drrakpong
นายแพทย์ รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ

ยิ้มจากผู้ป่วย 1 : ทำไมเจ็บหน้าอกไม่หาย ( เรื่องเล่าจาก กจ. 2 )


แม้จะมีเพียงคำทักทายว่า “กลับบ้านแล้วค่ะหมอ”ไม่มีแม้คำขอบคุณจากปาก แต่รอยยิ้มของเธอ มันแฝงอยู่แล้วครับ

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ผมเดินจากวอร์ดกลับมาที่ห้องทำงาน ได้สวนกับผู้ป่วยหญิงคนหนึ่ง รอยยิ้มน้อย ๆ ของเธอ และคำทักทายว่า กลับบ้านแล้วค่ะหมอ ทำให้ผมนึกอะไรบางอย่าง

 

หนึ่งคือผู้ป่วยคนนี้ เราเคยเจอที่ไหน

สอง คือ ทำไมรอยยิ้มของเธอถึงได้แฝงอะไรบางอย่างลึก ๆ คล้ายรอยยิ้มของโมนาลิซ่า ยังไงยังงั้น

 

แล้วผมก็ค่อย ๆ นึก

 

โรงพยาบาลของผม มีหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 1 หอ คือหอผู้ป่วยกาญจนาภิเษก 2  ซึ่งถูกออกแบบ ให้มีเตียงสามัญ 24 เตียง ห้องพิเศษ อีก 6 ห้อง เหมือนโรงพยาบาลทั่วไปอีกหลายแห่ง

 

แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ละวัน คนไข้ที่นอนที่ตึกนี้ อาจจะมีมากถึง 60 คน เพราะต้องรับผู้ป่วยหญิง ทั้งที่เป็นโรคทางอายุรกรรมแน่ ๆ และยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ ทั้งในเขตอำเภอเมืองและนอกเขตที่ทั้ง refer มาหรือมาเอง เปรียบเสมือน admission center ของผู้ป่วยหญิงในจังหวัดนี้ เรามีทีมพยาบาลมากเป็นพิเศษ และต้องใช้ทีมแพทย์ 2 ทีมในการดูผู้ป่วย โดยทีมแรก ดูผู้ป่วยข้างใน 30 เตียงแรก ซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนทีมสอง ดูผู้ป่วยที่นอนระเบียง ห้องพิเศษ และหน้าห้องพิเศษ ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยอาการเบา ๆ หรือที่เข้ามา Investigation

 

วันนี้ ผมได้อยู่ทีมสอง คือตรวจคนไข้ที่นอนอยู่ริมระเบียง ได้พบผู้ป่วยหญิงคนหนึ่ง นอนเตียงเสริมหน้าห้องพิเศษ ดูจากชาร์ท อายุ 32 ปี แต่ดูเธอจะสูงวัยกว่าอายุไปสักหน่อยและมีสีหน้ากังวล  มีสามีอายุไล่เลี่ยกัน  นั่งเฝ้าไข้สีหน้ากังวลอยู่ไม่แพ้กัน

 

ผมพลิกประวัติดู การนอนโรงพยาบาลครั้งนี้ เป็นครั้งที่สอง เธอถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชุมชนเมื่อเดือนก่อน ด้วยคำวินิจฉัย โรคหัวใจขาดเลือด ( ischemic heart disease ) เนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย ครั้งก่อนเธอนอนโรงพยาบาล ได้รับการตรวจคลื่นหัวใจ มีรายงานว่าปกติ แต่เธอได้รับยารักษาแบบคนไข้โรคหัวใจทั่วไป คือ Aspirin , Beta-blocker , Nitrate และยาคลายเครียด กลับบ้านไปร่วมเดือน ยังไม่รู้สึกดีขึ้น จึงมานอนโรงพยาบาลอีกในครั้งนี้

 

ครั้งนี้ แพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นผู้รับเธอเข้าไว้รักษาในโรงพยาบาล ได้ให้ยาเดิม มีการส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำ พบว่าปกติ น้องแพทย์ ได้พยายามมองหาโรคอื่น โดยส่ง ตรวจอัลตร้าซาวด์ ซึ่งผลกลับมาแล้ว รังสีแพทย์รายงานผลว่าปกติ

 

ผมมานึกดูว่า ผู้หญิงวัยนี้ โอกาสเสี่ยงต่ำมากที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ได้ซักประวัติ และตรวจร่างกายเธออีกครั้ง พบว่าอาการของเธอ มีลักษณะแน่นลิ้นปี่ บางครั้งก็แสบ อยากอาเจียน ทำงานใช้แรงได้อยู่ โน้มเอียงจะเป็นโรคเกี่ยวกับกรดไหลย้อนสู่หลอดอาหารมากกว่าโรคหัวใจขาดเลือดนะ

 

ผมถามเธอว่า อาการดีขึ้นบ้างไหม และได้รู้ชัดเจนหรือยังว่าเป็นอะไร เธอตอบว่า ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ็บหน้าอกไม่หาย ผมเลยค่อย ๆ อธิบายไปอย่างนี้ครับ ( แต่ใช้ภาษาเขียน อาจจะยากสักหน่อย )

 

-          อาการที่เล่าให้หมอฟัง และสิ่งที่หมอตรวจพบ รวมทั้งผลการตรวจคลื่นหัวใจที่ปกติมาตลอด ไม่มีลักษณะที่โน้มเอียงว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด รวมไปถึง ผลการอัลตร้าซาวด์ ในช่องท้องก็ไม่พบความผิดปกติใด

 

-          แต่อาการที่เล่าให้ฟัง รวมทั้งผลการตรวจ ที่ไม่พบโรคที่จะเป็นอันตรายร้ายแรง หมอคิดว่าคุณน่าจะเจ็บหน้าอก จากโรคกรดในกระเพาะไหลย้อนสู่หลอดอาหารครับ

 

-          หมอจะให้ยาเพื่อควบคุมกรดในกระเพาะ และให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคุณแข็งแรงขึ้น แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวเพิ่มเติมบางอย่าง ได้แก่ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่อิ่มเกินไป ไม่รสจัดเกินไป และอย่ารีบนอนหลังรับประทานอาหาร และถ้ายังไม่ดีขึ้นจริง ๆ หมออาจจะนัดมาส่องกล้องดูในหลอดอาหารให้นะ

 

วันนี้ อาการเป็นอย่างไรบ้าง ( ผมเหลือบดูในคำสั่งการรักษา พบว่าน้องแพทย์ พพทษ. ได้สั่งยาลดกรด และยาอื่น ๆ ให้แล้ว ) เธอบอกว่า แน่นน้อยลง กินได้ เดินได้โดยไม่เหนื่อย ไม่เจ็บอก แต่รู้สึกเพลียบ้าง

ผมได้เขียน งดยากลุ่มโรคหัวใจทั้งหมด ให้กินยาชุดใหม่นี้แทน

 

วันรุ่งขึ้น ผมเจอเธออีกครั้ง เธอลุกขึ้นนั่งบนเตียง เหมือนเตรียมรอกลับบ้าน เธอบอกว่า วันนี้ อาการดีขึ้นมาก น่าจะกลับบ้านได้แล้ว ผมจึงสั่งยาให้เธอกลับบ้าน

 

เนื่องจากคนไข้ ตึก กจ. 2 ที่ให้ออกจากโรงพยาบาลในแต่ละวัน อาจจะร่วม 10-20 คน เธอจึงได้รับยากลับบ้านในช่วงบ่าย ผมได้เดินสวนกับเธอ เธอใส่ชุดธรรมดา และดูเหมือนอายุของเธอที่เห็นตอนนี้ จะใกล้เคียงกับอายุจริง ๆ ในโอพีดีการ์ดแล้ว

 

แม้จะมีเพียงคำทักทายว่า กลับบ้านแล้วค่ะหมอไม่มีแม้คำขอบคุณจากปาก แต่รอยยิ้มของเธอ มันแฝงอยู่แล้วครับ

 

บางคนบอกว่า เรื่องนี้ มันอาจจะเป็นทักษะที่หมอแต่ละคนทำได้ไม่เหมือนกัน

แพทย์หลายท่าน อาจจะทำอยู่เป็นประจำ เป็นปกติวิสัย บางท่านทำบางส่วน บางท่านคิดว่าคนอื่นคงทำให้ และบางท่านทำทุกอย่างเพื่อผู้ป่วย เหนื่อยจนไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ลืมแจ้งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญนี้

แต่ถ้าเราใส่ใจ และใส่ทฤษฎี ทำความเข้าใจสิ่งที่คนไข้ต้องการเมื่อมาพึ่งพาโรงพยาบาล ก็ทำได้ไม่ยากครับ

 

สีเหลือง คือ ผลการตรวจ

สีชมพู คือ ผลการวินิจฉัย

สีเขียว คือ ความเห็นและคำแนะนำ

ค่อย ๆ เรียบเรียง ทำให้กระชับ และลองนึกว่า เราให้ข้อมูลทั้งสามด้านแก่ผู้ป่วยหรือยังขึ้นชื่อว่า "ทักษะ" เป็นสิ่งที่ฝึกได้ครับ

 

  ทั้งสาม "สิ่งส่งมอบ" เป็นความต้องการของผู้ป่วยซึ่งอยู่ในมาตรฐานบริการสาธารณสุขแล้ว

หมายเลขบันทึก: 101256เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • เพิ่งมีโอกาสได้อ่านบล๊อกของอาจารย์ ได้รับความรู้มากมายเลยค่ะ
  • นั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนความเห็นดีมั้ย
  • สุดท้ายก็ตัดสินใจเขียน เพราะคำหลักของอาจารย์ ทำให้คิดถึง ท่านอาจารย์ชูชาติ ที่เคยสอนเกี่ยวกับคำเหล่านี้
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราว ขอเข้ามาติดตามบ่อยๆนะคะ

ขอบคุณครับ เชิญแลกเปลี่ยนงานที่ทำกันได้ครับ

ผมลูกศิษย์ อ.ชูชาติครับ

คุณหมอ รักษ์พงศ์   เยี่ยมมากครับ  ฟังดูแล้วก็รู้ว่ามีจิตวิญญาณ ของการเป็นหมอที่ดี  การเอาใจใส่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย ส่งผลต่อชีวิต ของผู้ป่วยและญาติอย่างมาก เลยครับ  เราเองก็มั่นใจในวิชาชีพ และคุณค่าของเราด้วย

ตกลงติด histats ได้แล้วนะครับ คุณหมอ ลองเข้าไปเล่นดู สนุกดี

ขอบคุณมากครับ พี่จิ้นที่แนะนำ

ผมอยู่ รพ. เดียวกับพี่ธเนศ รุ่นเดียวกับพี่ ตอนนี้มีลูกสาว 1คน อายุขวบนึงครับ

อยากให้หมอบางคนใส่ใจสนใจคนไข้บ้าง  การตอบคำถามที่คนไข้ถามเพื่อให้คลายสงสัยในโรคที่เป็นอยู่เพราะไม่รู้จะถามใครต้องถามหมอที่รักษาอยู่แต่กลับไม่มีคำตอบอะไรแล้วคนไข้จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างไรเพราะการมาหาหมอก็เพื่อต้องการให้หายป่วย

คุณหมอครับ ผมอ่านแล้วรู้สึกดีใจมากที่มีหมอแบบนี้อยู่ด้วย  ตอนนี้ผมเป็นโรคกรดไหลย้อนกลับอยู่ครับ ทรมานมากเลย  ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะหายขาดสักที โรคนี้  นี่ผมกะว่าจะลองย้ายโรงพยาบาลดูครับ  กะว่าจะไปรักษากับคุณหมอปารยะ ที่สิริราชไม่รู้ว่าจะหายรึป่าว

PS. อยากรู้จักคุณหมอนะครับ  ชื่นชมครับ

ดีใจที่เรามีคุณหมอที่เป็นต้นแบบที่ดีแล้วถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองคิด และทำออกมานะคะ เพราะพี่โอ๋เชื่อว่าการที่คนทำดีบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น ไม่ใช่เป็นการอวดตัวเองแต่อย่างใดแต่เป็นแรงบันดาลใจให้คนอีกมากมายค่ะ คนเขียนเองอาจจะนึกไม่ถึง แต่รับรองค่ะว่า การที่เราได้อ่านความคิด ความดีที่คนอื่นทำกันบ่อยๆก็จะเป็นการดึงดูดให้คนช่วยกันทำดีมากๆขึ้น แล้วคุณหมอที่ดีๆ ครูที่ดีๆนี่แหละค่ะยิ่งทำบุยอย่างใหญ่หลวงทีเดียว ถ้านอกจากทำแล้วยังเสียสละเวลามาเล่าแบบที่คุณหมอทำนี่แหละค่ะ

พี่โอ๋ขอบคุณมากๆเลยค่ะ อ่านแล้วได้รับความอิ่มอกอิ่มใจไปด้วยกับน้องคนไข้คนนั้น

บางทีดูเหมือนเป็นทฤษฎี แต่เอาไว้ระลึกเมื่อได้คุยกับคนไข้ ตรงตามความต้องการที่เขาอยากได้จริง ๆ ครับ

 

ดีใจที่มีแพทย์อย่างคุณหมอขอบคุณพระเจ้าที่ส่งคุณมา เราอายุ36ปีเป็นกรดไหลย้อนมา3ปีทานยาไม่เคยขาดแต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยและที่หนักเข้ามาอีกคือไม่ค่อยมีแรงอ่อนเพลียผอมมากจุกในลำคอท้องอืดตลอดเวลาบางวันและคืนมีอาการหายใจไม่ออกเหมือนจะขาดใจเจ็บหน้าอกทลุหลังแสบร้อนหน้าอกจนสุดทนตื่นกลางดึกเพราะสำลักคุณหมอไม่เคยทำอะไรเพิ่มเติมเลยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลคลองท่อม จ.กระบี่

ขอบคุณมาก

ขอให้มีความสุขกับการทำความดีนะคะและขอให้เป็นเช่นนี้ตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท