การเกษตร ข้อยกเว้นของการค้าเสรี?


สวัสดีครับ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องการค้าเสรีไว้ โดยตั้งขอสงสัยว่า คนไทยกำลังกลัวคำว่าการค้าเสรีกันเกินไปหรือเปล่า

วันนี้ไปอ่านเจอเรื่องน่าสนใจมากเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการค้าเสรีครับ

เรื่องนี้หยิบมาจากหนังสือเรื่อง The omnivore's dilemma ซึ่งหนังสือเล่มนี้นั้นเขียนว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกกินอาหารประเภทไหน ในมื้ออะไร เอาไว้พอผมอ่านจบแล้วค่อยกลับมาเล่าล่ะกันนะครับ

วันนี้มาคุยกันถึงเรื่องการค้าเสรีกันอีกรอบดีกว่า

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ชาวนาปลูกข้าวโพดในอเมริกานั้น ไม่ค่อยจะมีเงินซักเท่าไร แล้วก็ประสบภาวะขาดทุนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากราคาข้าวโพดที่ถูกลง แถมรัฐบาลก็เลิกช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว จากการศึกษาของ University of Iowa พบว่าค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดนั้นแพงกว่าราคาซื้อขายข้าวโพดซะอีก (เขาใช้หน่วย a bushel of Iowa corn ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่า  a bushel นี่มันใหญ่ขนาดไหน ค่าใช้จ่าย $2.50 กับราคาข้าวโพด $1.45 ต่อa bushel of Iowa corn)

เอาล่ะ ถ้าเราใช้หลักเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์กับอุปทาน เราก็คงคิดว่า แล้วใครจะบ้ามาปลูกข้าวโพด ก็ในเมื่อเราเห็นชัดๆว่า supply มันมากกว่า demand เห็นๆ (ราคาขาย ถูกกว่าค่าใช้จ่าย) ดังนั้นชาวนาปลูกข้าวโพด ก็สมควรที่จะเลิกอาชีพปลูกข้าวโพดซะ จะได้ทำให้ supply น้อยลง แล้วราคาก็จะได้สูงขึ้น จนมาพอๆกับค่าใช้จ่าย

แต่มีชาวนาคนหนึ่งใน Iowa ให้เหตุผลไว้ว่า

พื้นที่ที่ปัจจุบันปลูกข้าวโพดนั้น ยังไงๆก็ไว้ใช้ปลูกข้าวโพดอยู่ดี เพราะว่าต่อให้เขาเลิก คนอื่นก็มาปลูกแทนที่เขาอยู่ดี โดยเฉพาะชาวนาที่ปลูกข้าวโพดอยู่ก่อนแล้ว

น่าสงสัยไหมครับว่าทำไมเขาถึงบอกว่า ยังไง พื้นที่นี้ก็ใช้ในการปลูกข้าวโพดอยู่ดี แถมคนที่จะมาซื้อหรือเช่าที่ไปปลูก ยังเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวโพดอีก ซึ่งเขาก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่ามันปลูกแล้วขาดทุน

เหตุผลหลักๆเลย ก็คือ เรื่องของจิตวิทยาครับ

เมื่อเราปลูกแล้วขาดทุน ความคิดต่อไปของเราก็คือ ต้องปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ขายให้มันได้มากขึ้น แล้วก็จะได้ทดแทนกับการขาดทุนในการขายครั้งที่แล้ว

 มันเหมือนกับนักพนันนะครับ

ครั้งนี้เราเสีย แทงครั้งหน้าเราก็เพิ่มเงิน เพราะว่าถ้าครั้งหน้าเราชนะ เราก็จะได้เงินคืนมา

นี้คือเหตุผลในแง่ของ supply นะครับ ว่าทำไมมันล้นตลาด

ในแง่ของ demand นั้นไม่ต้องพูดถึงครับ

ถ้าคนเรายังต้องการรักษาหุ่นตัวเองให้สวยปิ๊ง ยังไงก็ไม่มีทางกินเพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้น demand มันไม่เพิ่มครับ

ก็เลยทำให้ชาวนาปลูกข้าวโพดในอเมริกาโดยเฉพาะที่อยู่ในรัฐไอโอวานั้น เป็นหนี้เป็นสินต่อไป

ที่มา

Pollan, Michael. "The omnivore's dilemma: A natural history of four meals" Penguin Books 2006.

หมายเลขบันทึก: 149555เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะคุณต้น

อ่านด้วยความสนุกสนานเหมือนทุกครั้งที่อ่านบันทึกของคุณต้นแต่คราวนี้ อดรนทนไม่ได้เพราะพูดถึงการพนันด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา

ชาวไร่ข้าวโพดที่คุณต้นยกมาทำให้เบิร์ดนึกต่อไปว่าการพนันถ้าแบ่งแบบเบิร์ดๆ ..ก็จะมีอยู่ 2 แบบคือแบบมืออาชีพ และแบบผีพนัน

นักพนันอาชีพ ต่าง กับ พวก ผีพนันโดยสิ้นเชิงเลยล่ะค่ะ แบบเซียนไพ่อาชีพไงคะ..พวกนี้เค้าต้องเรียนรู้ศึกษาทั้งวิธีการนับไพ่ ทั้งจิตวิทยา ทั้งโอกาสหลายๆอย่าง ต่างกับผีพนันที่ไม่ค่อยพยายามทำอะไรจริงจังเลยสักอย่างเดียว นอกจากบนบานศาลกล่าวโดยหวังว่าตัวเองนี่ล่ะ คือผู้โชคดี หรือแค่การอ่านตำราเล็กๆน้อย เช่น how to win poker อะไรแบบนี้ก็คิดว่าเพียงพอแล้ว พอแพ้หรือหมดตัวก็บอกว่าโดนโกงบ้าง หรืออะไรก็ตามตามหลักจิตวิทยาที่จะเข้าข้างตัวเอง..

ทีนี้หันมาดูในตลาดข้าวโพดที่คุณต้นยกตัวอย่างมาถ้าจะมองในแง่การพนันก็ได้นะคะ เพราะคล้ายๆเกมส์เช่นเดียวกัน โดยมีเดิมพันอยู่ที่ราคาตลาด
และเมื่อเรามองว่าเป็นการพนันเราจะเปลี่ยนอะไรได้ล่ะคะ อิ อิ อิ.. สิ่งเดียวที่เราจะทำได้ก็คือ หาวิธีทำเงินจากรูปแบบการพนันแบบนี้เท่านั้นเองเนาะคะคุณต้น

เพราะถ้าเรามัวโทษระบบหรือกฏกติกาอะไรก็ตาม ในระหว่างที่คนอื่นๆเค้าเรียนรู้วิธีหาเงินจากตลาดโดยไม่สนใจว่าจะเป็นอะไร ..ความแตกต่างทางความคิดสองด้านแบบนี้..ไม่ว่าจะเล่นสักกี่ครั้ง..เราก็มีโอกาสเสียมากกว่าอีกฝ่ายอยู่ดีนะคะ


นักพนันมืออาชีพ ต่างกับผีพนันตรงนี้แหละค่ะ และนักพนันมืออาชีพไม่มีใครเค้าโลภ แทงเกินตัว มีแต่พวกผีพนันเท่านั้นนะคะที่จะทำ ^ ^

อ่านแล้วคิดถึงเกษตรกรไทยน่าดูเลยล่ะค่ะ

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

ผมคิดว่าการพนันนั้นมีมิติมากกว่านั้นนะครับ บางคนเล่นพนัน เพราะต้องการพักผ่อน บางคนเล่นเพราะต้องการเอาชนะ บางคนเล่นเพราะต้องการฝึกสมอง บางคนเล่นเพราะ ......

ผมคิดว่าชาวนาปลูกข้าวโพดรวมไปถึงชาวนาในเมืองไทยนั้น ไม่ต่างกันเท่าไรครับ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็เพราะว่าชาวนาทั้งสองประเภทนั้นไม่รู้จะไปทำอะไร ดังนั้นก็อาจจะคิดง่ายๆ แค่ผลิตเพิ่ม

ในคำว่า ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร มันบอกถึงอะไรหลายๆอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเพิกเฉยต่อสภาวะเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน เป็นเพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมสนับสนุน หรืออาจจะเป็นเพราะความไม่ใส่ใจ หรือไม่มีโอกาส

คุณเบิร์ดเชื่อไหมครับว่า ราคาข้าวโพดของอเมริกานั้น ถูกกว่าราคาข้าวโพดของเมืองจีนอีกนะครับ ที่ถูกกว่าเพราะว่า เทคโนโลยีที่ดีกว่า

ตรงนี้แหละครับที่ผมถึงจั่วชื่อเรื่องไว้ว่า ข้อยกเว้นของการค้าเสรี ตามหลักแล้ว การค้าเสรีก่อให้เกิดคำว่า creative destruction แต่การเกษตรเป็นข้อยกเว้นครับ

creative แล้ว แต่มันไม่ destruction คนอื่นนะสิครับ แถมยังทำร้ายตัวเองอีกเพราะว่า พอเรา creative เรากลับกู้หนี้ยืมสินขึ้นมาเพิ่มทำให้เรานั้นมีฐานะง่อนแง่นเพิ่มขึ้น

แต่ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลนะครับว่าทำไม การเกษตรนั้นถึงอาจจะเป็นข้อยกเว้นของการค้าเสรี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า อุตสาหกรรมอาหาร นั้นเป็น supply driven ครับ คือผู้ผลิตเป็นตัวกำหนดตลาด ดังนั้นการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร จึงไม่สามารถควบคุมตลาดได้ เพราะไม่ได้เป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ดังนั้นการค้าเสรีอาจจะไม่สามารถใช้กับการเกษตรได้

เอาล่ะมาถึงตรงนี้ ผมก็ขอยืนยันว่าผมไม่ได้ต่อต้านการค้าเสรี และการทำเอฟทีเอกับชาติใดๆก็ตามของประเทศ

แต่ผมอยากจะบอกว่า เราจำเป็นที่จะต้องดูแลเกษตรกร และสร้างตลาดการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มในตัวมันเองได้ครับ   

  • ขอบคุณที่แวะไปทักทายค่ะ เลยทำให้ได้มาติดตามอ่านเรื่องน่าสนใจ
  • ประเด็นความขัดแย้งประเภทนี้ หาคำตอบทางหลักเศรษฐศาสตร์ได้ยาก
  • น่าสนใจที่ว่า เพราะอะไรจึงยังปลูกกันอยู่ จำเป็นไหมที่จะต้องมีอาชีพนี้
  • อันนี้ขอถามเพราะความรู้ยังน้อยนะค่ะ ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลยังต้องอุ้มภาคเกษตรอยู่หรือเปล่า เพื่อให้มีอาชีพนี้ต่อไป แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าก็ตาม
  • เคยรู้มาว่าเกาหลีเอง รัฐบาลก็ต้องช่วยภาคเกษตร ให้ผลิตพืชผล เพื่อให้ยังคงมีอาชีพนี้อยู่ หรือเราจะมองว่ามันคือ food security ได้หรือเปล่าค่ะ

หวัดดีต้น ดีใจที่เห็นมาเขียนอีก พี่เองก็ยุ่งๆ นานๆเข้ามาที

เรื่องข้าวโพดนี้พี่ว่ามันมีตัวแปรหลักอีกตัวที่ทำให้ยุ่ง ต้นดูสารคดีเรื่อง the future of food ยัง 

พี่ว่าตัวแปรหลักอีกตัวที่ว่าคือ ที่มาของเมล็ดข้าวโพดที่นำมาปลูกว่ามันเป็น GMO รึเปล่า  พี่ไม่แน่ใจนะแต่เหมือนจะจำได้ว่าราคาเม็ดมันถูกกว่า

ที่นี้ก็ขึ้นกับว่ารัฐไหนให้ปลูกไม่ให้ปลูก แต่ที่แน่ๆที่ Maxico ปลูกกันมากเพราะเหตุนี้ แถมต้นก็ต้านโรค ได้ผลไปขายแน่ๆ เพียงแต่ไอ้ native species มันโดนกลืนไปไหนต่อไหนแล้ว แล้วก็ผล GMOกับร่างกายคนก็อีกเรื่อง แต่ไม่ขอพูดถึงดีกว่า

อิๆ : ) เดี๋ยวจะแตกประเด็นมากไป

พี่เลยกำลังคิดว่าคนที่ Iowa เค้่าไม่ลดการผลิต แต่เปลี่ยนะไปซื้อเม็ด GMO มาปลูกรึเปล่าอ่ะ

เรื่อง supply มากกว่า demand นี่ไม่แน่ใจว่าจะตรงไปตรงมารึเปล่า

ชาวไร่เค้าคงไม่มองว่า supply มากกว่า demand แต่เค้ามองว่า market share เค้าน้อย จริงๆมี demand

เสียอย่างเดียว เค้าไม่คิด branding หรือ หาวิธีใหม่ที่จะทำให้ได้ market share เพิ่ม เล่นผลิตเพิ่มปริมาณอย่างเดียว แบบนี้ก็หนีแด๊กต่อไปอย่างที่ต้นว่า

 

 

สวัสดีครับอาจารย์ รวมมิตร V9

ประเด็นแรกเรื่องการหาคำตอบทางหลักเศรษฐศาสตร์ ยากจริงหรือ

คำตอบตรงนี้ผมคิดว่ามันอยู่กับคำถามที่ว่าอาจารย์เชื่อว่า price incentive สามารถเอามาใช้ประยุกต์กับตัวอย่างนี้ได้หรือไม่ครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่อง price incentive กับ demand and supply ล้วนๆครับ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

ต่อข้อถามที่ว่า จำไปไหมที่ยังปลูกกันอยู่ และก็เพราะอะไรถึงปลูก

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เกษตรกรไม่รู้จะทำอะไร แล้วก็เมื่อลงทุนซื้อเครื่องจักรไปแล้ว ก็ต้องทำต่อไปละครับ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว การซื้อเครื่องจักรนั้นเป็น sunk cost ตามหลัก decision theory แล้ว บางทีการเอา sunk cost มาคิดนั้น ไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรมากนัก แต่ทางด้านจิตวิทยานั้น sunk cost มีผลมากครับ

ส่วนที่ว่า รัฐบาลยังต้องอุ้มภาคเกษตรอยู่หรือไม่นั้น ผมว่าเรื่อง food security เป็นส่วนหนึ่งครับ แต่ผมคิดว่าเป็นส่วนน้อยครับ เหตุผลก็เพราะว่า โอกาสที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง จะถูกโลกทั้งโลกกีดกันการค้าโดยเฉพาะด้านอาหารนั้นเป็นไปได้น้อยมาก เรียกว่าโอกาสที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ

แต่โดยมากรัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ยังอุ้มภาคเกษตรอยู่ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มเกษตรกรครับ แต่ตามหลักการค้าเสรีแล้ว จะมีกลุ่มหนึ่งคัดค้านครับ แต่เนื่องจากเงินที่เอามาอุดหนุนนั้นไม่ได้มหาศาล บางทีก็เลยอาจจะมีการหลับหูหลับตาปล่อยกันไป หรือว่ามีการล็อบบี้ให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ มาเห็นด้วยกับเรา แลกกันกับที่เราจะเห็นด้วยกับเขาเรื่องอื่นครับ

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีครับพี่มัท

ขอบพระคุณครับพี่ที่พี่เข้ามาทักทายครับ

ต้นยังไม่ได้ดูสารคดีเรื่อง the future of food ครับ

เรื่อง GMO นั้น พูดแล้วมันยาวนะครับ

แต่ใช่ครับ เมล็ดพันธุ์ถูกกว่า ต้นก็ต้านทานโรคมากกว่า แล้วก็ให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปลูกข้าวโพดได้มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศจีนอีกครับ แต่ไม่แน่ใจว่ามากที่สุดในโลกหรือเปล่าครับ

ที่ Iowa เขาไม่ลดการผลิตครับ ส่วนซื้อพวกเม็ด GMO มาปลูกนั้น ใช่ครับ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดครับ บางส่วนลงทุนเครื่องจักรขนาดใหญ่ด้วยครับ แต่ yield นั้นขึ้นกับเมล็ดพันธุ์เป็นส่วนมากครับพี่

ส่วนเรื่องชาวบ้านมอง demand vs supply หรือเปล่า

อันนี้ต้นตอบไม่ถูกจริงๆครับ แต่ต้นยกตัวอย่างสมมตินะครับ

สมมติว่านักเรียนเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ได้ศึกษาแล้วพบว่าทำงานเป็นวิศวกรแล้วได้เงินเดือนดี ก็ตัดสินใจสมัครเรียนวิศวะ

สมมติต่อไปนะครับว่า พอจบมาแล้ว กลับพบว่าตลาดตอนนั้น ไม่ต้องการวิศวกรแล้ว ดังนั้น งานเลยหายาก แถมวิศวกรที่จบใหม่ จบเก่า ก็มาก ทำให้เงินเดือนนั้นไม่เยอะ

คำถามคือวิศวกรจบใหม่คนนั้น จะเลือกทำงานวิศวกรต่อไปหรือเปล่า หรือเลือกไปทำอย่างอื่น

ถ้าสมมติว่าเขาเลือกไปทำอย่างอื่น ก็อาจจะทำให้ supply ของวิศวกรลดลงหนึ่งคนใช่ไหมครับ แต่ถ้าหลายๆคนเลือกทำแบบนั้นด้วย ตามหลักแล้ว เงินเดือนก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาในจุดที่ลงตัว

แต่ถ้าเขาไม่เลือกไปทำอย่างอื่นล่ะครับพี่ ถ้าสมมติว่า เขาคิดว่าทำไมต้องเป็นเขาที่ต้องไปทำอย่างอื่น ทำไมคนอื่นไม่ไปเลือกทำอย่างอื่นแทน ทำไมต้องเป็นตัวเขาที่เสียสละเลือกไปทำอย่างอื่น เพื่อให้ตลาดนั้นปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล

ส่วนหนึ่งที่ต้นคิดว่ามันอาจจะมีมิติมากกว่า supply vs demand ก็เรื่องจิตวิทยานี่แหละครับ 

ส่วนเรื่อง rebranding เนี่ย ต้นเห็นด้วยครับว่า ถ้าอยากจะหลุดจากวงจรก็ต้องฉีกตัวเองออกมาครับ แต่จะฉีกได้มากน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่ฝีมือครับ :D

ขอบพระคุณครับพี่

ต้น 

  • เข้ามาดูว่าคำถาม ได้รับการตอบหรือยัง
  • แล้วก็ได้รับการตอบแล้ว ขอบคุณนะค่ะ
  • ชัดเจนเลยค่ะ และยิ่งอ่านที่อธิบายเรื่องวิศวกรจบใหม่ ก็เห็นภาพเลยค่ะ ไว้ขอเก็บไปเป็นข้อมูล เผื่อใช้ในอนาคตนะค่ะ......
  • ตามมาดูในฐานะผู้บริโภค
  • เอแล้วเราได้อะไรจากการค้าเสรี
  • เอ...ผักผลไม้..สินค้าราคาถูกจากจีน จะมีคุณภาพคุ้มราคาหรือไม่
  • ...ต้องช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาใช่ไหมคะ
  • ห่วงแต่ว่าหน่วยงานของไทยจะรับมือไหวไหม
  • จะกล้า ฟันธง ส่งกลับ เป็นแสนๆชิ้น แบบบางประเทศหรือไม่

 

สวัสดีครับอาจารย์รวมมิตร V9

ขอบพระคุณครับที่ได้กรุณาเข้ามาดูคำตอบ แล้วก็ดีใจมากครับที่ผมตอบให้อาจารย์เข้าใจและกระจ่างได้ครับ

ผมยินดีมากครับ ถ้าอาจารย์หรือใครก็ตามจะเอาเรื่องที่ผมเขียนไปใช้ต่อครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

 

สวัสดีครับคุณnaree suwan

ขอบพระคุณมากครับที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยม ไม่ว่าจะฐานะผู้บริโภคหรือฐานะผู้ผลิตครับ

ต่อข้อถามที่ว่าเราได้อะไรจากการค้าเสรี

คำตอบเดียวที่ผมให้ได้ ก็คือ เราจะได้รับการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมครับ (ถ้าว่ากันตามนิยามจริงๆนะครับ ผมให้นิยามของคำว่าการค้าเสรีไว้ในเรื่อง laissez faire ครับ)  ซึ่งการแข่งขันกันอย่างยุติธรรมนั้นยังไม่เกิดขึ้นนะครับ แล้วจะเกิดเมื่อไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

ผมคงตอบไม่ได้ว่า สินค้าราคาถูกจากจีนจะมีคุณภาพคุ้มราคาหรือไม่ เพราะคำถามอยู่ที่ว่า เรานิยามคำว่าคุณภาพไว้ว่าอย่างไรครับ ผมคิดว่าคุณภาพนั้นมีหลายระดับ คำถามถัดมาก็คือว่า คุ้มราคานั้นสัมพันธ์กับอะไรบ้าง สัมพันธ์กับรายได้หรือเปล่า ที่ผมตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพราะว่า

บางทีการมีสินค้าบางชนิดแต่คุณภาพแย่ อาจจะดีกว่าการไม่มีสินค้าชนิดนั้นเลยหรือเปล่า (อันนี้ผมไม่แน่ใจนะครับ) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพสุดๆนะครับ

สมมติว่า ในหมู่บ้านเรามีอาจารย์หนึ่งคน แต่อาจารย์คนนั้นเป็นคนที่สอนไม่ได้เรื่อง ไม่ค่อยมีความรู้เท่าไร ถ้าเทียบกันแล้ว หมู่บ้านเราจะได้รับประโยชน์มากกว่า การที่หมู่บ้านเราไม่มีอาจารย์เลยหรือไม่

ดังนั้นถ้ามีการแข่งขันกันอย่างยุติธรรม โอกาสที่เราจะได้รับข้อมูล และเลือกสินค้าที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเรา  ย่อมที่จะมีสูงขึ้นครับ อย่าลืมนะครับ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของแรงจูงใจครับ

ผมคิดว่ารัฐบาลไทยมีความกล้าพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนทั้งชาติครับ ผมยังขอมองโลกในแง่ดีว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานของไทยมีความสามารถพอที่จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ครับ (แต่บางทีเราอาจจะต้องมีแรงจูงใจที่เหมาะสมครับ)

ขอบพระคุณครับ

ต้น

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท