สาเหตุความยากจนของเกษตรกร (๘): มุมมองของนักนิเวศวิทยาการเกษตร


ผมได้พบว่าภายใต้ระบบการพัฒนาการเกษตรแบบ “ควบคุมธรรมชาติ” ทั้งถางป่า เผาทำลาย ไถพรวน ใช้สารเคมี ได้ทำลายระบบนิเวศเกษตรจนแทบไม่มีระบบธรรมชาติเหลือให้พึ่งพา และต้องไปพึ่งพาระบบภายนอก ทั้งพลังงาน และสารเคมี

 สมัยก่อนผมเรียนแร่ หิน ดิน ปุ๋ย การดูแลพืช ผมก็เรียนแบบแยกส่วน เป็นเรื่องๆ และก็รู้(บ้าง)เป็นเรื่องๆ  

กว่าผมจะเข้าใจระบบนิเวศการเกษตรแบบองค์รวมก็หลังจากจบปริญญาเอกมาหลายปี 

และเข้าใจค่อนข้างใกล้กับความจริงของระบบการเจริญและการผลิตพืชมากหน่อยก็ตอนมาทำงานวิจัยเชิงประจักษ์กับเครือข่ายปราชญ์อีสานนี่แหละ 

ผมได้ทำโครงการศึกษาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและที่ดินในภาคอีสานที่พบว่า

ปัจจุบันเราเหลือความสามารถของดินในการให้ผลผลิตเพียง ประมาณ ๓๐% ของดินเดิม

นี่ยังไม่นับรวมความสูญเสียระบบนิเวศที่ผมกำลังจะพูดต่อไป

  จึงทำให้ผมเข้าใจปัญหาพื้นฐานของระบบการเจริญเติบโตของพืช ในระบบนิเวศต่างๆ ทั้งสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเสื่อมโทรม 

ผมได้พบว่าภายใต้ระบบการพัฒนาการเกษตรแบบ ควบคุมธรรมชาติทั้งถางป่า เผาทำลาย ไถพรวน ใช้สารเคมี ได้ทำลายระบบนิเวศเกษตรจนแทบไม่มีระบบธรรมชาติเหลือให้พึ่งพา และต้องไปพึ่งพาระบบภายนอก ทั้งพลังงาน และสารเคมี

 เช่นเดียวกับร่างกายที่อ่อนแอจะทำงานได้ก็ต้องพึ่งสารกระตุ้นกล้ามเนื้อ กระตุ้นประสาท 

หรือ แม้การกระตุ้นศพให้ดิ้นได้ด้วยกระแสไฟฟ้า ก็ใกล้เคียงครับ 

ระบบธรรมชาติเดิมที่เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในระบบนิเวศที่ถูกทำลาย มีตั้งแต่ 

1.    การทำลายระบบนิเวศของสัตว์ขนาดต่างๆที่ทีการควบคุมกันเอง จนไม่มีชนิดใดที่เด่นมากจนเป็นปัญหากับระบบนิเวศ

·        พอเราทำลายก็ทำให้มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่มีตัวควบคุม แพร่ขยาย จนเป็นผลเสียต่อระบบนิเวศ และการผลิตต่างๆ

·        ทำให้เราต้องไปพึ่งพาสารปราบศัตรูพืช ที่นอกจากจะทำลายสัตว์บางชนิดแล้ว ยังทำลายระบบที่พอเหลืออยู่บ้างให้ย่อยยับลงไปอีก

·        ทำให้ระบบการผลิตขาดที่พึ่งอย่างสิ้นเชิง และต้องหันไปพึ่งยา และสารเคมีเป็นสรณะ

·        เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตอย่างถอยกลับหลังยาก โดยเฉพาะกับคนที่มีระบบคิดแบบสวามิภักดิ์กับระบบเคมี และบริษัทค้าสารพิษเหล่านี้

·        บริษัทเหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเขามากขึ้นไปเรื่อยๆ แบบคนติดยาเสพติดที่ไม่มีใครเสพน้อยลง นอกจากจะเลิกได้ หรือตายไปซะก่อน

·        นี่คือ ที่มาของความยากจน ข้อที่ ๑

2.    การตัดตันไม้ เผาทำลายวัสดุคลุมดิน

·        เป็นการทำลายระบบสำรองการผลิตอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช

·        ทำให้ต้องดิ้นรนหาอินทรียวัตถุมาเพิ่มให้กับดิน

·        เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเชิงวัสดุปรับปรุงดิน

·        นี่คือ  ที่มาของความยากจน ข้อที่ ๒

3.    การไถพรวนดิน แค่มีวัตถุประสงค์หลักในการทำลายพืชที่ขึ้นในธรรมชาติ

·        ได้ทำลายระบบการไถพรวนดินในธรรมชาติ และทำลายโครงสร้างดิน จนต้องไถพรวนบ่อยๆ ให้รู้สึกว่าดินร่วน ปลูกพืชได้ง่าย

·        ทำให้ต้องเสียค่าเครื่องมือ ค่าซ่อม ค่าน้ำมัน ค่าแรงในการไถ

·        นี่คือ ที่มาของความจนในข้อที่ ๓

4.    การเน้นการใช้ปุ๋ยเคมีเข้มข้นสูง และราคาแพงเพื่อเร่งการเจริญของพืชพันธุ์ที่ต้องการธาตุอาหารมากๆ เร็วๆ

·        ทำให้มีการสลายตัวของอินทรียวัตถุในดิน และปลดปล่อยธาตุอาหารมามากขึ้น จนดินดูดซับไม่ทัน พืชก็ดูดใช้ไม่ทัน

·        ทำให้มีการชะล้างธาตุอาหาร สูญเสียไปค่อนข้างสูงมาก เช่นไนเตรท อาจสูญหายถึง ๘๐%

·        นี่คือ ที่มาของความยากจนข้อที่ ๔

5.    การปลูกพืชที่แปลกปลอมกับพื้นที่ และระบบนิเวศ

·        ต้องดูแลมาก เสียค่าใช้จ่ายทั้งแรงงาน วัสดุ ปุ๋ย ยา

·        นี่คือ ที่มาของความยากจนข้อที่ ๕ 

ฉะนั้น ตราบใดที่เกษตรกรยังสวามิภักดิ์กับระบบการใช้สารเคมี และการลงทุนสูงในการทำการเกษตร ก็ไม่มีทางหายจนได้โดยง่าย นอกจากจะฟลุ๊ก จริงๆ แบบ ถูกลอตเตอรี่  

·        ไปปลูกพืชที่บังเอิญไม่มีใครปลูก

·        ได้ผลผลิตดี

·        ตลาดต้องการมาก

·        ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

·        ได้ราคาพอๆกับขายทอง ละก็ 

หายจน (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) แน่นอน 

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง

คนที่ถูกลอตเตอรี่ มีกี่คน

คนที่โดนลอตเตอรี่กิน มีกี่คน 

คิดได้แล้ว เลิกเสี่ยงโชค หันมาสร้างโชคกันดีกว่าครับ 

โดยการหันกลับไปพัฒนาและพึ่งพาระบบนิเวศกันดีไหมครับ 

แล้วเราน่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมครับ

หมายเลขบันทึก: 126399เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ผมเชื่อการไม่ไถพรวนดินเป็นผลดี
  • แต่ว่าเปลี่ยนทัศนคติชาวบ้านได้ยากครับ
  • ชาวบ้านยังเชื่อว่าการไถเป็นเรื่องดี
  • ขนาดเราทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
  • สมควรจะแก้ไขอย่างไรครับ

"แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง

คนที่ถูกลอตเตอรี่ มีกี่คน

คนที่โดนลอตเตอรี่กิน มีกี่คน " 

  • ยังมีประเด็นที่น่ากังวลกว่านั้นครับ
  • ผมเคยเขียนถึง negative-sum game
  • คือ ฟากที่ได้ ได้ จากฟากที่เสีย
  • แต่รวมสองฟาก มีน้อยกว่าเดิม อย่างเช่น การพนัน
  • อย่างเช่น การได้ลาภลอย
  • ผมเคยดูสารคดี เรื่องคนที่เคยถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง มีนักข่าวตามไปดูชีวิตคนกลุ่มนี้ พบว่า กลายเป็นขอทานในสัดส่วนที่น่าตกใจ
  • ...คนที่เคยมีชีวิตธรรมดา ๆ ไม่น่าจะตกต่ำได้แรงถึงแบบนั้น...
  • ผมเห็นกรณีศึกษาหลาย ๆ กรณี ที่มักชี้ว่าธรรมชาติมนุษย์ไม่คุ้นกับลาภลอย และไม่สามารถปรับตัวได้
  • คงต้องเรียกภาวะนี้ว่า "โรคภูมิคุ้มกันลาภลอยบกพร่อง"  
  • เสียดายไม่มีสถิติว่า ประชากรเป็นโรคนี้กันกี่เปอร์เซนต์
  • แต่สังหรณ์ลึก ๆ ว่า อาจใกล้เคียง 100 %
  • แปลว่า ผมเองก็อาจมีภาวะโรคนี้อยู่ โดยยังไม่ได้สบโอกาสแสดงตัวออก ต้องคอยสอนตัวเองว่า โรคนี้ประมาทไม่ได้
  • อาการโรค คงต้องหาผู้รู้จริงมาเล่า
  • แต่ที่แน่ ๆ ใครเป็นโรคนี้ขณะได้ลาภลอย คงไม่แคล้วกลายเป็นขอทาน
  • ช่วงที่ยางราคาดี ผมได้ยินว่า มีคนติดโรคนี้กันเยอะ...
P
ดร. แสวง รวยสูงเนิน

 

เข้ามาชมรูปใหม่ของอาจารย์...

รู้สึกว่า อาจารย์จะเปลี่ยนบุคคลิกไปเลย....

ใคร่จะพิมพ์ว่า รูปใหม่หล่อกว่าเดิม ...

เจริญพร 

negative-sum game นี่น่ากลัวนะครับ

พอจบเกมส์มีแต่คนเสีย

แล้วใครชนะ ไม่มีเลย

แต่เราก็ยังนิยมเล่นกันจังนะครับ

ในเชิงระบบนิเวศเกษตรก็เป็นครับ

เราคิดว่าเราได้ แต่ถ้าคิดต้นทุนทั้งหมด แล้วมีแต่เสีย

จนเกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ก็เรื่องนี้แหละครับ

ขอบคุณครับที่เข้ามาเติมเต็มครับ

นมัสการท่านมหา

ผมลองแสดงบทนักวิชาการหลังจากแสดงบทชาวนามานาน

ไม่ทราบเข้ากรอบไหมครับ

วันก่อนก็พาดพิงท่านไปอยู่นะครับ

จะใช่สิทธิพาดพิงไหมครับ

อาจารย์ขจิตครับ

ขอบคุณมากที่มีเวลามากเหมือนเดิมเลยครับ

เรื่องนี้ถ้าทำให้ดู ยังไม่ดูก็คงต้องปล่อยให้ตายกันบ้าง

ที่เหลือค่อยเอามาเลี้ยง

คงได้แค่นั้น ครับ

  1. สามัญสำนึกในเชิงสร้างสรรค์ของคนบ้านเราไม่ใคร่มีครับ ไม่เคยสนใจหรอกว่าการกระทำของตัวเอง  จะส่งผลในทางลบแก่ใคร และอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือยาว
  2. สาเหตุในข้อ 1. มาจากการศึกษาที่ไม่เคยเน้นการปลูกสร้างสามัญสำนึกเพื่อสังคมเลยครับ  มีแต่สอนคนให้แข่งขันกันเป็นที่ 1 มันเลยลุกลามไปได้ทุกเรื่อง
  3. ระบบนิเวศน์การเกษตร เป็นเรื่องสำคัญและวิกฤตมากขึ้นทุกวัน  เพราะเกษตรกรอาศัยปัจจัยภายนอกเร่งเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ได้ปริมาณที่มากพอสำหรับการใช้หนี้  วงจรความชั่วร้ายระหว่างหนี้กับเคมีเกษตรจึงหมุนวนกันเรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น  ไม่แน่ว่าเมื่อถึงวันนอนฟังเพลง ธกส. หนี้สินจะหมดหรือเปล่าก็ไม่รู้  แต่ที่แน่ๆ โลกเราขาดทุนระบบนิเวศน์แน่นอนครับ
  4. เรื่องเดียวกันนี้ผมเขียนไว้ที่ โคกเพชรเตรียมแปลนาฯ และ การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมฯ ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

      ที่อาจารย์กล่าวมาเข้าใจและก็เห็นด้วยค่ะแต่เรื่องของการไถพรวนถ้าไม่ใช้วิธีไถพรวนอาจารย์พอจะมีข้อแนะนำบ้างไหมคะ  เหมือนกับที่อาจารย์ขจิตบอกชาวบ้านไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติชาวบ้านที่หนูรู้จักยังไม่ทราบตัวอย่างที่ไม่ใช้วิธีไถพรวนค่ะ

P

ครับ

โปรดกลับไปอ่านเรื่องที่เขียนมาก่อนหน้านี้ครับ

โดยเฉพาะเรื่อง การทำนาแบบ ไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน ที่มีหลายวิธีด้วยกันครับ

หรือสงสัยก็โทรมาคุยได้ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

      ขอขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท