพูดว่า  " งานนี้จัดได้ดี  ...ดีกว่างานที่มีญาติเสียอีก  ตั้งแต่เริ่มงาน  จนเสร็จงานต่างเห็นคนโน้นคนนี้มาช่วยเหลือ  เก็บกวาดเสร็จภายในสองชั่วโมง "   แต่หลังจากฌาณปกิจศพ ก็เกิดความขัดแย้งในการจัดสรรสมบัติของผู้ตาย  เพราะญาติที่อยู่เชียงรายซึ่งไม่เคยมาดูดำดูดีผู้ตายเลยตั้งแต่ผู้ตายมาอยู่ในพื้นที่  ก็เข้ามาจัดการมรดก  ซึ่งมีที่ดิน  12  ไร่ปลูกปาล์มน้ำมัน   รถยนต์และรถจักรยานยนต์หนึ่งคัน  พร้อมบ้านหนึ่งหลัง  จึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง ดญ.นกเอี้ยง และ สามีใหม่ของผู้ตาย 

       ทางคณะกรรมการหมู่บ้านสระขาวนำโดยผู้ใหญ่อุทัย , ส.อบต. ยาใจ / สวัสดิ์,  ครูสำเริง จากโรงเรียนบ้านทับใหม่  เป็นคณะร่วมในการพูดคุยหารือของทั้งสองฝ่าย ( ตามแนวทางของมหาดไทย  ให้หมู่บ้านตั้งคณะอนุโญตุลาการของหมู่บ้าน ( ชื่อนั้นไม่แน่ใจ) มาเพื่อไกล่เกลี่ยและจัดการความขัดแย้งในชุมชนได้ และให้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน  โดยใช้หลักคุณธรรม  สมานฉันท์ )    นอกจากนี้ยังมีเพื่อนบ้านประมาณยี่สบคนมาร่วมกันเป็นสักขีพยาน   .... การพูดคุยปรึกษารือ  นั้นมีการโต้เถียง  แสดงเหตุผลหักล้างของแต่ละฝ่าย  แต่ก็อยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  โดยยึดตัวของ ดญ. นกเอี้ยงเป็นหลัก เพราะเป็นทายาทโดยชอบธรรมตามกฎหมาย

         ผลปรากฏว่า  ทุกฝ่ายต่างเห็นชอบร่วมกันว่า ( แม้นจะไม่พอใจบ้างแต่ก็ต้องจำนนท์ด้วยเหตุผลความเป็นจริง )  1.  สวนปาล์มนำมันนั้นให้สามีใหม่ของนางบัวดูแล จนกว่าที่ ดญ.นกเอี้ยงจะบรรลุนิติภาวะจึงค่อยรับโอนเป็นมรดก  และรายได้ที่เกิดจากสวนปาล์มนำมาจัดสรรเป็นสามส่วน  ส่วนที่หนึ่งให้ ดญ.นกเอี้ยงเพื่อเป็นทุนการศึกษาโดยโอนผ่านบัญชี  ส่วนที่สองให้สามีใหม่นางบัว  ส่วนที่สามไว้สำรับชำระหนี้ ธกส.  และหลักฐานการดำเนินการทั้งหมดให้กรรมการหมู่บ้านเป็นผู้กำกับดูแลจนกว่า  ดญ. เอี้ยงจะบรรลุนิติภาวะ    2. ญาติจากเชียงรายของนางบัว กรรมการหมู่บ้านมอบเงินให้ห้าพันบาทเพื่อเป็นค่ารถในการกลับบ้าน   3. ดญ.เอี้ยง  ไปทดลองอาศัยอยู่กับญาติพี่ญาติน้องของนางบัวก่อน  หากอยู่ได้ก็อยู่  แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ไปอยู่กับแม่ของสามีใหม่นางบัว  ( เพราะเด็กและญาติไม่มีความผูกพันหรือรู้จักกันก่อนหน้านี้ และท่าทีของญาตินางบัวที่แสดงออกนั้น เสมือนจะหวงทรัพย์สมบัติมากกว่าหวงหลาน )

        ที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพราะว่า  เป็นกรณีหนึ่งที่หากคนชุมชนมีพลังความร่วมมือแล้ว  จะสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้เป็นอย่างดี  เพราะเหตุการณ์บางกรณีนั้น  ตัวบทกฎหมายไม่สามารถแก้ไขได้ดี  เท่ากับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    "  คุณค่าของความเป็นคน และ วีถีวัฒนธรรมชุมชน  นั้นแทนมูลค่าเป็นทรัพย์สินเงินทองมิได้ "    ..... แต่มีโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่า     ทำอย่างไร ?  ที่จะรักษา  พลังความร่วมมือ  ร่วมใจ นี้ไว้ได้ตลอดไป.... ชาวสระขาวต้องรัก  .... ษา ...... ขยาย  เติมให้เต็มไว้สม่ำเสมอ.

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 99087เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยใช้การมีส่วนร่วมและสันติวิธีที่ชัดเจน ดีมากครับ ผมขอชื่นชมมา ณ โอกาสนี้

ขอร่วมคิดด้วยคนว่า ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จ ในกรณีนี้ ประกอบด้วย

  1. ผู้ตายเป็นคนดี เสียสละเพื่อส่วนรวม ความดีของเขาเป็นที่ยอมรับและนำมาซึ่งการร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลืองานศพ ตลอดจนการแก้ไขข้อขัดแย้งเรื่องมรดก
    คำถาม ถ้าผู้ตายไม่เป็๋นที่ยอมรับขนาดนี้ คนในชุมชนจะเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่ ?
  2. พลังของชุมชนและรูปแบบคณะอนุญาโตตุลาการ นำมาใช้แก้ข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลได้ โดยที่บุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องถึงแม้ว่าอาจจะไม่พอใจ แต่ก็ไม่สามารถขัดขวาง หรือปฏิเสธพลังของชุมชนได้
    คำถาม กรณีที่เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือชุมชนกับหน่วยงานของรัฐ หรือผู้มีอำนาจนอกชุมชน รูปแบบนี้จะนำมาใช้ได้หรือไม่ หรือจะต้องเพิ่มความเข้มแข็ง ศักยภาพให้กับชุมชนในด้านใด เช่น กฎหมาย ฯลฯ
  3. เจตนารมณ์และความตั้งใจ สามัคคีของชุมชน คือ สินทรัพย์ที่ชุมชนจะต้องรักษา พัฒนา ให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้น
    คำถาม แล้ว หนี้สินทางสังคม อะไรบ้าง ? ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการนำรูปแบบนี้ไปใช้แก้ความขัดแย้งในอนาคต อยากให้คิดวิเคราะห์ดูคู่กันไป เผื่อว่าในวันหนึ่งเมื่อต้องเจออุปสรรค ซึ่งอุปสรรคที่มาจากคนในชุมชนนั้นเองคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด จะจัดการอย่างไร ?

 

พี่ไฮศูรย์

1.  เพราะว่าแฟนผู้ตาย นั้นเขาทำกิจกรรมอยู่ในสองกลุ่มในหลัก คือ กลุ่มเลี้ยงสัตว์ โดยการเลี้ยงหมูขี้พร้าไว้หลายตัว และ เป็นแบบอย่างของความพอเพียงได้   ในส่วนอีกกลุ่มนั้นคือ ปุ๋ยชีวภาพ  ซึ่งสมาชิกทุกคนต้องมาร่วมกิจกรรมในการทำปุ๋ยแต่ละรอบ  ๆ  หนึ่ง ก็ประมาณ  7 วัน หรือ 7 ครั้ง  ที่สมาชิกมาพบกัน  มาพูดคุย  พร้อม ๆ กับการผลิตปุ๋ยเพื่อไปใช้กันเอง  ... คือ ทำเพื่อใช้ในสวนของแต่ละคน  โดยรวมแล้วรวบหนึ่ง ๆ ก็ประมาณ  30- 40  ตัน  ... และในส่วนของผู้ตายนั้นก็ออกไปช่วยเพื่อนบ้านเป็นบางครั้ง อาจจะแทนสามี  ...  นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เพื่อนบ้านมาช่วยเหลือ

2. ในส่วนของชุมชนกับหน่วยอื่น ๆ  คิดว่าคงต้องเพิ่มทักษะในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับ เรื่องทักษะในการจัดโต๊ะเจรา  ... ผมไปสัมมนากับสถาบันพระปกเกล้า  เห็นตัวอย่างหนึ่งท่น่าจะใช้ได้  คือ รูปแบบ คอซูเมอร์  , การเปิดบ้าน  ( กระบวนการและรายละเอียดนั้นต้องคุยกันนอกรอบ).... ซึ่งน่าเป็นกระบวนหนึ่งที่จะแก้ไขความขัดแย้งในชุมชน 

3.  จริงแล้ว  หนี้สินทางสังคม  นั้นมีหลายประการ  ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครัวเรือน แล้ว  .. ยังมีหนี้สินทางวัฒนธรรม/ค่านิยม  เจ้าขุนมูลนาย  ซึ่งเป็นประเด็นหลักเลยที่ จะต้องแก้ด้วย การเรียนรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในชุมชน  ... แต่ดูเสมือนโครงสร้างด้านบนกำลังเพิ่ม ค่านิยมตรงนี้ขึ้น  ดูได้จากงานอยู่ดีมีสุข  .. ถ้าไม่ได้ตามใจปลัดอำเภอแล้วไม่ผ่าน  .. แล้วกระบวนการเรียนรู้ที่ชาวบ้านเขามีฉันทามติร่วมกัน  .. เพียงแต่เขาไม่สามารถ จะเรียบเรียงเป็นภาษาที่สวยหรู แต่เขามีธงที่ชัดเจนในการให้บรรลุความอยู่ดีมีสุข 

     หนี้สินอีกอย่างหนึ่ง  ทรัพยากรท่ถูกทำลาย  ทำอย่างไรจึงจะชดใช้ได้มา  แม้นว่าจะไม่เหมือนดังเดิมก็ให้สามารถกลับมาบ้างก็ยังดี  .. ตรงนี้ต้องทำงานในเชิงข้อมูลเปรียบเทียบ / เชิงประจักษ์  ให้พี่น้องในพื้นท่ได้เรียนรู้ ( ของใกล้ตัวนั้นดูไม่เห็น)  ควบคู่กันงานสร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนัก และ ไปจัดการ   พร้อมการเคลื่อนในเชิงนโยบายท้องถิ่นให้ไปพร้อม ๆกัน

อยากรู้จังว่ากระบวนการเป็นอย่างไร

แล้วสามีใหม่ไม่ใช่ทายาทโดยชอบธรรมหรือค่ะ

เรื่องนี้โชดดีตรงนี้ เด็กหญิงนกเอี้ยง ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คำถามคือ ทำไมเด็กถึงยอมไปอยู่กับญาติที่ไม่เคยรู้จัก แทนที่จะอยู่กับพ่อเลี้ยงเหมือนเดิม (ต้องมีอะไรหรือเปล่า ที่เด็กไม่ยอมอยู่กับพ่อเลี้ยง และพ่อเลี้ยง จะให่ไปอยู่กับแม่ของตนทำไมไม่เลี้ยงเอง) ชุมชนลืมพิจารณาเหตุผลนี้ควบคู่ไปกันด้วยหรือเปล่า

การสลายความขัดแย้งโดยอาศัยชุมชนเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยนั้น ชุมชนจะต้องวางตัวเป็นกลาง ลดอคติ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องควรระวัง เพราะเมื่อเราอคติ หรือคิดเชิงบวกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าเป็นคนดี (ถึงแม้จะดีจริงก็ตาม) แต่ก็อาจนำมาซึ่งความผิดพลาด อย่างใหญ่หลวงได้ ต้องระวัง

และสุดท้ายแล้ว ข้อตกลงที่ได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ชุมชนเป็นแค่สื่อกลางในการไกล่เกลี่ย คอยระงับความขัดแย้ง เชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าพูดคุย ยอมรับกันและกัน และมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เป็นการประสานความแตกร้าว ให้กลับคืนดี เหมือนเวลาแก้วแตก ชุมชนก็จะทำตัวเป็นกาวคอยเชื่อม

เรื่องนี้ ตอนจบญาติ กับสามีใหม่ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันหรือไม่ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท