Holistic Corner : ภาพต่อชีวิต


เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ยินคำพูดประโยคหนึ่ง ยังพอจำได้ 

 " ดอกไม้ที่สวยที่สุดยังไม่มีใครเคยเห็น  ภาพวาดที่งามที่สุด  ยังไม่ได้ถูกวาด  คนที่รวยที่สุดยังไม่เกิด "  

เมื่อผ่านชีวิตมาสักระยะหนึ่ง ก็ค่อย ๆ เริ่มเข้าใจ  ในสิ่งที่ว่าทำได้ดีแล้วยังมีสิ่งที่ดีกว่าเสมอ   ประโยคนี้ทำให้มีกำลังใจที่จะทำให้ดีขึ้น ไม่หลงในสิ่งที่ทำ ทำเสร็จก็วางไว้ เพราะรู้ว่า ยังมีสิ่งที่ดีกว่ารออยู่เสมอ  ภาษาพระ เอ๊ย! ภาษา HA เค้าเรียกมี CQI = ทำให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ

5-6 เดือนมานี่ มีเรื่องที่อยากเล่าครับ ทำให้มีแรงมานั่งเขียน blog เสียดายถ้าไม่ได้บันทึก   

 


ฉากที่ 1  เมื่อ 6 เดือนก่อนผมมีภาระกิจที่ต้องเยี่ยมบ้านผู้พิการทั้งหมด ในตำบลหนึ่ง ประมาณ 52 คน เพื่อประเมิน สถานภาพ จะได้ดูแลได้ถูกตามบริบทของผู้พิการแต่ละราย  เราได้รายชื่อ ที่ขึ้นทะเบียนจากกรมประชาสงเคราะห์   มาวันนี้ พบว่าที่ต้องให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง จริง ๆ มีเพียง ประมาณ 20 ราย  ผมพบคุณยายคนหนึ่ง สมมุติ ( เรื่องนี้ชื่อสมมุติทั้งหมดนะครับ ยกเว้น HA CQI Blog เป็นชื่อจริง ) 

ชื่อ คุณยาย สำลี  อายุ 70 ปี แล้ว  อยู่กับตา อายุ เกือบ 80 ปี แล้วก็หลานสาวอายุ 10 ปี อีกหนึ่งคน    คุณยาย  แขนซ้ายก็เคยถูกยิง  สมัยสาว ๆ จนกระดูกต้นแขนแตก ไม่ต่อกัน ใช้แขนไม่ได้  พออายุมากหน่อย เป็นความดันโลหิตสูง เมื่อปีก่อน ก็เลยเป็นอัมพฤกษ์    ด้านขวาได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ คุณตาก็หูตึงมากแล้วครับ ไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่   ทุกวันก็ได้แต่หลานสาวอายุ 10 ปี    ดูแล    

ตอนพักเที่ยง เก๋ ก็จะขี่จักรยานกลับมาดูยายกับตา   ( เหมือนเด็กหญิงวัลลีเลยครับ )    น้องเก๋ แม่เสียมาหลายปีแล้ว  จมน้ำตายเพราะ ไปงมหอย งมไปเมาไป ในที่สุดก็เลยต้องให้คนอื่นมางมศพแกแทน     คุณยายบอกว่าลูกแก 3 คน เมาเหล้าตายหมด  หลังแม่เสีย พ่อของน้องเก๋ ก็ ไปเลย ( ไม่ใช่ จ.เลยนะครับ ไปเลย ไม่มาอีกเลย ) ทิ้งลูกสาวไว้ให้ ยายสำลีเลี้ยง    สภาพบ้านที่อยู่พุพังมากแล้วครับ

 ผมนึกไม่ออกเลยว่า เอาเงินที่ไหนกิน ที่ไหนใช้  แกบอกว่าทุกข์ยากมาก    นี่ก็ได้ลูกชายที่เหลืออยู่ คอยดูแล แต่ไม่ค่อยอยู่บ้าน นาน ๆ จะมาสักครั้ง เพราะขับรถทัวร์ มาทีก็เอาตุ๊กตามาฝากหลาน  เอาเงินมาฝากคนข้างบ้านดูแล แล้วก็คอยมาใช้หนี้ ของ อาหารที่ ครอบครัวคุณยาย ต๊ะ เอาไว้  คุณยายบอกว่า ถ้าไม่มีลูกคนนี้ ไม่รู้ใครจะดูแล   จะอยู่กันยังไง นี่ปีหน้าก็จะให้ เก๋ลาออก มาช่วยดูแล ผมนึกในใจ ว่า มันคงจะแย่ลงไปอีกถ้าเด็กเสียโอกาสที่จะได้เรียนต่อ

ตอนคุยกับแก แกก็ร้องไห้ เล่าว่าลูกชายบอกว่า " แม่ไม่ต้องห่วงนะ ผมจะดูแลพ่อ แม่กับหลาน ไม่ให้อดอยากเอง  "   ผมยังไม่มีโอกาสได้เจอลูกชายคุณยายเลยครับ เพราะแกไม่อยู่บ้านเลย

ตอนนี้ คุณยายได้รถเข็นนั่งจากเทศบาล   ให้หลานเข็นเล่นทุกเย็น รอบหมู่บ้าน  ผมคุยกันกับเจ้าหน้าที่ ก็ให้มาวัดความดันโลหิตให้แก ทั้ง ตา ยาย  เอายาให้ ไม่ต้องไปที่ pcu   ก็ยังเยี่ยมเยียนอีกหลายครั้ง   

อีกประมาณสัปดาห์หน้า ก็จะมีนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลมา  เยี่ยมกับเจ้าหน้าที่ PCU  เป็นโครงการบริการฟื้นฟูเชิงรุกในชุมชน        เรื่องการกายภาพบำบัด   ผมเสนอว่าให้วางแผนร่วมกันในการฟื้นฟูสภาพ  เพราะเจ้าหน้าที่ PCu อยู่ในพื้นที่ตลอด ดูแลได้ต่อเนื่องกว่า  เรื่องราวของคุณยาย มีมากกว่านี้   ก็คงต้องดูแลกันต่อไป  ฉากที่  1 ก็จบลงเพียงเท่านี้

 


ฉากที่ 2   เมื่อ 4-5 เดือนก่อน ผม มีโอกาสร่วมทำงำนกับ องค์กรแชร์ แล้วก็ กลุ่มบัวบานต้านภัยเอดส์ ที่เป็นกลุ่มทำงานเกี่ยวกับเอดส์ในชุมชน ที่ศูนย์แพทย์ตั้งอยู่  ทำงานมาตั้งแต่ปี 2546 แล้วครับ   มี พี่เสริฐประธาน อสม เป็นผู้ประสานที่เข้มแข็งมาก เป็นประธานกลุ่มด้วย ผม เลยว่าน่าจะเอาผู้ติดเชื้อ มาดูแลที่ pcu รับ ARV OI ดูแลในพื้นที่ไปเลย  ไม่ต้องไป รพ.วารินอีก   คุณติ๊ก  เจ้าหน้าที่ที่ รพ.วาริน  ก็มาคอยดูแลช่วยด้วย      ร่วมกับเจ้าหน้าที่ องค์กรแชร์ มาทำกลุ่มสัมพันธ์   เราของบจากเทศบาลมาเป็นค่าอาหารกลางวัน ของกลุ่มเดือนละครั้ง      มีผู้เปิดเผยมารับยาประมาณ 10 กว่าคน  มีเด็กติดเชื้ออีก 2 คน    เจ้าหน้าที่ หมอ พยาบาล กลุ่มบัวบาน ก็รู้จักกันและกันมากขึ้น  ดีจริง ๆ

เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนเลยครับ  ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน เสนออย่างนี้ มีคนบอกว่าจะมีปัญหา เพราะมีการรับยาในชุมชนที่ผู้ป่วยอยู่  อาจทำให้คนในชุมชนรังเกียจ  พอทำเข้าจริง ๆ ดีกว่าที่คิดมากครับ   เกิดกลุ่มบานชื่น กลุ่มผู้ติดเชื้อรวมตัวกันเอง   แถมคนที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อนก็ มารวมกลุ่มด้วย    ก่อนมาเค้วงมากเลยครับไม่รู้จะไปถามใคร    พอมีเพื่อนที่เป็นเหมือนกันชวนมา   ก็พอมีความหวัง (  ไม่เหมือนขอนไม้ ลอยน้ำอีกต่อไป )     เจ้าหน้าที่  ศูนย์ควบคุมโรค เขต 7 มาดูก็บอกว่า แววตาผู้ติดเชื้อที่นี่ ดูมีความหวังจัง   กลับกลายเป็นว่าการมีเพื่อนร่วมทางทำให้คนเหล่านี้  รู้สึกไม่ว้าเหว่ รู้สึกยังมีหวัง  ผมเอารายชื่อมาดู มี คุณ ธเนศ ที่ไม่ได้มาเข้ากลุ่ม  ติ๊กบอกว่า  รับยาที่ รพ.วาริน  พร้อมกับเบาหวาน  คงอยากรับยาที่รพ. พร้อมกันมากกว่า

 


ฉากที่ 3   ขณะขับรถวันหนึ่ง ผมถาม คุณรุ่งละมัย ภรรยาผมที่เป็น nurse practitoner คลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลวารินชำราบ   ว่ารู้จักคนชื่อ ธเนศไหม  ( ความสามารถที่คุณ รุ่งละมัยมีคือ จำชื่อ คนไข้ได้เป็นส่วนใหญ่  คงเพราะทำงานที่คลินิกนี่มานานเกือบ 12 ปี แล้ว )  เธอบอกว่าจำได้  เมื่อ 2 ปีก่อนเริ่มมารักษา มาตรวจรักษา HIV แล้วก็เจอเบาหวานพ่วงเข้าไปด้วย  ผมเลยถามว่าเป็นยังไงบ้าง   คุณรุ่งละมัยเล่าว่า

"คลินิก HIV โทรมาตามให้ไปดู ร่วมกัน  เป็นคนเรียบร้อยมาก สุภาพ แต่งชุดสะอาด  แต่แววตาเศร้ามาก ๆ  ขนาดหัวเราะ แววตายังไม่หัวเราะตามเลย"  ผมพยักหน้า พอนึกภาพออก    " แกขับรถทัวร์ ได้คุยด้วยหลายครั้ง  แนะนำว่าจะพอหาอาชีพใหม่ได้ไหม เพราะ เวลาน้ำตาลต่ำจะอันตราย   แกบอกว่าก็ไม่รู้จะทำยังไง ไม่ทำก็อดตาย "

" ช่วงหลัง น้ำตาลลงดีไม่ต้องกินยา  แกคงพยายามคุม เพราะต้องขับรถ  อย่างอื่นก็ ปกติดีส่วนใหญ่    เวลานัดก็นัดพร้อม คลินิก HIV เอาวันที่แกสามารถมาได้   มาตามนัดสม่ำเสมอดี มาก  " 

ดู ๆ แล้ว ธเนศช่วงนี้ก็พอจะมีสุขภาพแข็งแรง ผมดูแล้ว ธเนศได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่ควรมี ได้ตรวจ screening ประจำปี เกือบครบ ควบคุมน้ำตาลได้ดี ด้วยการ diet control   การตรวจเท้า การตรวจจอประสาทตาด้วยซ้ำ   ได้ตรวจหมด   ในคลินิกเบาหวานก็เป็น controlled case อาจไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่านี้ จนกว่า ธเนศจะเป็น uncontrolled case ที่มีปัญหา หรือมีแผลที่เท้า หรือ ไม่มาตามนัด ตามที่เราเฝ้าระวัง ความเสี่ยงไว้

 


คราวหลัง ผมไปเยี่ยมยายสำลีอีก   เปิด family folder ทำผังเครือ ญาติ คราวนี้ สะดุดตา สะดุดหู  ชื่อลูกชายที่ชื่อ ธเนศ  ก็ คนเดียวกันกับ ธเนศ คนไข้ HIV ที่ไม่ได้มาเข้ากลุ่ม แล้วก็คนเดียวกับ ธเนศที่คุณรุ่งละมัยเล่าให้ฟัง นั่นแหละครับ  ข้อมูล HIV เบาหวาน เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ pcu ไม่รู้  แม้ไปเยี่ยมบ้าน ยายสำลี มาหลายครั้ง ก็ยังไม่มีโอกาสได้รู้ รวมทั้งผมเองด้วย  เพราะ ก็ไม่แน่ใจว่า ตัวยายสำลีกับสามีเอง จะรู้หรือไม่ ด้วยซ้ำ

ผมนึกถึงละครทีวีเลยครับ ตัวละคร ทั้งหมด ยายสำลี สามียาย น้อง เก๋  คุณธเนศ   ผมเอง คุณรุ่งละมัย  คุณติ๊ก   เจ้าหน้าที่ แชร์   เจ้าหน้าที่ pcu   ล้วนอยู่ในละครเรื่องเดียวกัน      แต่เวลาเราเห็น เราเจอ เรากลับรู้จัก เป็นคนละเรื่อง เพราะพวกเรา แสดงกันคนละตอน  ผมถามคุณรุ่งละมัย ว่ารู้ไหมทำไมแกถึง บอกว่าไม่รู้จะทำยัง ไม่ทำก็อดตายตอนบอกว่าลองเปลี่ยนอาชีพ    ผมเลยเล่าเรื่อง ยายสำลีให้ฟัง  คุณรุ่งละมัยบอกว่า มิน่า ทำไมแววตาเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

ภาพของ คุณธเนศ มีความหมายมากขึ้นกว่าเดิมทันที มากกว่าผู้ป่วย HIV   ที่เป็นเบาหวาน  ที่สามารถ ควบคุมน้ำตาลได้ดี  มากกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ ได้รับการดูแลครบตามมาตรฐานประจำปี ตาม CPG ดูดีแล้ว   ผมนึกถึง blog ของพี่   พญ รวิวรรณ หาญสุทธิเวชกุล
ขึ้นมาทันที (อ่านนี่ครับ ทำค่ายให้เด็กมีความสุข )  ใน blog กล่าวถึงคำพูดของ อาจารย์ ดร ภัทระ แสนไชยสุริยา ม ขอนแก่น

การมีอยู่ของคนหนึ่ง   มีความหมายยิ่งต่อการคงอยู่ของอีกคนหนึ่ง


เราอาจคิดว่าเราทำตาม guideline  การรักษา ได้ดีแล้ว คลินิกที่เราทำทำได้ดีมากแล้ว     เรา เข้าใกล้มาตฐานที่เขาบอกให้มีในคลินิกเบาหวานไปทุกที   ตัวเลข KPI ที่คลินิกเราดีขึ้นมาก   ( แต่ guideline หรือ KPI    ตัวเลข   ไม่เคยพูดถึงเรื่องราวที่เราได้เจอ เหล่านี้เลย )   เรามีการจัดการความเสี่ยงที่ดี  เปอร์เซนต์ คนมี complication ลดลง   เราเยี่ยมบ้านผู้พิการได้ดีแล้ว เพราะเรามีการดูแลต่อเนื่องที่ดี   เรามีโครงการเชิงรุกเรื่องการฟื้นฟูที่ดีกว่าเมื่อก่อน เรามีคลินิก HIV ได้ถึงในระดับชุมชน  เราทำงานในชุมชนได้ดี


 พอผมเจอ

 ฉากละคร 3 ฉากนี้ ทำให้นึกถึงคำพูดประโยค ที่จำติดหูแม้จะนานมากแล้ว   ก็ตามที

" ดอกไม้ที่สวยที่สุดยังไม่มีใครเคยเห็น  ภาพวาดที่งามที่สุด  ยังไม่ได้ถูกวาด  คนที่รวยที่สุดยังไม่เกิด " 

หมายเลขบันทึก: 151628เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ดีใจค่ะ...ที่ประเทศไทย...มีคุณหมออย่างคุณหมอค่ะ

(^_____^)

กะปุ๋ม

ขอบคุณอาจารย์ แทนชาวบ้านค่ะ

เรียนคุณหมอจิ้น

เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากค่ะ เตือนใจคนทำงานให้มอง "คน" และ "ชีวิต" ไม่ใช่แค่ "ความเจ็บป่วย" และทำให้เห็นภาพว่าการบริการแต่ละส่วนควรเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง ความช่วยเหลือของเราควรมากกว่าการดูแลความเจ็บป่วย

ดีใจค่ะที่ได้อ่านเรื่องราวนี้ เป็นการจุดประกายการทางานระดับปฐมภูมิได้ดีมาก ความจริงไม่ใช่แค่พียงซิ่งที่เราเห็น  เราควรทำความเข้าใจความเป็นปัจเจกบุคคลให้ลึกซึ้งขึ้น แล้วจะหาหนทางช่วยเหลือคนได้ถูกต้อง และ ได้ผลจริง

มาชื่นชมให้กำลังใจกันต่อไปค่ะ สิ่งที่คุณหมอทำแล้วได้มาถ่ายทอดความคิด และสิ่งที่ทำ จะเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ที่ดีเยี่ยมให้แก่อีกหลายๆแห่งที่ต้องทำงานในบริบทแห่งความทุกข์ของคนเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งเป็นผู้ยากไร้ ไม่ง่ายเลยค่ะ

ขอให้บุญกุศลที่คุณหมอและทีมงานได้ทำให้สังคมเช่นนี้ อำนวยพรให้ทุกคนมีความสุขกาย สุขใจ ยิ่งๆขึ้นไปนะคะ

ชื่นชมอาจารย์ครับที่เข้าถึง-เข้าใจ-และช่วยเหลือ ผู้ที่ลำบากอย่างแท้จริงครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น

ไม่รู้จะกล่าวอะไรมากไปกว่าขอชื่มชมในสิ่งที่คุณหมอกระทำให้กับผู้ป่วยต่างๆ ในพื้นที่ อ่านบันทึกของคุณหมอทีไร ได้กำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นทุกที ^ ^

แต่ถ้าพูดในแง่ของธรรมะจากเรื่องที่คุณหมอเล่ามานี้ ก็จะเห็นเรื่องกรรมและวิบากของบุคคล นอกเหนือจากที่คุณหมอบอกไว้ว่า " ดอกไม้ที่สวยที่สุดยังไม่มีใครเคยเห็น  ภาพวาดที่งามที่สุด  ยังไม่ได้ถูกวาด  คนที่รวยที่สุดยังไม่เกิด "

ขอบคุณค่ะ 

สวัสดีครับหมอจิ้น

อ่านบันทึกเรื่องนี้แล้ว รู้สึกเลยว่าประทับใจการทำงานของหมอมาก และโดยความรู้สึกแท้จริง ผมเป็นห่วงความรู้สึกนึกคิดของคนไทยยุคใหม่ กับหมอยุคใหม่ที่มีปัญหาทางการแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ถ้าหมอทุกคนเป็นแบบหมอจิ้นผมคงรู้สึกเต็มร้อยที่จะเข้าไปช่วยแก้ต่างให้หมอกรณีถูกฟ้องเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่และให้ความเป็นธรรมกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส ครับ แต่คนในสังคมเดี๋ยวนี้ก็ไม่เข้าใจคนทำงานอย่างหมอและพยาบาลเช่นกัน เห็นฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ก็เอากับเข้าบ้าง โดยแยกไม่ออกกับคำว่าพระคุณกับหน้าที่ ครับ

เรียนหมอจิ้น

  อ่านเรื่องเล่าของหมอจิ้นดีใจมากๆ  แทนคน

อาวินชำราบ   อ่านแล้วเหมือนได้เห็นภาพการทำงานที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  อยากให้องค์กรของหมอ ได้มีโอกาสทำแบบหมอ  หรืออาจทำแต่เราไม่ทราบ ก็ไม่รู้

   วันที่3-4 ธ.ค 50 เจอหมอจิ้นผ่านทางอ.วัลลาด้วยล่ะ ได้อ่านเรื่องเล่ายายเฟื้อง  (ไปช่วยฝ่ายเภสัชจัดอบรมเครือข่ายเภสัช  อ่านบันทึกได้ที่อ. วัลลาเขียน  )พี่ว่าจะเขียนเหมือนกัน  รอรูปน้องเขาส่งงมาให้ก่อน 

วันนี้เขียนเรื่องสูงอายุร่วมงานสร้างสุขเพื่อพ่อ และใส่รูป (กว่าจะใส่รูปได้ต้องปริ้นวิธีการที่หมอจิ้นบอกให้มานั่งอ่านและทำตาม  )  หมอช่วยตามไปดูผลงานของลูกสฺญ์หมอจิ้นด้วยนะ

ขอบคุณ คุณ  Ka-Poom  กับ  พี่แดงมากครับ  ที่เข้ามาเยี่มเยียนให้กำลังใจ ครับ
P
3. วัลลา ตันตโยทัย
เมื่อ พ. 05 ธ.ค. 2550 @ 23:35 
สวัสดีครับ อาจารย์
เรื่องราวแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่าดีมากเลยครับ ทำให้มีแรงเขียนบันทึก เพราะไม่อยากพลาดสิ่งที่เผอิญได้เจอ น่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอบคุณครับอาจารย์ 

สวัสดีครับ คุณอาบทิพย์

อยากให้คุณอาบทิพย์ เริ่มเขียนบันทึกใน G2K บ้างจะได้ตามไปอ่านครับ

P

5. คุณนายดอกเตอร์
เมื่อ พฤ. 06 ธ.ค. 2550  

สวัสดีครับอาจารย์ ยุวนุช

อาจารย์คงสบายดีนะครับ  ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้ามา G2K เลยครับเพราะ ภารกิจ มากมาย จะพยายามเข้ามาบ่อยขึ้นครับ

P

6. โรจน์
เมื่อ พฤ. 06 ธ.ค. 2550 @ 21:18 

สวัสดี หมอโรจน์

ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย สักวันเราน่าจะได้มีโอกาสเจอกันนะ

P

7. กมลวัลย์
เมื่อ ศ. 07 ธ.ค. 2550 @ 08:39 

สวัสดีครับ อาจารย์

ผมก็ได้ เรียนรู้เรื่อง ธรรมะกับ บันทึกอาจารย์ มาก  มาตลอดเหมือนกันครับ ขอบคุณสำหรับหนังสือที่ส่งมาอีกครั้งนะครับ

สวัสดีครับ พี่บัณฑูร

ผมก็รู้สึกเหมือนที่พี่ว่ามาเหมือนกันครับ  เดี๋ยวนี้ สังคมเปลี่ยนไปมาก ไม่เหมือนยุค  " ยาขอ หมอวาน " เหมือนสมัยก่อน ปรกติผมไม่ชอบสอนหนังสือ เพราะไม่ถนัด แต่มาช่วงหลัง มหาวิทยาลัย อุบลเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ คณะแพทย์ ผมรีบตอบรับทันที เพราะอยากให้เด็ก ๆ ( หมอเด็ก ๆ )  ได้รับรู้เรื่องราวที่น่าจะได้รู้เวลา เป็นหมอจริง ๆ ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนนะครับพี่

สวัสดีครับ พี่ท้องฟ้า

ตามไปอ่านบันทึกใหม่แล้วนะครับ ก้าวหน้าไปเยอะครับ

  • สวัสดีค่ะ อจ.หมอจิ้น
  • ไม่ได้เจอกันนานใน G2K หลังจาก Tag คิดถึง  ยังคิดถึงอยู่เสมอเลย
  • ได้อ่านบันทึกแล้ว..ดีใจที่จังที่อุบลฯมีแพทย์ที่น่ารักอย่างหมอจิ้น

สวัสดีครับ พี่

P

18. sirirat
ช่วงนี้ยุ่งมากเลยครับ นาน ๆ ถึงได้เข้ามาบันทึกที  แต่ยังไงก็ ยังได้ข่าวคราวกัน ใน G2K นี่แหละนะครับ

เข้ามาเป็นครั้งที่สาม แล้ว

อ่านทีแรก ก็ มีความรู้สึก แบบ หลายหลาก รสชาด มาก

สะดุด อึ้ง ซาบซึ้ง สงสาร  ปลึ้ม ชื่นชม ปิติ

ต้อง ขอบคุณที่ เรียบเรียงอย่างละเอียด เล่าเป็นฉากๆ

อ่านอีก ก็ยังชอบมากๆ ค่ะ

 

สวัสดีครับ พี่รวิวรรณ

เรื่องราวแบบนี้ ผมเริ่มเจอได้บ่อย ๆ มากขึ้นครับ เมื่อเราเริ่มทำงาน ในระบบริการที่แตกต่างบริบทกัน ทำให้เริ่มมองเห็น เข้าใจอะไร ๆ ได้มากขึ้น

ขอบคุณที่มีบทความดี ๆ  ให้อ้างอิงนะครับพี่

โอ้โฮ....สุดยอดเลยค่ะหมอจิ้น ...อิ๋วขอส่งกำลังใจให้หมอและพี่ต้อยนะคะ

...วันก่อนอิ๋วออกเยี่ยม case ที่ คำขวาง ( case studdy ที่ consult ที่ฝากคุณหมอช่วยดู)

...น้ำตาลยังสูง 449  หายใจไม่หอบ ไม่ไอ หน้าแข้งยังบวม ปัสสาวะออกดี วันละ1000 -1200 ml ดื่มน้ำวันละไม่เกิน 500 ml  การวางแผนจำหน่ายครั้งดีได้ผลดีนะคะ ญาติควบคุมอาหารได้ ตวงน้ำดื่ม และตวงปัสสวะได้ 

บอกได้ค่ะ  แต่อิ๋วทำแบบบันทึกพฤติกรรมให้ภรรยาคุณลุงช่วยกรอกให้ แต่ป้าบอกว่าเขียนหนังสือไม่เป็น

พยายามที่จะเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีเด็กวัยเรียนสักคน ...เป็นห่วงลุงกลัวเกิดภาวะวิกฤติตอนกลางคืน

พี่หนิงและพี่แป๋ว ..พยาบาล HHC.และPCU บอกว่าป้า mem ber 1669 ไว้ในเครื่องแล้ว 

ก่อนกลับพี่แป๋วรับปากว่าพรุ่งนี้จะมาเจาะ FBS ให้ คุณป้าสอยสะเดาต้นริมรั้วให้ถุงเบ้อเริ่มเลย

นัดกับคุณลุงและคุณป้าว่า วันที่ 28 มค 51 พบกันที่ รพ. (มาพบแพทย์ตามนัด)

คุณหมออย่าลืมนะคะ ถ้าได้ไปคำขวาง เยี่ยมคุณลุงด้วยนะคะ 

ขออนุญาตหมอจิ้นนำเรื่องนี้ไปให้น้องๆพยาบาลเรียนรู้นะค่ะ

เรื่องนี้ทำให้มุมมองที่เชื่อมโยงในชีวิตของความเป็นมนุษย์  เป็นชีวิตที่เหมือนนิยายจริงๆ แต่เป็นนิยายที่เศร้าน่าดูเลย  

พี่อ่านแล้วอึดอัดในอกนะ  ได้แต่เอาใจช่วยครอบครัวนี้ค่ะ

นายภูวนารถ ลิ้มประเสริฐ

ได้อ่านแล้วซึ้งเลยครับคุณหมอจิ้น ขอเป็นกำลังใจให้ พวกผมเพิ่งจะเริ่มตั้งศูนย์แพทย์ชุมชนอยู่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โอกาสหน้า คงได้เข้าศึกษาจากหมอจิ้นอีกหลายเด้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท