อักษร C ในการทำงานสาธารณสุข: จาก Control สู่ Collaborate


จากการควบคุม สู่การเกื้อกูล

ขอเสนออักษร C อีกสองคำ ที่ขอนำเสนอเพื่อให้เห็นการเดินทางของความคิดในการทำงานสาธารณสุข คือ คำว่า Control : การควบคุม กับคำว่า Collaboration : การร่วมมือ, เกื้อกูล

ปัญหาสาธารณสุขที่เปลี่ยนรูปแบบไป ความเจ็บป่วย, ความทุกข์ที่มาจากโรคติดเชื้อ กำลังลดน้อยลงเป็นลำดับ ความเจ็บป่วย, ความทุกข์ที่เกาะเกี่ยวกับโครงสร้างสังคม พฤติกรรม และลีลาชีวิต กำลังเป็นปัญหาหลักของสังคมไทยในปัจจุบัน

เราคลายกังวลกับ พยาธิ อหิวาต์ โปลิโอ ไข้ทรพิษ และโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่เรามีวัคซีนไว้ควบคุมมัน

นักสาธารณสุขกำลังเหนื่อยยากกับ พฤติกรรมการบริโภคยาสูบ, สุรา ซึ่งเกาะเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ, ความรุนแรงในครอบครัว, การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม, โรคเอดส์, ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

ยังไม่นับการสัมผัสสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ผ่านการเป็นผู้ใช้สารเคมีโดยตรง หรือผ่านการบริโภคผลิตผลการเกษตร ซึ่งเกาะเกี่ยวกับวิถีชีวิตเกษตรทั้งกระบิ

ยังไม่นับพฤติกรรมการกิน พฤติกรรมการออกกำลังกาย

ในทางทันตสาธารณสุข ก็มี พฤติกรรมการใช้ฟลูออไรด์, การพบทันตแพทย์เป็นประจำ, การลดการบริโภคน้ำตาลและยาสูบ และการทำความสะอาดช่องปาก อันเป็นพฤติกรรมที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคในช่องปากได้

ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีอะไรที่เราควบคุม "Control" มันได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เหมือนที่เราควบคุมหนอนพยาธิ หรือควบคุมโปลิโอ ได้เลย

พูดง่ายๆ ว่าเราสามารถควบคุมปัญหาอะไรที่มันเป็น "ชอตเดียวเสร็จ" เช่น ฉีดวัคซีนครั้งเดียว ป้องกันได้ทั้งชีวิต สร้างส้วมครั้งเดียวเสร็จเรื่อง กินยาถ่ายพยาธิเม็ดเดียว ครั้งเดียว เอาอยู่

แต่พฤติกรรมสุขภาพที่เราอยากให้คนทำกันเป็นนิสัยยังไปได้ช้านัก

ที่เห็นชัดๆ คงจะมีพฤติกรรมการใช้ส้วม การใส่รองเท้า และการใช้แปรงสีฟัน

แต่การจัดการด้วยมุมมองแบบ Control กับปัญหาสาธารณสุขที่เนื่องมาจากโครงสร้างอันเป็นทุกข์ของสังคม อย่างเหล้า บุหรี่ ยังเป็นไปได้ยาก

จึงเป็นจุดเข้าเรื่องของอักษร C อีกคำหนึ่งคือ Collaboration คงเป็นเพราะมันถึงจุดตันของ Control แล้ว หรือเป็นเพราะเราเห็นว่า ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางพฤติกรรม มันเป็นสิ่งที่สั่งให้เปลี่ยนไม่ได้

แนวคิดเรื่องการสนับสนุน ร่วมมือ เกื้อกูล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่เรื่องที่น่าสนใจ

นักสาธารณสุขควรจะเปลี่ยนจาก "ผู้สั่ง" "Controller" เป็นผู้ "เกื้อหนุน" "ประสาน" หรือว่าตามตำราก็ว่า เป็นผู้จุดประกาย ก่อกระแส "Collaborator" ฯลฯ

ปัญหาคือ เรายังทำตัวเป็น Collaborator ไม่เป็นครับ ไม่เคยเรียน ไม่เคยได้รับการฝึกมาให้เป็น การเรียนการสอนก็เน้นให้เราเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนในแง่อำนาจการรักษาและอำนาจทางข้อมูลความรู้ มาตลอด

ทุกวันนี้แม้เราจึงยังเป็น Controller ในเสื้อคลุมของ Collaborator

ที่เห็นชัดๆ ก็คือ เรายังสับสนระหว่าง "การศึกษา" กับ "การให้ข้อมูล" หรือที่เรามักจะเรียกว่า "การให้ความรู้" เราจึงไม่เคยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาคนทั้งระบบ มุ่งอยู่เพียงชิ้นของข้อมูลที่ต้องการจะบอกกลุ่มเป้าหมายของเราว่าควรจะทำอะไร เมื่อไหร่ เพราะถ้าไม่ทำจะเกิดผลเสียอะไร...เท่านั้นเอง

เราใช้กลไก อสม. ในฐานะลูกน้อง มากกว่าฐานะเพื่อน

เราจัด "รณรงค์" แบบเดินถือป้าย ตามวงดุริยางค์, หรือแม้แต่เกณฑ์คนมาเต้นแอโรบิก ด้วยกลไกของอำนาจ แต่อ้างว่า เป็นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

ขอเสนออย่างนี้ดีไหมครับ (ไอเดียประยุกต์มาจากการฟังธรรมบรรยาย ของพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต กราบคารวะมา ณ ที่นี้ครับ) ก่อนจะเกื้อกูลผู้อื่น มาเกื้อกูลตัวเองก่อนดีไหม คุณหมออนามัยยังกินเหล้าอยู่รึเปล่า, คุณหมอฟันก็ยังดื่มโค้ก กินเลย์ เป็นประจำหรือไม่, คุณพยาบาลก็ทำงานจนลืมออกกำลังกายหรือเปล่า ฯลฯ ทำให้ดู อยู่ให้เห็นกันก่อน

ขั้นต่อไปก็เจริญเมตตา คือความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข

ขั้นต่อไปก็พัฒนาตัวเองให้เป็นกัลยาณมิตรของเพื่อนมนุษย์ ทำงานอยู่บนความปรารถนาที่จะช่วยเพื่อนร่วมทุกข์ให้เป็นสุข ไม่ว่าจะด้วยงานเชิงรับ เชิงรุก หรือเชิงอะไรก็ตามเถิด

ต่อไปก็พัฒนาองค์กรให้เป็นกัลยาณมิตรกับองค์กร ห้องฟัน ห้องยา อนามัย อบต. กรรมการหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ

เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว แม้รูปแบบกิจกรรมยังไม่สามารถจะหลุดพ้นไปจากเดิม แต่พลังและความเกื้อกูลกันและกันน่าจะดีขึ้นนะครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 168544เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มัทเคยถามท่าน ว. วชิรเมธี ประมาณว่า  จะทำอย่างไรเมื่อเห็นว่าคนอื่นทุกข์เพราะอวิชชา อยากเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของเขา โดยที่เราก็รู้ว่าเราไม่ควรมีโมหะ มีมานะ คิดว่าเรารู้ว่าทางออกของเราถูก

ท่านตอบว่า

"ไม่ต้องพูดมาก สอนมาก แต่เราต้องเป็นกัลยาณมิตรของเขา เราก็ทำเป็นตัวอย่าง ให้เค้าเห็นว่าเราอยู่อย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้ดี"

เหมือนบันทึกพี่เลย : )

ปัญหาคือ

  1. เรายังเชื่อ(ผิดๆ)ว่าเราจะ control ได้
  2. เราไม่เห็นความต่างระหว่าง Cooperate, CoordinateCollaborate

cooperate คือ ท่านสั่งมา เราร่วมมือ (ประมาณกรณี อสม.)

coordinate คือ มีคนคิดแผนมาแล้ว (คนตำแหน่งสูง) แบ่งงานมาแล้ว แยกย้ายไปทำงานเป็นหลายๆทีมช่วยกัน

collaborate คือ ช่วยกันคิดตั้งแต่แรก ไม่มีระบบอำนาจต่ำสูง ทุกฝ่ายเป็น กัลยาณมิตรช่วยกันทำงาน (แต่ก็ยังคงต้องมี leader นะ จุดนี้อยู่ที่บุคลิกและจิตใจคนนำเลยว่าจะเป็นอย่างไร เคยคุยในวิชา aging from interdisciplinary perspective แล้ว สรุปว่าถ้าไม่มี ผู้นำเลยก็ไม่ได้ ไม่สำเร็จ)

พี่ว่าไง?

 

 

เห็นด้วยกับมัทนาครับผม

ประเด็นผู้นำก็เหมือนกัน ถ้าเอาเรื่องกัลยาณมิตรมาคิด

ก็ลองนึกถึงกลุ่มเพื่อนของเราปัจจุบันนี้ดู ทุกกลุ่มก็จะมีคนที่เป็นผู้นำในกลุ่ม

ไม่ต้องมีตำแหน่ง ไม่ต้องมีอำนาจทางการ

แต่ก็ประสานเกาะเกี่ยวกลุ่มได้อยู่ และผลักดันอะไรๆ ได้ประสบความสำเร็จ เช่นการนัดกันไปกินข้าว นัดกันไปเที่ยว ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท