ทำไมผมจึงค้นหาวิธี “ทำนาโดยไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน”


เกี่ยวด้วยเคียว ปล่อยฟางไว้ในนา ได้ข้าว ๘๐๐ กก/ไร่

    

         อนุสนธิจากการทำงานร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายปราชญ์ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนานานาชาติ และองค์การพัฒนาการเกษตรในแทบทุกระดับ มาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี 

ผมได้ข้อมูลและความรู้ ว่า เกษตรกรไทยและทั่วโลก มีปัญหาการทำการเกษตรที่ต้นทุนสูง พึ่งพาปัจจัยภายนอกมาก ทำให้เสี่ยง และขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย กลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน

และเป็นผู้รับจ้างแรงงานในที่สุด เป็นจำนวนมาก และราคาปัจจัยการผลิตไม่เคยมีแนวโน้มจะลดลง หรือหาง่ายขึ้นแต่อย่างใด มีแต่หายากขึ้น ราคาแพงขึ้น และบางอย่างกำลังจะหมดไป 

  • ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช-สัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง รถไถ เครื่องจักรกล ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • ในขณะที่ราคาผลผลิต ไม่เคยได้มีการปรับเพิ่มอย่างเป็นไปตามสัดส่วน
  • หรือถ้าจะปรับเพิ่มก็จะกระทบกับผู้บริโภคส่วนใหญ่

     สรุปว่า จากจุดยืนตรงนี้

ผมยังมองไม่เห็นทางรอดของเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และประเทศชาติโดยรวม 

ในขณะเดียวกัน ผมได้ข้อมูลมาจากข้อสังเกต การสัมภาษณ์เกษตรกร การอ่าน การเรียน การวิจัยทางวิชาการ ว่า 

  • การทำนาไม่ไถ เป็นวิธีการปฏิบัติในการปลูกข้าว มาแต่โบราณกาล โดยใช้วิธีการหยอดแบบข้าวไร่
  • การไถ(ครั้งแรกของนาแต่ละแห่ง) มักเกิดเมื่อมีวัชพืชมาก
  • และการไถส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็มีวัตถุประสงค์หลักในการกำจัดวัชพืช
  • ที่เป็นการทำลายโครงสร้างของดินที่เกิดมาตามธรรมชาติ
  • ทำให้ดินเสียโครงสร้าง อัดตัวแน่น รากพืชเจริญไม่สะดวก เมล็ดฝังตัวและงอกได้ยาก
  • จนทำให้จำเป็นต้องไถทุกครั้ง และไถครั้งละหลายๆรอบ จนดินอ่อนนุ่ม (tilt) และ ร่วน แบบเทียมๆ (และชั่วคราว)
  • ดังนั้น นักวิชาการและเกษตรกรสมัยปัจจุบัน จึงเสพติดความรู้นี้ และยึดติดกับภาพนี้อยู่ในใจตลอดเวลา ว่าจะต้องไถพรวนหลายๆครั้ง จึงจะได้ผล
  • การทำลายโครงสร้างของดินยังส่งผลให้มีการย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารที่สะสมไว้ในดินมาได้มากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งเป็นภาพตรึงใจที่ทำให้นักวิชาการและเกษตรกรสมัยปัจจุบัน เสพติดความรู้เข้าไปอีกขนานหนึ่ง
  • ซึ่งการจัดการไถพรวนดังกล่าวนั้น เป็นผลให้ดินเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง ที่ทำให้มีเฉพาะพืชที่ทนและเก่งจริงๆขึ้นได้ และถูกขนานนามว่าเป็น วัชพืช ที่จะต้องถูกกำจัด โดยการไถพรวน และการใช้สารเคมีที่ทำลาย วัชพืช ตั้งแต่การงอก และการเจริญเติบโต
  • การกำจัด วัชพืช ยิ่งทำให้ระบบการสำรองที่พอจะมีเหลืออยู่บ้างหายไปอีก และทำให้ไม่มีอาหารธรรมชาติของสัตว์ แมง และแมลงต่างๆ ทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องหันมากินพืชที่ปลูกแทน
  • ทำให้เกิดชุดความรู้ เป็นพิษ ที่จำเป็นต้องสารพิษในการกำจัดแมลงศัตรูพืช
  • ทุกย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการเกษตรนี้ ไม่ได้คลาดจากสายตานักธุรกิจอุตสาหกรรม สนับสนุน การทำการเกษตร ที่จะใช้ช่องว่างเหล่านี้ในการธุรกิจค้ากำไร จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเกษตรกร ที่ทำให้เกิดความทุกข์ยาก ขาดทุน ยากจน ในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก
  • ผู้ประสพผลสำเร็จแบบ ชั่วคราว ก็มีอยู่บ้างที่สามารถพัฒนาความรู้ให้ทันกับเทคโนโลยีอันตรายเหล่านี้ และใช้อย่างชาญฉลาด ซึ่งมีน้อยรายมากเนื่องมาจาก ระดับความรู้ที่ไม่คู่ควรเทคนิควิธีการขายของนักธุรกิจการค้า สารพิษ และปัจจัยการผลิตราคาสูงเหล่านี้ แต่แม้จะเก่งปานใด ในที่สุดก็จะหนีไม่พ้นกับต้นทุนที่สูงขึ้นตลอดเวลา

จึงได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า

o       เราจะต้องปลีกตัวเองและระบบการผลิตออกจากการใช้ปัจจัยการผลิตต้นทุนสูงเหล่านี้ให้ได้

o       ไม่งั้นไม่มีทางรอดแน่นอน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

และผมก็กลับมาคิดว่า

  • เราแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้ไหม อย่าทำแบบ อ้อม ที่มีผลกระทบมากมาย
  • การไถเพื่อกำจัดวัชพืช แต่มีผลทำลายดิน ทำลายพืชที่เป็นประโยชน์ ทำลายระบบสำรองธาตุอาหาร ระบบการควบคุมกันเองของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ
  • จนเกษตรกรทั่วไปต้องไปพึ่งพาเครื่องมือ สารพิษ และวัสดุปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพง หายาก และทำให้พึ่งตนเองได้ยาก
  • เลิกได้ไหม เปลี่ยนได้ไหม ปรับได้ไหม
  • จะได้ปลดแอกจากระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาภายนอกที่มีต้นทุนสูง และสูงขึ้นทุกวัน
 ผมก็เลยหันมามองตัวเอง
  • ไม่มีที่ทำกิน
  • ไม่มีรถไถ
  • ไม่มีแรงงาน
  • จะทำนาได้ไหม

       ลองไปขอยืมที่ชาวบ้านทำมา ๒ ปี ไม่ได้ผล เพราะชาวบ้านไม่เชื่อ และไม่ทำตามแผนที่วางไว้ ผมจึงผิดหวัง ๒ ปีซ้อน เลยพยายามหาเงินมาซื้อที่ทำเอง

เมื่อปี ๒๕๔๖

  • เริ่มทำใหม่เลย จากนาที่เสื่อมโทรม จำนวน ๔ ไร่กว่าๆ
  • ขอปุ๋ยคอกมาจากเครือข่ายหนึ่งรถหกล้อ (ประมาณ ๖ ตัน)
  • หาฟางที่พอขอได้จากนาข้างๆ มาคลุมไม่ให้หญ้างอก
  • หว่านเมล็ดข้าวเดือนเมษายน ยังไม่มีฝน
  • หว่านถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม งา
  • ปลายเมษายนมีฝน ข้าวเริ่มงอกปนถั่ว ข้าว งา
  • ปลายพฤษภาคม ฝนหนักน้ำขังนา ถั่วงาตายหมด เหลือแต่ข้าว
  • ไม่ทำอะไรรอเก็บผลผลิตอย่างเดียว
  • เกี่ยวด้วยเคียว ปล่อยฟางไว้ในนา ได้ข้าว ๘๐๐ กก/ไร่

 ปี ๒๕๔๗

·        ข้าวเดิมที่ร่วงงอกมากพอสมควร (ไม่หว่านก็ได้)

·        แต่ต้องการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวใหม่ เลยต้องหว่านใหม่

·        พอมีน้ำ ปล่อยให้น้ำแช่ขังให้เมล็ดข้าวเก่าตายหมด

·        หว่านข้าวปลายพฤษภาคม พร้อม ถั่วเขียว ถั่วพร้า งา

·        หญ้าและข้าวงอกแข่งกัน แบบหญ้ามากกว่าข้าวอย่างน้อย ๒ เท่าตัว

·        ปลายกรกฎาคม หญ้าเริ่มตั้งท้องออกดอก จึงตัดทั้งแปลง นำหญ้าปนข้าวบางส่วนไปเลี้ยงวัว

·        หลังตัด มีฝนตกน้ำแช่ข้าวและหญ้า

·        หญ้าตายเกือบหมด ข้าวแตกใบใหม่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เปลี่ยนจากนาหญ้าเป็นนาข้าว หลังจากตัด ๒ สัปดาห์

·        ขณะนี้รอเกี่ยวข้าว จะรายงานผลให้ทราบในไม่กี่วันนี้ ว่าจะได้ข้าวเท่าไหร่ 

แต่ทั้งดินและระบบนิเวศโดยรอบฟื้นตัวในระดับหนึ่ง

  • ดินเริ่มนุ่มโดยไม่ต้องไถ
  • แมลงธรรมชาติเริ่มกลับมา
  • นกสารพัดชนิด
  • ปลาโตได้ดีแบบไม่ให้อาหาร
  • ผลไม้บนคันนาได้ผลดี
  • ต้นไม้เริ่มโต
  • พืชผักบนคันนาเริ่มโตโดยไม่มีการให้ปุ๋ยเคมี นอกจากปุ๋ยคอก ใบไม้ และเศษผลไม้จากตลาดข้างทางจากที่ทำงานกลับบ้านผม
  • ไม่มีการลงทุนในการทำการเกษตร
  • ไม่มีการจ้างแรงงาน ทำเองทั้งหมด
  • ทุกอย่างที่ได้คือกำไร
  • ได้ข้าว ผลไม้ ผัก ปลา
  • ได้ออกกำลัง อาหารสะอาด และสนุก
  • ได้ชุดความรู้ ทำนาโดยไม่ต้องไถ ไม่ต้องดำ ไม่ต้องหว่าน ไม่ลงแรง ไม่ลงทุน ได้แต่กำไร
  • น่าจะมีคนสนใจนะครับ
 
หมายเลขบันทึก: 144094เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2007 12:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (77)
  • เรียกว่าอาจาย์ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติจริงครับผม
  • มีอะไรหลายๆๆอย่างที่นักวิชาการยังไม่รู้
  • ขอบคุณครับที่นำเอามาเผยแพร่ให้อ่าน
  • จะลองไปทดลองที่บ้านดูครับ
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์
  • น่าสนใจมากครับ เป็นแนวทางการปฏิบัติที่มาจากความเข้าใจในธรรมชาติ
  • ติดตามรอดูเรื่องปริมาณผลผลิตอยู่นะครับ

P

P

ครับ

จะแจ้งผลในไม่กี่วันนั้ครับ

สวัสดีครับ

อ่านแล้วทำให้อยากกลับไปลองทำนาตามที่อาจารย์ทำมาเลยครับ ผมเคยอ่านในหนังสื่อของมาซาบุฟูกูโอกะ แล้วบอกทางบ้านลองทำดูไม่มีใครทำเหมือนกัน เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ให้หนังสืออ่านก็ไม่อ่าน จึงปล่อยแล้วแต่พวกเขาจะทำกัน

ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกของเกษตรกรชาวนาเรานะครับ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์มาก

 อ่านทีไรน้ำตาซึมทุกทีไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรครับ วิธีการเหล่านี้มันไม่ใช่วิธีการที่แปลกใหม่เลยเเต่อย่างไร แต่มีมาแล้วตั้งแต่ในอดีต แต่ มหาบัณฑิตทั้งหลายบนโลกเเห่งการเกษตรกำลังวิ่งหนีสิ่งเหล่านี้ไป มองหาแต่ลู่ทางที่จะเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปัจจัยต่างๆที่เกินตัว และมองข้ามสิ่งที่ตนคิดว่าล้าสมัย แต่ไม่เลยกลับเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา อาจารย์เป็นบุคคลที่น่าทึ่งมากครับ ตอนนี้อาจารย์เป็นฮีโร่ของผมไปแล้วสุดยอดมากครับ อยากจะไปเรียนรู้กับอาจารย์มากครับ

กราบสวัสดีครับท่าน อาจารย์

กราบขอบพระคุณมากๆ นะครับ สำหรับอาหารสมอง และบทพิสูจน์ว่าทำได้ หากเราเข้าใจแบบนี้ แล้วชาวบ้านเอาไปทำจนวันหนึ่ง เราจะทราบว่า ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ และ  ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีอยู่จริงๆ ครับ

นับถือในความมุ่งมั่น และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพี่น้องเกษตร และนักวิชาการไทยครับ

ขอบพระคุณมากครับ 

 

ขอบคุณครับ

ก็อยากให้ทุกท่านช่วยกันลองสักเล็กน้อย พอรู้และมั่นใจแล้วจึงค่อยๆขยาย จนเต็มพื้นที่

น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดครับ

 ในฤดูกาลที่ผ่านมา ผมได้ทราบว่ากลุ่มของคุณตุ๊ สิริลัคนา เปี่ยมศิริ ได้ทดลองทำกันทั้งหมด ๕๐ ครัวเรือน 

ครัวเรือนละ งาน สองงาน จนถึงไร่

 คาดว่าจะประเมินผลปลายปีนี้ครับ

สวัสดีครับ

อ่านที่อาจารย์เล่ามาแล้ว นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เคยอ่านเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อฟูกูโอกะ เล่าเรื่องปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว และมีเรื่องเล่าแบบนี้อยู่เป็นระยะๆ แต่ก็แปลกใจว่า ในที่สุดการเกษตรก็ยังไม่เปลี่ยนไปเป็นแบบต้นทุนต่ำ

หรือว่ากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง?

ท่านอาจารย์ ดร.แสวง  ที่เคารพครับ

  • ประจักษ์แจ้งแก่ใจและสายตาขนาดนี้แล้ว ฤดูกาลหน้าโคกเพชรจะเรียนรู้ตามแบบสัก 1 งาน ส่วนอีก 1 งานจะทำแบบโคกเพชร  และดูเหมือนว่า  จะมีพันธมิตรในเครือข่ายจะลองด้วยเหมือนกันครับ
  • มะรืนนี้  ผมเชิญผู้ปกครองนักเรียนประชุม  จะเสนอการเยี่ยมแปลงนาของท่านอาจารย์ต่อที่ประชุมด้วย แล้วจะรายงานผลให้ทราบครับ 
  • สวัสดีครับ

Pครับ

ขอบพระคุณมากครับ

ปีหน้าเราน่าจะมีพันธมิตรมาก เพิ่มเป็นจำนวนร้อยนะครับ

ทางคุณตุ๊ ดงหลวง ก็คงจะได้ชุดความรู้มาเทียบกันอีก

ผมไปประชุมที่ไหน ผมจะนำประเด็นนี้ไปด้วยเสมอ และทุกแห่งก็ตอบรับด้วยดี

เพราะ ไม่มีอะไรจะเสีย การลองทีละงานสองงาน เป็นการเรียนรู้ ที่จัดการง่าย และพอจะเรียนรู้ได้

ทำให้ได้"ใจ" คนที่จะทำต่อ และพันธมิตร

ตรงนีแหละจะเป็นจุดขายของเรา

ราคาน้ำมัน ค่ารถ ค่าจ้าง ค่าแรง แพง

ผมจะสร้างโครงการให้ยืมวัว ควายทำโรงงานปุ๋ยด้วยครับ

ถ้าใครสนใจแจ้งความจำนงมาเลยนะครับ

สวัสดีครับ

มีกี่คน

สนใจมากเลยค่ะว่าไม่ต้องไถไม่ต้องหว่านก็สามารถทำนาได้  จะลองนำวิธีของอาจารย์ไปใช้ค่ะ  ที่บ้านทำนาทีไรแล้วขาดทุนค่ะ  เพราะเสียค่าไถนาเยอะปีนี้ที่บ้านไม่ได้ทำนาค่ะเพราะน้ำท่วม

 อาจารย์คับ ผมอยากไปดูที่นาของอาจารย์ ที่ว่าการไม่ไถไม่หว่าน ผลออกมาจะเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตาของข้าวและผลผลิตจะเป็นอย่างไร และขอฝากอีกอย่างหนึ่งคือว่าอาจารย์น่าจะจัดให้นักศึกษาไปดูสถานที่จริงที่แปลงนาอาจารย์ เพื่อจะได้เห็นรูปธรรม เพราะที่เห็นปัญหาของนักศึกษาในตอนนี้คือ ไม่เชื่อว่าการทำนาแบบนี้ จะได้ผลผลิตประมาณ แปดร้อยกิโลกรัมต่อไร่ เพราะที่ทราบมา ขนาดที่สุรินทร์เป็นแหล่งที่ปลูกข้าวได้ผลดีที่สุด มีการใช้ปัจจัยอย่างเต็มที่ ทั้งปุ๋ยและยา ย้งได้ไม่ถึงขนาดนี้ ถ้าจะให้ดีที่สุดอาจารย์ช่วยกรุณาบอกแผนที่ไปยังแปลงอาจารย์ให้หน่อยนะคับ จะกรุณาอย่างสูง
 วันนี้ไปเห็นกับตาสัมผัสกับมือและบวกกับการจับด้วยใจแล้ว เป็นวิธีการที่วิเศษจริงๆครับ งานทำงานที่มีแต่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว สถานที่ที่ผมไปเยือนวันนี้สอนให้ผมรู้จักการบูรณาการได้ดีจริงๆครับ และได้พบว่าความคิดทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าผ่านการลงมือเเละปฏิบัติอย่างตั้งใจ ขอบพระคุณอาจารย์มากครับสำหรับความรู้ในวันนี้ ที่นาของอาจารย์เป็นผืนนาแห่งแรกที่ผมเคยเหยียบและสัมผัส ขอบคุณครับแล้วผมจะไปเรียนบ่อยๆครับ

วันนี้ผมจะไปนาตอนเย็นๆ ประมาณ สัก ๔ โมงก็แล้วกัน

ใครจะไป เชิญครับ

พรุ่งนี้ก็จะเริ่มเกี่ยวจริงแล้วครับ

กราบสวัสดีครับท่าน อาจารย์
     ถ้าเป็นไปได้มีรูปให้ดูบ้างไหมครับ อยากเห็นเหลือเกินว่าทำนาแบบไม่ไถ มีทั้งปลา และต้นไ้ม้ที่ขึ้นมาสมบูรณ์เป็นอย่างไร

ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่คนหนึ่ง ที่ยังไม่เคยทำนาและตอนนี้กำลังจะหันมาลองทำดู และได้เห็นการนำเสนอแนวทางการทำนาของอาจารย์แล้ว น่าสนใจดีครับ แม้จะผลผลิตข้าวจะได้ไม่ถึง 800 กก./ไร่ แต่สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ก็ OK นะครับ ผมอยากศึกษาและได้เห็นของจริง เพื่อจะได้จัดให้เกษตรกรได้ศึกษาและได้ให้อาจารย์เป็นวิทยากรให้ รบกวนอาจารย์ช่วยส่งรายละเอียดและขั้นตอนระยะเวลาในการทำแต่ละช่วงให้หน่อยนะครับ จะลองเอาไปศึกษาดู

เรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ

มีแต่หลักการ และการเรียนรู้

โทรมาคุย หรือมาดูที่นาจะดีกว่า

ตอนนี้ผมกำลังปราบหญ้า ด้วยเคียวด้ามยาว

ทำหน้าที่ "ควาย"

คิดว่าจะหว่านได้ประมาณ กลางเดือนหน้าครับ

สุดยอดครับอาจารย์ เป็นองค์ความรู้แบบโบราณที่โดนกระแสวิชาการตะวันตกครอบงำไปหมดโดยอาศัยหน่วยงานราชการก็ดี ดร.ที่จบนอกมาทั้งหลายก็ดี บริษัทขายปุ๋ยยาก็ดี สื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเกษตรก็ดี ล้วนแต่ประโคมข่าววิธีการจัดการแบบตะวันตกทั้งสิ้น

เกษตรกรยังต้องการความกล้าหาญมากกว่านี้ที่จะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรไทยต้องอย่าลืมว่าไอ้คนที่พูดๆ นั้นไม่เคยจับเคี่ยวเกี่ยวข้าวด้วยซ้ำ แต่แบบอาจารย์นี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ทั้งข้อมูลทางด้านตัวเลข (ตัวเลขไม่เคยโกหกครับ) และสิ่งที่คุณได้เห็นด้วยตาทั้งสองของคุณ ผมจะเป็นกำลังใจให้อาจารย์ จะนำความรู้นี้ไปบอกต่อกับกลุ่มเกษตรกรที่ผมรู้จัก และอาจจะให้พวกเค้าไปติดต่อขอดูงานของอาจารย์ด้วย

แต่ทั้งหมดนี้เป็นงานที่ยากและยิ่งใหญ่มาก แต่ต้องทำ ที่จริงถ้าเกษตรกรไทยทุกคนร่วมมือกันตั้งจิตใจให้ยึดมั่นและมีความกล้าหาญที่จะปฏิรูปตัวเองเพื่อในหลวงของเรา ทำตามพระราชดำริ เกษตกรไทยจะพ้นจากหนี้สินต่างๆภายในไม่นานครับ

ขอบคุณครับที่มาให้กำลังใจ

ตอนนี้กำลังขมักเขม้นทำปีที่ ๓ ครับ

กำลังจะหว่านข้าวในบางจุดที่ข้าวตาย

แต่ยังรักษา

 

ไม่ไถ ไม่ดำ เช่นเดิมครับ

ขออีเมล์ อาจารย์ติดต่อโดยตรงได้ไหมค่ะเข้าใส่รหัสสุ่มแล้วไม่ได้ อยากได้วิธีทำนาอย่างละเอียด ทำนาวิธีของอาจารย์นำมาทำที่นี่ได้หรือเปล่าค่ะ ตอนนี้ทำนาอยู่ประเทศเกาหลีค่ะ ขอด่วนเลยนะค่ะเพราะจะได้เตรียมตัวทันเพราะที่นี่กำลังหว่านข้าวกันอยู่พ่นยากันเป็นว่าเล่นไม่รู้ยาอะไรต่อมิอะไรต้นทุนสูงมาก

ผมเคยคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับทำนาแบบนี้เมื่อปีก่อนโน้น

แต่ปีนี้ได้ให้รถไถปรับที่นาให้เท่ากันและตั้งคันนาทำไปครึ่งหนึ่งแล้ว

คิดว่าจะทำแบบคนอื่นใช้ไถกลบแล้วแปรแล้วหว่าน

วันนี้ได้มาอ่านของอาจารย์ความอยากทำนาแบบธรรมชาติ

ก็กลับเข้ามาอีก ตัดสินใจปีนี้จะทำแบบอาจารย์ดู

ขออาจารย์เป็นที่ปรึกษาด้วยนะครับ

ข้อแรก ควรปรับนาให้เท่ากันไหมครับผมให้รถไถทำไปแล้วครึ่งหนึ่ง

พอดีฝนตกเลยหยุดก่อน

ข้อสอง ขออาจารย์ช่วยบอกขั้นตอนการทำด้วยครับ

๑. ที่นาควรเรียบเสมอ จะคุมน้ำและหญ้าง่าย ถ้าไม่เสมอ ต้องแยกแปลง

๒. มีที่ให้ปลาอาศัย จะช่วยกำจัดหอยเชอรรี่ ถ้าไม่มีเราต้องทำเอง

๓. ศึกษานิสัยของหญ้าที่มีในแปลง แล้วหาทางลดประชากรลง งานนี้อาจต้องวางแผนข้ามปี

๔. ใช้ถั่ว งา ช่วยคุมหญ้า (แต่อย่าใช้โสนเป็นอันขาด) หว่านพร้อมๆกับข้าวเลย

๕. กำหนดแผนคุมหญ้าให้ละเอียด แล้วงานจะน้อย พึงระลึกเสมอว่า งานยิ่งหยาบยิ่งทำยาก จนต้องไปพื่งระบบเคมี งานละเอียดจะง่ายขึ้นเป็นวันต่อวัน แต่ฟังแรกๆ จะดูมากสักหน่อย

๖. เดินแผนหาวัสดุอินทรีย์มาเป็นปุ๋ยในนา

๗. ปลูกต้นไม้ดูแลนาแทนเราในระยะยาว

พอทุกอย่างลงตัว แทบไม่ต้องทำอะไร รอเกี่ยวอย่างเดียว

หรือจะไม่เกี่ยวก็ไม่ขาดทุน เพราะไม่ได้ลงทุน

 

ขอบคุณมากครับผมจะดำเนินการไปตามนั้น

คงต้องจ้างรถไถปรับดินให้ได้ระดับเดียวกันที่เหลืออีกครึ่ง

มีที่ให้ปลาอาศัยคือขุดล่องน้ำข้างๆคันนาน่าจะได้

กำลังคิดทำอยู่แต่ไม่ได้นึกถึงปลาอาศัย

ไปนึกถึงเวลาให้น้ำ,ดูดน้ำออกจะสะดวกมากกว่า

ส่วนคันนาตอนแรกกะจะทำเป็นแปลงเล็กๆดูแลง่าย

แต่มีคนทักท้วงว่ารถไถรถเกี่ยวไม่สะดวก

ก็เลยต้องทำไม่ใหญ่ไม่เล็กเท่าที่รถเกี่ยวไม่บ่น

ที่สูงเกิน,หรือต่ำเกินก็แยกแปลงออก

ส่วนคันนาว่าจะทำแบบใหญ่รถเข้าได้

เพื่อสะดวกในการขนส่ง

ปลูกต้นไม้ข้างๆตามถนนใหญ่

แล้วมีคันนาเล็กๆแตกแขนงไป

อาจารย์มีอะไรแนะนำเพิ่มเติมบอกมาได้เลยนะครับ

เสียอย่างเดียวผมอยู่ กทม.สวนอยู่ชัยนาท

ยังทำอะไรได้ไม่มากนักจะเกษียณตัวเองอีก4ปี

อยากมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เกษตรธรรมชาติ

ถ้าสนใจยิ่งมาอยู่ยิ่งดีอาจเป็นเงินเดือนหรือ

เช่าที่คิดถูกๆทำกินก็ได้

ที่แห่งนี้จะเป็นที่ปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิต

พร้อมอยู่ร่วมธรรมชาติให้มากที่สุด

อยากให้เป็นที่เรียนรู้ของชาวบ้านเพราะคนแถวนี้

เพราะแถวนี้ใช้ยาเป็นหลักคนปลูกข้าวไม่เก็บไว้กินเอง

จะไปซื้อที่ตลาดผมถามเขาบอกกลัว

ผมมีเวปไซด์คือ www.chaimongkolsathan.com

ผมเข้าไปดูแล้ว

ขอบอกว่า

 ประทับใจครับ ใหญ่โต และจริงจังมากกว่าที่ผมคิด

ไม่ทราบคำแนะนำจะช่วยได้ไหมครับ

ผมก็กำลังทำ เรียนรู้ไปด้วยกันก็แล้วกันครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ถ้ามีอะไรผมก็จะมาปรึกษานะครับ

อาจารย์ครับ

การทำนาแบบนี้เนีย

ต้องเป็นพื้นที่แบบไหนครับบ

แบบราบเรียบหรือป่าวครับ

ถ้าเป็นที่ลุ่มบ้างดอนบ้าง

จะทำได้หรือเปล่าครับ

ตอบด้วยนะคราบบ

ถ้าไม่เสมอก็ต้องแบ่งแปลงนา

นี่คือธรรมชาติของที่นา

ในที่สุดก็ราบเหมือนเดิม

คุยกันที่แปลงนาวันเสาร์ดีไหมครับ

อยากลองทำดูค่ะดิฉันอยากให้คนในชุมชนของดิฉันเลิกใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีค่ะ

มันอันตรายตอนนี้ที่บ้านทำนาโดยวิธีดำค่ะเลยคุยกับแม่ว่าจะขอนาแม่ทำค่ะสัก1ไร่ดูจะลองทำแบบอาจารย์บอกค่ะถ้าสำเร็จจะได้เอามาพัฒนาในชุมชนค่ะ

ตอนนี้ดิฉันบอกไปเค้าก็ไม่เชื่อกันดิฉันเลยต้องลงมือทำให้เค้าดูก่อน

จะทำวันไหนดิฉันจะมาขอคำปรึกษานะค่ะอยากทำมานานแล้วค่ะอุดมการณ์สูงส่ง

ขอบคุณมากนะค่ะ

ถูกต้องแล้วครับคุณกระดังนา ทุกอย่างต้องลงมือทำ ถ้าเพียงแต่คิดแล้วไม่ทำจะไม่มีวันเห็นการเปลี่ยนแปลงและเห็นผล เรื่องแบบนี้พูดไปก็จะมีแต่คนหัวเราะแต่ทุกคนลืมคำพูดวลีหนึ่งที่พูดว่า "หัวเราะทีหลังดังกว่า"

ขอเพียงมีความตั้งใจจริงไม่ย้อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นทั้งน้ำเสียงและคำพูดที่จะได้รับฟัง และอุปสรรคต่างๆจากสภาพแวดล้อมในระยะแรกๆที่จะเผชิญครับ

ขอเป็นกำลังใจสุดๆครับ แล้วอย่าลืมเข้ามารายงานความคืบหน้าในบันทึกด้วยครับ พร้อมกับขยายผลไปยังชุมชนด้วยครับ

ขอบคุณครับ แนวร่วมทั้งหลาย

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญต่ออนาคตของชาติครับ

อาจารยืหนูคิดที่จะทำนาค่ะแต่หนูไม่มีความรู้เลยเริ่มแรกต้องทำอย่างไรดีค่ะ

มีที่ของคุณพ่ออยู่ เลยอยากจะพัฒนาอ่ะค่ะ

เริ่มจากเตรียมดินเลยอ่ะค่ะ

มือใหม่เลยอ่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ลองทำ และมาแลกเปลี่ยนกัน ได้ผลแน่นอนครับ

ดิฉันก็อยากทำนาเองคะ คือ ที่บ้านอยู่ทางเหนือ มีนาแต่ให้คนอื่นทำ ไม่เคยทำเอง คนที่เขาทำให้ เขาขอแบ่งข้าวคนละครึ่ง ทุกอย่างเราลงทุนเอง เราต้องจ่ายตั้งแต่ ค่าน้ำมัน เครื่องตัดหญ้า รถไถ ค่าปุ๋ย ค่ายาคลุมหญ้า เงินอีก 4000 บาท เวลามีการเกี่ยว ตี ข้าว ก็ต้องซื้อเบียร์ กับแกล้ม มีปัญหาสารพัด ข้าวก็ได้ผลิตน้อยลง คิดว่าปีหน้าจะทำนาเอง แต่ทำไม่เป็นเลย คงต้องจ้างเขา จึงกำลังค้นหาวิธีทำนา ที่ได้ผลผลิตสูง อยากให้ผู้รู้ช่วยแนะนำคะ

ขอบคุณค่ะ

มา "เรียน" ไม่กี่ปีก็เป็นครับ

ผมก็ทำไม่เป็น แต่กำลังเรียนอยู่ครับ

เมื่อเรียนแล้วทุกอย่างจะง่ายไปเอง

ผมขอยืนยันครับ

แล้วไปเรียนที่ใหนอย่างไร ต้องเข้าไปดูหรืออ่านที่ใหนแนะนำด้วยนะคะ

รบกวนด้วยคะ

ขอบคุณคะ

การเรียน คือการทำจริง พบปัญหาใดก็ค่อยๆหาทางแก้ทีละเปลาะ ทั้งโดยตัวเองและแลกเปลี่ยน

การเรียนโดยไม่ได้ทำ ไม่มีวันสำเร็จครับ

ได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วรู้สึกปลื้มใจมากครับ เพราะอาชีพทำนาเป็นของคนไทย ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างมากกับแนวคิดนี้ และอยากให้เผยแพร่ไปยังชาวนาอื่น ๆ ได้ทำตามเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการทำนาเพื่อเป็นการเพิ่มกำไรในการขายข้าวได้โดยไม่ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการใช้สารเคมี ผมขอนำแนวทางของอาจารย์ไปลองปฎิบัติดูบ้างครับ

ครับ ได้ผลอย่างไรช่วยแจ้งด้วยครับ

การลงทุนต่ำ จะต้องใช้ความรู้มากครับ

คนใช้ความรู้น้อย จะต้องใช้เงินมาก เป็นธรรมดา

นี่คือความเหมือนของการทำงานในแทบทุกเรื่องครับ

สวัสดีค่ะ...(หนูเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์หลายครั้งแล้วแต่เพิ่งมาแสดงความคิดเห็นครั้งนะคะ)

หนูเรียนกับอาจารย์แล้วหนูรู้สึกชื่นชม และชื่นชอบ ในความคิดและการกระทำของอาจารย์มากคะ ตั้งแต่หนูเกิดมาหนูยังไม่เคยเกี่ยวข้าวเลย เคยแต่ถอนกล้าอย่างเดียว แต่ก็ไม่ค่อยชำนาญทำให้โดนดุอยู่บ่อยๆ และก็ไม่ได้ทำอีกเลย มีแต่คอยช่วยเวลาสีข้าวเท่านั้น

แต่พอได้เรียนกับอาจราย์แล้วหนูก็ได้ไปเกี่ยวข้าวที่นาของอาจารย์ สนุกมากคะ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมากก็ตาม และที่สำคัญ หนูกลัวอาจารย์ว่าให้พวกหนูที่เกี่ยวข้าวไม่เป็นทำให้ข้าวเสียหาย แต่อาจารย์ก็ไม่ว่า และบอกพวกหนูว่าป็นการศึกษา ไม่เป็นไร คำพูดนี้ทำให้หนูชื่นชม อาจารย์มากคะ และที่ชื่นชอบอาจารย์ก็เพราะว่าอาจารย์มีแนวคิดที่แปลกดีคะ แต่ก็มีประโยชน์ และสามรถใช้ได้จริง การเรียนกับอาจารย์เป็นการเรียนสนุก และได้ความรู้ด้วย วันนั้นเป็นที่หนูจดจำไม่เคยลืมเลือนเลยคะ ได้ทั้ง เกี่ยว และ สีข้าวในตอนเย็นด้วย เหนื่อยจนแทบจะใจขาด ซึ่งทีแรกกะว่าจะกลับเหมือนกับคนอื่นๆ เค้า แต่เห็นพี่ๆ เค้าจะช่วยอาจารย์กัน จำนวนคนที่จะช่วยก็น้อย ก็เลยอยู่ช่วยอีกแรง อาจารย์ก็ใจดีมากเลยคะ ที่ไปเลี้ยงพวกหนู หลังทำงานเส็จ ขอบคุณมากนะคะ

หนุอยากเรียนกับอาจารย์อีกจังเลยคะ แต่ก็ไม่ใช่เรียนซ้ำนะคะ เพราะหนูคิดว่าหนูก็อยู่สาขาทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ยังไงก็คงได้เรียนกับอาจารย์อีกแน่นอน ไม่วิชาใดก็วิชาหนึ่ง

ความรู้ที่ได้เรียนมาหนูจะนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้นะคะ

........แล้วเจอกันใหม่นะคะ ........สวัสดีคะ

เรียนกับอาจารย์ในห้องฟังดูแล้วงงๆ

บางทีจับประเด็นไม่ถูกจุดแต่เมื่อได้มาอ่านบทความของอาจารย์

ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ค่ะ

*อ่านงานของอาจารย์เลยทำให้ผมนึกได้ว่าเคยได้ยินเรื่องนี้มาจากไหนหนอ? พลันลุกไปหยิบหนังสือ "ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น" ของ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์จึงร้องอ๋อขึ้นมาทันทีเพราะอยู่ในงานเขียนที่ว่าด้วยเรื่อง ฟ้าสู่ดิน โครงการพลิกฟื้นผืนดินอีสาน ซึ่งครูบาสุทธินันท์ เป็นปฐมคิดแล้วมีแนวคิดสำคัญของอาจารย์(ดร.แสวง)อยู่ด้วย ผมจึงร้องอ๋อขึ้นทันที

*ผมอ่านหนังสือเล่มเดิมเรื่องแรกคือ "สินชัย ชายหนุ่มแห่งหนองพยอมกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว" จากนั้นก็เอาไปเล่าให้เพื่อบ้านฟัง (แนวคิดคือ เอาข้าวเปลือกมาแกะเปลือกออกระวังอย่าให้จมูกหลุด แล้วนำไปเพาะพันธุ์ในลักษณะที่เป็นข้าวสาร)เขาว่าผมเป็นผีบ้าน ข้าวที่แกะเปลือกออกจะงอกได้อย่างไร(หนังสือตีพิมพ์ ปี 2549) เมื่อมีกระแสกล้องงอก ออกมาสู่ท้องตลาดคนเห่อกันมากผมก็เลยนึกขำเพื่อนบ้านนั้นเสียกะไร

ครับ คนผีบ้าเหล่านั้นแหละ ที่จะกู้ชีวิตให้มนุษยชาติ

ตอนนี้พวกเราส่วนหนึ่งทำตัวเป็นเซลล์มะเร็ง

ทำลายแหล่งอาศัยของตนเอง แบบไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุผลการอยู่รอดเฉพาะหน้าของตนเองเพียงด้านเดียว

จึงต้องมีคนอีกกลุ่มหนึ่งหันมาพิทักษ์โลก แต่ไม่ทราบจะทันกันไหม

น่ากลัวจริงๆ

 

เป็นเรื่องที่น่าสนใจดีครับ เพราะตอนนี้ที่หมู่บ้านผมใช้แต่เครื่องจักร สารเคมี พอผลิตออกมาข้าวราคาไม่ดี แถมคุณภาพก็ด้อย วิธีของ ดร. น่าจะให้ผลดีน่ะครับ

ดีอยู่ครับ

แต่พวกมนุษย์ "เซลล์มะเร็ง" ไม่ค่อยสนใจ

  • จะเอาแค่ตัวรอด (เกษตรกร) แต่ก็รอดยาก หรือ
  • ผลประโยชน์เฉพาะหน้า (ธุรกิจ) ที่เสียระยะยาวเท่าไหร่ช่างมัน ข้าไม่เกี่ยว (พร้อมหนีทุกเมื่อ) และคิดว่าตัวเองและลูกหลานจะหนีรอด

ยากจริงๆครับ ทำงานกับมนุษย์ "เซลล์มะเร็ง"

ช่วยกันหน่อยซิครับ

พูดไปก็ไร้ค่า ถ้าไม่กล้าจะทำจริง ครับ

 

สวัสดีคะ

ดูเรื่องผู้ใหญ่ลีแล้วทำให้เกิดคำถามว่านาเยอะแยะจะใช้แรงคนได้เหรอ

เลยค้นๆดูจนเจอที่นี่

อ่านแล้วทำให้คิดว่าคนเขียนบทเรื่องผู้ใหญ่ลีเค้าค้นคว้ามาดีจัง

ถ้ามีโอกาสอยากเผยแพร่บทความที่นี่บ้างจะได้มั๊ยคะ

เมื่อมีแรงงานน้อย เงินน้อย ก็ต้องใช้สมองมากๆครับ

นี่คือทางเลือกครับ

ไม่มีงานทไจไปทำนา ดีไหม มีนาอยู่20 ไร่ ให้เขาเช่า ได้ปีละ 3000 บาท (ทำนาได้ 3ครั้ง) สงสารพื้นดินไม่เคยได้พักเลย คนเช่า ทำ ทำ ทำ ..ว่าจะไปจ้างคนทำพอได้กำไรไหมค่ะ ลงทุนไร่ละเท่าไร+ค่าแรง+ค่าไถ+ค่าแรงทั้งหมด จะไหวไหมนี่...

ไม่ลองไม่รู้ และที่สำคัญ "ไม่ได้เรียน"

อยากเรียนต้องลอง เมื่อลองแล้วก็จะรู้

ไม่มีการใดสำเร็จได้เพียงแค่คิดตรับ

เคยจัดกิจกรรมลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าวเด็กชอบมาก นาก็ของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นครูที่ดีครับ

เขาเป็นเจ้าภาพทั้งยังภูมิใจที่โรงเรียนเห็นคุณค่าชาวนา เขาปลูกข้าวปลอดสารพิษมานานกว่า 20 ปี

แรกเริ่มเขาถูกเรียนว่าผีบ้า เวลาข้าวมีโรคเขาจะล่ามควายกินข้าวเพื่อให้ข้าวงอกใหม่

อยากให้อาจารย์ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เผยแพร่ให้กว้างขวาง

ชื่นชมที่ท่านเป็นนักวิชาการติดดินครับ

ครับ

มาลุยกันหน่อยดีไหมครับ

จะได้มีพวกมากๆ

อิอิ

ผมมีวิธีทำนาแบบใหม่ใช้สารตัวหนึ่งที่สามารถทำให้ดินเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีต้นทุนต่ำเดิมต้องใช้ปุ๋ยทำนา

ไร่ละ2กระสอบหรือ100กิโลกรัมเป็นเงินประมาณ1800บาทต่อไร่ถ้าใช้วิธีของผมเพียงไร่ละประมาณ390บาทให้ผลผลิตดีกว่าใส่ปุ๋ยเคมีและต้นทุนลดลงมาก สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี [email protected]

ช่วยอธิบายหลักการด้วยครับ ว่าใช้หลักอะไร

(ผมรู้สึกว่าท่านกำลังพาเรากลับไปยุคเล่นแร่แปรธาตุ เสกตะกั่วให้เป็นทองแล้วครับ)

ถ้าไม่อธิบายจะถือว่าเป็นการโฆษณาไร้สาระ และควรลบทิ้งครับ

ที่โรงเรียนทำเกษตรอิทรีย์ แบบยั่งบืนมานาน

ที่บ้านก็ทำมาเท่าอายุของ พ่อ และข้าพเจ้าก็ทำตามพ่อของตัวเอง

ที่โรงเรียนก็จัดการให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ในเรื่องเกษตรอิทรีย์ เรื่องอาชีพ เรื่องการลดต้นทุนการผลิตในการผลิต และการดำเนินการชีวิต

ปุ๋ยสั่งตัด ชีวภาพสูตร ต่าง ๆ ที่จะใช้กับสิ่งแวดล้อม พืช และปศุสัตว์

เรื่องการเพาะเห็ด....ชนิด ต่าง ๆ รวมถึงการเพาะเห็ดหอมในโรงเรือนแบบเปิด...

การทำนำส้มควันไม้ เพื่อขยายผลให้เกษตรกร

การปลูกผักในวิถีชีวิต

การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

การเลียงไก่ใข่.....

เช้ามาเยี่ยม ......ขอเป็นเครือข่ายอาจารย์ แบบเงียบ...ด้วยจิตแห่งการชื่นชม

หวาดดี คับ อาจารย์

ผมเพิ่งเปิดเจอความคิดเยี่ยมๆแบบนี้

ผมเป็นคนลพบุรี เผอิญคุณพ่อผมเสีย เมื่อต้นปี 51 คุณพ่อมีทุ่งนา อยู่ 20 ไร่แบ่งกรรมสิทธิ์กับพี่ชายเรียบร้อยแล้วเดิมมี 40 ไร่

คุณพ่อไม่เคยไปดูแลทุ่งนาพื้นน้อยนี้เลย จนคุณพ่อเสีย ผมเองเลยได้รับมรดกเป็นที่นา 20 ไร่ (ผมเป็นลูกชายคนเดียว) ซึ่งคุณพ่อเองแก่ก็รับเงินค่าเช่านา อยู่เป็นประจำ แต่ผมสงสัยว่า คุณพ่อไม่เคยทำสัญญากับคนเช่านาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมเองก็ไม่รู้ว่า ข้อมูลเป็นอย่างไร ตอนนี้ผมกระสันมาก ที่จะทำนา โดยหาวิธีให้คนเช่านาออกไปจากที่นาผม จำนวน 20 ไร่

ความต้องการของผมมีแค่นี้

ช่วยจรรโลงความคิด และตกตะกอนว่า ผมจะทำอย่างไร ต่อไป

ลุยเลยครับ

อาจเจ็บตัวบ้าง แต่จะเรียนรู้มากกว่า

แล้วจะทำได้เอง

ถ้าทำนาบนผืนไร่ที่ไม่เคยทำนามาก่อนเลย

ที่สำคัญมีปัญหาเรื่องน้ำ อยากทราบว่าต้องใช้ระบบน้ำหยดได้ไหม

อยากทำมากเลย

รบกวนอาจารย์ตอบเมลล์ด้วยค่ะ

ได้แน่นอน

ทำแบบข้าวไร่เลยครับ

ดินดีได้ผลแน่นอน

ลองปลูกในแปลงผักก่อนก็ได้ครับ

ผมเห็นว่าได้ผลมาแล้วครับ

กราบเรียนอาจารย์แสวง จากข้อความทีได้อ่านคอลัมน์แล้วมีความคิดว่าอยากทำนาตามแบบอาจารย์ คือปีหน้าจะทำนา 26 ไร่ มีเงินลงทุนน้อย ไม่เคยทำนามาก่อน อยากใช้ปุ๋ยชีวภาพ เห็นอาจารย์รักษาระบบนิเวศน์ไว้คิดว่าน่าจะทำแบบแต่ไม่ค่อยเข้าใจในการทำนาของอาจารย์บางอย่างจึงอยากเรียนถามดังนี้

1.การทำนาโดยไม่ไถใช้ได้กับทุกที่ไหม(ไม่รู้จะเหมาะกับที่นาของตัวเองไหม)ที่นาเก่ามีคนทำมาก่อนโดยเค้าเช่าอยู่

2.มีวิธีการจัดกับปู หอยเชอร์รี่และศัตรูพืชอื่นๆอย่างไร

3.จากคอลัมน์ตัดข้าวและหญ้าออกทั้งแปลง หมายความว่า ตัดออกหมดเลยไม่ว่าข้าวและหญ้า ใช่ไหม เป็นวิธีการจัดการหญ้าใช่ไหม

4.ปุ่ยคอกที่ได้แล้วเอาฟางคลุมไว้นี้คือใส่นาใช่ไหม

ถ้าอาจารย์จะกรุณาขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้ไหมคะ

ขอขอบพระคุณมากนะคะ

การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองไม่มีสูตรสำเร็จครับ แต่วิธีคิด "เริ่มจากสิ่งที่ตนมี" ใช้ได้ทุกกรณี

สำคัญคือ "อย่าเริ่มจากสิ่งตัวเองไม่มี"

เพราะยากมากเลยครับ

ขอความกรุณาอาจารย์อย่างยิ่ง

ดิฉันหาได้มีความรู้เรื่องการทำนาใดๆๆทั้งสิ้น อ.มีหนังสือหรือเวบไซด์ของอาจารย์เกี่ยวการทำนาไหมคะขอความกรุณาด้วยคะ (ถ้ามีหนังสือชื่ออะไรคะจะได้ไปหามาอ่านนะคะ) ขอขอบคุณมากคะ

การทำงาน การอธิบาย และการเขียนมันต่างกันมากเลยครับ

ผมยอมรับว่ายังทำได้ไม่ครบครับ

คงต้องลองปฏิบัติ ได้ผลอย่างไรก็มาแลกเปลี่ยน คงจะพอได้ครับ

เห็นด้วยอย่างที่อาจารย์เขียนไว้เรื่องหนึ่งคือแนวความคิดที่ตีกรอบของวิธีการทำนาแบบเดิมๆ

ต้องหาที่ดินเช่าทำกินเองแล้วลงมือทำแบบอาจารย์ว่า ค่อยๆสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วใช้วิธีธรรมชาติรอบๆด้าน

มาเสริมเติมและกำจัดวัชพืช

ตอนนี้เล็งไว้ที่นาแถวอุดรธานีมีบอกให้เช่าประมาณสองไร่(กะทำไว้กินเองค่ะ) แล้วจะทำแบบไร่นาผสมผสาน

เดิมชาวนาทำแบบข้าวนาปี หลินจะทำแบบเขาแต่เปลี่ยนการไถคราดมาหยอดหลุมแบบอาจารย์ว่าแล้วปลูกสารพัดถั่ว

และแต่ละวันก็ขุดรูหาปูนา มาดองใส่ส้มตำ เก็บหอยเชอรี่ มาทำน้ำหมักชีวภาพหรือตำป่า ปลูกถั่วลิสงมาต้มขาย หรือคั่วและคลุกเกลือทะเลใส่ถุงซีลด้วยเทียนไขวางจำหน่ายตามร้านเหล้าเบียร์ที่เห็นดาดดื่น

หาเศษใบไม้ ท่อพีวีซีสองขนาดมาอัดเป็นถ่านแท่งตากแดดให้แห้งไปเผาแทนถ่านไม้ หาเศษผักตบชวาในคูคลองมาตากแดดให้แห้ง ทำเป็นเชือกมัดใบตองห่ออาหารหรือ สับละเอียดผสมรำข้าว และ เศษอาหารสด กับข้าวเหลือกินมาต้มรวมกันให้หมูกิน

ถ้าลงมือทำก็จะรู้ว่าวันหนึ่งๆ เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วมีอะไรอยากทำมากมาย ทำไม่หวาดไม่ไหว...พอได้เก็บเกี่ยว ก้อชื่นใจหายเหนื่อย ถ้าเจอสารพัดปัญหาก็มีกำลังใจอยากแก้ไขเอาชนะธรรมชาติที่โหดร้ายกับคนไม่เคยทำนาทำการเกษตรได้

สู้ๆๆๆ ทุกๆคนนะคะ สำหรับคนหัวใจเกษตร

หลิน

[email protected]

เป็นความคิดที่มีทางออกแน่นอน ยังไงก็มาเล่าให้ฟังบ้างะครับ

ผมเพิ่งซื้อที่นาโดยบังเอิญและยังไม่เคยทำนาเลย เป็นที่ที่ติดกับห้วยสาธารณะโดยแยกเป็นสองแปลงมีที่คนอื่นคั่นกลาง แปลงแรก 3 ไร่ อีกแปลง 8 ไร่ ผมคิดจะใช้ที่ 3 ไร่ ทดลองทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองแต่ไม่มีความรู้ จึงค้นคว้าจากเว็บต่างๆ พอดีมาเจอแนวทางของอาจารย์ตรงกับจุดประสงค์ของผมพอดี จึงขออนุญาตสมัครเป็นศิษย์และขอคำแนะนำคือ ผมอยากขุดบ่อเลี้ยงปลาควรใช้พื้นที่ในการขุดประมาณเท่าไร กว้างยาวลึกเท่าไรจึงจะเหมาะสม และการทำนาแบบไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ต้องทำคันนาสูงและกว้างเท่าไรเพื่อใช้ปลูกพืชผล ผมขอให้อาจารย์บอกตรงๆเลยนะครับเพราะไม่มีความรู้ด้านนี้จริงๆ ช่วยคนอยากเป็นเกษตรกรใหม่ด้วยครับ ลืมไปผมเป็นข้าราชการครู จะครบ 60 ในปี พ.ศ.2561 จึงอยากใช้ที่ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในบั้นปลายของชีวิต ขอขอบพระคุณมากครับ

ผมต้องการรายละเอียดก่อนให้คำแนะนำครับ

ช่วยโทรมาที่ 0897119684 ก็จะได้คุยกันครับ

เรียนอาจารย์แสวง

ขอขอบพระคุณมากครับที่ยินดีจะให้คำแนะนำกับผม คือที่ดินผมมีเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน ตอนนี้เจ้าของเดิมทำนาปลูกข้าวหอมมะลิอยู่ ที่ดินมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สวยครับ มีหน้ากว้างประมาณ 40 เมตร หน้าติดทางสาธารณะ แล้วยาวลึกเข้าไปจนติดลำห้วยสาธารณะ มีน้ำใช้ตลอดปี ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทรายออกร่วน ดินชั้นล่างเป็นดินดานสังเกตุจากการขุดบ่อจะขุดไม่ลึกประมาณ 3-4 เมตร ก็เจอน้ำแล้วและน้ำในสระที่ดินข้างเคียงจะไม่ลึกมากมีน้ำตลอดปี ช่วงเดือนเมษายนสามารถสูบน้ำมาทำประโยชน์ได้ ลักษณะดินจะลาดเอียงเล็กน้อยจากด้านหน้าไปหาห้วย ฟังจากปากคนที่ทำนาบอกว่าบริเวณนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำได้เลย และไม่ได้ใช้สารพิษเช่นยาฆ่าหญ้าและแมลง เพราะปีที่แล้วสามารถดักปลามาทำปลาร้าได้กว่า 20 ไห อันนี้เป็นรายละเอียดคร่าวๆครับ ยังไงผมจะโทรปรึกษาอาจารย์อีกครั้ง ขอบพระคุณมากครับ

กราบเรียน ดร.แสวง ที่เคารพ

ผมอยู่อุตรดิตถ์ เป็นเกษตรกรมือสมัครเล่น เคยเห็นบทสัมภาษณ์ของอาจารย์เมื่อคราวไปงาน ร.ร.พุทธิรังษี แล้วอยากจะทำนาเพื่อมี ข้าวไว้กินเองแปลงเล็กๆ ประมาณ 2 งาน พยายามหารายละเอียดวิธีทำรวมทั้งหาเบอร์ของอาจารย์ เพื่อไว้สอบถามปัญหาต่างๆ ใน โอกาสต่อไป เพิ่งจะมาพบที่เว็บนี้วันนี้นี่เอง ผมรู้สึกดีใจมากๆ ได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้ รู้แล้วจะได้เริ่มลงมือทำ ทำแล้วพบปัญหาขออนุญาต โทร.มาปรึกษาอาจารย์บ้างเป็นครั้งเป็นคราวนะครับ หวังว่าอาจารย์คงจะกรุณา

ด้วยความเคารพ

สุรเชษฐ์

 

อ. ครับ ด้วยความเคารพครับ

บางอย่างผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับ อ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าที่ อ ทดลองทำสภาพแวดล้อม ดินฟ้า อากาศที่นั่นเป็นยังไง อ.ทำแบบนาปรังหรือนาปีครับ ผมทำอยู่ที่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ครับ เป็นจังหวัดที่มีข่าวน้ำท่วมบ่อยๆ แต่แถวบ้านผมใครจะท่วมยังไงก็ช่าง แต่น้ำก็ยังไม่มีท่วมข้าวเลย และที่แน่ๆสำหรับที่ดินสำหรับนาปีของผมถ้าไม่ไถ แล้วเกิดหว่านเมล็ดข้าวไปแล้วเกิดฝนตกในช่วงแรก แล้วพอข้าวโตได้สักระยะ เกิดแล้งดินแห้ง ข้าวที่จะรอดคือข้าวที่อยู่ในดินที่มีการไถ และไม่มีตอซังหรือเศษวัชพืชคอยปรกคลุมดิน เพราะเหมือนกับว่าดินแน่น เลยไม่ทำให้รากข้าวลอยอยู่เหนือดินบางส่วนอะไรทำนองนี้ครับ ส่วนข้าวที่ไม่รอดก็คือตรงข้ามกัน อันนี้จากการทดลองทำมาครับ ซึ่่งทำให้ผมรู้สึกว่าอะไรหลายๆอย่างตามที่นักวิชาการพูด กับการที่ได้ทำจริงๆตามหลักนักวิชาการค่อนข้างจะทำได้ยาก

ปุ๋ยคอกสำหรับพื้นที่การทำนาเยอะๆมันก็ค่อนข้างจะลำบากอยู่ แล้วยิ่งเวลามีน้ำมาก้ล้นท่วมคันนาไหลผ่านจากนาตัวเองไปนาคนอื่นสบายๆ

ที่ดินผมทำทั้งหมดก็ 100 ไร่ครับ ไถนาผมก็ไถเอง แบกปุ๋ยผมก็ทำเอง ทำเองทุกอย่างที่ทำได้กับพ่อแม่ครับ เนื้อที่ 100 ไร ได้ผลผลิตสูงสุดที่เคยทำมา 40 กว่าเกวียนครับได้เท่านี้ถือว่าโชคดีมากๆแล้วครับ ซึ่งก็ตรงข้ามกับของ อ. ทำเมื่อเทียบแล้ว 1 ไร่ได้เกือบ 1 เกวียน(เยอะมากๆครับ)

ความรู้สึกผมยังมีอะไรหลายๆอย่างที่อยากคุยกับ อ ครับ ในฐานะที่ผมได้ลงมือทำจริง ชาวนาตัวจริงแต่มาทำงานในเมืองหลวงด้วยครับ อยากจะทำยังไงให้ได้ผลผลิตเยอะๆโดยที่เราสามารถลดต้นทุนการผลิต อยากกลับไปใช้วิธีแบบง่ายๆครับ

ผมย้ำเสมอว่า

"ขอแค่คิดเหมือนผม แต่อย่าทำเหมือนผม" แล้วท่านจะรอดแน่นอน

ทุกแปลงไม่มีอะไรเหมือนกันทุกอย่าง

การทำได้แปลงหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องได้อีกแปลงหนึ่ง

แต่หลักคิดแบบพึ่งตนเอง ใช้ได้ทุกคน ทุกแปลง

ผมคิดแทนท่านไม่ได้ และท่านก็คิดแทนผมไม่ได้

แม้ผมจะไปทำแปลงใหม่ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

อาจจะมีความรู้ที่นำมาปรับใช้

ก็แค่ "ปรับใช้"

ไม่มีทางนำไปใช้

ทำได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับกำลังและความสามารถของเราเอง

แล้วเราจะไม่เดือดร้อนกับมัน

นี่คือสาระของ "การจัดการความรู้" ไม่ใช่ "การถ่ายทอดความรู้"

ผมจึงเห็นด้วยกับการจัดการความรู้มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ครับ

น่าสนใจมากคะ อยากทำได้บ้างจังแต่นา ตั้ง 40 ไร่ทำคนเดียวไม่ไหวแน่ เจอปุ๋ยแพง ข้าวถูก เหนื่อยคะ

การทำได้ต้องเริ่มจากการปฏิบัติครับ

ไม่มีการใดสำเร็จด้วยเพียง "คิด" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท