BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

How To Make Our Idea Clear


How To Make Our Idea Clear

จากการจัดการกับสมบัติบ้าในห้อง ทำให้ผู้เขียนเจอบทสรุปบทความชิ้นที่สองของ เพียซ บิดาแห่งปรัชญาปฏิบัตินิยม... บทความนี้ เป็นแนวคิดต่อจากบทความแรกของกระแสปฏิบัตินิยม จะทิ้งไปเลยก็รู้สึกเสียดาย จึงนำมาบันทึกไว้ เผื่อบางคนจะสนใจ... 

........

เรามักจะพบปัญหาเรื่อง concept (กรอบความคิด) ระหว่างคำว่า clear กับคำว่า obscure และ distinct กับ confusion ซึ่งไม่เคยบ่งความแตกต่างอย่างชัดเจนได้เลย... แต่ก็ได้มีนิยามว่า ความคิดที่กระจ่าง (a clear idea) ก็คือ สิ่งที่ถูกเข้าใจว่า ความคิดที่ไม่มีอะไรทำให้ผิดพลาดได้เลย.... แต่ถ้ายังไม่ชัดเจน มันก็คือความคลุมเครือนั่นเอง  เช่น การนิยามอะไรแต่ละครั้ง เราต้องมีความชัดเจนในสิ่งที่กำลังนิยาม หรืออาจหมายถึงสิ่งที่เรามีความคุ้นเคยกับความคิดนั้น โดยขจัดความไม่แน่ใจออกไป.... ส่วนความคิดที่ชัดเจน ก็คือสิ่งที่ไม่มีอะไรที่ไม่กระจ่าง เช่น การที่เราสามารถให้นิยามอะไรบางอย่างได้อย่างแม่นยำ....

เราใช้ทฤษฎีต่างๆ กันจนคุ้นเคย จนเกิดความชัดเจนในความเข้าใจของเรา แต่เราก็ควรจะหาวิธีที่จะทำให้เกิดความถูกต้องหรือชัดเจนของความคิดเพิ่มขึ้น... จากรากฐานทางปรัชญาของ เดการ์ต ที่เริ่มจากการสงสัยทุกสิ่งจนเหลือสิ่งที่สงสัยไม่ได้ คือ ความสงสัย แล้วสรุปว่า ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่ ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นสิ่งที่กระจ่างและชัดเจน... แต่เพียซไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะความสงสัยของเดการ์ตไม่ใช่ความสงสัยที่แท้จริง เพราะความสงสัยที่แท้จริงต้องมีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแล้วขัดแย้งกับความเชื่อเดิม....

ความคิด เกิดจากความสงสัย และสรุปลงเป็นความเชื่อ ดังนั้น ผลผลิตของความเชื่อก็คือหน้าที่สำคัญของความคิดนั่นเอง... เพียซใช้ความสงสัยและความเชื่อเป็นจุดเริ่มต้นของทุกเรื่อง และสามารถประยุกต์ได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่ ซึ่งการที่เราิเกิดคำถาม นั่นคือ ความสงสัย และเมื่อเราตัดสินใจ ก็เป็นการตัดสินใจจากความเชื่อ....

ความสงสัย เป็นการที่เรารู้สึกหงุดหงิด และจำเป็นต้องทำให้สงบลงด้วยความเชื่อ ความสงสัยส่วนใหญ่เกิดจากความลังเล หรือการตัดสินใจไม่ได้ เรามักจะพบว่าตัวเราตัดสินใจทำอะไรด้วยความลังเลสงสัย และมีความเชื่อบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งทำให้เราเลือกระทำบางอย่างได้ในที่สุด (ทุกการกระทำเกิดจากความเชื่อ ซึ่งมีที่ความจากความคิดและความสงสัย)

........

ในกระบวนการนี้ เราสังเกตเห็นองค์ประกอบของจิตสำนึก ๒ ส่วน คือ

  • สิ่งที่เราตระหนักถึงอย่างทันทีทันใด (immediately conciousness) เช่น ความรู้สึก
  • สิ่งที่เราตระหนักถึงโดยค่อยๆ รวบรวม (medieatly conciousness) เช่น ความคิด

ความคิดเป็นการกระทำที่มีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด มันไม่สามารถแสดงต่อเราอย่างทันทีทันใด แต่ต้องครอบคลุมถึงอดีตหรืออนาคต ซึ่งมีหน้าที่เดียวคือการสร้างความเชื่อ

ความเชื่อมีคุณสมบัติ ๓ อย่าง คือ

  1. บางสิ่งที่เราตระหนักถึง
  2. สงบความสงสัย
  3. สร้างนิสัย

สารัตถะทางความเชื่อ ก็คือการสร้างนิสัย และความเชื่อที่ต่างกันก็จะถูกแยกแยะโดยรูปแบบการกระทำที่แตกต่างกัน....

..........

ลักษณะเฉพาะ (identity) ของนิสัยนั้น ขึ้นอยู่กับว่ามันจะนำให้เราเกิดการกระทำอย่างไร ซึ่งอยู่ภายใต้ความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าเราควรปฏิบัติอย่างไร ในสถานการณ์นั้นๆ...

การพัฒนาความหมายของความคิดให้กระจ่างนั้นต้องกำหนดนิสัย ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำ และจุดประสงค์ของการกระทำทุกครั้ง คือการก่อให้เกิดผลที่เป็นไปได้ตามมา...

เพียซไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ความหมาย เพราะคิดว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดอะไรใหม่ แต่เป็นเพียงการซ้ำความเท่านั้น...

สิ่งที่รับรู้ได้จากประสาทสัมผัส และเป็นไปทางปฏิบัติ เป็นรากฐานของความคิดที่ชัดเจน...

ความแตกต่างกันในผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ จะชี้ให้เห็นว่าความคิดนั้นมีความหมายต่างกัน...

หลักการเข้าถึงความแจ่มแจ้งทางความคิดจึงต้องพิจารณาดูว่ามีผลอะไรที่เกิดจากความคิดนั้น และการรู้ผลในทางปฏิบัติของสิ่งใด ก็คือความคิดความเข้าใจทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งนั้น..

ความคิดใดจะมีความหมายกระจ่างก็โดยการพิจารณาที่ผล ซึ่งอาจเป็นไปได้ในแง่ปฏิบัติ...

......

กฎของความชัดเจนในความเข้าใจ มี ๓ ระดับ คือ

  1. พิจารณาผลต่างๆ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้
  2. เราคิดถึง สิ่งหนึ่ง ของแนวคิดที่ชัดเจนในใจได้
  3. แนวคิดที่ชัดเจนในใจของผลต่างๆ เหล่านี ก็คือแนวคิดที่ชัดเจนในใจของ สิ่งหนึ่ง

ทฤษฎีของเพียซ เ้น้นความสัมพันธ์ระหว่างความคิด การกระทำ และความประพฤติของมนุษย์ แต่การกระทำเป็นเพียงวิธีการ มิใช่จุดหมายปลายทาง การพยายามทำให้ความเป็นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงนั้น เป็นสิ่งที่ใช้ให้เห็นว่า ความคิดนั้นมี ความหมาย ขึ้นมา....

คำสำคัญ (Tags): #ปฏิบัตินิยม
หมายเลขบันทึก: 167054เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2008 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • พระคุณเจ้า ให้แง่คิด ทั้งปรัชญา และทฤษฎีชัดเจนมาก ๆ ค่ะ
  • ขอเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ นะคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • สรุปแล้วทฤษฎีนี้มันเชื่อมโยงลำดับได้ไหมว่า อะไรเกิดก่อนอะไร ระหว่าง ความเชื่อ ความรู้สึก  ความคิด
  • อิฉัน งง! เจ้าค่ะ

กราบงามๆ 3 หน

P

หมอเจ๊

 

ไม่แน่ใจว่าโยมคุณหมอ จะดูบันทึกข้างล่างก่อนหรึือยัง ?

ซึ่งอาตมาได้สรุปความเห็นพื้นฐานของเพียซไว้เล็กน้อย...ตามความเห็นส่วนตัว คิดว่า เพียซน่าจะมีความเห็นว่า...

  • คนเราเกิดมานั้นมีแต่เพียง ความรู้สึก ส่วนสมอง (หรือใจ) เป็นเพียงสิ่งว่างเปล่าเท่านั้น
  • ข้อมูลที่รับรู้มาจากภายนอกนั้น เรายังคงมี ความสงสัย อยู่
  • การคิด ก็คือกระบวนการเพื่อตรวจสอบสิ่งที่เราสงสัยนั้น จะทำได้ก็ด้วยการลงมือทำ
  • ถ้าได้ผลตรงกับข้อมูลที่เรารับรู้ได้ก็จะคิดว่าเป็นจริง ซึ่ง สิ่งที่คิดว่าเป็นจริงนี้เองเรียกว่า ความเชื่อ
  • ส่วนที่มีผลต่างไปจากข้อมูลที่มีอยู่ก็จะตัดทิ้งไป  (ขณะที่ส่วนที่ได้ผลตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ก็ยังคงเป็นความสงสัยอยู่)

..............

อนึ่ง ถ้าโยมคุณหมอสนใจเรื่องนี้ก็อ่านบทความที่เพียซเขียนไว้เองก็ได้ ที่นี้

ซึ่งบันทึกนี้ เป็นข้อสรุปจากบทความนี้

เจริญพร

นมัสการค่ะ

  • อ่านแล้วเจ้าค่ะ  แต่ก็ยังงงๆ
  • สรุปว่า  ความเชื่อ = ความรู้สึก + ความคิด + สิ้นสงสัย + นิสัย ใช่ไหมเจ้าค่ะ

สาธุ

 

P

หมอเจ๊

 

ตามที่โยมคุณหมอว่ามา ก็อาจเป็นไปได้ เพราะคำเหล่านี้เป็นนามธรรม และเมื่อมองตามหลักพุทธฯ นามธรรมเหล่านี้ก็คือกลุ่มเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นกับจิต...

แต่ตามที่อธิบายมา มิได้มุ่งหมายตามนัยนี้

.........

ตามที่มุ่งหมาย คือว่า คนเรานั้น จะมี ความรู้สึก ซึ่งมีศักยภาพในการรับรู้ (ความรู้สึกจัดเป็นคุณลักษณะของจิต) สิ่งที่เรารับรู้มาจากภายนอกจะเป็นข้อมูลให้เราคิด (ความคิดเป็นกิริยาของจิต)

การคิด ก็คือการตรวจสอบข้อมูลที่เราได้รับรู้มานั่นเอง... เพราะใจของเรานั้นจะ สงสัย ในข้อมูลที่ได้รับรู้มาเสมอ...

สำหรับเพียซ มีความเห็นว่า การคิดซ้ำเพื่อให้ได้ความหมายนั้นๆ ไม่อาจได้คำตอบชัดเจนได้ เรายังคงสงสัยอยู่นั่นเอง ดังนั้น การทดลองกระทำบางอย่างเพื่อทดสอบข้อมูล จะทำให้เรายืนยันได้ว่า ข้อมูลที่เรารับรู้มาแล้วสงสัยอยู่นั้น จะจริงหรือไม่ ?

ถ้าเราตรวจสอบโดยการกระทำแล้ว ปรากฎว่า ได้ผลตรงกับสิ่งที่เราได้รับรู้มา (อาจทดสอบหลายครั้ง) เราก็จะสำคัญว่าสิ่งนั้นเป็นจริง ซึ่งการสำคัญว่าจริงนั่นเอง เรียกว่า ความเชื่อ

ต่อไปเราก็อาจทำอะไรความเชื่อนั้นๆ และนั่นคือ นิสัย นั่นเอง...

.........

สมมุติว่า โยมคุณหมอ ได้รับการบอกเล่าว่า ทิงเจอร์รักษากลากได้ (นี้เป็นข้อมูล)

โยมคุณหมอก็สงสัยว่า ทิงเจอร์จะรักษากลากได้จริงหรือ ? เพราะตามที่รู้มาและเคยใช้นั้น ทิงเจอร์เพียงแต่รักษาแผลสดเท่านั้น แต่กลากมิใช่แผลสด ดังนั้น ทิงเจอร์ไม่น่าจะรักษากลากได้ (นี้เป็นการสงสัย และการคิด)

(เพียซบอกว่า การคิดจะไม่สามารถให้คำตอบนี้ได้ชัดเจน นั่นคือ เราก็ยังสงสัยอยู่อย่างนั้น) แต่เมื่อทดลองนำทิงเจอร์มารักษากลาก แม้ถ้าว่าลองดูแล้ว ครั้งแรกรักษากลากหาย ครั้งที่สองรักษากลากหลาย...  โยมคุณหมอก็ค่อยๆ มีความเชื่อเกิดขึ้นว่า  ทิงเจอร์รักษากลากได้

ต่อไป... เมื่อจำเป็นจะต้องรักษากลาก โยมคุณหมอก็ใช้ยาทิงเจอร์ ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง.... (นี้คือ นิสัย ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อ)

.......

แต่ ถ้าลองดูแล้ว ทิงเจอร์ไม่สามารถรักษากลากได้ แม้ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม... โยมคุณหมอก็อาจมีความเชื่อว่า ทิงเจอร์ไม่สามารถรักษากลากได้...

และต่อไป... โยมคุณหมอก็จะไม่ใช้ทิงเจอร์รักษากลากอีกเลย... (นี้ก็คือ นิสัย ที่เกิดจากความเชื่อเหมือนกัน เพียงแต่มีนัยตรงข้ามเท่านั้น)

.........

 

ตามนัยนี้ อาจได้ว่า ความรู้สึก (ใจ) - การรับรู้ข้อมูล - สงสัย - ความคิด - ตรวจสอบโดยการกระทำ - ความเชื่อ - นิสัย

อาตมาสำคัญว่า เพียซมีแนวคิดทำนองนี้ แต่จะตรงกับแนวคิดของเพียซหรือไม่ ? โยมคุณหมอต้องไปอ่านเอาเอง...

เจริญพร

นมัสการค่ะ

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ มีความเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ค่อนข้างยากค่ะ

ถ้าไม่ได้เรียนรู้  และทดลองปฎิบัติเองแล้ว ไม่ค่อยเชื่อ

บางที ก็หยวนๆตามคนอื่นไปยังงั้นเอง แต่ใจไม่คล้อยตาม

ดิฉันเป็นคนที่มีแนวโน้ม ที่จะเชื่อตัวเอง มากที่สุด

จากการเรียนรู้ เอามาคิดตรึกตรอง หาความสมเหตุสมผลของเรื่อง

อย่างเมื่อ 6 เดือนก่อน  แอร์รถ ไม่ค่อยมีลมออกมา แต่มีความเย็นอยู่ ไปให้ช่างดู ช่างบอกว่า ต้องเปลี่ยนBlowerยกชุด พัดลมไม่มีแรงเป่าความเย็นออกมา

ดิฉันคิดอยู่แป๊บนึง บอกช่างว่า พอดีวันนี้ ต้องรีบไปธุระ ให้ทำความสะอาด และเอาน้ำมันหยอดก่อนก็แล้วกัน เดี๋ยวมาใหม่

นี่ 6 เดือนแล้ว ยังดีอยู่ค่ะ ไม่เสียเงิน

เพราะรู้สึกว่าอาการอย่างนี้ ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุด มันแค่สกปรกเท่านั้น

ก็นำมาเล่าให้ท่านฟังว่า ดิฉันก็คงเป็นพวกปฎิบัตินิยมเหมือนกันค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

 

นมัสการ ครับ ผมอยากทราบแนวความคิดปฏิบัติยมของดิวอี้ ในเรื่อง ของหลักการ จุดมุ่งหมาย วิธีการและลักษณะของดิวอี้ครับ

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท