อนุทินล่าสุด


เฉลิมชัย ดวงไชย
เขียนเมื่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์

ด้านการทูต

ไทยและสิงคโปร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ความสัมพันธ์ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่นมาตลอด 40 ปี และได้พัฒนาไปเป็นลักษณะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ในการดำเนินการเชิงรุกในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อาทิ การเร่งรัดรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแนวทาง 2+X และความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า) ไทยและสิงคโปร์มีจุดแข็งและมีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นอย่างดี ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่น้อย แต่มีความก้าวหน้าทางด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระดับสูง จึงได้มีการนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาใช้ร่วมกันจนนำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์และการพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืน

ด้านการเมืองและความมั่นคง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ (เนื่องจากมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนและประเด็นระหว่างประเทศที่คล้ายกัน) เสถียรภาพทางการเมืองของทั้งสองประเทศซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความต่อเนื่องทางนโยบายและความร่วมมือระหว่างกัน ไทยกับสิงคโปร์มีกลไกความร่วมมือทวิภาคี ได้แก่

(1) การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์(Prime Ministerial Retreat) เป็นผลจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ในระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความคุ้นเคยระดับผู้นำและรัฐมนตรีของไทยกับสิงคโปร์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ/เป็นห่วงร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา การประชุม Prime Ministerial Retreat ได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2546 ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5-7 กันยายน 2546 ที่เกาะ Sentosa สิงคโปร์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 กันยายน 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่

(2) คณะกรรมาธิการบริหารร่วมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกองทัพไทย-สิงคโปร์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกและการซ้อมรบร่วมกัน โดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึกและมีการฝึกบุคลากรทหารร่วมกัน อาทิ การฝึกร่วมผสม (Cobra Gold) รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ อาทิ พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับเชิญให้ไปร่วมสังเกตการณ์ปฏิบัติการการรับมือกับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สถานีรถไฟใต้ดินของสิงคโปร์ภายใต้รหัส Exercise Northstar เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์จากการก่อวินาศกรรมที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 และศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคงเยือนไทยเพื่อแนะนำตัวเมื่อวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2549

ด้านเศรษฐกิจ

ด้านการค้า: สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย (รองจากสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น และจีน) ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 7 ของสิงคโปร์ ในปี 2548 การค้ารวมระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่า 12,881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์มีมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 5379.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 2,120.8 ล้านดอลลร์สหรัฐ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2545-2548) มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ปี 2546-2547 มูลค่าลดลงร้อยละ 16.5) น้ำมันสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.7) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7) และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3) ตามลำดับ[ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์]

ด้านการลงทุน: สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 6 (รองจากญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์) ในปี 2548 สิงคโปร์ได้ยื่นโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 82 โครงการแก่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการอนุมัติ 69 โครงการในมูลค่า 14,421.5 ล้านบาท (ปี 2547 มีมูลค่า 18,238.6 ล้านบาท) ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการ การโรงแรม การขนส่ง การให้บริการทางการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร พร้อมทั้ง มีความสนใจที่จะลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตยา และอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมุมมองของสิงคโปร์ การลงทุนของสิงคโปร์ในไทยยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนรวมของสิงคโปร์ในต่างประเทศ ประเทศที่สิงคโปร์ไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ด้านการท่องเที่ยว: ชาวสิงคโปร์มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยและคนไทย ในเดือนมกราคม-กันยายนปี 2548 มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 450,836 (มีสัดส่วนร้อยละ 5.48 ของตลาดการท่องเที่ยวไทย) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ในจำนวน 398,438 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปสิงคโปร์จำนวน 379,000 คน (ปี 2548) (ในปี 2548 สิงคโปร์รับนักท่องเที่ยวจำนวน 8.9 ล้านคน ซึ่งได้นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 10.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)[ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ ]

ด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา: กลไกความร่วมมือ ได้แก่ โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Thailand-Singapore Civil Service Exchange Programme-CSEP)ซึ่งตั้งเมื่อปี 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้หน่วยราชการไทยและสิงคโปร์มีโอกาสพบปะอย่างใกล้ชิดและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความใกล้ชิดและความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันมากขึ้นจนนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่ดีต่อไป รูปแบบของการประชุมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมกล่าวเปิดการประชุมและปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานการประชุมเต็มคณะ ในปัจจุบันไทยกับสิงคโปร์มี 12 สาขาความร่วมมือภายใต้ CSEP อาทิ การศึกษา แรงงาน วิชาการ สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี CSEP ได้มีการประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง ล่าสุดที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -2 สิงหาคม 2548



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท