เรื่องเล่าจากดงหลวง 144 พระหายไปไหนจากชุมชน


การบวชนั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแต่มีเจตนาจะบวชด้วยศรัทธาหรือต้องการทดแทนบุญคุณบุพการีก็ตาม ผู้ใหญ่ในตระกูลก็จะไปกราบพระอาจารย์ที่วัดใกล้บ้าน หรือวัดที่ศรัทธา พร้อมขันธ์ 5 แสดงเจตนา ระบุวันที่ พระอาจารย์ที่วัดซึ่งสามารถเป็นอุปัชฌายะได้ ก็ตกลงกัน

ชุมชนสมัยก่อนโลกาภิวัตน์นั้นจะมีลักษณะวัฒนธรรมเดิมๆอยู่มาก เช่น เมื่อถึงวันพระก็หยุดงานในไร่นา แล้วก็ทำอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะนอนที่วัด ทำการบำเพ็ญภาวนา คุยเรื่องธรรมะ ปรับจิตปรับใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต  ก่อนเข้าพรรษาก็จะมีงานบวชไม่ได้เว้นแต่ละปี เมื่อออกพรรษาก็ทำบุญใหญ่ พระที่บวชเมื่อต้นพรรษาก็ลาสิกขากัน บางคนศรัทธามากก็จะภาวนาอยู่กรรม 7 วันก่อน โดยต้องเข้าไปนอนอยู่ในป่าช้าเพียงองค์เดียว เพื่อล้างจิตใจ ทำการบำเพ็ญภาวนาสูงสุดตามประเพณีโบราณ 

การบวชจึงเป็นเรื่องใหญ่และพ่อแม่ก็หมายมั่นว่าลูกผู้ชายจะต้องให้บวชให้ได้  

การบวชนั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแต่มีเจตนาจะบวชด้วยศรัทธาหรือต้องการทดแทนบุญคุณบุพการีก็ตาม ผู้ใหญ่ในตระกูลก็จะไปกราบพระอาจารย์ที่วัดใกล้บ้าน หรือวัดที่ศรัทธา พร้อมขันธ์ 5 แสดงเจตนา ระบุวันที่ พระอาจารย์ที่วัดซึ่งสามารถเป็นอุปัชฌายะได้ ก็ตกลงกัน  

มาวันนี้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในชุมชน พระที่วัดน้อยลง วัดไม่มีพระ จนร้างราไปก็มี  พระไปไหนกันหมด ? 

  • พูดแบบกว้างๆ คือ สังคมเปลี่ยนไป  เรื่องมันยาว....
  • คนหนุ่มไม่อยู่ในหมู่บ้านอีกต่อไป ออกหมู่บ้านไปเรียนหนังสือกัน
  • คนหนุ่มไปทำงานต่างถิ่น  อพยพไปอยู่ที่อื่น
  • และที่สำคัญ เมื่อค่านิยมการบริโภคเข้ามาต่างคนก็ทุ่มเทคิดแต่จะหาเงินมาจับจ่ายสิ่งใหม่ๆในชีวิต ให้กับครอบครัว และความต้องการในการเสพต่างๆ คนจึงห่างออกจากชุมชนและทุ่มเทเวลาไปกับการทำงานหาเงินตลอดทั้งปี  

แต่มีเหตุผลหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีมานี้เองคือ การบวชยากมากขึ้น จากสมัยก่อนเกือบทุกวัดพระอาจารย์ หลวงตา หรือหลวงปู่ ที่วัดสามารถเป็นพระอุปัชฌายะได้ แต่ปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว พระองค์ใดจะต้องการเป็นพระอุปัชฌายะจะต้องผ่านการสอบก่อน หากไม่ผ่านก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ปัจจุบันมีพระที่ผ่านการสอบในแต่ละอำเภอมีไม่มากนัก จึงเท่ากับลดโอกาสชาวบ้าน โดยเฉพาะที่มีฐานะยากจนจะบวชจะต้องเดินทางไปบวชที่อื่น ห่างไกลออกไป และอาจจะไม่ได้มีความศรัทธาต่อพระอุปัชฌายะองค์นั้นด้วย จากคุณค่าเดิม ความสัมพันธ์แบบเดิมๆ ในเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว ความยากลำบากมากขึ้นเป็นอุปสรรคหนึ่งของการบวช 

หลวงตามี พระสูงอายุรูปหนึ่งกล่าวว่า อาตมาจะไม่มีทางบวชได้เลยหากสมัยก่อนมีกฎเกณฑ์อันนี้ อาตมาเป็นนักดื่มเหล้าขนาดหนักมากที่สุด ดื่มทุกวันจนเสียที่นาไป 20 ไร่ เพราะดื่มเหล้าแล้วเมา ก็อยากดื่มอีก ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไม่มีเงินซื้อก็ขายนาไปในราคาไร่ละ 10 บาท เพราะขายตอนเมา จนที่นาหมด และหมดเพราะเหล้าจริงๆ พระอาจารย์ที่วัดเห็นจึงดึงชีวิตเข้าวัด จับอาตมาบวชง่ายๆที่วัดนี้  หากไม่บวชอาตมาก็คงตายเพราะเหล้าไปนานแล้ว  

นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชุมชนบ้านนอก ชุมชนนั้นมีวัฒนธรรมแบบนี้ และการอนุญาตให้บวชก็เป็นการพิเคราะห์ของพระอาจารย์ที่วัดใกล้บ้าน เชื่อว่าคนที่มีประวัติร้ายๆแบบหลวงตามีเกิดใหม่ได้เพราะวัด  เช่นเคยพบพระที่เป็นโจรปล้นมาก่อน เป็นนักเลงหัวไม้มาก่อน เป็นคนติดยาเสพติดมาก่อน เมื่อถึงที่สุดกลับอกลับใจได้ก็เข้าวัด วัดเป็นที่บำบัดคนเลวให้เป็นคนดีของสังคมชนบท วัดเป็นสถาบันที่สร้างสังคมให้ดี  วัดเป็นปราการที่สำคัญของคุณค่าของคนของสังคม  

มาวันนี้ วัดเกือบจะเป็นเพียงสถานที่ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น และยิ่งมีระเบียบนี้ออกมา ก่อให้เกิดความยุ่งมากมากขึ้นในการก้าวเข้ามาสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ทั้งๆที่เรารู้ว่านั่นคือมาตรการที่ต้องการสกัดสิ่งไม่ดีบางประการก็ตามแต่ผลกระทบก็มีอีกด้านหนึ่งเช่นกัน 

ต่อไปพระจะหายไปหมดวัดหรือไม่หนอ..

หมายเลขบันทึก: 116934เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2007 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับท่านบางทราย

  • เข้ามายืนยันครับ  เรื่องจริงครับที่ท่านพูดมา
  • ทุกวันนี้ผู้คนมีการศึกษา  ก็อยากออกไปหางานทำ  เก็บเงินส่งเสียครอบครัว
  • และอีกอย่างเมื่อถึงอายุครบบวชบางครั้งยังเรียนไม่จบเลย
  • เรียนจบก็ห่วงทำงาน  แล้วจะเอาใครมาบวช
  • สงสัยต้องรอคนอายุ 60 ที่ไม่มีงานทำแล้วละมังครับ
  • การบวชเป็นเรื่องของบุญเก่าด้วย
  • เหตุที่พระมีน้อย วัดร้าง เพราะผู้บวชยังไม่ชัดเจนในเป้าหมายของการบวช หรือไม่ชัดเจนในเรื่องของการเกิดมาเพื่ออะไร
  • โดยส่วนมากบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา
  • บวชเพื่อหนีอะไรบางอย่าง
  • บวชเพราะไม่มีงานทำ
  • บวชเพราะไม่รู้จะทำอะไร
  • บวชเพราะอกหัก
  • สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลบางส่วนของผู้ที่ยังไม่ชัดเจน
  • ซึ่งโดยจริงๆแล้วจุดประสงค์ของการบวชก็เพื่อ ทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี เพื่อให้ ใจของเรานั้นหมดกิเลส เพื่อไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด ในภพ 3 นั้นเอง

สวัสดีค่ะพี่บางทราย 

       .....ที่ผ่านมาแอมแปร์ได้เห็นว่าในวันพระมีผู้ชายเข้าวัดน้อยมาก     ล่าสุดวันเข้าพรรษา มีพ่อแอมแปร์เป็นผู้ชายคนเดียว  เลยต้องนำสวดมนต์  (โดยมีแอมแปร์เป็นผู้เยาว์ที่สุด  หากไม่นับสามเณร)

       ที่นครฯ เท่าที่ทราบ  พระที่อยู่ประจำวัดก็มีน้อยลง  ที่สึกไปก็มาก  ขณะเดียวกันคนพุทธที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้านติดแดนใต้ก็เดินทางมาบวชที่นี่เป็นจำนวนโขอยู่ในแต่ละปี 

        บันทึกนี้ทำให้แอมแปร์ตัดสินใจได้ว่า  จะเล่าเรื่องสามเณรเนปาลที่มาเรียนภาษาไทยที่บ้านสักที  เพราะดูจะมีอะไรเนื่องๆกันอยู่   ....ของเราจะลดน้อยถ้อยลงไป  (? )  .....ของเขากำลังพยายามสืบทอดอย่างไม่ย่อท้อ   เขาคงเข้าใจแล้วว่าต้องสืบทอด....    

        แอมแปร์มองสถานการณ์ในวัดอย่างคนนอกวัดนะคะ  นานๆจะไปวัดสักที  เพราะไม่ถนัดเรื่องพิธีกรรมใดๆ   แม่บ่นเอาเหมือนกันว่าไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เราไปทำบุญ 
         แอมแปร์บอกว่าไม่ได้คิดมากอะไรเลย     แต่กำลังวิเคราะห์  : )

 รู้สึกจะว่าบ่นเรื่อยเจื้อยไปอีกแล้วค่ะพี่บางทราย  : )

สวัสดีครับ  P ท่าน สะ-มะ-นึ-กะ

  • บทบันทึกนี้เป็นเพียงข้อสังเกตุที่พบเห็นมาครับ
  • แต่มันให้ฉุกคิดอะไรขึ้นมาถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมครับ 

สวัสดีครับครูเสือ P ครูเสือ

  • มาแล้วเสือตัวจริง
  • เห็นด้วย โหม๊ด เลยครับ
  • พี่พยายามหยิบบางมุมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากระตุกสังคมบ้างว่าสังเกตุกันบ้างไหม และคิดอย่างไร
  • แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อพระไม่มีที่วัด หรือวัดไม่มีพระ ทำบุญทางประเพณีที่ไหน
  • ความห่างหานไปนานๆเข้าสังคมก็ห่างวัด จะเป็นอย่างไร นั่นคือคำถามที่ถามต่อไปน่ะครับ 

สวัสดีครับท่าน บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • ในอนาคต  ชาวบ้านอาจจะต้องนั่งพนมมือไหว้ดอกลำโพง นะครับ
  • ในเมื่อไม่มีพระอยู่วัดให้นิมนต์แล้ว  เวลาทำบุญต้องเปิดเทปบทสวดเอา นะซิครับท่าน

สวัสดีครับน้อง P ดอกไม้ทะเล

  • พี่ชอบเกล็ดข้อเท็จจริงที่น้องแอมแปร์กล่าวถึง พี่ก็เห็นด้วยครับ
  • ประเด็นที่น้องแอมแปร์ตั้งไว้น่าสนใจนะ ลองขยับดู พี่จะตามไปศึกษา
  • คุณพ่อมีสิทธิเต็มที่ที่จะกล่าวเช่นนั้น และควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวเช่นนั้น หากเป็นพี่ก็คงทำเช่นนั้นเหมือนกัน  ยกเว้นว่าเด็กที่นั่งตักจะร้องให้ฟูมฟายจะเอาขนมหวานนั้นให้ได้ ละ ก็ แหะ แหะ ก้นลายแน่เลย..อิ อิ ตีเอาบ้างนะซี บอกแล้วไม่เชื่อว่ามันไม่ดี ไม่ดี  อิ อิ
  • หลานพี่คนหนึ่งก็ถูกตามใจจนอ้วนแบบเป็นโรคอ้วน ตอนนี้ติดเป็นนิสัยแล้วรักษายากแล้ว
  • เรื่องพระนั้นเป็นข้อสังเกตุของพี่ครับ มีวัดร้างจริง มีพระที่ไม่ดีจริง มีพระที่เอาแต่ใบ้หวยแล้วดูหมอดู หลอกเอาเงินชาวบ้านก็มี พระที่ดีดีก็มีที่ดงหลวงมีทั้งสองแบบครับ  แต่พระที่ไม่ดีก็จะอยู่ได้ไม่นาน ชาวบ้านไม่ใส่บาตรก็หนีไปเองครับ
  • แต่ปรากฏการณ์ที่มีพระน้อยลงนี่ พี่อยากตั้งข้อสังเกตุว่าจะกระทบระบบเดิมๆของสังคมเราแค่ไหน ตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่าน่าที่จะกระทบในทางที่ไม่ดี คือไม่มีประเพณีเดิมๆ หรือลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม พระที่เป็นผู้กลั่นกรองสติของชุมชนก็ไม่มีหรือลดลง หรือไม่ได้ทำหน้าที่นี้อีกต่อไป หรือน้อยลง แล้วอะไรจะตามมา ฯลฯ
  • ยังไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้นะครับ  เอ้านักศึกษาปริญญาโทเอาไปคิดต่อซะ 
  • ขอบคุณมากเลยครับที่เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ

ท่าน P สะ-มะ-นึ-กะ

  • เห็นท่าจะเป็นเช่นนั้น
  • ของจริงมีครับ ในพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่มีสำนักสงฆ์ แต่พระไม่มี เคยมีแต่ชาวบ้านบอกว่า พระท่านเรียกร้องชาวบ้านให้ทำนั่นทำนี่มากมาย ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เลยงอนหนีออกจากสำนักสงฆ์ไปเลย และยังไม่มีพระมาจำพรรษา
  • เมื่อไม่มีพระ คนเฒ่าคนแก่ก็ไม่มีที่ไป แต่ก่อนเคยไปคุยกับพระ เข้าวัดเข้าวา เป็นสมาคมคนเฒ่า ตอนนี้อยู่บ้านตัวใครตัวมัน 
  • ผมว่าการไปวัดของคนเฒ่าที่เป็นคล้ายๆสมาคมคนเฒ่านั้นดีออก มีประโยชน์อย่างน้อยที่สุดกับคนแก่ทั้งหลายนั้นเอง
  • น่าติดตามประเด็นนี้ครับ 

สวัสดีครับพี่บางทราย

กลับมาตามอ่านหลังจากหายไปนาน...งานสุมหัวครับ..ผมว่าคงจะจริงอย่างที่พี่บอก เพราะเราออกกฏเกณฑ์กันมากเกินไปเอาทางโลกไปยุ่งกับทางธรรม...ทุกอย่างอยู่ที่ความตั่งใจนะครับ และกฏหลักๆก็มีเรื่องศีลห้าที่เป็นพื้นฐาน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว...นอกนั้นเป็นเรื่องของพิธีกรรมและเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ

ผมเองก็บวชได้พรรษาเดียว...คือหลังเรียนจบและก่อนมาทำงาน...ยังโชคดีที่พ่อแม่พาเข้าวัดตั้งแต่เล็กๆ...หาเวลายากครับ

โอชกร

บทเพลงแห่งสมณะ
...ชีวิตสมณะsound

จากเรือนเหมือนนกที่จากคอน
ไม่อาวรณ์เมื่อจรจากมา
สร้างชีวีให้มีคุณค่า
แสวงหาแต่หนทางพระนิพพาน

มีผ้าแค่เพียงสามผืน
ทั้งหลับตื่นมีแต่ความชื่นบาน
สมบัติมีแค่อัฐบริขาร
เลี้ยงสังขารด้วยอาหารสาธุชน

ฝึกตน  ทนหิว  บำเพ็ญตบะ
ทั้งคันถะวิปัสสนาทุกแห่งหน
รักธรรมวินัยยิ่งกว่าชีวิตตน
หวังหลุดพ้นวัฎฎะชนะมาร

เที่ยวจาริกทำประโยชน์ให้แก่โลก
ดับทุกข์โศกโรคทางใจในสังสาร
ดั่งอาทิตย์สลายมืดห้วงจักรวาล
ทุกส่ำสัตว์สุขสราญด้วยธรรมกาย

นี่แหละคือชีวิตสมณะ
ที่สละกายใจน้อนถวาย
แต่องค์พระสัมมา  จวบจนกว่าชีพวาย
ทุ่มทำงานถึงวันสุดท้าย....ชนะมาร


.................ตะวันธรรม

สวัสดีครับน้อง P โอชกร - ภาคสุวรรณ

  • บวชหนึ่งพรรษาก๋เป็นบุญมากแล้วครับ คนในชีวิตปัจจุบันยากมากที่จะบวชนานถึง 3 เดือน
  • พี่ว่าคนโบราณมีค่านิยมที่ดีครับที่สนับสนุนให้ลูกหลานบวช หนึ่งพรรษา ได้ใกล้ธรรมมากกว่าชีวิตปกติ ธรรมก็ติดตัวมาใช้ในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุดก็มีหลักคิด หลักเตือนสติได้บ้างยามมีปัญหา หรือเผชิญวิกฤษในชีวิต
  • หากไม่มีธรรมก็มีแต่อารมย์ดิบๆของค่านิยมในสังคมเป็นหลัก ซึ่งจะไหลไปตามพลังทะยานอยากเสียมากกว่า ครับ
  • พี่ก็งานเยอะ เพิ่งจะพอมีเวลาหายใจได้นี่แหละครับ 

สวัสดีครับครูเสือ P ครูเสือ

  • เป็นธรรมะลีลาที่ไพเราะมากครับ
  • อ่านแล้วซาบซึ้งและได้รสธรรม
  • ขออนุญาตินำไปเผยแพร่ต่อนะครับ 
  • แวะมาเยี่ยมเยียนและเรียนรู้ครับ
  • น่าเป็นห่วงนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
สวัสดีครับ น้องเสือและน้องสิงห์
มากันทั้งเสือ ทั้งสิงห์เลยครับ P ครูเสือ  P สิงห์ป่าสัก
ก๊วนครูบานี่ดุ ดุ ทั้งนั้นเลย แฮ่ แฮ่ ดุแต่ชื่อนา...
  • น้องเสือครับ พี่ลองฟังแล้ว มันไม่มีเสียง เดี๋ยวจะลองใหม่ครับ
  • น้องสิงห์ครับ ขอบคุณครับ  เออ คุณเม้งเขาทำ Simulation เรื่องน้ำอยู่ที่เยอรมัน นะ วันก่อน คุยกันทาง Skype เธอสนใจอยากทำกรณีตัวอย่างน้ำไหลจากยอดเขาลงสู่ข้างล่าง ซึ่งอาจจะเห็นปรากฏการณ์น้ำท่วมเขื่อนพัง พี่กำลังขอติดต่อข้อมูลให้เขาอยู่ หากได้ก็น่าสนใจ และอาจจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่อื่นๆที่เป็นภูเขาด้วยครับ
  • หากสำเร็จอย่างไรจะเล่าให้ฟังครับ  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท