ว่าด้วยเรื่องความทุกข์


เดือนกว่าๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทในเขตจังหวัดสกลนคร อีกครั้ง

คราวนี้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านผ่านการรวบรวมข้อมูลวิจัยวันละเกือบๆ สิบคน

ได้เรียนรู้หลายๆ สิ่งเกี่ยวกับชีวิตชนบทอีกครั้ง

คำถามในการวิจัย ที่ถามคนที่นี่ มีหลายข้อที่เกี่ยวพันถึงเรื่อง ความสุข-ความทุกข์

ได้ใช้แนวคิดตะวันตกพยายามจะตรวจวัดองค์ประกอบต่างๆ ของความสุข ทั้งในส่วนที่เป็นรูปธรรม อย่างเช่น โครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านวัตถุต่างๆ, ความ "มี" ความ "เป็น" กระทั่งในส่วนนามธรรมอย่างเช่น สุขภาพจิต หรือคุณภาพชีวิต

ช่องว่างระหว่างคำถามเรื่องความสุข ชาวบ้านสะท้อนถึงความทุกข์ออกมาให้เห็นมากมาย

มีทั้งความทุกข์ทางใจ อย่างความวิตกกังวล ความไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ ความพลัดพราก (ในข้อที่ถามว่า คุณมีลูกกี่คน มักจะได้คำถามกลับมาว่า นับทั้งหมด หรือเอาเฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่)

มีทั้งความทุกข์เชิงโครงสร้าง เช่น การเอารัดเอาเปรียบกัน, การใช้ความรุนแรง, การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่บริการสาธารณะที่ไม่ได้ความ

แต่ในขณะเดียวกัน คนเป็นจำนวนมากก็บอกว่า พวกเขาภูมิใจในตัวเอง เขาทำใจได้และปลงตกกับความผิดหวัง พวกเขามีครอบครัวที่พึ่งพาได้ และชีวิตก็ไม่สิ้นไร้ไม้ตอก อย่างน้อยก็มีบ้านอยู่ มีข้าวกิน มีลูกเมียที่คอยดูแลกัน

ในความทุกข์ก็เป็นสุข ในสุขก็มีทุกข์ คลุกเคล้ากันไป

ใครที่จัดการกับมันให้สมดุลได้ ชีวิตก็อยู่ได้ แล้วก็เรียกมันว่าชีวิตที่ดี

คำสอนในพุทธศาสนาเรื่องชีวิตของเพศฆราวาสที่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยโลกธรรมแปด (ได้ลาภ เสื่อมลาภ, มียศ เสือมยศ, สรรเสริญ นินทา, สุข ทุกข์) หรือแนวคิดที่ว่า แท้จริงแล้วความสุขนั้นไม่มีจริง สิ่งที่มีคือสภาวะที่ปราศจากทุกข์ คำสอนประเภทนี้ก็ผุดขึ้นมากระทบจิตใจอยู่อย่างต่อเนื่อง

ได้ "รู้" สุข-ทุกข์ จากข้อมูล, ตัวเลขที่ได้เก็บมา ในขณะเดียวกัน ก็ได้ "เห็น" จากสิ่งที่ชาวบ้านได้ตอบออกมาระหว่างบรรทัด และจากการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่

พยายามบอกตัวเองว่า นอกจากจะฝึกตัวเองให้เป็นเครื่องจักรที่ตรง และเที่ยงในการเก็บข้อมูลแล้ว สิ่งที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นจากการที่ต้องจากบ้านจากครอบครัวมาเก็บข้อมูลในชุมชนเป็นเวลาเกือบครึ่งปี ก็คือ "ความสามารถในการเข้าใจเพื่อนมนุษย์"

สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้และตั้งใจจะจำติดหัวไว้สอนลูกศิษย์คือบทเรียนที่ว่า ผู้คนบนโลกนี้มีความทุกข์มากพออยู่แล้ว ทั้งจากภายในจิตใจของเขาเอง จากโครงสร้างของสังคม และจากสภาพแวดล้อมของโลกที่กำลังจะแย่ลงทุกที เราอย่าเอาทุกข์ไปทับถมพวกเขาอีกเลย เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำให้คนที่เราทำงานด้วยเป็นคนที่มีความทุกข์น้อยลง เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นในพริบตาได้ แต่การทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด ก็ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นทีละน้อย

หมายเลขบันทึก: 166992เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"เราอย่าเอาทุกข์ไปทับถมพวกเขาอีกเลย"

"เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นในพริบตาได้ แต่การทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด ก็ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นทีละน้อย"

ขอบคุณค่ะพี่สุธี ที่ช่วยเรียบเรียงเขียนได้ตรงความคิดที่มัทก็มีอยู่แต่ถ่ายทอดออกมาไม่ได้ใจความอย่างนี้

 

งานพี่สุธีนี่น่าจะมาทำกับอ.ของมัทซะจริงๆ!!!

จะได้ publication ใน soc. sci. med. ที่ดีมากๆๆๆๆๆๆๆ

"ในความทุกข์ก็เป็นสุข ในสุขก็มีทุกข์ คลุกเคล้ากันไป"

"ใครที่จัดการกับมันให้สมดุลได้ ชีวิตก็อยู่ได้ แล้วก็เรียกมันว่าชีวิตที่ดี"

(Oral) Health Model ของ อ. ของมัทจะมี Coping and Adaption เป็นตัวสำคัญ

หมอเราไม่ค่อยยอมรับปัจจัยนี้ เพราะกลัวว่าคนจะเอาเป็นข้ออ้างมากเกินควรว่า "ไม่ต้องรักษา"

จริงๆมัทเห็นว่า "การจัดการกับมันให้สมดุลได้" นี่แหละเป็นยาที่สำคัญมากกว่า การรักษาโรคที่นิยามโดยหมอซะอีก

ดีใจที่มัทนาชอบ

หนทางอีกยาวไกล หากบุญพาวาสนาส่ง คงได้ร่วมงานกับ อาจารย์ของมัทนานะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท