อนุทินล่าสุด


เขียนเมื่อ

เรื่อง: ประวัติเขาพระวิหาร(เพิ่มเติม) เผื่อมีคนสนใจ

ประวัติ


 

 

 

 

 

 

แผนที่ A มาตราส่วน 1:10,000 เป็นแผนที่ที่เป็นทางการของไทย แสดงแนวเส้นเขตแดนฝรั่งเศส-สยามปี 1907 (Line 1) ซึ่งไทยได้โต้แย้งต่อศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2505 กับแนวเส้นเขตแดน (Line 2) ที่ไทยใช้หลักสากลยึดถือแนวสันปันน้ำเป็นหลักในการแบ่งเส้นเขตแดนและได้อ้างสิทธิอันชอบธรรมเหนืออาณาบริเวณพื้นที่สีเขียว การยกผืนดินที่ตั้งปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชากำลังจะสร้างความยุ่งยากให้แก่การกล่าวอ้างอธิปไตยของไทย



แผนที่ B มาตราส่วน 1:200,000 แสดงภาพรวมที่ตั้งปราสาทพระวิหารและแนวเส้นเขตแดนตามแผนที่ของฝรั่งเศสเมื่อ 100 ปีก่อน (Line 1) กับเส้นเขตแดนที่ไทยกล่าวอ้าง (Line 2) โดยยึดสันปันน้ำตามหลักสากล ไทยยืนยันการกล่าวอ้างในเรื่องนี้ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา
หลังจากศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาในเดือน มิ.ย.2505 ในเดือนถัดมาไทยก็ได้ยื่นบันทึกต่อศาลโลกพร้อมแผนที่ฉบับนี้แสดงที่ตั้งของปราสาทพระวิหารกับบริเวณโดยรอบและเส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำที่ไทยสงวนที่จะกล่าวอ้าง ภาพล่างซ้ายแสดงให้เห็นว่าไทยยอมรับให้พื้นที่แก่ปราสาทที่กว้างที่สุดเพียง 100 เมตรเท่านั้น อาณาบริเวณข้างนอกเส้นปรุเป็นพื้นที่เขตสันปันน้ำ
แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นพรมแดนโดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำ อันขัดต่อหลักสากลและไทยได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2505 ประเทศไทยได้ยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา แต่ไม่เคยยอมรับอาณาบริเวณบนยอดผาและรอบๆ ว่าเป็นของประเทศนั้น ไทยได้ทำบันทึกยื่นต่อศาลระหว่างเทศยืนยันที่จะยึดแนวส้นเขตแดนตามหลักสากลโดยใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งปราสาทเขาพระวิหาร หรือปราสาทพระวิหาร ประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมอยู่ใกล้ เมื่ออยู่ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และ สุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 11 และศตวรรษที่ 12 ตามลำดับ

ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีน ได้ให้ไทยเขียนแผนที่พรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งในแผนที่นั้นปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2450 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว และระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ไทยชนะฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เรียกร้องดินแดนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องปรับสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น จึงตกลงคืนปราสาทพระวิหารให้ฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราช และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3[1] แต่หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541 และเมื่อ พ.ศ. 2546 กัมพูชาก็ได้ตัดถนนเข้าไปจนสำเร็จสมบูรณ์หลังจากรอคอยเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีการห้ามเข้าอยู่เป็นระยะโดยมิได้กำหนดล่วงหน้า

ในเวลาต่อมากัมพูชาเสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ณ เมืองไครสเชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ไทยกับกัมพูชามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายไทยกล่าวว่าควรแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่เขตแดนทับซ้อนรอบปราสาทก่อนแล้วจึงค่อยเสนอ [2] จนกระทั่งใกล้ถึงการประชุมสมัยที่ 32 ที่แคนาดา ในปีถัดมา ก็ยังไม่ได้ข้อตกลงร่วมกัน [3] และถ้าหากเขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยอ้างอิงจากแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำ จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนถอยร่นเข้ามาประมาณ 7.2 ตารางกิโลเมตร [4]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาคัดค้านในการที่กัมพูชาเสนอให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า [5]

ถึงแม้ว่าศาลโลกจะบอกว่าประสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยมติ 7 ต่อ 5 ก็ตาม แต่ประเทศไทยได้คัดค้านตลอดเวลา และยังอยู่ในศาลโลกจนถึงวันนี้ จากข้อคัดค้านดังกล่าว คำฟ้องของประเทศกัมพูชาพูดถึงเฉพาะปราสาทเขาพระวิหาร ในขณะที่ธรรมนูญศาลโลกข้อ 59 ที่ว่า ถ้าหากคู่กรณีฟ้องเรื่องไหน ศาลจะพิจารณาเฉพาะแต่เรื่องนั้น ฉะนั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกแม้แต่น้อยเลย เมื่อไม่ได้เกี่ยวกรณีนี้แล้วนพดลมัวทำอะไรอยู่



คำประท้วงของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว ๒๐ กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคตด้วย


โดยมีคำประท้วงดังนี้

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะอ้างถึงคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้นำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคำร้องเริ่มคดีฝ่ายเดียวของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) และซึ่งศาลได้พิพากษา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร

ในแถลงการณ์เป็นทางการลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศต่อประชาชนแสดงความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้น โดยมีเหตุผลว่า ตามความเห็นของรัฐบาล คำพิพากษาขัดต่อข้อกำหนดอันชัดแจ้งของบทที่เกี่ยวเนื่องของสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) และ ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) และขัดต่อหลักกฎหมาย และความยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลก็ยังแถลงว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนมีอยู่ตามคำพิพากษาดังกล่าว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ตามข้อ ๙๔ ของกฎบัตร

ข้าพเจ้าใคร่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า ในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งข้อความข้างต้นให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านแจ้งข้อความในหนังสือฉบับนี้ให้สมาชิกทั้งปวงขององค์การนี้ทราบทั่วกันด้วย


ปล.ที่โพสเพราะผมไม่ต้องการเสียดินแดนแห่งนี้ไป รักและต้องการรักษาดินแดนแห่งนี้ที่บรรพบุรุษของเราต่างปกป้องและป้องกัน มาเป็นเวลานาน แต่อาจต้องมาจบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ(สมัยแรก ที่มาจากการเป็นทนายส่วนตัวของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร) จากนายกสมัครที่ประกาศตัวแต่แรกว่าเป็นนอมินี จากผบทบ.ที่มีหน้าที่รักษาดินแดนที่ชื่อสพรั่ง

ปล.2 ผมไม่ได้มีเจตนาให้แตกแยก แต่ผมไม่ต้องการเสียแผ่นดินแห่งนี้ไปจริง ๆ ครับ และก็ขอให้ทุกท่านดูบอลยูโรให้สนุกนะครับ ไม่รอดแน่ตู



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

เขียนเมื่อ

ลืมไปคร๊าบ ฝากสวัสดี ถึงอาจารย์ผู้สอนประจำโรงเรียน วพ. ทุกท่าน โดยเฉพาะ อ.พิชัย นิลนวล คร๊าบ ที่อบรมสั่งสอน ผม ไม่ทราบว่าอาจารย์ จะจำผมได้หรือเปล่า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

เขียนเมื่อ

สวัสดีครับ รายงานตัว ศิษย์เก่าโรงเรียนวังพิกุลพิทยาคม

อยากพบเพื่อนเก่า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท